สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ก้าวใหม่การศึกษาเพื่อคนพิเศษ กล้าก้าวข้ามความกลัว (จบ)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

การศึกษาพิเศษเพื่อคนพิเศษ เดินทางมาถึงตอนสุดท้าย การรายงานผลการเยี่ยมเยียน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กับผู้บริหารโรงเรียน ครู พี่เลี้ยงเด็กพิการและขาดโอกาส โรงเรียนสำหรับคนพิการและขาดโอกาสในเขตภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ อีกสามสายที่เหลือ

สายบี โรงเรียนศรีสังวาลย์ กับโรงเรียนสันทรายวิทยาคม ผมฉายภาพให้เห็นไปแล้ว ทั้งสองแห่งมุ่งเน้นความเป็นมนุษย์ ให้พวกเขามีชีวิตอยู่ได้ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี ก่อนความเป็นเลิศ จัดการศึกษาพร้อมฟื้นฟูสมรรถภาพให้คนพิการช่วยเหลือตัวเอง มีชีวิตอยู่รอดได้ในสังคม

การจัดให้มีการเรียนร่วมระหว่างเด็กพิการกับเด็กปกติ ทำให้เด็กปกติเนับพันคนได้สัมผัส ได้เรียนรู้ ได้อะไรมากมายจากเด็กพิการ

โดยเฉพาะจิตใจที่มีให้ผู้อื่น ซึ่งมีคุณค่ายิ่ง

 

สายซี ไปเยี่ยมศูนย์การศึกษาพิเศษ เขต 8 ผู้อำนวยการเอนก อีก 11 วันจะเกษียณอายุแล้วยังมีพลังล้นหลาม อุทิศตนทำงานเพื่อลูกหลานต่อไปไม่ยอมหยุดพัก พูดด้วยอารมณ์ขันว่า ที่ศูนย์การศึกษาเด็กผีไม่มี มีแต่ลูกผีลูกคน สามวันดี สี่วันไข้ จึงต้องปักหมุด มีแผนดูแล ให้การศึกษาและพัฒนาเด็กเป็นรายบุคคล

ภายใต้หลักคิดทางการบริหาร 3 หลัก ได้แก่ หลักการมีส่วนร่วม พ่อ-แม่ ผู้ปกครองที่มาส่งลูกมีส่วนร่วมในการดูแลลูกของตนเอง และลูกคนอื่นด้วย ส่งต่อความรักที่มีต่อลูกตัวเองไปยังลูกคนอื่นด้วย ลูกเขาก็เหมือนลูกเรา

หลักธรรมชาติ เข้าใจธรรมชาติของแต่ละคน แต่ละความพิการต้องการอะไร เราต้องอยู่กับเขาอย่างไรให้เด็กมีความสุข การรับเด็กพิการเข้ามาเรียนจึงเกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่มีเปิด-ปิด สำหรับคนที่มีความต้องการให้ช่วยเหลือ

หลักแห่งความสุข ทำทุกอย่างให้ผู้รับบริการมีความสุข การจัดการศึกษา เข้า-ออกตอนไหน เด็กจะมีขั้นการพัฒนา 5 ระดับ ใครถึงระดับ 5 ส่งต่อไปโรงเรียนเฉพาะทางความพิการและโรงเรียนเรียนรวม คนที่ยังไม่พัฒนา ไม่มีวันไล่ออก ไม่มีวันจบการศึกษา ก็อยู่กันตลอดไป สิ่งที่ศูนย์การศึกษาพิเศษอยากให้มีคือ ห้อง Neuro feedback เพิ่มจำนวนเครื่องจัดระเบียบประสาท ทำให้หลับดี ราคา 4 แสน ชักชวนให้เอกชนมาบริจาค

“ผู้บริหาร ครู พี่เลี้ยง ต้องอดทน เสียสละ เด็กบางคนต้องใช้คนดูแล 2 คน แต่ครูก็ยิ้มแย้มแจ่มใส สุขภาพจิตดี เสียดายกลุ่มการศึกษาพิเศษ ไม่ได้รับการยกย่องเชิดชูเท่าที่ควร เพราะครูไม่ถนัดเขียนเรื่องตัวเองเพื่อรับรางวัล” ผอ.พิศณุ โรงเรียนสวนกุหลาบ ธนบุรี หนึ่งในทีม กพฐ.ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะดูงานสายซีย้ำ

“น่าพิจารณาเรื่องค่าตอบแทน ครูการศึกษาพิเศษเป็นครูที่ยิ่งกว่าครู เป็นโรงเรียนที่ยิ่งกว่าโรงเรียน ทั้งจัดการศึกษา สร้างแหล่งเรียนรู้ ฟื้นฟูสมรรถภาพ สร้างฐานข้อมูลนักเรียน ปักหมุดในแผนที่ เมื่อพัฒนาการเด็กเปลี่ยนไป ต้องปรับแผนเป็นรายบุคคลตามไป”

 

