คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : พรมน้ำมนต์ พ่นน้ำหมากมา จากไหน พุทธไสยผี?

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ประเด็นเรื่องพุทธแท้-ไม่แท้ในเวลานี้ ส่งผลให้คนตั้งคำถามกับอะไรอีกมากที่เกี่ยวกัน เช่น ศาสนพิธีต่างๆ ผมว่าเป็นสิ่งที่ดีที่เพราะอะไรที่ไม่ถูกถามมักจะเก่าและตายเน่าไปเอง

พุทธจะมีแท้เทียมยังไงผมกล่าวไว้มากแล้ว คงไม่กล่าวในที่นี้อีก แต่มีประเด็นนึงที่พอค้นดูก็พบว่าคนมีข้อถกเถียงกันมากคือพิธีกรรม “ทำน้ำมนต์” ว่าเป็นพิธีกรรมของพุทธศาสนาหรือไม่อย่างไร

แม้ว่าพิธีกรรมทำน้ำมนต์จะเห็นกันได้จนเป็นปกติ โดยเฉพาะในงานมงคลทุกรูปแบบ แต่ฝ่ายที่คิดว่าการทำน้ำมนต์ไม่ใช่กิจพิธีของพุทธศาสนา ก็อ้างพระไตรปิฎกใน “ชาลิยสูตร” ซึ่งพระพุทธเจ้าเทศน์โปรดมัณฑิยปริพาชกและชาลิยปริพาชก

เนื่องจากปริพาชกเหล่านี้เป็นคนนอกพุทธศาสนา (ที่จริงต้องบอกว่านอก “ชุมชน” หรือสังฆะของพระองค์มากกว่า เพราะพุทธศาสนาในความหมายอย่างที่เราเข้าใจยังไม่มีในเวลานั้น) พุทธองค์จึงต้องแสดงภาวะความเป็นนักบวชในพระธรรมวินัยอย่างละเอียดให้ปริพาชกฟัง เน้นว่าภิกษุนั้นต้องเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา

ผมขอยกมาบางส่วนดังนี้

“สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ทำพิธีบนบาน ทำพิธีแก้บน ร่ายมนต์ขับผี สอนมนต์ป้องกันบ้านเรือน ทำกะเทยให้กลับเป็นชาย ทำชายให้กลายเป็นกะเทย ทำพิธีปลูกเรือน ทำพิธีบวงสรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนต์ รดน้ำมนต์ ทำพิธีบูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ปรุงยาถ่าย… แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง”

ฝ่ายที่เห็นว่าการทำน้ำมนต์เป็นเดรัจฉานวิชาก็มักยกพุทธพจน์ข้อนี้มาอ้าง จะพ่นหรือรดก็ไม่ต่างกัน ดังนั้น การทำน้ำมนต์ย่อมไม่ใช่กิจพิธีของภิกษุในพุทธศาสนา

ส่วนฝ่ายโต้แย้งก็ว่า ในพระไตรปิฎกมีการพูดถึงการทำน้ำมนต์ซึ่งมาโดยพุทธประสงค์ด้วยซ้ำ จากอรรถกถา “รัตนสูตร” ในขุททกปาฐะ ว่าเมืองเวสาลีนั้นเกิดอุปัทวเหตุ มีโรคระบาดร้ายแรงและอมนุษย์พากันเข้ามาทำให้ผู้คนล้มป่วยตายลงจำนวนมาก พระพุทธองค์จึงให้พระอานนท์เรียนรัตนสูตร แล้วอรรถกถาพรรณนาว่าพระอานนท์เอาบาตรไปตักน้ำแล้วประพรมไปทั่วพระนครจึงระงับอุปัทวเหตุนั้นได้

ฝ่ายนี้จึงว่า ทำน้ำมนต์นั้นมีมาแต่พุทธกาลและเป็นของพุทธศาสนา

บางท่านที่แก่บาลีหน่อยอธิบายไปอีกว่า คำบาลี “พ่นน้ำมนต์ รดน้ำมนต์” ในชาลิยสูตรนั้น เป็นคนละคำกับทำน้ำมนต์ในอรรถกถารัตนสูตร คือ “พ่นน้ำมนต์” ใช้ “อาจมนํ” ส่วนรดน้ำมนต์ใช้ “นฺหาปนํ”

