แนวรบ คลองหลวง เหตุการณ์ ไม่เปลี่ยนแปลง

วรรณกรรมคลาสสิค “แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง” (All Quiet on the Western Front) ของ เอริค มาเรีย เรอมาร์ก พระนิพนธ์แปลโดย หม่อมเจ้าขจรจบกิตติคุณ กิติยากร นั้น

มุ่งสะท้อนถึงความสยดสยองของสงคราม และความรู้สึกของเหล่าทหารเมื่อต้องกลับมาใช้ชีวิตแบบพลเรือนอีกครั้ง

ซึ่งพบสัจจะสงครามว่า ไม่เพียงพรากชีวิตผู้คนอย่างไร้สาระ แต่ยังพรากความเป็นมนุษย์ให้หลุดลอยไปด้วย

“ความขัดแย้ง” ตั้งแต่เล็ก จนนำไปสู่สงคราม

จึงไม่ใช่สิ่งที่น่าพิสมัย!

เช่นเดียวกับ ความขัดแย้งที่คลองหลวง กรณีวัดพระธรรมกาย

แม้จะไม่รุนแรงถึงขั้นหลั่งเลือดชโลมดิน

แต่ความขัดแย้งที่พัฒนาขึ้นจนนำไปสู่การประกาศใช้มาตรา 44 อันเป็นมาตรการจัดการสูงสุดของรัฐบาลทหาร ต่อชาวธรรมกาย…ก็ไม่น่าสบายใจเอาเสียเลย

เพราะก่อผลกระทบทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายสาวกธรรมกาย

อย่างที่เห็นกัน ถึงจะใช้ “ยา” แรงสูงสุด เหตุการณ์ในวัดพระธรรมกาย ก็ “ไม่ได้เปลี่ยนแปลง”

เรื่องไม่จบ

ฝ่ายบ้านเมืองยังไม่อาจนำตัวพระธัมมชโยมาดำเนินคดีได้ ทั้งที่ระดมสรรพกำลังเข้ามาจำนวนมาก จนถูกมองว่าเป็นเพียงการ “ล่าเงา” เท่านั้น

ขณะเดียวกันการประกาศเขตวัดพระธรรมกายให้เป็นเขตควบคุมเด็ดขาด พร้อมทั้งสั่งให้พระแกนนำในวัดพระธรรมกาย 14 รูป เข้ารายงานตัว

เอาเข้าจริง เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ตำรวจ และทหาร ก็ยังไม่อาจควบคุมพื้นที่ได้โดยเด็ดขาด

พระสงฆ์ทั้ง 14 รูปก็เพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง

เป็นการดื้อแพ่ง อย่างไม่เกรงกลัว

ขณะที่วัดพระธรรมกายแทนที่จะเป็นดินแดนแห่งบุญอันร่มเย็น

กลายเป็นที่ซ่องสุมของ “พระ-คน” ไม่ดี จำเป็นที่จะต้องขุดรากถอนโคน

สถานการณ์ทั้ง 2 ฝ่าย จึงมีแต่แนวโน้มที่จะแย่ลง

ความรุนแรงพร้อมจะเกิดขึ้นตลอดเวลา

โดยเฉพาะเมื่อมีบางฝ่ายระบุว่า เมื่อเอาตัวพระธัมมชโยมาลงโทษไม่ได้ ก็ควรถือโอกาสใช้มาตรา 44 ล้มล้างวัดพระธรรมกายลงเสียเลย

ทำให้เป้าหมาย ซึ่งแทนที่จะเป็นเพียงพระธัมมชโย กลายเป็นสาวกทั้งวัด

ซึ่งโดยเฉพาะหน้านี้ ข้อมูลตำรวจรายงานเองว่า มีพระสงฆ์สลับกันมานำมวลชนปฏิบัติธรรมอยู่ในวัดรวม 8,000 คน

มีลูกศิษย์ประมาณ 4,500 คน

เจ้าหน้าที่วัดประมาณ 1,500 คน

พระสงฆ์ สามเณรประมาณ 2,000 รูป

ในวัดจัดวางกำลังเฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง โดยจัดมวลชนเป็นผลัด ผลัดละ 6 ชั่วโมง ไม่ต่างกับสมรภูมิรบ

จำนวนมวลชนที่มากขนาด ยากที่จะจัดการให้เด็ดขาด ไม่ว่าจะทางใดทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ถามว่า ในฝ่ายรัฐบาลเอง มีทางเลือกสำหรับกรณี มากหรือไม่

คำตอบก็คือ ไม่มาก

เพราะเมื่อเลือกใช้ยาแรง คือมาตรา 44 แล้ว คงจะต้องเดินหน้าปฏิบัติการให้ถึงที่สุด

มิเช่นนั้นแล้ว ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎเหล็กจะตกอยู่ภายใต้การ “ท้าทาย” ซึ่งไม่ใช่เพียงสาวกวัดพระธรรมกายเท่านั้น หากแต่จะรวมถึงฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐบาลทหารด้วย

โดยฝ่ายที่เห็นต่างนี้พร้อมจะสรุปบทเรียน เพื่อที่จะใช้ต่อกรกับรัฐบาลในช่วงเปลี่ยนผ่านตลอดเวลา

