ใครเป็นใครใน “ความขัดแย้งซีเรีย”

Russian President Vladimir Putin (R) shakes hands with his Syrian counterpart Bashar al-Assad (L) during a meeting at the Kremlin in Moscow on October 21, 2015. Assad, on his first foreign visit since Syria's war broke out, told his main backer and counterpart Putin in Moscow that Russia's campaign in Syria has helped contain "terrorism". AFP PHOTO / RIA NOVOSTI / KREMLIN POOL / ALEXEY DRUZHININ

เจ้าหน้าที่รัฐบาลซีเรียและตัวแทนจากกลุ่มต่อต้านรัฐบาล เริ่มต้นนั่งโต๊ะเจรจาเพื่อหาข้อยุติความขัดแย้งในซีเรีย เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ทีผ่านมา นับเป็นการเจรจาซึ่งมีองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เป็นตัวกลางเป็นครั้งที่สี่แล้ว

แม้จะยังไม่รู้ว่าความขัดแย้งยืดเยื้อนี้จะจบลงเมื่อใด แต่การทำความรู้จักกับตัวละครหลักที่มีผลประโยชน์อยู่ในสนามรบแห่งนี้เอาไว้ ก็อาจทำให้สามารถทำนายผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ได้

“กองกำลังรัฐบาลซีเรีย” นำโดย บาชาร์ อัล-อัสซาด ประธานาธิบดี มีกำลังทหาร 300,000 นาย ปัจจุบันลดจำนวนเหลือครึ่งหนึ่ง แต่ยังได้รับการสนับสนุนจากทหารนอกประจำการ และกองกำลังเฮซบอลเลาะห์จากเลบานอน รวมไปถึงนักรบจากอิหร่าน อิรัก และอัฟกานิสถาน

กองกำลังรัฐบาลซีเรียได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจาก “รัฐบาลรัสเซีย” ที่ร่วมโจมตีทางอากาศจนสามารถยึดเมืองยุทธศาสตร์สำคัญหลายๆ เมืองกลับคืนจากกลุ่มกบฏได้

ปัจจุบันรัฐบาลซีเรียยึดครองพื้นที่คิดเป็น 34 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ มีประชากรอยู่ในพื้นที่คิดเป็น 65.5 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนประชากรทั้งหมด 16 ล้านคน ที่ยังอยู่ในซีเรีย


“กองกำลังกลุ่มกบฏ”
ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มที่แตกแขนงไปอีกหลายกลุ่ม มีกำลังทหารราว 10,000 ถึง 100,000 นาย

ในช่วงแรกรวมตัวกันภายใต้ชื่อกลุ่ม “กองกำลังปลดปล่อยซีเรีย” หรือเอฟเอสเอ ก่อนที่กลุ่มดังกล่าวจะแตกย่อยออกไป เป็น “กลุ่มอาห์ราร์ อัล-ชาม” กลุ่มที่มีแนวคิดอิสลามสุดโต่ง รวมถึง “กลุ่มจาอิช อัล-อิสลาม” กลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากซาอุดีอาระเบีย และเป็นกลุ่มที่ส่งตัวแทนไปร่วมเจรจาสันติภาพมาแล้วด้วยก่อนหน้านี้

กลุ่มกบฏยึดครองพื้นที่ในซีเรีย “เพียง 13 เปอร์เซ็นต์” มีประชากรอาศัยในพื้นที่คิดเป็น 12 เปอร์เซ็นต์ของประชากรที่ยังเหลือในประเทศ

“กลุ่มนักรบญิฮาด” ในซีเรียมีอยู่ด้วยกัน 2 กลุ่มที่เป็นคู่แข่งกันคือ “กลุ่มกองกำลังรัฐอิสลาม” หรือไอเอส และ “กลุ่มฟาเตห์ อัล-ชาม ฟรอนต์” อดีตสาขาหนึ่งของกลุ่มก่อการร้าย อัล เคด้า

“ไอเอส” ถือกำเนิดขึ้นจากความวุ่นวายในสงครามกลางเมืองซีเรีย เข้ายึดพื้นที่ขนาดใหญ่ในซีเรียและอิรัก ในปี 2014 พร้อมประกาศพื้นที่ “รัฐอิสลาม” ก่อนก่อการและเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อในการก่อการร้ายในต่างประเทศ

