คะแนน ความนิยม 2 ปี 6 เดือน ของ “รัฐบาล” ความนิยม “ลดลง”

AFP PHOTO / LILLIAN SUWANRUMPHA

ไม่เพียงแต่ “กรุงเทพโพลล์” เท่านั้นที่ชี้ออกมาว่าคะแนนและความนิยมของรัฐบาลลดลง หากแต่ “นิด้าโพล” ก็ยืนยันในลักษณะเดียวกัน

จากการสำรวจในห้วงแห่ง “2 ปี 6 เดือนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

ถือเป็นเรื่องเหลือเชื่อ เพราะว่าก่อนหน้านี้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ซูเปอร์โพล” ยืนยันคะแนนและความนิยมสูงสุดเป็นของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เป็นไปได้อย่างไรที่ “กรุงเทพโพลล์” ระบุว่าได้คะแนนเฉลี่ย 5.83 จากเต็ม 10

เป็นไปได้อย่างไรที่ “นิด้าโพล” ระบุว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 พบว่า เมื่อรวมสัดส่วนของผู้ที่ระบุว่าทำงานได้ค่อนข้างดีและดีมาก พบว่ามีสัดส่วนลดลง ขณะที่ผู้ที่ระบุว่าทำงานได้ไม่ค่อยดีจนถึงระดับไม่ดีเลยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

กระนั้น เมื่อเจาะลึกลงไปในรายละเอียดอันทำให้คะแนนและความนิยมลดลงโดยเฉพาะในด้านประสิทธิภาพในการทำงานเปรียบเทียบกับผลการสำรวจในเดือนสิงหาคม 2559 ก็พบว่า มีสัดส่วนของผู้ที่ระบุว่ามีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ขณะที่สัดส่วนของผู้ที่ระบุว่าไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

โดย “กรุงเทพโพลล์” ชี้คะแนนด้านเศรษฐกิจได้เพียง 4.63 จากคะแนนเต็ม 10

ปัจจัย ชี้ขาด
ประสิทธิภาพ

ต้องยอมรับว่าภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 อำนาจอยู่ในมือของ คสช. อยู่ในมือของรัฐบาลอย่างเบ็ดเสร็จ

ความสงบที่เกิดขึ้นถือได้ว่า “ราบคาบ”

อำนาจจากประกาศและคำสั่ง คสช. ก็สามารถจัดการกับปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหยุดการเคลื่อนไหวของฝ่ายการเมือง หากไม่เชื่อก็สามารถเรียกเข้าค่ายทหารปรับทัศนคติได้

แม้กระทั่ง “ประชามติ” ร่างรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ก็ผ่านได้อย่างราบรื่น

กล่าวสำหรับทางสะดวกในทางการเมือง ถือได้ว่าอำนาจของ คสช. อำนวยให้กับรัฐบาลอย่างเต็มที่ แต่ประเด็นอยู่ที่ประสิทธิภาพและความสามารถทางด้านการบริหารมากกว่า

สัมผัสได้จากความล่าช้าในเรื่องการลงทุน โดยเฉพาะ “เมกะโปรเจ็กต์”

เวลา 2 ปี 6 เดือนที่ผ่านมา ไม่สามารถเริ่มโครงการรถไฟความเร็วสูงได้ ไม่มีการลงทุนทางด้านบริหารและจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างเป็นชิ้นเป็นอัน

ทำให้ปัจจัยเชิญชวนการลงทุนจากภาคเอกชนไม่ขยับขับเคลื่อน

ยิ่งกว่านั้น แม้จะทุ่มเงินงบประมาณเพื่ออัดฉีดจากภาครัฐลงไปทั้งในด้านการลงทุนและในด้านการแจกเงินช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจน แต่ผลก็ไม่ปรากฏอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน ราคาพืชทางการเกษตรยังเสื่อมทรุด ตกต่ำ การส่งออกยังติดลบ

ผลก็คือ คะแนนทางด้านเศรษฐกิจได้มาเพียง 4.61 จากเต็ม 10

เมื่อตรวจสอบจาก “กรุงเทพโพลล์” เปรียบเทียบกับ “นิด้าโพล” จึงออกมาตรงกันในเรื่องของประสิทธิภาพเป็นสำคัญ

เป้า มาตรา 44
สร้าง “ผลงาน”

ระยะปลายปี 2559 ต่อเนื่องมายังต้นปี 2560 รัฐบาลประกาศคำสั่งจากมาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและเล็งผลเลิศในการสร้างผลงานอย่างต่อเนื่อง

บางอย่างก็สร้างความพอใจ บางอย่างก็ก่อปัญหาใหม่ขึ้น

ตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ จากการใช้อำนาจตามมาตรา 44 คือ การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 5/2560 มอบอำนาจอย่างเต็มที่ให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อแก้ไขปัญหาการจับตัว พระเทพญาณมหามุนี ในคดีเกี่ยวกับการฟอกเงินและรับของโจร

แต่ก็เกิดปัญหาบานปลาย ไม่เพียงแต่ทำให้ยังไม่สามารถจับตัวพระเทพญาณมหามุนีได้ หากแต่ยังนำไปสู่ความจำเป็นต้องออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 12/2560 ออกมาอีก

ปลด นายพนม ศรศิลป์ ออกจากผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

แต่งตั้ง พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้บัญชาการสำนักคดีภาษีอากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าดำรงตำแหน่งแทน

แสดงว่าการจัดการกับ พระเทพญาณมหามุนี เริ่มมีปัญหา

ปัญหา 1 ซึ่งสะเทือนใจเป็นอย่างสูง คือ การฆ่าตัวตายของ นายอนวัช ธนเจริญณัฐ เรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 44

ปัญหา 1 คือ การชุมนุมประท้วงขยายวง

ปัญหาอันเกี่ยวกับวัดพระธรรมกายได้กลายเป็นประเด็นและกลายเป็นคำถามถึงไม่เพียงแต่ในด้านอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ของมาตรา 44 หากแต่ยังรุกไล่ไปยังกระบวนการบริหารจัดการอันมาจากกรมสอบสวนคดีพิเศษอย่างมีนัยสำคัญ

ในที่สุด ความรับผิดชอบทั้งหมดก็ไปตกอยู่กับ คสช. และรัฐบาลอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้พ้น

AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT

ระยะ 2 ปี 6 เดือน
ของ คสช. รัฐบาล

จุดที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ ระยะแรกที่ คสช. เข้ามา การบริหารจัดการของรัฐบาลอาจสามารถอ้างได้ว่าเนื่องแต่ปัญหาที่หมักหมมและสะสมจากรัฐบาลในกาลอดีต

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทย รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

แต่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ผ่านเข้าไปสู่เดือนพฤษภาคม 2558 และผ่านเข้าไปยังเดือนพฤษภาคม 2559 เหตุผลในการอ้างเช่นนั้นเริ่มไม่มีน้ำหนัก

เพราะในความเป็นจริงล้วนสืบเนื่องมาจากรัฐบาลใหม่ หลังรัฐประหาร

การอ้างและโยนความผิดไปให้กับรัฐบาลในกาลอดีตจึงเท่ากับเป็นการแก้ตัว และโยนความผิดให้คนอื่น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงล้วนเกิดขึ้นในรัฐบาลปัจจุบันทั้งสิ้น

ตรงนี้เองที่ผลจากการสำรวจของ “โพล” เริ่มปรากฏ

ขณะเดียวกัน หากผลการสำรวจสอดรับกับสภาพความเป็นจริงที่บังเกิดย่อมไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลและต่อ คสช. เท่าใดนัก