ดังนั้น รัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คงจะอ่อนข้อให้กับ “วัดพระธรรมกาย” ไม่ได้

มีแต่ต้องเดินหน้าต่อไป ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดเหตุไม่คาดฝันได้ตลอดเวลา

เพราะมวลชนวัดพระธรรมกายที่เผชิญหน้าเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ตำรวจ และทหาร อยู่ตลอด 24 ชั่วโมง มีโอกาสที่จะเกิดเหตุแบบน้ำผึ้งหยดเดียวได้ทุกนาที

และที่สำคัญ อาจมีมือที่สาม ยื่นมือเข้ามา “ปั่น” สถานการณ์ได้

ไม่น่าแปลกใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะรีบเตือนว่ากรณีวัดพระธรรมกายอย่าพูดเหมือนเดิมพันใครจะชนะ เพราะบ้านเมืองจะแพ้ตลอด

ซึ่งก็จะเป็นเช่นนั้นจริงๆ หากไม่รีบสรุปบทเรียน

โดยเฉพาะในแง่การข่าว ที่มีการตั้งข้อสังเกต “ข่าวกรอง” ของฝ่ายปฏิบัติการว่ายังไม่เป็นเอกภาพเท่าใดนัก

ฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะดีเอสไอ ค่อนข้างเชื่อมั่นว่า พระธัมมชโยยังอยู่ในวัดพระธรรมกาย แต่ฝ่ายตำรวจไม่แน่ใจนัก

ดังนั้น แทนที่จะทำให้เรื่องละเอียดอ่อนนี้ “แจ่มชัด” เสียก่อนจึงเริ่มปฏิบัติการ แต่กลับมีโหมกำลังเข้าปฏิบัติการ ซึ่งผลก็คือ “คว้าน้ำเหลว”

จนกลายเป็นเดินหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่เหมาะ

ติดหล่มอยู่หน้าวัดพระธรรมกายเท่านั้น

สิ่งที่เราเห็นกันอยู่ตอนนี้ ก็คือเสียงของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ที่เรียกร้อง พระธัมมชโย มอบตัวเสีย เพียงเท่านี้เรื่องก็จบ

“อย่างที่ผมบอกก่อนหน้านี้ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ก็มีมวลชนอยู่ในมือ เขาก็มาคนเดียว มอบตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หรือใครว่านายสนธิและนายชูวิทย์ไม่มีมวลชน ไม่อย่างนั้นบ้านเมืองจะอยู่อย่างไร วันนี้ถ้ามีหมายจับผม และผมให้ลูกน้องผม 2 แสนกว่าคนมาปกป้องผม และบ้านเมืองจะเดินอย่างไร” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ระบุ

ยังไม่มีใครรู้ว่าพระธัมมชโยจะทำตามข้อเสนอของ ผบ.ตร. หรือไม่

แต่ความเคลื่อนไหวของวัดพระธรรมกาย ที่เริ่มใช้สื่อออนไลน์ในทุกรูปแบบ ปลุกระดม “มวลชน” ของวัดออกมาปกป้อง พร้อมกดดันให้รัฐบาลเลิกใช้มาตรา 44 ควบคุมนั้น

สะท้อนว่า อย่างน้อยในตอนนี้ พร้อมจะสู้

จึงเป็นไปได้ยากที่พระธัมมชโยจะมอบตัว

ขณะที่พระสงฆ์ 14 รูป ที่ถูกสั่งให้ไปรายงานตัว ล้วนเป็นตัวจริงเสียงจริงที่กุมอำนาจในวัด ดังนั้น จึงไม่มีทางเลี่ยงอื่นนอกจากดื้อแพ่ง

ขณะเดียวกันก็พร้อมท้าทาย ด้วยการปลุกระดมมวลชนออกมาสู้ พร้อมๆ กับส่งเสียงบอกสังคมว่า กำลังได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากมาตรา 44 ที่เป็นการละเมิดสิทธิในการปฏิบัติศาสนกิจ ตามความเชื่อและศรัทธา

นอกจากนี้ ก็พยายามชี้ประเด็นว่า การจัดการวัดพระธรรมกาย มีแรงจูงใจทางการเมือง

โดยมีคนจำนวนหนึ่งมองว่า วัดพระธรรมกาย กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังมีความสัมพันธ์อันแนบแน่น ดังนั้น หากจะหักโค่นระบบทักษิณลง จะต้องโค่นวัดพระธรรมกายลงด้วย

ด้วยแรง “จูงใจ” ทางการเมืองนี้เอง ทำให้ชาวธรรมกายส่วนหนึ่งเห็นว่าไม่เป็นธรรมกับตนเอง จึงเริ่ม “สู้”

และกลับมา “ตรึง” กับฝ่ายรัฐบาลที่ทุ่มเทสรรพกำลัง และอำนาจสูงสุดอย่างมาตรา 44 เข้ามาพยายามหัก

แต่วันนี้ พระธัมมชโย ยังลอยนวล

วัดพระธรรมกายยังไม่ถูกควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ

ทุกอย่างเหมือนเริ่มต้นใหม่และไม่รู้จะจบลงอย่างไร

แนวรบคลองหลวง สถานการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง!