คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ก้าวข้ามธรรมกาย ก้าวข้ามอำนาจนิยม

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผู้สื่อข่าวท่านหนึ่งถามผมว่า หลังความพยายามกวาดล้างธรรมกายของรัฐบาลในครานี้ สำนักธรรมกายจะถึงกับสิ้นสูญเลยไหม

ผมตอบเขาไปว่าสำนักธรรมกายน่าจะดำรงอยู่ต่อไป เพราะบัดนี้ธรรมกายมีลักษณะเกิน “วัด” ไปแล้ว

คือกลายเป็นองค์กรจัดตั้งที่มีความซับซ้อน

มีมวลชนของตัว

และที่สำคัญ มีเครือข่ายที่กว้างไกลมาก

แม้ต่อให้จับเจ้าอาวาสสึกได้ ผมคิดว่าธรรมกายก็จะยังคงดำเนินงานของตัวเองต่อไปได้อยู่ เพียงแต่อาจมีความเปลี่ยนแปลงหลายประการ

ข้อนี้น้องท่านหนึ่งซึ่งเป็น “คนใน” ของวัดท้วงผมว่า เท่าที่เขาอยู่มา ที่จริงวัดมีลักษณะรวมศูนย์มาก กิจกรรมและโครงการต่างๆ ล้วนออกมาจากเจ้าอาวาสทั้งสิ้น

เขาจึงเชื่อว่า การจับเจ้าอาวาสได้จะกระทบกระเทือนรากฐานของวัดอย่างแน่นอน แต่ผมไม่คิดอย่างนั้น เพราะมองเห็นภาพของธรรมกายต่างจากเขา คือเห็นว่าไม่ได้ดำรงอยู่ได้ด้วยคนคนเดียวอีกต่อไป

 

สิ่งหนึ่งที่ผมพูดกับผู้สื่อข่าวคนนั้น คือผมคิดว่าปัญหาของธรรมกายใหญ่กว่ารัฐบาลจะแก้ไขด้วยวิธีจับกุมกวาดล้าง สิ่งที่ชัดเจนคือแม้จะพยายามยัดความผิดทางกฎหมายแก่วัดให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้แต่ก็ยังทำอะไรไม่ได้อยู่ดี

จนสุดท้ายต้องใช้มาตรา 44 ซึ่งสะท้อนชัดว่ารัฐอับจนหนทางที่จะจัดการเสียแล้ว

หากพระธัมมชโยและผู้บริหารวัดต้องสงสัยว่ามีความผิดในกรณีละเมิดกฎหมายสำคัญที่มีผลต่อรัฐและประชาชน เช่น คดีฉ้อโกง ก็ต้องมีหลักประกันว่าจะดำเนินคดีอย่างยุติธรรมทุกขั้นตอน ซึ่งในเวลานี้มีเหตุให้ควรสงสัยได้ อีกทั้งตามระเบียบวิธีพิจารณาฯ ผู้ต้องสงสัยในคดีอาญาถ้าเป็นพระเพียงแค่ไม่ได้รับการประกันตัวก็ต้องลาสิกขาทันทีแม้ว่ายังไม่มีการตัดสินความผิด ข้อนี้ธรรมกายคงคิดหนัก

ผมไม่ได้บอกว่าธรรมกายไม่ต้องรับผิดชอบอะไรนะครับ ความผิดทางกฎหมายยังไงก็คือความผิดที่ต้องรับผิดชอบ แต่ต้องมั่นใจด้วยว่ากระบวนการจะเป็นไปอย่างยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย และต้องจัดการ “ทุกฝ่าย” ที่เข้าข่ายความผิดในลักษณะเดียวกันด้วย

การจัดการหรือแก้ปัญหาแบบนี้จึงต้องอาศัยการมีรัฐที่มีระบบนิติธรรมและขบวนการยุติธรรมที่ไม่ถูกแทรกแซง ไม่แบ่งฝ่าย

กระนั้นทั้งๆ ที่ทราบว่าธรรมกายนั้นมีสานุศิษย์จำนวนมากดังกล่าว แต่รัฐยังหาญกล้าไปบุกวัดเพื่อ “กวาดล้าง” เพราะลึกๆ คงเชื่อว่ามีชนชั้นนำ คนชั้นกลางและคนรุ่นใหม่จำนวนมากสนับสนุนการบุกครั้งนี้

ถ้าเราเป็นนักท่องโลกออนไลน์สักหน่อย จะเห็นว่ามีเพจหรือภาพกราฟฟิกที่โจมตีหรือล้อเลียนวัดพระธรรมกายและเจ้าอาวาส ผุดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเพจเจ้าเก่าต่างๆ ที่ขยันโจมตีบ่อยเป็นพิเศษในช่วงนี้ คงเป็นภาพสะท้อนความเกลียดธรรมกายของคนรุ่นใหม่ได้อย่างหนึ่ง

