พลโท ดร.พงศกร รอดชมภู : สงครามนิกาย เสรีภาพและการปฏิวัติที่รุ่งโรจน์

พลโท ดร. พงศกร รอดชมภู อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

เรื่องหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของโลกเกิดขึ้นตามยุคสมัยและทำให้ความขัดแย้งหลักๆในช่วงนั้นยุติลงหรือเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใหม่ส่งผลให้สังคมเกิดการวิวัฒนาการไปในส่วนที่เรียกได้ว่าเจริญกว่า ผู้คนมีความอดทนต่อความแตกต่างมากกว่าเดิม หรือมีกลไกที่ช่วยลดความขัดแย้งลงได้

ในกลางศตวรรษที่ ๑๗ มีสงครามศาสนาระหว่างรัฐที่นับถือนิกายโรมันคาธอลิกและนิกายโปรเตสแตนท์และยุติลงด้วยการลงนามในสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลียเมื่อ ค.ศ. ๑๖๔๘  เทียบกับไทยคือปลายรัชสมัยพระเจ้าปราสาททองแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง แต่การทำสงครามเพราะศาสนายังมีอยู่ต่อมา เช่นกรณีของอังกฤษซึ่งถือว่าเป็นฝ่ายโปรเตสแตนท์ กลับมีกษัตริย์ที่สนับสนุนและเข้ารีตนิกายโรมันคาธอลิกนำไปสู่ความขัดแย้งกันภายในที่ฝ่ายกษัตริย์ซึ่งถือว่าเป็นชนกลุ่มน้อยใช้กฎหมายและวิธีปฏิบัติกดขี่ชาวโปรเตสแตนท์ซึ่งเป็นทั้งบารอนและพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศ

อังกฤษมีผลิตผลจากการจำกัดอำนาจของกษัตริย์มาตั้งแต่สมัยโรบินฮูดที่เป็นนิยาย แต่ความจริงคือเปล่าบารอนบังคับพระเจ้าจอห์นให้ยอมรับอำนาจของรัฐสภา เมื่อจะทำสงครามหรือขึ้นภาษีต้องถามผู้แทนราษฎรหรือสมัยนั้นคือเหล่าบารอนเสียก่อนยุคนี้เทียบแล้วอยู่สมัยกรุงสุโขทัยตอนต้น เพราะทั้งสงครามและขึ้นภาษีจะกระทบต่อไพร่ของเหล่าบารอนและความมั่งคั่งของเหล่าบารอนเองด้วย

ต่อมาในยุคสมัยราวๆปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในอังกฤษพระเจ้าเจมส์ที่ ๒ ผู้เข้ารีตโรมันคาธอลิกขัดแย้งกับเหล่าขุนนางและราษฎร เหล่าบารอนจึงไปอัญเชิญเจ้าฟ้าหญิงแมรีซึ่งเป็นพระราชธิดาซึ่งขณะนั้นได้อภิเษกกับเจ้าชายวิลเลียมแห่งออร์เรนจ์แห่งเนเธอร์แลนด์ที่เป็นโปรเตสแตนท์เช่นเดียวกันกลับมาครองราชย์ร่วมกับพระสวามี มีการพยายามต่อต้านแต่ก็พ่ายแพ้ไป ยุคสมัยนี้เรียกกันว่าเป็นการปฏิวัติที่รุ่งโรจน์เพราะถือว่าไม่มีการเสียเลือดเนื้อในช่วงการปฏิวัติ แม้ว่าหลังจากนั้นจะมีการรบกันอย่างน่าสยดสยองก็ตามที

สงครามระหว่างสองนิกายที่ถือได้ว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยภายในประเทศ แต่ก็เป็นการยุติความขัดแย้งลงอย่างสิ้นเชิงเพราะประชาชนได้มีสิทธินับถือศาสนาตามที่ต้องการได้โดยไม่มีการควบคุมจากทางการอีกต่อไป แต่สงครามครั้งนี้มีเงื่อนไขพิเศษได้แก่อำนาจของรัฐสภาที่เข้มแข็งและเป็นตัวแทนของประชาชนในรูปแบบของอังกฤษต่อมาจนปัจจุบัน และการตรากฎหมายเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นครั้งแรกในโลกและเป็นหลักประกันให้กับราษฎรมาจนถึงปัจจุบันนี้

