มุกดา สุวรรณชาติ : ใคร…วิ่งไล่ลุง วิ่งไล่โกง ทำไม…วิ่งหาความยุติธรรม

มุกดา สุวรรณชาติ

การวิ่งที่เดิมเป็นการออกกำลังกาย เพราะต้องการสร้างสุขภาพให้แข็งแรง ขับไล่โรคร้ายออกจากร่างกาย

วันนี้ได้ถูกดัดแปลงมาเป็นการประท้วงแบบนิ่มๆ เพื่อขับไล่โรคร้ายที่เกาะกินสังคม วันที่เขียนต้นฉบับ และวันที่บทความถูกเผยแพร่ก็ยังไม่ถึงวันนัด วิ่งไล่ลุง

แต่เป็นที่คาดกันว่าคงมีคนมาร่วมเป็นหลักหมื่น

ถ้ามีคนมาร่วมจำนวนมากก็หมายความว่าผู้คนมีความอึดอัดคับข้องใจต่อหลายๆ ปัญหา

คนที่ออกมาวิ่ง เป็นใคร? และทำไม? บางทีเราอาจได้เห็นข้อความที่พวกเขาแสดงความรู้สึก หรือบอกปัญหา และความต้องการในวันนั้น

ซึ่งน่าจะจัดได้เป็นกลุ่มๆ

 

1.เป็นกลุ่มคนที่มีความรู้เรื่องทางเศรษฐกิจ และเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจ

การทำมาหากินที่ยากลำบาก หลายธุรกิจประสบความล้มเหลว คนตกงาน เด็กจบมาแล้วไม่มีงานทำ คนค้าขายก็ขาดทุน ธุรกิจ SME ล้มมากมาย วันนี้การค้าตกต่ำลงมาก ลดลงเกินครึ่งหนึ่ง จะไปไม่ไหวแล้ว

ความรู้สึกของเขาคือ มีรัฐธรรมนูญใหม่ มีเลือกตั้ง แต่ไม่มีความหวังว่ารัฐจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาได้ ค่าเงินบาทแข็ง กระทบต่อการส่งออก

คนพวกนี้มีประสบการณ์จากการทำมาค้าขาย ซึ่งเริ่มดีตั้งแต่ปลายยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เติบโตขึ้น ขยายมาเรื่อยๆ คนค้าขายรุ่นใหม่เกิดขึ้นจำนวนมากในช่วง 2531-2549 เติบโต สร้างฐานะได้มากมาย นี่เป็นช่วงที่คนชั้นล่างและชั้นกลางได้ฟื้นตัวขึ้น มีสวัสดิการจาก 30 บาทรักษาทุกโรค จากนโยบายประกันสังคม รัฐมีรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม เด็กได้เรียนฟรี ฯลฯ เมื่อสังคมมีกำลังซื้อเพิ่ม การผลิตก็เพิ่ม ธุรกิจต่างๆ ก็เติบโต

หลายบริษัทมียอดขายที่เคยทำได้สูงสุด คือเดือนสิงหาคม 2549 ก่อนรัฐประหาร 1 เดือน และขณะนี้ผ่านไป 12 ปีแล้วก็ยังไม่เคยทำได้ถึงขนาดนั้นอีก

ในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ (ปชป.) มีนโยบายให้สถาบันการเงินนำเงินต่างประเทศมาให้ลูกค้ากู้ ดอกเบี้ยถูกกว่าธนาคารของไทย ผ่านรัฐบาลคุณบรรหาร ศิลปอาชา มาถึงรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ฟองสบู่แตก จากการลดค่าเงินบาท ปี 2540 เศรษฐกิจฟุบไประยะหนึ่ง การค้าตกต่ำอยู่ 2-3 ปี แต่ก็รอดมาได้

พอมาถึงยุคทักษิณ ชินวัตร ก็ฟื้นขึ้นมาอีก และดีขึ้นอีกครั้ง

แต่หลังจากรัฐประหาร 2549 ก็ไม่รุ่งเรือง พออยู่ได้ แต่ที่ลำบากสุดคือ หลังรัฐประหารปี 2557 มีความซบเซาเกือบทุกวงการ