ปัจจุบันไอเอสอยู่ในสถานะที่ถดถอยลง หลังจากต้องเผชิญกับหลายแนวรบ โดยเฉพาะปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของ “กลุ่มพันธมิตรนำโดยสหรัฐอเมริกา” และกองทัพ “รัสเซีย”

อย่างไรก็ตาม กลุ่มไอเอสยังคงยึดครองพื้นที่ในซีเรียเอาไว้ได้ถึง 33 เปอร์เซ็นต์ รวมไปถึงเมืองร็อกเกาะห์ และหลายเมืองตอนเหนือของประเทศ

ด้าน “กลุ่มฟาเตห์ อัล-ชาม ฟรอนต์” นั้น แยกตัวจากกลุ่ม อัล เคด้า เมื่อปี 2016 ร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่มกบฏ “อาห์ราร์ อัล-ชาม” นับตั้งแต่ปี 2015 แต่ก็เกิดความขัดแย้งสู้รบกันเองในเดือนมกราคมที่ผ่านมา

สถานการณ์บังคับให้กลุ่มกบฏหลายกลุ่มร่วมเป็นพันธมิตรกับทั้ง “อาห์ราห์ อัล-ชาม” หรือไม่ก็ “ฟาเตห์ อัล-ชาม” ซึ่งในเวลาต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “ตาห์รีร์ อัล-ชาม”

 

“กลุ่มชาวเคิร์ด” เป็นอีกกลุ่มในซีเรียที่มักวางตัวอยู่วงนอกความขัดแย้ง อาศัยอยู่ในเขตแดนกึ่งปกครองตนเองทางเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย

หน่วยพิทักษ์ประชาชน (วายพีจี) ของกลุ่มชาวเคิร์ดกลายเป็นหุ้นส่วนสำคัญของกลุ่มพันธมิตรนำโดยสหรัฐอเมริกา ในการสู้รบกับกลุ่มไอเอส ในฐานะส่วนหนึ่งของกองกำลังประชาธิปไตยซีเรีย (เอสดีเอฟ)

กลุ่มวายพีจี ยึดครองพื้นที่ราว 20 เปอร์เซ็นต์ของซีเรีย บริเวณชายแดนตอนเหนือระหว่างซีเรียและตุรกี มีประชากร 12 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 2 ล้านคนอาศัยในพื้นที่

กองกำลังเอสดีเอฟ ดำเนินปฏิบัติการโจมตีฐานที่มั่นไอเอสในเมืองร็อกเกาะห์ ขณะที่ “กองกำลังตุรกี” ที่เข้าร่วมปฏิบัติการโจมตีในซีเรีย เมื่อปี 2016 เปิดฉากโจมตีกลุ่มไอเอส รวมถึงกลุ่มวายพีจี ที่ทางการตุรกีมองว่าเป็นสาขาของกลุ่มกองกำลังพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน (พีเคเค) ที่ก่อกบฏในตุรกีเป็นเวลายาวนาน 32 ปี

“กลุ่มชาติมุสลิมสุหนี่” อย่างซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ ตุรกี เป็นกลุ่มประเทศที่ให้การสนับสนุนเงินและกำลังทหารให้กับกลุ่มกบฏ ในการต่อสู้กับรัฐบาลอัสซาด ผู้ที่เป็นสมาชิกชนกลุ่มน้อยอัลลาไวท์ที่เป็นมุสลิมชีอะห์

 

ด้านรัฐบาลตุรกี และรัสเซีย แม้จะสนับสนุนกลุ่มที่เป็นขั้วตรงข้ามกัน แต่ในช่วงเดือนที่ผ่านมาทั้งสองชาติก็ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อหาข้อยุติทางการเมืองในความขัดแย้งซีเรีย อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ “กลุ่มพันธมิตรนำโดยสหรัฐอเมริกา” เข้าร่วมโจมตีฐานที่มั่นของกลุ่มไอเอสในซีเรีย ตั้งแต่ปี 2014 โดยกลุ่มพันธมิตรดังกล่าวประกอบไปด้วย ออสเตรเลีย บาห์เรน อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส จอร์แดน เนเธอร์แลนด์ ซาอุดีอาระเบีย ตุรกี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

นับจากนี้การเจรจาระหว่างสองตัวละครหลัก ที่มีตัวละครสนับสนุนอีกหลายกลุ่มที่เริ่มขึ้นแล้วนั้น จะนำไปสู่สันติสุขในซีเรียได้หรือไม่คงต้องติดตาม