การใช้ ม.44 กับวัดพระธรรมกาย บอกอะไร และส่งผลกระทบอะไรบ้าง

มุกดา สุวรรณชาติ

เหตุการณ์ปิดล้อมวัดพระธรรมกาย บ่งชี้อะไร…

1.เสรีภาพในการนับถือศาสนาของไทย มีข้อจำกัดอย่างไร?

ในรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับ ตั้งแต่ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 จนถึงฉบับปี 2540 และ 2550 เขียนไว้คล้ายกัน แต่กำหนดเหตุผลที่เป็นข้อจำกัดเสรีภาพในการนับถือศาสนาไว้เพียงสองประการคือ

1) ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมือง

2) ต้องไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

แต่…รัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างใหม่ 2559

มาตรา 31 บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนาและย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน แต่ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

มาตรา 67 รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น

ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทําลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดําเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย

นี่เป็นเรื่องใหม่ที่กำหนด เหตุผลที่จะจำกัดเสรีภาพทางศาสนาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ว่าต้องไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ แถมยังให้มีการกำหนดกลไกป้องกันการบ่อนทำลายศาสนาพุทธ ซึ่งไม่รู้จะเบาไปหนักแบบไหน หรือมีวิธีการอย่างไร

ถ้ารัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ทุกศาสนา ทุกนิกาย ทุกวัด ต้องระวัง ถ้าทำประชาชนเดือดร้อน มีความผิด ถ้ารัฐบาลรู้สึกไม่ปลอดภัยก็ผิดเช่นกัน

2.ความเข้าใจต่อเสรีภาพในการนับถือศาสนา

กรณีธรรมกายมีการพูดกันว่า เป็นพุทธแท้หรือเทียม ที่จริงแล้วประเทศไทยให้สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาซึ่งสามารถจะนับถือศาสนาหรือลัทธิทางศาสนาความเชื่อใดๆ ก็ได้

ซึ่งความเชื่อ ความเลื่อมใสในสังคมไทยมิได้ในรูปแบบศาสนาเพียงอย่างเดียว ผู้คนสามารถมีลัทธิ ความเชื่อ จะกราบไหว้ต้นไม้ใหญ่ๆ เพราะมีความเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิงสถิตอยู่ในนั้น เอาผ้าสีมาพัน จุดธูปบูชา ขอหวยหรือทำอย่างอื่นที่คิดว่าเป็นมงคลจะให้ผลดีกับตนเอง

ผู้คนยังมีความเชื่อเรื่องดวงชะตา มีการนับถือเทพต่างๆ ทั้งเทพที่เป็นของศาสนาฮินดู หรือห้อยพระเครื่องเต็มคอ การนับถือศาสนาพุทธ อาจมีความต่างกันบ้าง เรามีพุทธมหานิกาย และธรรมยุติกนิกาย แล้วยังมีกลุ่มสำนักสันติอโศกซึ่งมีความเคร่งทางศาสนาไปอีกแบบหนึ่ง

การมีความเชื่อ ความศรัทธา การปฏิบัติธรรม ไม่เหมือนกัน เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ความผิด

การนับถือศาสนาหรือความเชื่อจึงยังคงเป็นเสรีภาพที่ถูกกฎหมาย มิได้เป็นความผิดหรือความขัดแย้งที่จะต้องต่อสู้กันให้เกิดความเสียหาย

อย่าเติมเชื้อไฟ

ไม่เพียงมีคนไม่เข้าใจ ความขัดแย้งครั้งนี้ยังมีผู้พยายามกล่าวหาว่าเป็นแรงกดดันที่มาจากกลุ่มคนที่นับถือศาสนาอิสลาม มากดดัน และสร้างสถานการณ์ การตั้งข้อสมมติฐานแบบนี้มีแต่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งทางศาสนา มิได้เป็นผลดีต่อสังคมที่คนต่างศาสนาต้องอยู่ร่วมกันในประเทศนี้ เพราะกลุ่มคนที่นับถือศาสนาอิสลามไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศ มิได้คุมอำนาจ ไม่สามารถสร้างแรงกดดันมากขนาดนั้น มีแต่ตัวเองได้รับแรงกดดัน ต้องเผชิญปัญหาต่างๆ