ก่อนจะลงไปในรายละเอียดเรื่องเสรีภาพนี้ ต้องขอกล่าวถึงนักปรัชญาการเมืองที่ถือได้ว่าเป็นบิดาของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่มีชีวิตอยู่ร่วมสมัยและได้รับผลพวงจากความขัดแย้งจนต้องหนีไปอยู่เนเธอร์แลนด์และกลับมาอังกฤษหลังการปฏิวัติ ได้แก่นายแพทย์จอห์น ล็อค นักคิดที่อยู่ระหว่างค่ายประจักษ์นิยมของฝ่ายที่เชื่อแต่สิ่งที่สัมผัสได้ กับ ฝ่ายเหตุผลนิยมที่คิดว่าจิตนั้นสำคัญกว่า

จอห์น ล็อคได้ให้นิยามของเสรีภาพ ซึ่งต่อมาเป็นสิ่งที่ชาวยุโรป อเมริกันและคนในยุคใหม่ทุกคนแสวงหาและต่อสู้เพื่อให้ได้มาเหมือนนกที่พยายามบินออกจากกรง ล็อคกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า ปัจเจกชนควรมีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่รัฐจะพรากไปไม่ได้นั่นคือ ประการแรกสิทธิในตัวเองในเรื่องชีวิตแปลว่ามีสิทธิป้องกันตัวได้ ประการที่สองสิทธิในทรัพย์สินหมายถึงรัฐมีหน้าที่ปกป้องทรัพย์สินของประชาชนให้อุดมสมบูรณ์ ไม่ใช่การมาขึ้นภาษีตามอำเภอใจหรือยึดเอาตามใจชอบและแปลว่าราษฎรมีสิทธิในการต่อต้านได้ ประการที่สามคือสิทธิในทางการเมืองที่จะออกกฎหมายของตนเอง มาปกครองตนเองเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

แนวคิดนี้มาจากข้อเสนอว่ามนุษย์เกิดมาตามธรรมชาตินั้นเท่าเทียมกัน มีเหตุผล ไม่ฆ่าแย่งชิงกันเพื่อการอยู่รอดเท่านั้นแต่มีการตกลงกันเพื่อสังคมที่ดีได้ โดยมีรากฐานความเชื่อมาจากมนุษย์ที่เท่าเทียมกันคือประชาชนเป็นใหญ่ ดังนั้นสัญญาประชาคมจึงเกิดจากความยินยอมของคนเพื่อเป็นหลักประกันในการมีชีวิตที่ดีของชุมชนเองไม่ใช่ของคนอื่น ดังนั้น เมื่อใดที่รัฐบาลใช้อำนาจผิดไปจากเจตนาของราษฎร มุ่งใช้กฎหมายเพื่อบังคับเอาตามใจชอบ ประชาชนก็มีสิทธิที่จะถอดถอนรัฐบาลได้แม้จะใช้กำลังก็ตาม แนวคิดนี้ตรงกันข้ามกับฝ่ายสนับสนุนรัฐคือโธมัส ฮอปป์ที่บอกว่าเมื่อมอบอำนาจให้รัฐเป็นองค์อธิปัตย์แล้วทวงคืนไม่ได้

ดังนั้นสิทธิของล็อค ในเรื่องชีวิต ทรัพย์สินและการออกกฎหมายมาบังคับใช้ตัวเองนั้นเป็นสิทธิที่มากับธรรมชาติดั้งเดิม รัฐมีเพียงหน้าที่รับใช้ราษฎรเท่านั้น ไม่มีหน้าที่ในการปกครอง สิทธิทางการเมืองทั้งหมดเป็นของราษฎร เมื่อรัฐทำงานล้มเหลวราษฎรผู้ก่อตั้งรัฐนั้นก็มีสิทธิอันชอบธรรมที่จะถอดถอนเสียได้

แนวคิดของจอห์น ล็อคนี้เองทำให้หลังการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ได้มีการออกพระราชบัญญัติสิทธิพื้นฐานของพลเมือง และ พระราชบัญญัติว่าด้วยขันติธรรมทางศาสนา ทำให้อังกฤษและโลกก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของอารยะธรรม

