ประเทศไทยสมควรมีนายกรัฐมนตรีที่ดีกว่าปัจจุบัน | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

วิ่งไล่ลุงคือกิจกรรมปกติซึ่งไม่ควรกลายเป็นประเด็นทางการเมือง แต่ด้วยผรุสวาจาจากนายกรัฐมนตรี, การกระแนะกระแหนจากนักการเมืองลิ่วล้อ รวมทั้งการใช้ตำรวจ, ทหาร และผู้ว่าฯ ขัดขวางในทุกพื้นที่ วิ่งไล่ลุงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการประลองกำลังระหว่างรัฐบาลกับประชาชนไปตั้งแต่ต้นจนปัจจุบัน

วิ่งไล่ลุงเป็นการสื่อสารทางการเมืองผ่านสัญลักษณ์ที่แสดงออกว่าไม่ชอบลุง และถึงแม้การสื่อสารวิธีนี้จะมีคนเข้าร่วมกว้างขวางจนคล้ายการชุมนุม แต่วิ่งก็คือวิ่ง และต่อให้จะมีคนวิ่งมากแค่ไหน วิ่งย่อมไม่ใช่การชุมนุมไปได้ รัฐบาลที่ยัดข้อหาว่าวิ่งคือการชุมนุมจึงถูกคนมองว่าใจแคบจนสมควรออกไปวิ่งไล่ยิ่งขึ้นโดปริยาย

โดยปกติข้าราชการที่เป็นลิ่วล้อรัฐบาลมักเลียนายด้วยวิธีปล่อยข่าวตัวเลขผู้ชุมนุมโดยกดให้ต่ำกว่าความจริง แต่ประชาชนที่ควักสตางค์ตัวเองไปวิ่งไล่ลุงท่ามกลางการกลั่นแกล้งของอำนาจรัฐมีมากจนปิดปากลิ่วล้อรัฐได้สนิท เช่นเดียวกับคนร่วมกิจกรรมนี้ตามจังหวัตอื่นๆ ที่มีมากแบบไม่ยำเกรงอำนาจรัฐเอาเลย

ถ้าถือว่าวิ่งไล่ลุงคือการประลองกำลังระหว่างรัฐบาลกับประชาชน รัฐบาลก็เป็นผู้แพ้ในการศึกงนี้ย่อยยับ เชียงรายมีคนวิ่ง 1,800 ต่อให้ตำรวจกดดันอย่างหนัก, สังคมประณามวลัยลักษณ์ที่ปลดนักศึกษาเพราะวิ่งจนต้องเลิกคำสั่งในที่สุด, อุบลคนล้นหลามทั้งที่ถูกตำรวจห้ามใส่เสื้อ หลายจังหวัดภาคใต้มีคนวิ่งมากมาย

จริงอยู่ว่ามีบางพื้นที่ซึ่งการวิ่งถูกขัดขวางจนเผชิญปัญหาต่างๆ แต่การขัดขวางก็ทำให้ภาพลักษณ์รัฐบาลเสียหายขึ้นไปอีก ตัวอย่างเช่นบุรีรัมย์ดำเนินคดีคุณอิสรีย์ อภิสิริรุจิภาส โดยข้อหาว่าไปวิ่งเท่ากับเป็นผู้จัดการชุมนุม แต่ภาพผู้ว่าบุรีรัมย์ร่วมเดินเชียร์ลุงในพื้นที่เดียวกันก็เป็นหลักฐานของอำนาจที่มุ่งเลียนาย

ด้วยจำนวนคนและกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่งอกงามจนข้าราชการสายสอพลอหุบปากเรื่องตัวเลขไปหมด วิ่งไล่ลุงเป็นสัญลักษณ์ว่าประชาชนที่เสื่อมศรัทธาต่อนายกนั้นมีมาก ยิ่งกว่านั้นคือความเสื่อมศรัทธาไม่ได้มาจากเรื่องเผด็จการหรือการยึดอำนาจห้าปีก่อน แต่มาจากหลายเรื่องที่เป็นผลจากการกระทำของรัฐบาลเอง

ความสำเร็จของวิ่งไล่ลุงทำให้รัฐบาลในระบอบที่ปิดแผ่นฟ้าด้วยฝ่ามือสั่นสะเทือน ผลของความสั่นสะเทือนคือความไม่พอใจที่กองหนุนรัฐบาลแสดงออกมาทั้งหมด เดินเชียร์ลุงโจมตีคนวิ่งไล่ลุงว่าเป็นคอมมูนิสม์ เอาไม้ฟาดและเท้าถีบเหมือนการฆ่านักศึกษายุค ๖ ตุลาฯ ส่วนวรงค์ก็ประกาศเดินไล่ธนาธร

วิ่งไล่ลุงเป็นการแสดงออกของประชาชนว่ารู้สึกอย่างไรกับรัฐบาล กิจกรรมลักษณะนี้จึงเป็นการใช้เสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ เพราะในเมื่อรัฐบาลบริหารประเทศจากเงินภาษีประชาชน ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศจึงมีสิทธิแสดงความรู้สึกชอบหรือเกลียดรัฐบาลได้ตลอดเวลา

