จัตวา กลิ่นสุนทร : บางสิ่งอย่างที่ยังหลงลืมไป

ได้พบเพื่อนร่วมสมัยวัยเดียวกัน ทำให้คิดถึงวันคืนเก่าๆ พฤติกรรมเรื่องราวเดิมๆ ที่ได้เดินผ่านมาด้วยกัน ทำให้คิดถึงความหลังบางส่วนที่เคยนำเสนอในคอลัมน์นี้ผุดพรายขึ้นมาอีก จึงนำมาเขียนเพิ่มเติมในส่วนที่ขาดไปบ้าง

แม้จะอยู่ในวัยสูงไม่แตกต่างกัน แต่บุพการีของพวกเรายังคงมีชีวิตอยู่จำนวนไม่น้อย อาจขาดหายไปบางส่วน สำหรับที่เหลืออยู่จึงถูกนำเอามานินทาเล่าสู่กันฟังอย่างสนุกสนานเกี่ยวกับการดำรงชีวิตอยู่ในทุกๆ วัน เฉพาะเรื่องของความจำของผู้สูงอายุในวันใกล้เลขเก้า ส่วนมากความทรงจำจากอดีตนั้นแม่นจำ แต่ในชีวิตประจำวันกลับเลอะเลือน

เหตุการณ์ต่างๆ เกี่ยวพันด้วยเรื่องหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ในหลายๆ มุมหลายบทบาทของท่านอาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นเจ้าของผู้ก่อตั้ง และคอลัมนิสต์ประจำซึ่งผมได้เคยติดตามแม้จะไม่ใกล้ชิดนัก แต่ได้สัมผัสรับใช้มานานไม่น้อยกว่า 2 ทศวรรษในฐานะศิษย์นอกรั้วมหาวิทยาลัยและผู้ใต้บังคับบัญชา ส่วนมากมาจากความทรงจำ มิได้มาจากการจดเก็บบันทึกแต่อย่างใด

เพราะฉะนั้น จึงไม่ได้เรียงลำดับวันเวลาเรื่องราวก่อนหลังอย่างเคร่งครัดนัก รวมทั้งหลงลืมไปเยอะแยะมากมายมารวมเข้ากับสิ่งที่ไม่รู้ ไม่เคยรู้ สิ่งที่นำมาเสนอจึงได้มาเพียงแค่เล็กน้อยแบบผิวๆ เสียด้วยซ้ำไปเนื่องจากอายุของสยามรัฐก่อตั้งมาถึง 70 ปี

 

คนใกล้ชิดซึ่งเป็นผู้ร่วมงานในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ย่อมทราบกันดีว่าการบริหารงานไม่ได้เป็นไปตามแบบฉบับอย่างมีรูปแบบแต่อย่างใด เคยกล่าวแล้วว่าสยามรัฐเป็นเหมือนของเล่นของอาจารย์คึกฤทธิ์ เป็นอาวุธทางปัญญาอันแหลมคมไว้ปกป้องสถาบันสำคัญของคนไทย ต่อสู้กับเผด็จการทหารของแผ่นดินนี้ตลอดมา

เมื่อเวลาเปลี่ยนแปลง เรื่องของการทำธุรกิจ เศรษฐกิจ มีความสำคัญอันเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนสื่อให้เดินต่อไปได้เพราะต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นตามเวลาไม่เฉพาะแต่นักคิดนักเขียนแต่เพียงอย่างเดียวที่จะทำให้สยามรัฐซึ่งเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เพียงคนเดียวจะยืนหยัดอยู่ได้จึงต้องค่อยๆ เกิดความเฉื่อยอ่อนล้าลง

นอกจากแปะคาถาที่หัวหนังสือเป็นภาษาบาลี ซึ่งแปลได้ว่า “พึงข่มคนที่ควรข่ม พึงชมคนที่ควรชม”

นโยบายที่เป็นรู้กันโดยสามัญสำนึกของชาวหนังสือพิมพ์ฉบับนี้คือ ส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขและชิงชังเผด็จการ จึงต่อสู้กับเผด็จการทหารตลอดมา ฯลฯ