การยกกรณีนี้ขึ้นมาโจมตีอำนาจรัฐจึงดูแล้วไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายใด มีแต่จะทำให้ปัญหาขยายตัวออกไป ยุ่งเหยิงมากขึ้น เป็นเรื่องไร้เหตุผลไม่มีประโยชน์ เรื่องแบบนี้ไม่ควรเผยแพร่ต่อไป แทนที่จะได้มิตรก็ได้ศัตรูมาแทน

3.เป็นการชี้ว่าโลกยุคใหม่…

อำนาจรัฐเหนือกว่าอำนาจวัด อำนาจในทางกฎหมายของอาณาจักรในยุคปัจจุบันมีมากกว่า และสามารถรุกเข้าไปในเขตศาสนจักร แต่เรื่องแบบนี้เมื่อเกิดการปะทะกันไม่มีฝ่ายใดได้ มีแต่เสียทั้งสองฝ่าย

ในประวัติศาสตร์การเมืองระยะสั้นหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองชี้ให้เห็นว่าองค์กรเด่น บุคคลเด่นไม่สามารถยืนหยัดอยู่ได้นาน

ใครก็ตามที่มีผู้นิยมชมชอบเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ก็มักจะเป็นเป้าโจมตี ถูกโค่นล้มและถูกปราบในที่สุด ไม่ว่าจะเติบโตจากการเมือง หรือศาสนา

4.สถานการณ์นี้ ชี้ให้เห็นว่าการต่อต้านของวัดพระธรรมกายมีลักษณะเบาบางมาก มิได้แสดงให้เห็นว่ามีการจัดตั้งกองกำลังที่จะมาปกป้องวัดหรือมีการต่อต้านแบบรุนแรง

ภาพที่ออกมามีเพียงพระและผู้มีศรัทธาสวดมนต์หรือนั่งต่อต้านแบบอหิงสา แม้ในวันทำบุญใหญ่มีคนมาร่วมเป็นแสนแต่ในเหตุการณ์นี้ก็มิได้ระดมกำลังเป็นแสนมาต่อต้าน

แต่การปฏิบัติการเข้าค้นวัดและปิดล้อมวัดกำลังจะขยายความขัดแย้งและทำให้ความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ของเหล่าผู้นับถือพระธรรมกายมีต่อรัฐมากขึ้น

แผนปฏิบัติการครั้งนี้เท่ากับการประกาศเป็นศัตรูต่อกัน

5.ชี้ให้เห็นว่า ม.44 เป็นอำนาจที่ไม่อาจใช้กระบวนการยุติธรรมมาโต้แย้งและคุ้มครองได้

กรณีวัดพระธรรมกายก็มีข้อถกเถียงกันมาตลอดล่ะ เรื่องนี้ถึงขนาดต้องใช้ ม.44 จัดการ หรือทำไมไม่ใช้กฎหมายธรรมดา มีคนบอกว่าถ้าใช้กฎหมายธรรมดาก็ไม่ต้องไปประท้วงแขวนคอตาย เพราะตัวอย่างของการใช้กฎหมายธรรมดาสมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ผู้ประท้วงกลุ่ม กปปส. สามารถนำไปฟ้องศาลและศาลก็ให้ความคุ้มครอง โดยออกประกาศคำสั่ง 9 ข้อห้ามผู้ที่ถืออำนาจรัฐ กระทำต่อผู้ชุมนุม…เช่น

ห้ามสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ใช้กำลังและหรืออาวุธเข้าสลายการชุมนุม…ห้ามยึดหรืออายัดสินค้า เครื่องอุปโภคบริโภค…ห้ามตรวจค้น รื้อถอน หรือทำลายซึ่งอาคารสิ่งปลูกสร้าง…ห้ามปิดการจราจร ปิดเส้นทางคมนาคม…ห้ามสั่งควบคุมการใช้ยานพาหนะ…ห้ามขัดขวางประชาชนเข้าใช้อาคาร หรือเข้าไป หรืออยู่ในสถานที่…ห้ามสั่งให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่การชุมนุม และห้ามมิให้ออกคำสั่งห้ามประชาชนเข้าไปในพื้นที่ชุมนุม