วิ่งไล่ลุงแสดงออกผ่านการใส่เสื้อยืดโดยไม่มีคำพูดและการกระทำที่พาดพิงถึงประชาชนผู้สนับสนุนรัฐบาล ตัวกิจกรรมจึงเป็นการใช้ร่างกายตัวเองสื่อสารความคิดโดยไม่ได้ก้าวล่าวไปยุ่งคนกลุ่มไหนทั้งสิ้น ขณะที่ิ่เดินเชียร์ลุงโจมตีประชาชนที่วิ่งไล่ลุงด้วยคำพูดและการกระทำที่สื่อถึงความรุนแรงตลอดเวลา

เดินเชียร์ลุงคือการรวมตัวของผู้สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ซึ่งทำได้เหมือนวิ่งไล่ลุง แต่ภาพรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์และผู้ว่าบุรีรัมย์ไปร่วมเชียร์ลุงคือหลักฐานว่างานนี้มีกลไกรัฐอยู่เบื้องหลัง วิธีที่เดินเชียร์ลุงยัดข้อหาว่าคนวิจารณ์พลเอกประยุทธ์คือคอมมูนิสม์หรือทำลายชาติจึงสะท้อนมุมมองรัฐบาลที่อันตราย

ที่ผ่านมานั้นผู้สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ทั้งที่เป็น ส.ส.พลังประชารัฐ หรือ ส.ส.สอบตกที่อยากประจบนายใหม่มักยัดข้อหา “ชังชาติ” แก่พรรคฝ่ายค้าน, นักวิชาการ หรือประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐบาล วาทกรรมที่กลุ่มเดินเชียร์ลุงสาดโคลนคนอื่นเป็น “คอมมูนิสม์” จึงสืบสานเจคนารมณ์ที่รัฐบาลทำมาได้เป็นอย่างดี

คนจำนวนมากตั้งข้อสังเกตว่าเดินเชียร์ลุงไม่มีภาพคนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมชัดๆ เช่นเดียวกับไม่มีภาพ “เซเลบ” ที่เคยหนุน กปปส.และการยึดอำนาจของ คสช. ตัวกิจกรรมจึงสะท้อนว่าพลเอกประยุทธ์และผู้สนับสนุนพลเอกประยุทธ์เผชิญความถดถอยในแง่ “การเมืองมวลชน” จนเห็นได้อย่างชัดเจน

แน่นอนว่าผู้สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ไม่น้อยคงไม่ได้ไปเดินเชียร์ลุง เช่นเดียวกับคนอีกมหาศาลที่เบื่อพลเอกประยุทธ์ซึ่งไม่ได้ไปวิ่งไล่ลุงด้วย แต่ถ้าประเมิน “การเมืองมวลชน” ผ่านประชาชนที่แสดงออกทั้งสองกรณี สิ่งที่เราสรุปได้ก็คือความชอบธรรมของพลเอกประยุทธ์ในสายตาคนรุ่นใหม่แทบหมดไปโดยสิ้นเชิง

เซเลบวงการบันเทิงคนหนึ่งพูดถึงม๊อบเชียร์ลุงว่าดูต่ำและไร้ปัญญา ข้อกล่าวหาที่กลุ่มเชียร์ลุงโจมตีว่าคนวิจารณ์พลเอกประยุทธ์เป็น “คอมมูนิสม์” กลับตอกย้ำว่าคนกลุ่มนี้ “หลงยุค” เหมือนมาจากสงครามเย็นห้าสิบปีที่แล้ว ส่วนกิริยาฟาดศพและถีบคนเห็นต่างแบบ ๖ ตุลา ยิ่งแสดงความกักขฬะ หยาบช้า และอันธพาล

หมอวรงค์ประกาศเลียนแบบวิ่งไล่ลุงโดยวิ่งไล่ธนาธร แต่ยุทธการนี้ยิ่งสะท้อนว่าพลเอกประยุทธ์เผชิญความอับจนของ “การเมืองมวลชน” ยิ่งขึ้นไปอีก เพราะธนาธรถูกอำนาจรัฐห้ามเป็น ส.ส.จนมีสถานะเป็น “ประชาชน” การที่กองหนุนนายกปลุกม๊อบไล่ล่าจึงเป็นการคุกคามประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐบาลทันที

ปฏิบัติการของกองหนุนแบบนี้ชี้ว่าฐานสนับสนุนพลเอกประยุทธ์เรียวแคบเหลือจนเหลือแค่สามกลุ่ม หนึ่งคือข้าราชการ สองคือนักการเมืองกลุ่มลิ่วล้อ และสามคือมวลชนสุดโต่งที่กล้าทำถึงขั้นยกประยุทธ์เป็น “ชาติ” อย่างนายกคนไหนไม่เคยบังอาจมาก่อน หรืออีกนัยคือเป็นฐานสนับสนุนจากอำนาจและกำลัง

