เทศมองไทย : “ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก”อนาคตอู่ตะเภา…แผนลงทุนที่ “โดดเด่น” ของรบ.ไทย

ผมคิดเอาเองว่า วิลเลียม เมลเลอร์ คือหนึ่งในผู้สื่อข่าวต่างชาติกว่า 60 คน ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เชื้อเชิญให้เดินทางมา “ทัวร์” เขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวคิดใหม่บริเวณภาคตะวันออกของไทย มูลค่าการลงทุนไม่น้อยกว่า 42,800 ล้านดอลลาร์ เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

เมลเลอร์เขียนถึง “อีสเทิร์น อีโคโนมิค คอร์ริดอร์” กับนานาทัศนะเอาไว้ใน นิกเกอิ เอเชียน รีวิว เมื่อ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

เนื้อหาค่อนข้างยาวและน่าสนใจอย่างยิ่ง ใครสนใจหาอ่านฉบับเต็มได้ไม่ยาก

“ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก” คือส่วนขยายของพื้นที่ที่เรียกกันว่า “อีสเทิร์น ซีบอร์ด” เดิม ที่คราวนี้จะครอบคลุมไปจนถึงท่าเรือน้ำลึกของฐานทัพเรือสัตหีบ อีกด้านหนึ่งจะขยายไปครอบคลุมท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาและพื้นที่โดยรอบอีกราว 27 ตารางกิโลเมตร รวมพื้นที่ทั้งหมดราว 13,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งในเวลานี้บางส่วนเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตรถยนต์และโรงงานผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่อยู่แล้ว

และเป็น “ห่วงโซ่สำคัญยิ่งยวดในระบบซับพลายเชนของโลกในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์” ตามคำบอกของเมลเลอร์

ตัวอย่างเช่น “ออโต อัลไลแอนซ์” กิจการร่วมทุนญี่ปุ่น-สหรัฐอเมริกา ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นี้ ผลิตรถยนต์มาสด้าและรถกระบะฟอร์ดออกมาด้วยศักยภาพการผลิตที่ 1 คันต่อ 2 นาที

ปีที่แล้ว ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของไทยในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจแห่งนี้ ส่งยานยนต์ที่ผลิตในประเทศออกไปยังต่างประเทศ 1.2 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ในรอบ 4 ปี แต่ตามแผนใหม่ของรัฐบาลต้องการเพิ่มศักยภาพดังกล่าวขึ้นเป็นปีละ 3 ล้านคัน

รัฐบาลยังต้องการใช้พื้นที่ดังกล่าวนี้เป็นแหล่งบ่มเพาะอุตสาหกรรมก้าวหน้า อย่าง หุ่นยนต์ และอากาศยาน

 

ผมเองก็เพิ่งรู้จากข้อมูลของเมลเลอร์ว่า พื้นที่นี้เป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินและการซ่อมบำรุงอากาศยานอยู่มากถึง 26 บริษัท

รวมทั้ง เทอร์ไบน์ แอโร บริษัทสัญชาติอเมริกัน ที่เป็นบริษัทซ่อมบำรุงอากาศยานอิสระที่ใหญ่ที่สุดในโลก กับ ไทรอัมป์ กรุ๊ป ที่เป็นบริษัทให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยานจากสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกัน

รัฐบาลไทยต้องการปั้นอู่ตะเภาให้กลายเป็นศูนย์กลางของกิจการซ่อมบำรุงอากาศยานประจำภูมิภาคเอเชีย ให้บริการทั้งการซ่อมบำรุงและการยกเครื่อง โอเวอร์ฮอลอากาศยานทั้งลำให้ได้ในอนาคต ด้วยตระหนักว่า เอเชียเป็นภูมิภาคที่อุตสาหกรรมการบินเติบโตเร็วที่สุดในโลกในเวลานี้

ร็อบ ฮิกบี ซีอีโอของเทอร์ไบน์ แอโร บอกกับเมลเลอร์ว่า ไทยทำได้ยอดเยี่ยมทีเดียวในการดึงดูดเอาบริษัท “แบบเดียวกับพวกเรา” เข้ามาอยู่ที่นี่

เมลเลอร์ บอกด้วยว่า นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น แต่ยังต้องการสร้าง “เมืองใหม่” ที่เป็นเมืองซึ่ง “เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ขึ้นอีก 4 เมืองสำหรับรองรับผู้ที่ทำงานอยู่ในระเบียงเศรษฐกิจแห่งนี้ มีแผนสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง เชื่อมต่ออู่ตะเภากับดอนเมืองและสุวรรณภูมิ

แรงจูงใจใหม่สำหรับบริษัทอุตสาหกรรมไฮ-เทค ที่ต้องการเข้ามาสร้างฐานเพื่อการวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) ขึ้นที่นี่ คือ การขยายระยะเวลาปลอดภาษีเงินได้นิติบุคคลออกไปจากเดิม 8 ปีเป็น 15 ปี และเปิดให้ซื้อที่ดินเพื่อสร้างโรงงานภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษได้, เตรียมแก้ปัญหาทางด้านการศึกษา ที่รวมถึงการพูดภาษาอังกฤษและอื่นๆ และการปราบปรามการคอร์รัปชั่น

ชนิดที่ “ถ้าคุณมีปัญหาอะไร บอกผมได้เลย” นายกฯ ประกาศไว้อย่างนั้น

 

เมลเลอร์ชี้ว่า เป้าหมายของระเบียงเศรษฐกิจแห่งนี้และของรัฐบาลไทยโดยรวมยังต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย ตั้งแต่เรื่องเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง

การต้องแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่นเวียดนาม ในแง่ของการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ

การที่ไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ทำให้ต้องตกเป็น “ตัวประกัน” ของสภาวะผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการชะลอตัวของจีนไปโดยปริยาย

รวมถึงปัญหาการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่ส่งผลให้เกิดภาวะตึงตัวของตลาดแรงงานสูงมาก

และแน่นอน รวมทั้งปัญหาความตึงเครียดทางการเมืองและความไม่แน่นอนทางการเมืองในอนาคต

กระนั้น เมลเลอร์ก็ชี้ให้เห็นว่า บรรดานักลงทุนทั้งหลายก็ดูเหมือนมีแนวโน้มเอียงที่จะฉกฉวยโอกาสที่นายกรัฐมนตรีไทยเสนอให้

มิค ชีแฮน ผู้อำนวยการและผู้จัดการทั่วไปของ ฟอร์ม เมดิคัล ผู้ผลิตเวชภัณฑ์จากออสเตรเลีย บอกกับเมลเลอร์ว่า กำลังจะเข้ามาเปิดโรงงานที่แหลมฉบังในเร็วๆ นี้ ก่อนตบท้ายถึงรัฐบาลและข้อเสนอที่น่ารับฟังว่า

ไม่ว่าจะมีที่มาของรัฐบาลอย่างไร แต่ระดับของแผนงานและการลงทุนที่รัฐบาลไทยเสนอไว้นี้ “ดูโดดเด่นดีทีเดียว”