ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : “มาราธอน” ความเข้าใจผิด เกี่ยวกับนักวิ่งส่งสารจนตัวตาย ของพวกกรีกโบราณ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เชื่อกันว่าประวัติของอะไรที่เรียกว่าการ “วิ่งมาราธอน” นั้น เชื่อมโยงอยู่กับเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของพวกกรีกโบราณ นั่นก็คือเรื่องของชายคนที่ชื่อว่า “ฟิดิปปิเดส” (Pheidippides)

เรื่องของเรื่องเกิดขึ้นในสงครามครั้งใหญ่ระหว่างพวกกรีกกับราชวงศ์อาคิมินีดแห่งเปอร์เซีย (มีบันทึกเก่าแก่กล่าวถึงการทำสงครามระหว่างทั้งสองชนชาติที่ว่า ระหว่างช่วงประมาณ 2,550-2,400 ปีมาแล้วอยู่หลายหน และหนนี้ก็เป็นหนึ่งในจำนวนเหล่านั้น) เมื่อระหว่าง 492-490 ปีก่อนคริสตกาล จนสุดท้ายพวกกรีกก็ได้รับชัยชนะที่เมืองมาราธอน (Marathon)

แต่โลกเมื่อหลายพันปีที่แล้วยังไม่มีเครื่องมือสื่อสารทางไกลอย่างโทรศัพท์หรืออินเตอร์เน็ตนะครับ ดังนั้น การส่งข่าวดีอย่างนี้ก็จึงต้องใช้ “ผู้ส่งสาร” วิ่งไปบอกข่าวที่ศูนย์กลางของชาวกรีกอย่างเมืองเอเธนส์

ฟิดิปปิเดสจึงต้องวิ่งโดยไม่หยุดพักเป็นระยะทางราว 40-42 กิโลเมตร จากเมืองมาราธอนจนถึงเอเธนส์ เพื่อที่จะไปกล่าวคำว่า “สวัสดี พวกเราชนะแล้ว” ก่อนที่จะล้มพับแล้วสิ้นชีวิตลงตรงนั้นด้วยความเหนื่อยในพลันนั้นเอง

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจอะไรนักที่ชื่อของเมืองมาราธอนจะกลายเป็นชื่อของการแข่งขันวิ่งระยะไกล ในเมื่อมีตำนานอันชวนสลดหดหู่ของพ่อหนุ่มฟิลิปปิเดส เพราะสงครามในครั้งนั้นเป็นที่รู้จักกันในหมู่นักประวัติศาสตร์ในชื่อของ “สงครามแห่งเมืองมาราธอน” (The Battle of Marathon) อยู่ในโลกตะวันตก

 

ที่จริงแล้วจะเรียกฟิลิปปิเดสว่าพ่อหนุ่ม ก็อาจจะไม่ถูกต้องนัก เพราะจากบันทึกของพวกกรีกในสมัยหลังจากสงครามเมืองมาราธอนหลายร้อยปีนั้น ก็มักจะระบุเอาไว้ไม่ต่างกันนักว่า เขามีอายุถึง 40 ปีแล้วในขวบปีที่สิ้นชีวิตลงเพราะการวิ่งส่งสารของชัยชนะที่เมืองมาราธอน

และนี่ก็ไม่ใช่ข้อขัดแย้งเดียวเกี่ยวกับเรื่องของฟิลิปปิเดส เพราะอันที่จริงแล้วตำนานที่ว่าด้วยชัยชนะที่เมืองมาราธอนนั้น เอกสารของพวกกรีกก็ไม่ได้บันทึกเอาไว้ตรงกันเสียหมด

ดูเหมือนว่า บันทึกเก่าแก่ที่สุดที่เล่าเรื่องของฟิลิปปิเดสจะอยู่ในหนังสือเรื่อง “ประวัติศาสตร์” (The Histories) ของผู้ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นบิดาแห่งประวัติศาสตร์โลกอย่างเฮโรโดตุส (Herodotus, 484-425 ปีก่อนคริสตกาล) โดยหนังสือเล่มนี้ถูกเขียนขึ้นเมื่อ 440 ปีก่อนคริสตกาล คือเขียนขึ้นหลังการสิ้นสุดลงของสงครามแห่งเมืองมาราธอนเพียง 50 ปีเท่านั้น