พระราชบัญญัติสิทธิพื้นฐานของพลเมือง เนื้อหาหลักๆคือให้พสกนิกรมีสิทธิทูลเกล้าฯถวายฎีกา มีสิทธิที่จะชักอาวุธเพื่อป้องกันตนเอง ส่วนในทางการเมือง การปกครองนั้น พระราชกิจต้องได้รับอนุมัติจากรัฐสภาเสียก่อนจึงจะมีผลสมบูรณ์ ส่วนพระราชบัญญัติว่าด้วยขันติธรรมทางศาสนาคือการยอมรับการมีอยู่ของโปรเตสแตนท์นิกายอื่นนอกเหนือจากนิกายอังกฤษ ส่งผลให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสวงหาความมั่งคั่งโดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกเก็บภาษีแบบไร้เหตุผลอีก มีเสรีภาพในการนับถือศาสนาได้อย่างเสรีในกรอบของโปรเตสแตนท์ และในที่สุดก็เป็นเสรีภาพในการนับถือศาสนาทั่วไปเช่นในปัจจุบัน

สงครามนิกายเกิดจาก ความไม่พอใจในเรื่องคำสอนบ้าง หรือการแสวงหาประโยชน์ของนิกายดั้งเดิม ทำให้เกิดการแตกนิกายใหม่ๆ และนิกายเก่าก็พยายามกำจัดจนเกิดสงครามในยุโรป ในปัจจุบันบางชุมชนทั่วโลกแตกเป็นหลายเหล่า หลายพวก ส่งผลให้มีการฆ่าฟันกันไม่หยุดหย่อนเพราะอำนาจทางอาณาจักรเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องความเชื่อเพื่อดำรงไว้ที่จำนวนมวลชนของตัวและผลประโยชน์ที่จะตามมา ทุกหน ทุกแห่งไม่ต่างกัน การแสวงจุดร่วมคือรักษาคำสอนดั้งเดิมไว้ และสงวนจุดต่างคือยอมให้มีพิธีกรรมที่ต่างออกไปจะช่วยให้อยู่ร่วมกันได้ ในความเชื่อที่พิธีกรรมน้อย ความขัดแย้งก็จะน้อยตามลงไปด้วย

อย่างไรก็ตามมนุษย์ในยุโรปเมื่อ ๔๐๐ ปีก่อนได้เริ่มทำลายกำแพงความเชื่อ และการกดขี่ราษฎรลงด้วยการให้สิทธิและเสรีภาพในชีวิต ทรัพย์สินและทางการเมือง โดยรัฐมีหน้าที่รับใช้ราษฎรไม่ใช่ผู้ปกครอง เมื่อใดที่รัฐใช้กฎหมายตามใจชอบเพื่อการรักษาอำนาจและขูดรีดภาษีเพื่อประโยชน์ของตน ไม่ใช่อำนาจของราษฎร ราษฎรในชุมชนนั้นก็ต่อสู้เพื่อโค่นล้ม ทำให้เกิดการประกาศอิสรภาพในอเมริกา การปฏิวัติในฝรั่งเศส และเปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งขึ้นหลังสงครามโลกทั้งสองครั้งที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีคนพยายามตั้งตนเป็นเผด็จการผู้นำเช่น ฮิตเลอร์หรือ มุสโสลินี สุดท้ายก็ต้องจบชีวิตลง เผด็จการในยุโรป อเมริกาใต้ ยุโรปตะวันออกต่างทยอยล่มสลาย เพราะเผด็จการทั้งที่เป็นบุคคลหรือเป็นหมู่คณะรู้จักแต่หาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง ไม่รู้จักที่จะอุ้มชูให้ราษฎรเกิดความมั่งคั่งได้

การปฏิวัติในที่ต่างๆตั้งแต่การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ในอังกฤษ เป็นการเปลี่ยนผ่านจากระบอบที่ใช้กฎหมายตามอำเภอใจไปเป็นการให้ประชาชนเป็นผู้ออกกฎหมายเอง ควบคุมดูแลตัวเอง ดังคำพูดของ เอ็บราฮัม ลินคอล์นที่ว่า อำนาจเป็นของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน ความเจริญ รุ่งเรืองจึงจะเกิดขึ้นได้

การมีจิตใจคับแคบเอาแต่หมู่พวกและความเชื่อของตัวเอง ชาตินิยมสุดกู่ หรือปิดประเทศ ปิดหู ปิดตาประชาชนด้วยอำนาจอาวุธและใช้สื่อมวลชนล้างสมองแบบในอดีตยุโรป ยุโรปตะวันออก อเมริกาใต้ อาฟริกา ต่างล้มเหลวพาราษฎรได้รับความทุกข์เข็ญ มีแต่เผด็จการเท่านั้นที่ร่ำรวย จึงสาบสูญไปหมดตามกาลเวลา