เสียงเชียร์ให้รัฐจัดการธรรมกายให้สิ้นซากด้วยความเด็ดขาดรุนแรง ผมได้ยินคล้ายๆ เสียงร้องเรียกให้ทำรัฐประหารหรือเสียงร้องขออำนาจพิเศษหรือผู้วิเศษมาแก้ปัญหาให้เราอย่างที่ได้ยินกันมาตลอด

 

สําหรับผมและมิตรสหายหลายท่าน เมื่อมองบนจุดยืนเรื่องเสรีภาพทางศาสนา ธรรมกายย่อมมีสิทธิ์ที่จะสอนและตีความคำสอนตามแนวทางของเขาตราบใดที่ไม่ละเมิดสิทธิ์คนอื่นหรือส่งเสริมความรุนแรง ในแง่นี้ การอ้างว่าธรรมกายเป็นสัทธรรมปฏิรูปหรือไม่ใช่พุทธศาสนาแท้จึงไม่เป็นเหตุผลอะไรเลยที่จะต้องกวาดล้าง

แต่นั่นมิได้หมายความว่า เราไม่อาจวิพากษ์วิจารณ์ ถกเถียง โต้แย้ง เรื่องการตีความคำสอนและแนวทางปฏิบัติของธรรมกายได้ เราย่อมมีสิทธิ์ทำเต็มที่เช่นกัน แม้แต่จะดีเบตว่าธรรมกายเป็นเถรวาทหรือมหายานหรือเป็นพุทธก็ย่อมได้ แต่ไม่ใช่การเรียกร้องขออำนาจรัฐเข้าจัดการให้ราบคาบ

เว้นเสียแต่ว่า เรากำลังอยู่ในรัฐศาสนาไม่ใช่รัฐประชาธิปไตย อยู่ในโลกโบราณที่ความเชื่อก็ต้องถูกควบคุมโดยรัฐหรือผู้มีอำนาจและจะต้องมีแบบเดียวเท่านั้น

สำหรับผมและอีกหลายคน ปัญหาของธรรมกายจริงๆ คือการที่ธรรมกายนั้นเข้าใกล้ชิดกับอำนาจรัฐ และใช้ประโยชน์จากความใกล้ชิดนั้นเท่าที่จะทำได้

หากทุกท่านจำได้ ในสมัยรัฐบาลก่อนๆ โครงการที่เกี่ยวกับการอบรมคุณธรรมหรืออภิมหาโครงการทางพุทธศาสนาล้วนดำเนินการร่วมกับธรรมกาย เช่นอบรมข้าราชการทั่วประเทศ บวชทั่วประเทศ ฯลฯ

นอกจากนี้ แม้ธรรมกายจะมีรูปแบบการปฏิบัติ และการตีความคำสอนที่ต่างออกไปจากสำนักอื่นๆ บ้าง ซึ่งต้องโน้ตไว้ที่นี้นะครับว่า กรณีหลักการที่ธรรมกายโดนโจมตีจากนักปราชญ์มากที่สุดคือเรื่องนิพพาน แต่ที่จริงไม่ได้มีแค่ธรรมกายที่พูดถึงนิพพานในลักษณะเป็นของมีตัวมีตน ยังมีการพูดถึงนิพพานในลักษณะเมืองแมนแดนสรวงที่คล้ายๆ กันหรือยิ่งกว่า เช่น กรณีหลวงพ่อฤๅษีลิงดำหรือสำนักอื่นๆ อีกมาก แต่ธรรมกายยังยินดีกับการอยู่ใต้ปกครองคณะสงฆ์และมหาเถรสมาคม ยินดีกับระบบสมณศักดิ์ ฯลฯ ไม่ต่างจากวัดอื่นๆ

ทั้งนี้ เราต้องไปลืมว่า การใช้ประโยชน์จากรัฐหรือรัฐใช้ประโยชน์ไม่ได้เกิดขึ้นกับสำนักธรรมกายเท่านั้น แต่เกือบทุกสำนักในพุทธศาสนาหรือพระสงฆ์องค์เจ้าในบ้านเราล้วนแต่เข้ามาแบ่งปันผลประโยชน์นี้มากน้อยต่างกันออกไปทั้งสิ้น

 

ดังนั้น แม้จะกำจัดธรรมกายออกไปได้ ก็มิได้แปลว่าปัญหาเรื่องผลประโยชน์และอำนาจระหว่างศาสนากับรัฐจะหมดสิ้นลงไปด้วย

ก็แค่หมดเสี้ยนหนามที่น่าสงสัยและเป็นคนละฝักฝ่ายของรัฐและชนชั้นนำไปหนึ่งเจ้าเท่านั้นเอง