อาจมนํ หมายถึง ใช้น้ำล้างปากให้สะอาดหรือชำระล้างหน้า ส่วนนหาปนํ หมายถึง การอาบ แต่เมื่อครูบาจารย์แปลพระสูตรเข้าภาษาไทยก็แปลให้เข้าใจในวัฒนธรรมเราเอง คือเป็น “พ่นน้ำมนต์” และ “รดน้ำมนต์” ทำนองอมน้ำมนต์พ่นน้ำหมากที่คุ้นเคย

ส่วนกิริยาที่พระอานนท์ใช้กับน้ำมนต์ในอรรถกถานั้น คือ อพฺภุกฺกิรฺ แปลว่า ประพรม

แม้อรรถกถาจะเป็นคัมภีร์ชั้นรองและเขียนขึ้นโดยคณาจารย์ แต่ก็ยังมีเครดิตอยู่บ้างสำหรับชาวพุทธเถรวาทเพราะรวมอยู่ในพระไตรปิฎก กระนั้นฝ่ายที่ยังไม่เชื่อก็ตีว่าอรรถกถาสำคัญน้อยกว่าพุทธพจน์เอง และน่าจะมีใครมาเติมส่วนนี้ที่เฉไฉต่อพุทธพจน์ภายหลัง

หลวงปู่พุทธะอิสระเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย เจาะเลือดตัวเองใส่ลงในบาตรแก้ว นานกว่า 5 นาที เพื่อนำไปผสมกับน้ำมนต์ เพื่อใช้ประกอบพิธีสร้างพระหลวงปู่ทวดรุ่นประสะโลหิต(แช่เลือด) ซึ่งเป็นพิธีโบราณในอดีตสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเคยทำพิธีกับสมเด็จพระนเรศวร และไม่เคยมีใครทำประเพณีนี้นานมาแล้ว เพื่อหาทุนจัดสร้าง “นาคปรกโลหะ” ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ วัดอ้อน้อย อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม เมื่อ 30 พ.ค. 52

เพื่อให้ชัดเจนขึ้น พราหมณ์นั้นมีพิธี “อาจมนํ” ตามที่ระบุในพระสูตรของพุทธศาสนามานานแล้ว และยังคงทำอยู่ การอาจมนํของพราหมณ์นั้นกระทำโดย ใช้ช้อนหรือภาชนะเทน้ำลงในมือขวา แล้วจิบน้ำนั้นจากโคนมือขวา จุดตรงนั้นเรียกว่า “พรหมตีรถะ” หรือท่าน้ำของพรหม สมัยก่อนเมื่อจิบแล้วก็บ้วนลงในภาชนะ แต่ปัจจุบันใช้การจิบแล้วดื่มลงไปเลย ก่อนจิบก็สวดพระนามของพระเป็นเจ้า การอาจมนํนั้นมีเป้าหมายเพื่อความบริสุทธิ์สะอาด เพราะที่จริงก็คือการบ้วนปากนั่นแล แต่บ้วน “พอเป็นพิธี” มักทำก่อนพิธีกรรมต่างๆ

แต่อาจมนํของพราหมณ์ไม่มีพ่นใส่ใครคนอื่นอย่างอมน้ำมนต์พ่นน้ำหมากในบ้านเรา

ส่วนอาบน้ำมนต์ ก็คือพิธี “อภิเษก” ที่เรารู้จักกันดีอยู่แล้ว ที่จริงพราหมณ์ยังมีการพรมน้ำด้วยเรียกว่า ปวิตฤกรณํ หรือการทำให้บริสุทธิ์ โดยใช้ “หญ้าคา” พรมน้ำ ถ้าพรมให้ตนเองเรียกว่า มารชนมฺ