พวกเขาต้องการคนแก้ปัญหาเป็น

 

2.เป็นกลุ่มคนที่มีความรับรู้ทางการเมืองและกฎหมาย

คนกลุ่มนี้เห็นปัญหาการเมืองที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรม มีรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาแบบเอารัดเอาเปรียบ การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย การพิจารณาคดีต่างๆ ที่ผู้คนเห็นว่ามีความลำเอียง คนบางกลุ่มทำอะไรไม่ผิด แต่คนบางกลุ่มขยับตัวก็ผิด

ในอดีตเมื่อการรัฐประหารของคณะ รสช.ในปี 2534 เป็นแค่กระตุ้นให้ประชาชนไม่พอใจ จนเกิดพฤษภาทมิฬ มีการแก้รัฐธรรมนูญ ในที่สุดก็ร่างใหม่ในแบบค่อนข้างสมบูรณ์ จึงมีรัฐธรรมนูญ 2540 ใช้ การรัฐประหารจึงหายไปยาวนาน

ประชาชนรับรู้ว่า คนธรรมดา พ่อค้า สามารถมาลงสนามการเมือง และเป็นนายกฯ ได้ การเมืองท้องถิ่นก็เกิดขึ้นเป็นเหมือนสนามฝึกและบันไดให้ไต่ขึ้นสู่ระดับชาติ ชาวบ้านธรรมดาได้ประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาล ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข การส่งเสริมอาชีพ การลงทุน ฯลฯ

ยุคนั้นคนรุ่นใหม่อาจจะลืมไปแล้วว่าแรงกดดันที่ได้รับจากคณะรัฐประหารว่าเป็นอย่างไร เพราะช่วงเวลาของคณะรัฐประหาร 2534 เป็นช่วงเวลาที่สั้นมากเพียงหนึ่งปี แถมยังมีนายกฯ ที่เป็นพลเรือนคือนายอานันท์ ปันยารชุน เด็กที่เติบโตมาหลัง 6 ตุลาคม 2519 เมื่อเกิดพฤษภาทมิฬ 2535 จะมีอายุอย่างมากเพียง 15 ปี การรัฐประหาร 2549 พวกเขาจะอายุอยู่ระหว่าง 30 ถึง 40 ปี

คนอายุน้อยกว่า 40 ปี ไม่มีโอกาสได้ลิ้มรสแรงกดดันจากเผด็จการในยุคสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งยาวนานถึง 16 ปี แต่เมื่อมีการรัฐประหาร 2549 และ 2557 พวกเขาจึงเริ่มเข้าใจ และอึดอัด

จึงถามว่า ทำไมต้องมีรัฐประหารกันยายน 2549… และทำไมต้องรัฐประหาร 2557 ซ้ำอีก ทำเพื่อใคร ทำไมมีรัฐธรรมนูญใหม่ 2560 มีเลือกตั้ง 2562 ก็ยังไม่จบ ทำไมเหมือนกับคณะรัฐประหารยังปกครองอยู่

3.คนกลุ่มที่เห็นว่าหลังรัฐประหาร ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นกลับเพิ่มมากขึ้น

เป็นการกระทำอย่างไม่อาย องค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช. ก็ไม่มีปัญญาแก้ไข มีคดีมากมายที่ชี้ว่าเป็นไปทั้งระบบ ยังไม่ได้ถูกแก้ข้อสงสัยได้เลย

เช่น คดีค่าปรับการนำเข้าบุหรี่ต่างประเทศที่เดิมมีค่าปรับเป็นแสนล้าน แต่ สนช.แก้กฎหมาย ทำให้เสียค่าปรับเพียง 1,200 ล้านบาทเท่านั้น เงินที่หายไป 9 หมื่นล้านไปตกอยู่ที่ใคร ทำไม สนช.ต้องแก้กฎหมาย ถ้าทำแบบนี้ต่อไปใครๆ ก็เลี่ยงภาษีบุหรี่ เพราะถ้าถูกปรับก็เสียเพียงเล็กน้อย ในขณะที่บุหรี่ก็ยังเป็นพิษต่อสุขภาพของคนในประเทศอีกด้วย