แต่คราวนี้เนื่องจากเป็น ม.44 มีอำนาจใหญ่กว่าคำสั่งศาล ตามระบอบประชาธิปไตยปกติ จึงไม่มีใครสามารถพึ่งอำนาจในกระบวนการยุติธรรมมาท้วงติงหรือมาคุ้มครองตนเองได้

ผลกระทบมีทั่วทุกด้าน ตาข่ายความขัดแย้งถูกวางล้อมทุกด้าน

1.ในแง่ความมั่นคง

รัฐได้สร้างความไม่พอใจให้กับคนจำนวนมาก ซึ่งพร้อมจะต่อต้านและเอาคืน ทำไม่ได้วันนี้ ก็จะทำวันหน้า

การล้อมปราบการชุมนุมในปี 2553 และเหตุการณ์ที่วัดพระธรรมกายวันนี้ ย่อมส่งผลถึงการเจรจาทาง 3 จังหวัดภาคใต้

สิ่งที่กระทำต่อวัดพระธรรมกายย่อมทำให้ความไว้วางใจของคู่ขัดแย้งที่นับถือศาสนาอื่นมีความหวาดระแวงมากขึ้น เพราะพวกเขาย่อมคิดว่าขนาดคนศาสนาเดียวกันมีคนนับถือมากมายเป็นแสนเป็นล้านยังถูกกระทำแบบนี้ สถานที่ก็ใกล้เมืองหลวงท่ามกลางสื่อมวลชน

ดังนั้น พวกเขาซึ่งอยู่ห่างไกลคงจะต้องหาวิธีปกป้องตนเอง

 

2.ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุน จากการใช้ ม.44 แก้ปัญหา

ผู้ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย จะมีความกังวลว่า ถ้าเกิดคดีวาม มีความขัดแย้งกับรัฐ จะถูกปิด ถูกยึดทรัพย์สินหรือไม่

เขาถามว่าถ้าโรงรับจำนำแห่งหนึ่ง ถูกข้อหารับจำนำของโจรแม้จับคนร้ายที่มาจำนำได้นำทองคืนไป โรงรับจำนำจะต้องถูกยึดหรือไม่ หรือจะต้องปิดโรงรับจำนำหรือไม่

ถ้าธนาคารแห่งหนึ่งทำผิดกฎหมาย ผู้จัดการถูกดำเนินคดีจะต้องยึดธนาคารหรือปิดธนาคารหรือไม่ จะทำแบบกรณีทัวร์ศูนย์เหรียญหรือแบบกรณีเหมืองทองคำ หรือไม่?

เวลานี้จึงยังเป็นเรื่องที่ทุกคนไม่ไว้วางใจการบังคับใช้กฎหมาย เพราะบางเรื่องเป็นอำนาจพิเศษตาม ม.44 ที่ไม่มีใครสามารถต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมได้

 

3.ผลกระทบด้านภาพพจน์ในทางสากล

ภาพการใช้กำลังตำรวจและทหารเข้าปิดล้อมวัดพระธรรมกาย ภาพการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับพระหรือฆราวาสที่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ ภาพที่ยืนเผชิญหน้ากันระหว่างรั้วลวดหนาม สุดท้ายมีคนแขวนคอตายบนหอสูงประท้วงการใช้อำนาจครั้งนี้ล้วนแล้วแต่ประทับตราลงบนภาพของประเทศไทย

ยิ่งประวัติศาสตร์การเมืองในช่วงสั้นของเราหลังการปฏิวัติรัฐประหาร 2549 และมีความวุ่นวายต่อเนื่องกันมาจนถึงหลังการรัฐประหาร 2557 การใช้อำนาจแบบพิเศษต่างๆ ไม่เคยแสดงผลด้านบวกต่อประเทศไทยตัวชี้วัดกรณีพระธรรมกายจะกลายเป็นว่าผู้ที่ขัดแย้งกับอำนาจรัฐล้วนแต่ต้องถูกจับกุมคุมขังตั้งแต่ประท้วงการรัฐประหาร กรณีปราบโกง หรืออื่นๆ อีกมากมาย

ถ้าผู้ที่ประท้วงกรณีวัดพระธรรมกายทั้งพระและฆราวาสถูกจับไปนับสิบคนหรือร้อยคนคงจะเป็นข่าวไปทั่วโลก