หญ้าคานั้นเรียกว่า กุศะ หรือปวิตริ ถือเป็นของที่ขาดไม่ได้ในพิธี เพราะเป็นของที่ทำให้สิ่งต่างๆ บริสุทธิ์ตามความเชื่อพราหมณ์

พุทธศาสนาบ้านเรา ใช้หญ้าคาพรมน้ำมนต์เหมือนอย่างพราหมณ์ ส่วนพุทธศาสนาฝ่ายอื่นๆ เช่น ฝ่ายมหายานในจีนและเวียดนามนั้น เวลาพระท่านจะทำน้ำมนต์ ท่านจะใช้ภาชนะเป็นรูปบาตรหรือถ้วยเล็กๆ ขนาดถือในมือเดียวได้ อีกมือทำ “มุทรา” ต่างๆ และ “ดีด” น้ำมนต์โดยนิ้วมือขวาในขณะสวดธารณีมนต์ หรือบางครั้งก็ใช้กิ่งไม้เล็กๆ เช่น ทับทิมในการประพรม

พิธีการเช่นนี้เป็นอย่างเดียวกันกับพิธีของศาสนาเต๋า ซึ่งนักพรตใช้ในการประกอบพิธีต่างๆ ผมจึงไม่แน่ใจว่าใครหยิบยืมใครไปกันแน่

ส่วนฝ่ายวัชรยานนั้น ใช้ภาชนะเรียกว่า บุมปา (bumpa) ในภาษาทิเบต เป็นภาชนะอย่างหม้อน้ำแต่มีพวยกาเหมือนกาน้ำ มีขอบยกหิ้วได้ หม้อชนิดนี้พวกพราหมณ์ใช้มาก่อนเรียกว่า “กมัณฑลุ” อาจมีรายละเอียดต่างกันบ้าง ที่จริงเป็นอุปกรณ์ของฤๅษีชีไพรใช้เป็นกระติกน้ำพกน้ำดื่มยามเดินทางจึงต้องทำเป็นภาชนะมีพวย และใช้ประกอบศาสนกิจไปด้วยในตัว

ฝ่ายวัชรยานจึงชัดเจนว่าใช้บุมปาหรือกมัณฑลุที่รับมาจากพราหมณ์ ซึ่งใช้ทั้งริน (อภิเษก) และประพรม โดยมีก้านทำจากหญ้ากุศะ ขนนกยูงหรือวัสดุอื่น

เอาเข้าจริงๆ การใช้น้ำในพิธีกรรมนั้น อาจเป็นวัฒนธรรมทางศาสนาที่กว้างขวางที่สุด คือมีใช้ในทุกศาสนา เนื่องจากน้ำเป็นสัญญะของการชำระล้างที่ตรงไปตรงมา และเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตกับความชุ่มเย็น

 

ที่ผมสงสัยมานานแสนนาน คือการ “หยดน้ำตาเทียนลงในน้ำมนต์” ทำไมต้องหยด และดูเหมือนว่ามีเฉพาะพุทธศาสนาในบ้านเรา กับเพื่อนบ้านรอบๆ และลังกาที่ทำน้ำมนต์แบบนี้

ถามพระ ท่านก็ว่าครูอาจารย์สอนมาแบบนี้ บางท่านว่าการหยดเทียนจะได้รวบรวมสติกำหนดเพ่งลงไปในน้ำมนต์นั้น บ้างว่าจะได้รวมธาตุไฟและน้ำเข้าด้วยกันจะได้มีพลังสองทาง หรือไม่ที่ฟังดูดีหน่อยท่านว่า ในบทพระปริตรท่านให้ดับเทียนในท่อนที่ว่า “ดับ” (นิพพิทา) พอดี เป็นสัญลักษณ์ของความดับไม่มีเหลือ ส่วนชาวบ้านก็ว่าดับทุกข์โศก

ผมไม่รู้จะเชื่อคำอธิบายไหนดี ครั้นจะว่าเอามาจากศาสนาผีก็ยังหาไม่เจอ จะเอามาจากพราหมณ์ก็หาไม่เจอเหมือนกัน