ตอนนี้ประชาชนสงสัยทุกเรื่อง ถ้าคนข้องใจเรื่องการทุจริตที่มีมาตลอด 5 ปีมาช่วยกันวิ่ง ถ้าเรื่องหนึ่งมา 100 คน ก็คงมีคนมาหลายพันคน

 

4.กลุ่มคนที่หมดหวังรัฐสภา เพราะมองว่าไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ได้ และประชาธิปไตยแบบสากลไม่น่าจะเกิดขึ้นได้

คนพวกนี้เคยต่อสู้จนได้รัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้กลุ่มอำนาจเก่าที่เคยอาศัยโครงสร้างประชาธิปไตยครึ่งใบ ไม่มีเวทีให้ยืน

ผลการเลือกตั้ง ส.ว. 200 คนจากทั่วประเทศในปี 2543 และปี 2549 จะเห็นว่ามี ส.ว.จากข้าราชการเก่า ตัวแทนธุรกิจและคนชั้นสูงน้อยมาก ถ้าปล่อยให้มีประชาธิปไตยเต็มใบ ก็เหมือนกับเป็นการเปลี่ยนแปลงชนชั้นปกครองเกือบทั้งหมด

ดังนั้น อำนาจในฝ่ายนิติบัญญัติจะหายไป อำนาจฝ่ายบริหารก็ไม่มี อำนาจในการตรวจสอบและชี้ถูกผิด เพราะ ส.ว.และผู้นำ ส.ส.จะเป็นผู้กำหนด หัวหน้าขององค์กรอิสระ ร่วมกับผู้นำฝ่ายศาล การเลือก ส.ว.ครั้งที่ 2 จึงทำได้แค่ 4 เดือนก็ถูกรัฐประหาร และจากนั้น ส.ว.จากการเลือกตั้งก็ถูกลดจำนวนลง สุดท้ายในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2560 ก็ไม่ให้สิทธิ์ประชาชนได้เลือกอีกแล้ว

ส.ว. 250 คนมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร และมีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรี

แต่ชาวบ้านจะไม่เลือกนายกฯ แบบที่ ส.ว.เลือก ดังนั้น ความวุ่นวายทางการเมืองจึงเกิดขึ้นตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ที่ต้องใช้วิธีซื้อลิงและงูเห่ามาหนุนในสภา พวกเขาระแวงว่าจะมีการปล้นหรือขโมยอำนาจอธิปไตยของประชาชนที่ใช้ผ่านการเลือกตั้ง เปลี่ยนเจตนารมณ์ของผู้ใช้สิทธิ์ไปตรงกันข้าม

 

5.กลุ่มคนที่มาวิ่งเพราะปัญหาสิ่งแวดล้อม

บางคนไม่ได้คิดมา แต่เมื่อพวกเขายินดีใช้ถุงผ้าไปซื้อของ ตามแผนลดการใช้ถุงพลาสติกจากร้านค้า จุดมุ่งหมายคือลดปริมาณขยะในประเทศไทย

แต่สุดท้ายกลับพบว่า 4-5 ปีมานี้มีการนำเข้าขยะจากต่างประเทศเกือบล้านตัน ใส่เรือเข้ามาโดยรัฐอนุญาต ให้ตั้งโรงงานแปรรูปขยะ ความพยายามลดถุงลงทีละใบของพวกเขาดูเหมือนจะสูญเปล่า เพราะถ้าเราลดขยะของเราเอง แต่นำเข้าขยะจากประเทศอื่นจากทั่วโลก โดยเฉพาะมีขยะพิษที่ส่งเข้ามาเป็นคอนเทนเนอร์ คงไม่มีรัฐบาลใดที่มีความฉลาดน้อยเท่านี้อีกแล้ว