เป็นที่รู้กันอยู่ในสังคมของชาวสยามรัฐจากรุ่นต่อรุ่นถ่ายทอดสืบต่อมาว่ามีชื่อ (บุคคล) ต้องห้ามบางชื่อจะมาปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์สยามรัฐไม่ได้อย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นข่าว การสัมภาษณ์พูดคุย นักข่าว คอลัมนิสต์เขียนถึง เท่าที่ทราบเริ่มต้นท่านแรกเป็นคนใหญ่คนโตในทางการเมืองจากอดีตตั้งแต่สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ซึ่งแน่นอนว่าเขาคงต้องจากโลกนี้ไปแล้ว และอีกท่านหนึ่ง (ยังมีชีวิตอยู่) เขาตั้งตัวเขาเองว่าเป็นปัญญาชนของประเทศนี้

สำหรับคนสยามรัฐรุ่นหลังๆ ต่อมาไม่ใกล้ชิดสนิทสนมจริงๆ อาจไม่ทราบเหตุผลที่มาที่ไป แต่ทุกท่านจะต้องได้รับการถ่ายทอดจากนักหนังสือพิมพ์รุ่นพี่ๆ ของสำนักแห่งนี้ที่รู้เรื่องราวความเป็นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนใกล้ชิดกับอาจารย์คึกฤทธิ์ และระดับบรรณาธิการ

 

ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีนโยบายออกมาเพิ่มชื่อต้องห้ามเข้ามาอีก 1 คน แต่รู้กันแค่ในวงจำกัดเฉพาะระดับบรรณาธิการ และผู้บริหารทั้งหลาย จำได้แต่เพียงว่าอยู่ในราวปี พ.ศ.2528-2530 ประมาณนี้ยังอยู่ในช่วงระยะเวลาของรัฐบาลของ (ป๋า) พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

คงไม่มีใครลืมแนวความคิดของนายทหารผู้ซึ่งได้รับสมญานามว่า “ขงเบ้ง” แห่งกองทัพบก คือ ท่าน (พี่) จิ๋ว พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารบก และนายทหารฝ่ายเสนาธิการของป๋าเปรมที่สื่อเรียกกันจนติดปากมาทุกวันนี้ว่า “บิ๊กจิ๋ว”

(บิ๊กจิ๋ว) พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ มีบทบาทมากทีเดียวในการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ โดยเป็นผู้ร่างคำสั่ง 66/23 ซึ่งเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าเป็นแนวทางความคิดของนายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ซึ่งเป็นบุคลากรระดับกรรมการของ “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)” ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีทำให้ปัญญาชนมากมายที่หันหลังเข้าป่าเพื่อจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลได้กลับออกมา และหลายๆ คนได้เดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ กระทั่งกลับมาช่วยกันบริหารบ้านเมือง

ความคิดของกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เวลานั้นเป็นที่ยอมรับของนายทหารระดับสูงจากกองทัพบกไม่น้อย

และเพราะความคิดก้าวหน้าต่างๆ เหล่านี้ทำให้หลายคนมองว่า (บิ๊กจิ๋ว) พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และกลุ่มนายทหารหัวก้าวหน้าที่เรียกว่าเป็นนายทหารประชาธิปไตย มีแนวคิดการปกครองแปลกแยกกับประชาธิปไตยไปบ้าง

โดยมีการกล่าวกันว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือกำเนิดสภาเปรสิเดียม

ความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ไม่พ้นสายตา ขณะเดียวกันก็สวนทางกับความคิดของอาจารย์คึกฤทธิ์ จึงมีการเขียนบทความถากถางโจมตี ต่อต้าน หรือเมื่อสถาบันองค์กรไหนเชื้อเชิญท่านไปปาฐกถาเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับการเมืองการปกครองจะมีการเลี้ยววกโจมตี พล.อ.ชวลิตว่านิยมการปกปกครองในระบอบอื่น

กระทั่งไปแปลกันว่าอาจารย์คึกฤทธิ์กล่าวหาว่าบิ๊กจิ๋วเป็นคอมมิวนิสต์

เพราะฉะนั้น จึงเป็นที่เข้าใจกันในระดับผู้บริหารของสยามรัฐว่า อาจารย์คึกฤทธิ์ไม่ต้องการให้ชื่อของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์สยามรัฐ (อีกคนหนึ่ง)

 