ต่อไปที่โรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน เด็กหูหนวก ให้บริการ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน นักเรียนทั้งหมด 238 คน อยู่ประจำ 202 คน ไป-กลับ 36 คน การจัดการศึกษาทำเป็นโมเดล “การบริหารโสตศึกษาอนุสารสุนทร” มีระบบครูดูแล ทำงานเกือบ 24 ชั่วโมง

จัดการศึกษาเน้นทั้งทักษะวิชาการ การดำรงชีวิต ด้านอาชีพ งานศิลปะ ทอผ้า เกษตร เสริมสวย คหกรรม ส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม พร้อมกับการฟื้นฟูสมรรถภาพ ซึ่งจะพบความมีอัจฉริยะในความไม่พร้อม พิการ ขาดแคลน แต่มีสัมมาคารวะ มีวินัย กล้าแสดงออก

“ทำอาชีพอื่นต้องตื่นเช้ามาทำบุญตักบาตร แต่อาชีพครู ทำบุญตักบาตรตลอดเวลา” ผู้แทนสายซี ทิ้งท้ายสำนวนคมเฉียบ

 

สายสุดท้าย สายดี เยี่ยมโรงเรียนบ้านริมใต้ สำหรับนักเรียนเรียนรวม ศูนย์การศึกษาพิเศษหน่วยบริการอำเภอแม่ริม สำหรับเด็กพิการทุกประเภท ก่อนปิดท้ายที่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์สำหรับเด็กด้อยโอกาส

“ความประทับใจที่ได้พบสัมผัส ครูมีใจให้เด็ก อุทิศตน คนทำงานการศึกษาพิเศษ เป็นคนมีเมตตา มีพลัง แม้จะหมดแล้วก็ยังมีต่อเพราะความเมตตา” พญ.เบญจพร ปัญญายง กพฐ.หัวหน้าทีม เน้นเสียงเข้ม

ที่ยังพบปัญหาก็คือ การนิยามคำว่าความพิการของแต่ละหน่วยงานแตกต่างกัน 3 กระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สาธารณสุข และศึกษาธิการ

การจดทะเบียนรับเด็ก ผู้ปกครองไม่ยอมรับว่าลูกพิการ การบริหารจัดการสิทธิประโยชน์คูปองการศึกษา ขอสนับสนุน 7,790 ราย ได้จริง 4,740 ราย หรือ 61% เพราะตั้งเกณฑ์ไว้สูง

ด้านบุคลากร เมื่อเกษียณหรือลาออกจะถูกตัดกรอบอัตรากำลัง ไม่มีศึกษานิเทศก์ด้านการศึกษาพิเศษ เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำด้านวิชาการ กับโค้ชในการดูแลเด็ก

“การสอนเด็กในชั้นเหมือนกันหมด เกิดจากครูไม่เข้าใจ ไม่มีสื่อช่วย ทำให้เด็กพิเศษเรียนตามไม่ทัน เกิดทัศนคติไม่ดีต่อการเรียน แม้จะแก้ปัญหาโดยการสอนเสริมก็ตาม”

ข้อเสนอแนะที่อยากให้ทำคือ พัฒนาความสามารถในการสอนโดยใช้ระบบ Coaching และการนิเทศชั้นเรียน กับสนับสนุนสื่อ เขตพื้นที่การศึกษาควรให้โอกาสครูสังกัดสำนักบริหารการศึกษาพิเศษเข้าร่วมการพัฒนาการสอนรายวิชาและด้านอื่นๆ

 

ฟังแล้วเห็นช่องว่างระหว่างหน่วยงานในสังกัดเดียวกัน ทำให้ต้องกลับมาย้อนดูยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาพิเศษของสำนักบริหารการศึกษาพิเศษ สพฐ. เขียนไว้ 4 ด้าน ได้แก่

1. เพิ่มโอกาสให้คนพิการและเด็กด้อยโอกาสเข้าถึงบริการทางการศึกษา

2. พัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้เป็นไปตามเป้าหมาย ตามยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาของชาติ ปลูกฝังเด็กนักเรียนพิการและนักเรียนด้อยโอกาสให้เริ่มกล้าจากสิ่งที่มี กล้าก้าวข้ามความกลัว และกล้าก้าวข้ามค่านิยมของสังคม

3. พัฒนาผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา

4. พัฒนาระบบบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาลและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ทั้ง 4 ข้อจะตอบโจทย์ปัญหาที่ยังดำรงอยู่ให้บรรเทาลงได้แค่ไหนก็ตาม การเผยแพร่ สร้างการรับรู้กับสิ่งที่นักบริหารและครูการศึกษาพิเศษทั่วประเทศ ทุ่มเท เสียสละ ทำงานหนัก ทำอะไรเยอะ เป็นสิ่งสำคัญ

แต่สื่อสารน้อย สังคมยังไม่รับรู้ และไม่เข้าใจ ต่อไปนี้คงต้องเร่งเครื่องเป็นการใหญ่แล้วละครับ