วันนึงครูพราหมณ์อินเดียของผม คือ ท่านอาจารย์ลลิต โมหัน วยาส เล่าว่า เมื่อมาเมืองไทยใหม่ๆ เห็นพระภิกษุไทยทำน้ำมนต์โดยการหยดน้ำตาเทียนลงในน้ำ ท่านก็ร้องอ๋อว่า นี่พิธีอย่างเดียวกับพราหมณ์ คือเมื่อพราหมณ์บูชาไฟ (โหมะ) นั้น จะต้องมีภาชนะใส่น้ำตั้งไว้ใกล้กูณฑ์หรือเตาบูชาไฟ และเมื่อจะใช้ช้อนตักเนยถวายลงในไฟ (อาหุติ) จะต้องหยดลงในน้ำนั้นก่อนในตอนแรก คือถวายเนยลงในทั้งน้ำและไฟ

ครูผมท่านจึงคิดว่า การที่ต้องหยดน้ำตาเทียน ซึ่งมีลักษณะของ “ไข” อย่างเนยลงในน้ำมนต์ จึงเทียบได้กับพิธีของพราหมณ์ ท่านคิดว่าแทนที่จะบูชาไฟทั้งหมดก็ตัดตอนเอามาเฉพาะที่ใช้ได้ง่ายๆ แสดงว่าพิธีนี้เก่ามากและพุทธศาสนาแบบเถรวาทซึ่งเก่าแก่รับเอามาตั้งแต่สมัยอยู่ในอินเดีย

ข้อเสนอของท่านแม้ผมจะยังไม่เห็นด้วยทั้งหมด แต่ก็คิดว่าน่าสนใจและอาจเป็นร่องรอยให้ค้นหากันต่อไป

 

ส่วน “พ่นน้ำมนต์” ชนิดที่พ่นใส่คนอื่น (ไม่ใช้อย่างอาจมนํ) ผมคิดว่าของพราหมณ์ไม่มีแน่ๆ และพุทธศาสนาแบบอื่นๆ ก็ไม่มี ดังนั้น กิริยาพ่นน้ำมนต์นี่แหละน่าจะมาจากพื้นบ้านคือผีอย่างแท้จริง และพระก็มารับมาใช้ต่อๆ กันไป

สำหรับผมที่จริงแม้ว่าจะรับรูปแบบพิธีมาจากพราหมณ์หรือผีก็ไม่ใช่ปัญหา ไม่ต้องเสียหน้า ตราบเท่าที่ทำไปบนมุมมองและทัศนะแบบพุทธศาสนา คือหากพิธีนั้นๆ ไม่ขัดกับเจตนารมณ์และจิตวิญญาณแบบพุทธ ผมว่าย่อมรับมาและสามารถปรับเปลี่ยนได้โดยไม่ได้เป็นเรื่องผิด

เช่น ในฝ่ายมหายาน การทำน้ำมนต์ในพิธีมักใช้ธารณีมนตร์ของพระอวโลกิเตศวร นัยว่า การทำน้ำมนต์นั้นคือสัญญะของพุทธเมตตาบารมีที่แผ่ไปยังสรรพสัตว์ให้ชุ่มเย็นหมดทุกข์ หรือในฝ่ายวัชรยาน การทำน้ำมนต์ก็เพื่อชำระกายวาจาใจของศิษย์ด้วยอำนาจพุทธบารมี ซึ่งไม่ใช่สิ่งภายนอก แต่เป็นคุณลักษณะภายในของครูและศิษย์เอง

แท้หรือเทียมจึงไม่สำคัญมากกว่าจะรักษาท่าทีและจิตวิญญาณแบบพุทธศาสนาไว้มากแค่ไหน

กระนั้น น้ำมนต์จะสำคัญเพียงใดไม่รู้ แต่ “ดอกเทียน” ในน้ำมนต์นั้นมีค่าทางใจแก่ชาวบ้านมาก

โดยเฉพาะวันหวยออก