ในเมื่อเราพยายามจะขจัดสารพิษด้วยการถกเถียงกันเพื่อลดสารพิษ 3 ชนิดออกจากระบบการปลูกพืช แต่ก็นำขยะพิษเข้ามาในประเทศ

ลองไปหาโรงงานกำจัดขยะพิษ ว่ามีซักแห่งไหมที่ทำได้สำเร็จ และนี่เป็นปัญหาในต่างประเทศเช่นกัน ทำให้พวกเขาแอบส่งขยะอันตรายมายังประเทศด้อยพัฒนาที่มีความยากจนต้องคุ้ยขยะกิน แม้จะเป็นขยะที่เป็นพิษ

ถ้าไปนับการต่อต้านเรื่องสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศก็จะมีอีกมากมาย

 

ทำไมเกิดวิ่งไล่ลุง

หลังรัฐประหาร 2549 และ 2557 ได้สร้างสถานการณ์ใหม่ ชี้ว่าอำนาจรัฐไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ดังนั้น การเลือกตั้งจึงไม่อาจแก้ปัญหาทั้งระบบได้

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมามีปรากฏการณ์ให้เห็นดังนี้ คือ ระบอบประชาธิปไตยที่ใช้ไม่สามารถดำเนินการเป็นแบบสากลได้แม้จะมีการเลือกตั้ง มีรัฐธรรมนูญ มี ส.ส. มี ส.ว. มีระบบรัฐสภา มีรัฐบาล แต่ในความเป็นจริงอํานาจอธิปไตยของประชาชนไม่สามารถใช้อำนาจผ่านตัวแทนที่เลือกตั้งมาได้อย่างเต็มที่ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจึงถูกล้ม โดยตุลาการภิวัฒน์ หรือการรัฐประหาร

ตัวเลขจากการหย่อนบัตร คือความนิยม ไม่ได้กำหนดพลังของอำนาจ การได้รับเสียงเลือกตั้งมากน้อยจึงยังไม่ใช่การชี้ขาดชัยชนะทางการเมืองสำหรับประเทศไทย

เพราะถ้าจะมองจำนวนคะแนนเลือกตั้ง จะเห็นว่าอำนาจไม่ได้แปรผันตามคะแนน

ปี 2548 การเลือกตั้งครั้งที่ 2 หลังจากเป็นรัฐบาลมาแล้วครบ 4 ปี ทั้งผลงานชื่อเสียงมีอำนาจรัฐอยู่ในมือทำให้พรรคไทยรักไทยได้เสียงสนับสนุนถึง 19 ล้านเสียง นั่นอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ศัตรูทางการเมืองขี้เกียจคิดจะใช้วิธีทางการเมืองโค่นล้ม ที่คิดได้ก็คือใช้ม็อบและใช้กำลังรัฐประหาร

การเลือกตั้ง 2551 ก็กลับมาชนะอีก ได้เสียง 12.32 ล้าน ได้รัฐบาลพรรคพลังประชาชน หลายคนเข้าใจว่านั่นเป็นชัยชนะ แต่เมื่อตั้งรัฐบาลไม่ถึงปีก็ถูกต่อต้านจากกลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลือง ก็จัดการโค่นล้มรัฐบาลนายกฯ สมัคร สุนทรเวช และนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ โดยตุลาการภิวัฒน์ในปี 2551

2554 พรรคเพื่อไทยได้รับเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากเกินครึ่งได้ถึง 15 ล้านเสียง ได้นายกฯ หญิง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ก็ยังไร้อำนาจ ปกครองได้เพียงปีกว่าก็มีชุมนุมต่อต้านและก็ถูกโค่นล้มในที่สุด แต่เมื่อใช้วิธีการปลด ถอดถอนทางกฎหมายแล้วไม่สามารถตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมาได้ สุดท้ายก็ต้องใช้การรัฐประหารในปี 2557

สรุปว่า 19 ล้านเสียง 12 ล้านเสียง 15 ล้านเสียง ไม่มีความหมาย ดังนั้น การเลือกตั้ง 2562 ที่คะแนนเสียงกระจายออก ตามรัฐธรรมนูญใหม่ จะไม่ชี้ขาดอำนาจทางการเมือง