ทางออกของปัญหานี้ในระยะยาว จึงยังคงเป็นข้อเสนอการแยกศาสนาออกจากรัฐ (Secularization) โดยปล่อยให้การดำเนินกิจการทางศาสนาเป็นของเอกชน รัฐเป็นเพียงผู้รับประกันสิทธิและเสรีภาพทางศาสนาโดยไม่เข้าไปก้าวก่ายหรือมีนโยบายที่เอื้อต่อศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษ ในแง่นี้ศาสนาในฐานะองค์กรเอกชนย่อมต้องดูแลและวิพากษ์วิจารณ์กันเองโดยรัฐดูแลอยู่ห่างๆ

การแยกศาสนาออกจากรัฐ จึงทำให้องค์กรทางศาสนาจำต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกสมัยใหม่ ในขณะเดียวกันก็จะเกิดความแตกต่างหลากหลายของการตีความและการปฏิบัติ สามารถเป็นทางเลือกให้ผู้คนที่แตกต่างกัน

ในแง่นี้ ธรรมกายก็จะไม่กลายเป็นปัญหาของรัฐอีกต่อไป เพราะไม่เป็นทั้งคนฉกฉวยผลประโยชน์หรือเอื้อประโยชน์ของรัฐ และย่อมมีสถานภาพเท่าเทียมกับสำนักพุทธศาสนาอื่นๆ

ส่วนการมีคำสอนที่แตกต่าง ก็จะหมดสภาพการเป็นปัญหาของรัฐไปเอง โดยจะเปลี่ยนไปสู่การเป็นปัญหาที่บรรดาศาสนิกและนักปราชญ์ทั้งหลาย จะถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันต่อไปในแวดวงของตน

การแยกศาสนาออกจากรัฐที่จริงแล้วจึงไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายคนกังวล แต่กลับจะช่วยศาสนาให้อยู่รอดได้อย่างมีความหมายด้วยซ้ำ

 

ถึงตอนนี้เอาเข้าจริงแล้วผมไม่แน่ใจนักว่า คนรุ่นผมที่เกลียดชังธรรมกายเขาเกลียดเพราะอะไรกันแน่ หรือเข้าใจปัญหาของธรรมกายดีแค่ไหน

เพราะเท่าที่เห็นจากเพจต่างๆ ความเกลียดธรรมกายส่วนหนึ่งมาจากความ “หมั่นไส้” ของ “รูปแบบ” เช่น เจดีย์ทรงที่ไม่คุ้นเคย พิธีการที่อลังการแหวกแนว ความแปลกประหลาดของข้าวของเครื่องใช้ หรือแม้แต่การล้อเลียนเรื่องเพศสภาวะของเจ้าอาวาสและพระในวัด

ความหมั่นไส้เช่นที่ว่าจะมีก็ไม่แปลกครับ แต่อย่าลืมว่านั่นไม่ใช่ปัญหาจริงๆ ของวัดพระธรรมกาย

หรือยิ่งไปกว่านี้หน่อย คือการรังเกียจตัวคำสอน เช่น เรื่องการทำบุญมากๆ เรื่องสวรรค์วิมาน ฯลฯ ซึ่งเราย่อมวิจารณ์โต้แย้งได้เต็มที่ แต่ไม่ควรเป็นเหตุมากพอที่ต้องสนับสนุนให้กวาดล้าง

ปัญหาธรรมกายจึงเป็นเพียงปลายยอดของภูเขาน้ำแข็ง ถ้าถอดรูปแบบอะไรออกไปบ้างก็จะพอมองเห็นว่า ธรรมกายนั้นไม่ได้ต่างกับวัดหรือสำนักอื่นๆ ในเมืองไทยอีกมากโดยเฉพาะรากฐานความคิดและความสัมพันธ์กับอำนาจรัฐ แต่พอรูปแบบไม่เข้าตามขนบจารีต ธรรมกายจึงสะดุดตาเราเป็นพิเศษกระมัง

หากเราคิดว่าจัดการธรรมกายได้แล้วพุทธศาสนาในเมืองไทยจะบริสุทธิ์ผุดผ่องขึ้น ผมว่าเราคิดผิดถนัด ถ้าไม่สามารถก้าวข้ามธรรมกายไปสู่ปัญหาของพุทธศาสนาในบ้านเราทั้งระบบได้ก็อย่าหวังว่าจะมีอะไรดีขึ้นเลย

หากยังไม่ก้าวข้ามการเอาอำนาจเบ็ดเสร็จข้างนอกไปแก้ปัญหาตั้งแต่เรื่องปากท้องยันเรื่องพระเถรเณรชีได้ เราคงหวังถึงสังคมที่โตเป็นผู้ใหญ่ได้ยากเต็มที