แต่เฮโรโดตุสไม่ได้เล่าว่าฟิลิปปิเดสวิ่งส่งข่าวจนกระทั่งตัวตายหรอกนะครับ ในหนังสือประวัติศาสตร์ของเฮโรโดตุสนั้นเล่าว่า ฟิลิปปิเดสเป็นผู้วิ่งจากเมืองเอเธนส์เพื่อไปขอความช่วยเหลือจากพวกสปาร์ตันให้มาช่วยรบกับพวกเปอร์เซีย ซึ่งก็ว่ากันว่าระยะทางนั้นไกลถึง 240 กิโลเมตร แต่ฟิลิปปิเดสก็สามารถวิ่งจนไปถึงได้ภายในเวลาเพียงแค่วันกว่าๆ และเมื่อส่งข่าวเรียบร้อยแล้วเขาก็วิ่งกลับไปยังเมืองเอเธนส์ในทันที

เฮโรโดตุสไม่ได้บอกว่า การวิ่งในระยะทางที่ดูจะโหดร้ายยิ่งกว่าการวิ่งจากเมืองมาราธอนไปยังเอเธนส์นั้นทำให้ฟิลิปปิเดสเสียชีวิตลง แถมเขายังไม่ได้บอกด้วยว่า ฟิลิปปิเดสเป็นคนวิ่งส่งข่าวในคราวสงครามแห่งเมืองมาราธอน

และอันที่จริงแล้ว ในหนังสือประวัติศาสตร์ของเฮโรโดตุสเล่มนี้ก็ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องราวของนักวิ่งส่งสารที่ตายจากการส่งข่าวชัยชนะที่เมืองมาราธอนเสียด้วยซ้ำไปนะครับ ทั้งๆ ที่หนังสือเล่มเดียวกันนี่แหละ ที่เป็นคลังข้อมูลหลักเรื่องสงครามกรีก-เปอร์เซียในยุคต่อๆ มา

ดูเหมือนว่าเรื่องราวอันสุดแสนจะโรแมนติกของนักวิ่งที่ต้องสิ้นชีวิตลงเพราะการส่งข่าวชัยชนะที่เมืองมาราธอนจะปรากฏขึ้นครั้งแรกในงานที่ว่า “ความรุ่งโรจน์ของเอเธนส์” (On the Glory of Athens) ของนักประวัติศาสตร์ชาวกรีกอย่างพลูทาร์ก (Plutarch, ค.ศ.46-120) แต่ชื่อของนักวิ่งที่ตายนั้นยังไม่ใช่ฟิลิปปิเดส แต่เป็นเธอร์สิปปุส (Thersippus) หรืออูเคลส (Eukles)

พลูทาร์กได้อ้างว่า เรื่องราวดังกล่าวเขาอ้างอิงมาจากข้อเขียนในช่วงศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล (คือช่วงระหว่าง 400-300 ก่อนการประสูติของพระคริสต์ ซึ่งก็เป็นช่วงหลังสงครามแห่งเมืองมาราธอนราว 100-200 ปี) ของเฮราคลิเดส ปอนติกอส (Herakleides Pontikos) ซึ่งเราไม่พบต้นฉบับหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน แต่ถ้าเป็นจริงตามที่พลูทาร์กอ้างไว้ งานของปอนติกอสก็จะเป็นเอกสารชิ้นแรกสุดที่กล่าวถึงเรื่องนี้

(ผมไม่แน่ใจนักว่าปอนติกอสเป็นใคร? แต่ในช่วงเวลาเดียวกับงานที่พลูทาร์กอ้างถึงนั้น ในกรีซมีปราชญ์ที่สำคัญอีกคนหนึ่ง ที่ชื่อคล้ายๆ กันคือ เฮราคลิเดส ปอนติคุส [Heraclides Ponticus, 390-310 ปีก่อนคริสตกาล] แต่ปอนติคุสโด่งดังในฐานะของนักดาราศาสตร์ มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์)

หลังจากยุคของพลูทาร์ก ก็ได้มีกวี ควบตำแหน่งนักวาทศิลป์ช่างเสียดสีชาวอัสสิเรียนอย่างลูเชียน แห่งซาโมซาตา (Lucian of Samosata) อย่าง “คำพูดสุดท้ายด้วยความยินดี” (A Slip of the Tongue in Greeting, ผมขออนุญาตแปลชื่อหนังสือเล่มนี้ด้วยการใช้คำที่ไม่ตรงตัวกับภาษาอังกฤษ เพราะการส่งสารก่อนตายของฟิดิปปิเดสนั้น ไม่ใช่การพูดแล้วลิ้นพันกันจนออกเสียงผิด หรือการพลั้งปาก อย่างความหมายตรงตัวของ slip of tongue ในภาษาไทยแน่) ที่เขียนขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 2