การสวนหมัดกันตรงๆ อย่างนี้เป็นต้นเหตุของทหารพรานกลุ่มหนึ่งจากการดำเนินการของลูกน้องคนสนิทของบิ๊กจิ๋วได้ยกกำลังกันมาจากค่ายปักธงชัย นครราชสีมาไปเขย่ารั้วบ้านซอยสวนพลูของอาจารย์คึกฤทธิ์จนเอนเอียงโยกเยกจะพังมิพังแหล่เพราะเป็นรั้วไม้ธรรมดา

ก่อนที่กลุ่มนายทหารหนุ่มระดับพันโท พันเอก ลูกน้องสนิทของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ซึ่งขณะนั้นกำลังจ่อคิวจะขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกต่อจากบิ๊กจิ๋วที่ลั่นวาจาว่าจะลาออกก่อนเกษียณ มุดประตูเล็กเข้าไปพูดคุยกับเจ้าของบ้าน เพื่อคอนเฟิร์มว่า “บิ๊กจิ๋วไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์”

กลุ่มนายทหารหนุ่มเหล่านั้นทุกวันนี้ได้เกษียณอายุราชการแก่เฒ่าไปตามๆ กัน ไม่แตกต่างกับผมซึ่งลืมตาดูโลกมาก่อนจึงก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยล่วงหน้าพวกท่านเหล่านั้น

ผมได้รู้จักกับ (บิ๊กจิ๋ว) พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประมาณปี พ.ศ.2529 ซึ่งเป็นปีที่ผมได้รับการหนุนส่งให้ได้เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นปีที่ท่าน (พี่) จิ๋วได้ก้าวขึ้นเป็น “นายกรัฐมนตรี” คนที่ 22 ของประเทศไทยที่มาจากการเลือกตั้งประมาณปลายปี 2539 หลังจากได้ลาออกจากผู้บัญชาการทหารบกถึง 6 ปี

กรุงเทพฯ แต่เก่าก่อนไม่ได้ใหญ่โตอะไรนัก พวกเราชอบเปรียบเปรยกันว่าเหมือนหมู่บ้าน

นายทหารในกองทัพส่วนใหญ่ที่เติบโตติดตามนายในหลากหลายรุ่น พวกสื่ออย่างเราๆ ย่อมคุ้นเคยพอพูดคุยกันได้ ไม่มีอะไรลึกซึ้งกินใจเป็นพิเศษถึงขนาดจะเที่ยวไปเปลี่ยนแนวความคิดให้ใคร หรือใครจะมายัดเยียดปลูกฝังแนวนิยมลัทธิต่างๆ ให้กับเราได้

 

หลายคนถามว่า เวลาเขียนเรื่องสยามรัฐทำไมไม่บอกว่าลาจากสยามรัฐด้วยเหตุผลอะไร แต่ด้วยความจำแบบคนสูงวัยแต่ยังไม่ถึงกับเลอะเลือน ยังจำได้ว่าเคยเปรยๆ ไปบ้างแล้ว แต่บอกอีกก็ได้ว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องสืบเนื่องมาจากสมาคมผู้สื่อข่าวแห่งประเทศไทย และ (บิ๊กจิ๋ว) พล.อ.ชวลิตนี่แหละเป็นต้นเหตุโดยไม่รู้ตัว

เพราะความที่เป็นคนมีชื่อเสียงโด่งดัง มีแนวคิดก้าวหน้า ซึ่งอาจก้าวเร็วไปแนวทางของท่านจึงไม่ค่อยได้รับการปฏิบัติจนสำเร็จลุล่วง ไม่ว่าจะในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ถึงนายกรัฐมนตรี

สมาคมผู้สื่อข่าวได้เชิญท่าน (พี่) จิ๋วไปเป็นองค์ปาฐกให้สมาชิกและผู้สนใจทั่วไปฟัง เสร็จแล้วก็รวบรวมคำพูดมาใส่ตลับเทปเพื่อวางจำหน่ายหาเงินรายได้เข้าสมาคม โดยสมาชิกซึ่งอยู่ที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเป็นเพื่อนกับนักข่าวของสยามรัฐจึงติดต่อผ่านมาขอลงโฆษณา โดยเจาะจงตำแหน่งการลงมาว่าให้ติดกับคอลัมน์ “ซอยสวนพลู” ของอาจารย์คึกฤทธิ์ เพราะเป็นจุดขาย

อีกไม่กี่วันต่อมา หน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของประเทศนี้ได้ตีพิมพ์ว่า

ปลดบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ”–?