4.ผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสาร

ระหว่างการปิดล้อมวัดพระธรรมกาย การปฏิบัติการซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับการปิดล้อมการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ มีสกัดการคมนาคม การสัญจรเข้าออก สกัดการส่งเสบียงอาหารและตัดสัญญาณโทรศัพท์เพื่อปิดล้อมข่าวสาร เรื่องนี้ได้ส่งผลกระทบ 2 ด้านคือ

เป็นการปิดกั้นการรับรู้ของคนภายนอกเพราะทุกคนต้องการรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทุกคนต้องการรู้ความจริงถ้าหากเกิดเหตุการณ์ร้ายใดๆ ขึ้น คนอยากจะเห็นภาพจริงว่าฝ่ายใดทำถูกทำผิด ถ้ามีการตรวจค้นก็อยากเห็นจริงๆ ว่าเรื่องจริงเป็นอย่างไร มีอะไรที่เป็นเรื่องผิดหรือไม่มีเลย การทำงานทำแบบบริสุทธิ์ไม่มีการยัดหลักฐานความผิดให้กันซึ่งจะเป็นผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย

การตัดสัญญาณสื่อสาร ทำความเดือดร้อนให้บุคคลอื่นที่อยู่ใกล้เคียงเพราะในความเป็นจริงสัญญาณถูกรบกวนมีรัศมีเกิน 1 กิโลเมตร ตามที่ได้รับแจ้งจากญาติมิตรที่เดือดร้อน การทำธุรกรรมของบุคคลและบริษัทที่อยู่ใกล้เคียงเกิดปัญหาไม่สามารถติดต่อทำงานได้

เรื่องเหล่านี้เป็นการละเมิดสิทธิ ต้องทบทวนว่าเรื่องแบบนี้ทำมากไปหรือเปล่า เพราะในทางปฏิบัติก็สกัดกั้นข่าวสารการติดต่อไม่ได้

เราจะเห็นว่าในการปราบปรามผู้ร้าย ไม่มีตำรวจที่ไหนพกระเบิดสังหารทั้งๆ ต่อให้รู้ว่าผู้ร้ายมีระเบิด แต่เจ้าหน้าที่รัฐจะไม่โต้ตอบด้วยระเบิด เพราะนี่ไม่ใช่สงคราม ถ้าใช้ระเบิดจะไม่สามารถควบคุมได้ สะเก็ดระเบิดจะไปทำร้ายผู้อื่นที่ไม่รู้เรื่อง

การตัดวงจรการสื่อสารทั่วไปที่ใช้กันจึงจัดในวงแคบ ในสถานการณ์ที่อันตรายจริงๆ เช่นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ทำเพื่อตัดวงจรการวางระเบิดที่ควบคุมด้วยโทรศัพท์มือถือและทำเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เฉพาะพื้นที่เป้าหมาย

AFP PHOTO / Roberto SCHMIDT / TO GO WITH Thailand-politics-religion, FOCUS by Sally MAIRS

สถานการณ์ที่วัดพระธรรมกาย ชี้ให้เห็นว่า นับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมาจนถึงวันนี้ มีคนสร้างตาข่ายความขัดแย้งให้ขยายไปทั่วด้าน ในบ้าน ในสถานศึกษา ในสภา ในวัด ผู้คุมอำนาจรัฐทุกคณะต้องปะทะกับทุกกลุ่ม ซึ่งมีความคิด มีจุดยืนทางการเมือง มีความเชื่อ มีผลประโยชน์ที่ต้องปกป้อง

10 ปีที่ผ่านมา ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกชนชั้น ทั้งคนรวย คนชั้นกลาง คนจน ถูกปลุก ถูกผลักดันให้เข้าสนามการต่อสู้ แม้แต่คนที่ถือศีลภาวนา นั่งสมาธิ จากวันนี้ทุกคนจะได้รับผลกระทบทั้งเงินในกระเป๋า สิทธิเสรีภาพ เลือดเนื้อ ชีวิต

แต่การเมืองพลิกผันได้อย่างรวดเร็ว อย่ากะพริบตา ไม่รู้จะดีขึ้นหรือเลวลง ระวังลูกหลงให้ดี