และก็เป็นลูเชียนคนนี้นี่เองที่ยกตำแหน่งพระเอกที่ตายเพราะการส่งสาร เรื่องชัยชนะที่เมืองมาราธอนให้กับฟิลิปปิเดส

แต่ก็อย่างที่บอกไปแล้วนะครับว่า ลูเชียนเขาเป็นกวี ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ การที่เขาจะสับสนว่า นักวิ่งที่ส่งสารชัยชนะของพวกกรีกที่เมืองมาราธอนเป็นฟิลิปปิเดสแทนนั้น จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากอะไรนัก และก็ด้วยความที่บทกวีของลูเชียนน่าจะเข้าถึงได้ง่ายกว่างานประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นของพลูทาร์ก หรือเฮโรโดตุสนี่แหละ ที่ทำให้คนในยุคหลังเข้าใจว่า ฟิลิปปิเดสคือนักวิ่งที่ส่งสารจนตายในหน้าที่ไปกันหมด

 

ยุโรปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีการนำงานของลูเชียนขึ้นมาแปลใหม่ ซึ่งนั่นก็ทำให้เรื่องของฟิลิปปิเดสกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง

จนกระทั่งกวีชื่อดังชาวเมืองผู้ดีในยุคนั้นอย่างโรเบิร์ต บราวนิ่ง (Robert Browning, ค.ศ.1812-1889) ได้นำเอาเรื่องราวอันแสนสะเทือนใจและโรแมนติกตามอย่างที่นิยมกันในสมัยนั้นของฟิลิปปิเดสมาร้อยเรียงขึ้น

จนกลายเป็นบทกวีใหม่ เมื่อเรือน ค.ศ.1879 ซึ่งก็เป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก

และก็เป็นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 นี้เองเช่นกัน ที่ได้เริ่มมีการจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่ขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อ ค.ศ.1896 ที่ประเทศกรีซ (อันที่จริงแล้วมีประวัติการจัดกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่มาก่อนหน้านั้นแล้ว เพียงแต่ไม่ถูกนับว่าเป็นการจัดอย่างเป็นทางการ)

เพราะแม้แต่ชื่อ “โอลิมปิก” เองก็ยังเป็นชื่อของการจัดแข่งขันกีฬาของพวกกรีกโบราณ ที่มีความเกี่ยวข้องกับเทพปกรณัมของพวกเขาอย่างแยกกันไม่ค่อยจะขาดเลยนะครับ

นักจิตวิทยาชาวฝรั่งเศสที่ชื่อมิเชล บรีล (Michel Breal, ค.ศ.1832-1915) ซึ่งเป็นสหายคนหนึ่งของตัวตั้งตัวตีในการจัดกีฬาโอลิมปิกอย่างปิแอร์ เดอ กูเบอร์แต็ง (Pierre de Coubertin, ค.ศ.1896-1925) ได้แนะนำให้กูเบอร์แต็งจัดแข่งวิ่งระยะไกล 40 กิโลเมตร จากภายในเมืองเอเธนส์ เข้าไปสู่สนามกีฬาหลักที่ใช้ในการจัดงานคือ พานาเธนาอิก สเตเดี้ยม (Panathenaic Stadium)

โดยได้ผูกโยงเรื่องราวเข้ากับชัยชนะของพวกกรีกที่เมืองมาราธอน และแน่นอนว่ารวมถึงเรื่องของฟิลิปปิเดสด้วย ดังนั้น เขาจึงกำหนดระยะทางวิ่งกันไว้ที่ 40 กิโลเมตร

กูเบอร์แต็งซึ่งนอกจากจะเป็นผู้วางรากฐานให้กับกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่แล้ว ยังเป็นนักประวัติศาสตร์อีกด้วย จึงไม่รอช้าที่จะนำเอาไอเดียของบรีลมาผนวกเข้าเป็นส่วนสำคัญของกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่ครั้งแรก

และนี่ก็จึงเป็นที่มาของความเข้าใจผิดครั้งใหญ่ในประวัติของการวิ่งมาราธอนนั่นเอง