– เพราะอำนาจตุลาการและองค์กรอิสระยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ หลังการเลือกตั้ง ก่อนมีรัฐธรรมนูญ 2560 สนช.ก็เป็นคนชี้ขาดว่าใครจะมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระ หลังจากมีรัฐธรรมนูญ 2560 ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ก็มีอำนาจกำหนดแทน สนช. ดังนั้น กลุ่มอำนาจเก่าจึงยังสามารถใช้คนกลุ่มเดิม กฎหมายเดิม และดุลพินิจกดดันฝ่ายตรงข้าม จนกว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรานี้หรือมีการเปลี่ยนแปลงให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง

– เพราะอำนาจทางการทหารยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ฝ่ายบริหารปัจจุบันมาจากทหาร นายกรัฐมนตรีควบตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม สามารถเข้ามาดูแลกำกับทหารทั้งหมด อำนาจทางทหารแม้อยู่นอกระบอบประชาธิปไตย แต่ก็สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

นอกจากการแสดงความต้องการผ่านการเลือกตั้ง ประชาชนยังมีอีกวิธีคือรวมตัวกันแสดงความต้องการของตนเองในที่สาธารณะ

คนนอกที่มองอนาคตการเมืองไทยได้ขาด
คือ… ลี กวน ยู

อดีตนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ที่เสียชีวิตไปแล้วเขียนลงในหนังสือ One Man”s View of the World ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2556 (ตัดตอนมาให้อ่านบางส่วน จากประชาไท)

…การเข้าสู่อำนาจของทักษิณ ชินวัตร เปลี่ยนการเมืองไทยไปตลอดกาล

…ทักษิณเป็นเครื่องหมายของการเมืองแบบมีส่วนร่วมมากขึ้น

สิ่งที่ทักษิณทำเป็นแค่การปลุกประชาชนให้ตื่นรู้ว่ามีช่องว่างนี้อยู่ ให้เห็นว่ามีความไม่เป็นธรรมจากช่องว่างนี้ และใช้นโยบายเพื่อแก้ไขถมช่องว่างดังกล่าว

…สำหรับศัตรูของทักษิณแล้ว นี่ถือเป็นการพลิกโฉมประเทศแบบหน้ามือเป็นหลังมือ พวกเขาไม่ยอมปล่อยให้ทักษิณรอดไปได้ พวกเขาเรียกทักษิณว่าเป็นพวกประชานิยม และอ้างว่านโยบายของเขาจะทำให้รัฐล้มละลาย…

…ไม่มีทางอีกแล้วที่ประเทศไทยจะกลับไปสู่การเมืองแบบเก่าในยุคก่อนทักษิณที่ชนชั้นนำในกรุงเทพฯ ผูกขาดอำนาจไว้กับตนเอง ประเทศไทยจะก้าวเดินต่อไปตามทางที่ทักษิณเคยนำทางมาก่อนหน้านี้

…ต่อให้ทักษิณไม่ทำ ผมก็เชื่อว่าใครสักคนก็จะคิดได้ แล้วจะทำแบบเดียวกัน…

(ลี กวน ยู ไม่ทันได้เห็นธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แต่ก็สามารถทำนายล่วงหน้าได้)

ถึงเวลานี้การแก้ปัญหาต้องแก้ที่โครงสร้าง ซึ่งต้องเริ่มจากการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ถ้าทำไม่ได้ จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ การวิ่งครั้งเดียวแก้ปัญหาไม่ได้ แต่แสดงว่ามีคนต้องการแก้ปัญหา คนเหล่านี้เป็นตัวแทนของความไม่พอใจต่อสภาพแวดล้อมทุกด้าน ของคนหลายล้านคน

ความนิยมของประชาชนยังไม่ใช่อำนาจ แต่จะกลายมาเป็นอำนาจได้ถ้ารู้จักทำ ความไม่พอใจของประชาชนจำนวนน้อยคือลมพัด แต่ถ้ามากๆ คือพายุ