ต่างประเทศ : ปฏิรูป รธน.รัสเซีย แผน “ปูติน” ยืนหนึ่งผู้นำตลอดกาล!

ยื่นเรื่องเข้าสู่ “สภาดูมา” สภาผู้แทนราษฎรของรัสเซียไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับ “ร่างแผนปฏิรูปรัฐธรรมนูญ” ตามข้อเสนอของวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีผู้ทรงอิทธิพลแดนหมีขาว

ในความเคลื่อนไหวที่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองจับไต๋ว่าเป็นแผนการอันแยบยลของปูตินในความพยายามที่จะทำให้ตนเองอยู่ยืนยงเป็นผู้นำรัสเซียไปตลอดกาล

หลังจากเมื่อปลายสัปดาห์ก่อนมีการขยับรับลูกจากกลุ่มนักการเมืองในคาถา เมื่อดิมิทรี เมดเวเดฟ นายกรัฐมนตรีผู้เคยเป็นประธานาธิบดีขัดตาทัพให้ปูตินมาแล้ว ได้นำคณะรัฐมนตรีตบเท้าลาออกยกคณะ เพื่อเปิดทางสู่การยกเครื่องปฏิรูประบบการเมืองรัสเซียใหม่ภายใต้วิสัยทัศน์ของปูติน ผู้ครองเก้าอี้ประธานาธิบดีรัสเซียมายาวนานที่สุด

ซึ่งได้เสนอวิสัยทัศน์นี้ไปในระหว่างการแถลงนโยบายประจำปีของการบริหารประเทศไปก่อนหน้านั้น

การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของปูตินครั้งนี้ถูกฝ่ายตรงข้ามมองว่าเป็นแผนการยื้ออำนาจผูกขาดทางการเมืองไว้ในมือตนเองของปูติน เป็นการเดินกลยุทธ์แบบเนียนๆ อย่างที่เราได้เห็นปูตินทำมาแล้ว ด้วยการจัดวางตนเองมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคั่นเวลาช่วงปี 2008-2012 และให้เมดเวเดฟขึ้นเป็นประธานาธิบดีหุ่นเชิดของตนเอง หลังจากที่ปูตินเป็นประธานาธิบดีมาติดต่อกัน 2 สมัยในช่วงก่อนหน้าระหว่างปี 2000-2008 เพื่อรอการหวนกลับคืนบัลลังก์ประธานาธิบดีต่อของปูตินในสมัยที่ 3 ในปี 2012 และจนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นสมัยที่ 4

โดยกระบวนการจำต้องเว้นวรรคเป็นประธานาธิบดีของปูติน เป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญรัสเซียที่กำหนดให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 สมัยเท่านั้น

การผลักดันแผนปฏิรูปรัฐธรรมนูญครั้งนี้ของปูตินจึงถูกมองเป็นแผนการรองรับการดำรงอยู่ในอำนาจต่อไปของปูติน หลังจากที่เขาจะหมดวาระการเป็นประธานาธิบดีรัสเซียสมัยที่ 4 ลงในปี 2024

 

มีการตั้งข้อสังเกตจากบรรดานักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการเมืองว่าร่างแผนปฏิรูปรัฐธรรมนูญของปูตินมุ่งมั่นที่จะลดทอนอำนาจของประธานาธิบดีให้อ่อนแอลง และเพิ่มบทบาทอำนาจให้กับรัฐสภามากขึ้นแทนโดยมีตนเองชักใยอำนาจอยู่หลังฉาก

โดยภายใต้ร่างแผนปฏิรูปรัฐธรรมนูญของปูตินเสนอให้รัฐสภาเป็นผู้มีอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี โดยประธานาธิบดีรัสเซียจะไม่สามารถคัดค้านการเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวของรัฐสภาได้

ขณะที่รัฐธรรมนูญรัสเซียฉบับปัจจุบันให้อำนาจนี้อยู่ในมือประธานาธิบดีในการทำหน้าที่แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีแล้วให้รัฐสภาโหวตรับรองเห็นชอบ

ปูตินยังเสนอให้จำกัดวาระดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียในอนาคตไว้ได้ไม่เกิน 2 สมัยเท่านั้น จากเดิมรัฐธรรมนูญกำหนดให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ติดต่อกันไม่เกิน 2 สมัย จากนั้นสามารถเว้นวรรคไปแล้วค่อยกลับมาเป็นใหม่ได้ ดังที่เราเห็นปูตินทำมาแล้วอย่างที่เกริ่นมาข้างต้น

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของปูตินยังเสนอให้กำหนดห้ามผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่อาศัยอยู่ในประเทศรัสเซียน้อยกว่า 25 ปี หรือถือสัญชาติอื่น หรือมีถิ่นพำนักอยู่ในต่างประเทศ ไม่สามารถขึ้นเป็นประธานาธิบดีได้

ต่อประเด็นนี้กลุ่มนักวิเคราะห์มองว่าเป็นมาตรการที่มุ่งหวังสกัดนักการเมืองฝ่ายค้านหรือฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองที่ลี้ภัยในต่างประเทศ ที่จะกลับมาเป็นภัยคุกคามต่อปูตินได้

 

อีกประเด็นสำคัญที่ถูกจับตาอย่างมากคือ สภาที่ปรึกษา (State Council) ที่คอยทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ประธานาธิบดี ซึ่งที่มีผ่านเป็นเพียงคณะทำงานที่ไม่ได้มีบทบาทมากนัก

แต่ในร่างแผนปฏิรูปรัฐธรรมนูญของปูติน มีการเสนอเพิ่มอำนาจอย่างมีนัยสำคัญให้แก่คณะทำงานชุดนี้

ที่เชื่อว่าปูตินจะนั่งเป็นประธานคณะทำงานเอง หลังจากเขาก้าวลงจากเก้าอี้ประธานาธิบดีไปแล้ว

โดยคณะทำงานชุดนี้จะเป็นกลไกสำคัญที่มีอำนาจกำหนดทิศทางนโยบายการบริหารประเทศและนโยบายต่างประเทศ ตลอดจนกำหนดแผนยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของรัสเซีย

แนวทางนี้ถูกมองว่าเป็นกลยุทธ์ทางการเมืองคล้ายๆ กับที่นูร์ซุลตัน นาซาร์บาเยฟ ประธานาธิบดีคาซัคสถาน วัย 79 ปี ปูทางเพื่อการยึดกุมอำนาจไว้ ก่อนที่เขาจะลงจากตำแหน่งในปีที่แล้ว หลังจากเป็นผู้นำประเทศมายาวนานเกือบ 30 ปี

ปูตินสั่งการให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อประเมินผลรอบด้านของแผนปฏิรูปรัฐธรรมนูญฉบับนี้ของตน โดยรับปากว่าจะเปิดทางให้ประชาชนได้ลงประชามติแสดงความคิดเห็นที่มีต่อแผนปฏิรูปนี้ แต่ไม่ได้มีการบอกกล่าวว่าจะให้มีขึ้นเมื่อใด

แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้เหล่านักการเมืองฝ่ายค้านเริ่มเคลื่อนไหวปลุกระดมมวลชนให้ออกมาร่วมกันแสดงการต่อต้านแผนการยื้ออำนาจเพื่อหวังเป็นผู้นำตลอดกาลของปูตินกันแล้ว!