โพลสองสำนักใหญ่ชี้ตั้งแต่ต้นปีว่าคนอยากให้ธนาธรและอนาคตใหม่เป็นรัฐบาลยิ่งกว่าพลเอกประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐ ส่วนวิ่งไล่ลุงและเดินเชียร์ลุงก็สะท้อนว่าพลเอกประยุทธ์เผชิญความถดถอยในแง่ “การเมืองมวลชน” มากขึ้นเรื่อยๆ จนเปรียบได้กับ “หุ้นเน่า” ที่ยังมองไม่เห็นสัญญาณของการปรับตัว

พรรคร่วมรัฐบาลเชื่อว่างบประมาณกว่า 3.2 ล้านล้าน จะฟื้นความนิยมของประชาชนต่อรัฐบาล แต่งบส่วนใหญ่เป็นเงินเดือนข้าราชการ เม็ดเงินที่จะใช้สร้างความนิยมจึงไม่มากอย่างที่คิด ไม่ต้องพูดว่าห้าปีนี้พลเอกประยุทธ์ใช้งบประเทศตามใจชอบไปแล้ว ๑๕ ล้านล้าน แต่ความนิยมจากประชาชนก็ตกต่ำอย่างที่เห็นกัน

กองหนุนประยุทธ์อย่างอุ๊ หฤทัย อ้างว่าเชียร์ลุงเพราะไม่ต้องให้นักการเมืองชั่วปกครองบ้านเมือง แต่ปัญหาคือห้าปีแห่งการสืบทอดอำนาจเผด็จการทำให้ “นักการเมืองชั่ว” รวมตัวอยู่ที่พรรคพลเอกประยุทธ์จนในที่สุดพลเอกประยุทธ์คือนายกที่ไม่เหลือแม้แต่ความชอบธรรมทางศีลธรรมจากการด่าว่าคนอื่นเลว

ที่ผ่านมานั้นเผด็จการไทยมีอำนาจโดยยกหางตัวเองว่าดีหรือฉลาดกว่านักการเมืองและประชาชน แต่ด้วยคำพูดกับการกระทำของพลเอกประยุทธ์ที่ผ่านมา ความเชื่อว่านายกฉลาดนั้นยากจนกินน้ำมันกัญชาทั้งขวดยังไม่เชื่อ ไม่ต้องพูดถึงความดีของนายกในยุคที่นายกล้อมรอบด้วยส.ส.รุกป่า, รัฐมนตรีติดคุก และ ส.ส.ขายตัว

ด้วยความเป็นจริงที่ระบอบเผด็จการให้กำเนิดผู้นำที่ไม่ฉลาดและระบอบการปกครองที่ไร้ศีลธรรม ต้นทุนทางการเมืองของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ถดถอยจนอยู่ในสภาพตรงกับคำพูดพลเอกเปรมช่วงต้นปี 2562 ว่า “ตู่ไม่เหลือกองหนุนแล้ว” หรืออีกนัยคือพลเอกประยุทธ์กำลังเป็นนายกที่ไม่เหลือความชอบธรรมจากสังคม

พลเอกประยุทธ์แก้ความถดถอยในสายตาประชาชนโดยดูด ส.ส.จากฝ่ายค้านมาหนุนรัฐบาล แต่บทเรียนจากอดีตคือเมื่อใดที่รัฐบาลใช้จำนวน ส.ส.เป็นแหล่งที่มาเดียวของความชอบธรรม เมื่อนั้นรัฐบาลกำลังเกิดภาวะวิกฤติศรัทธาอย่างที่สุด เพราะเท่ากับรัฐบาลอับจนขั้นใช้อามิสสินจ้างเพื่อจรรโลงอำนาจการเมือง

คุณเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.ประชาธิปัตย์พูดได้ถูกว่าบรรยากาศตอนนี้ชี้ว่าพลเอกประยุทธ์เป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งทางการเมือง แต่น่าเสียดายที่ภูมิปัญญาของคุณเทพไทไม่สามารถฉายแสงไปยังพลเอกประยุทธ์และพวกให้ตาสว่างมากกว่านี้ เพราะท่าทีพลเอกประยุทธ์ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงแม้แต่นิดเดียว

โดยปกตินั้นผู้นำการเมืองที่ใกล้อวสานมักดิ้นรนรักษาอำนาจทุกวิถีทาง แต่ผู้มีอำนาจยุคนี้อันตรายกว่ายุคอื่น เพราะแสดงให้เห็นว่าพร้อมจะทำทุกทางให้สังคมพินาศไปด้วย การปลุกปั่นอันธพาลทางการเมืองคือความทรามขั้นสูงสุดของรัฐบาล และสำหรับผู้นำที่มีพฤติกรรมนี้ การมีอำนาจแค่วันเดียวก็นานเกินไป

ไม่ว่าจะมองในแง่ไหน ประเทศไทยวันนี้สมควรมีนายกรัฐมนตรีที่ดีและเก่งกว่าปัจจุบัน