วรศักดิ์ มหัทธโนบล : ผนวกดินแดนเพื่อนบ้านรอบต้าถัง

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

มหาจักรวรรดิถัง (ต่อ)

เซีว์ยเอี๋ยนทวอ ในสมัยนั้นหนึ่งในบรรดา 15 ชนชาติที่อาศัยอยู่ตามแนวพรมแดนที่ซึ่งปัจจุบันคือซินเจียงก็คือเซีว์ยเอี๋ยนทวอ

ในยุคถังไท่จง ชนชาตินี้กับอีกบางชนชาติได้ลุกฮือขึ้นโค่นล้มผู้นำเติร์กตะวันออกของตน และทำให้ชนชาตินี้เข้ายึดครองพรมแดนจากออร์โดสไปจนถึงแม่น้ำโอร์กอน (Orkhon river) เอาไว้ได้

ใน ค.ศ.641 จีนได้ให้ชนชาติเติร์กในแถบนั้นย้ายกลับไปยังบ้านเกิดของตน แต่ถูกชนชาติเซีว์ยเอี๋ยนทวอต่อต้านและผลักดันให้กลับไปในดินแดนของจีน และเป็นเหตุให้เซีว์ยเอี๋ยนทวอบุกโจมตีชายแดนจีนเป็นระยะๆ

แต่เนื่องจากคากานของเซีว์ยเอี๋ยนทวอปกครองราษฎรของตนเยี่ยงทรราช ราษฎรจึงลุกฮือขึ้นต่อต้านคากานของตนใน ค.ศ.645 โดยมีชนชาติอุยกูร์เป็นผู้นำ ถังไท่จงจึงถือโอกาสในช่วงที่เกิดความวุ่นวายนี้เข้าจัดการด้วยมาตรการที่แข็งกร้าว

และไม่เพียงจะเข้าจัดการเฉพาะเซีว์ยเอี๋ยนทว่อเท่านั้น หากยังจัดการกับชนชาติอื่นที่อยู่ใกล้เคียงอีกด้วย

โดยผู้เป็นคากานถูกสังหารโดยสมาชิกอุยกูร์คนหนึ่งที่ลุกฮือในขณะนั้น และหลังจากที่จัดการสำเร็จแล้วก็ตั้งคากานคนใหม่ขึ้นแทน คากานคนใหม่นี้ยอมจำนนต่อจีนโดยดุษณี และเพื่อรับการยอมจำนนครั้งนี้ ถังไท่จงได้เสด็จออกจากเมืองฉังอันไปยังทางตะวันตกเพื่อรับบรรณาการจากคากานองค์ใหม่

ในโอกาสนี้ได้มีการจารึกบทกวีที่ทรงนิพนธ์โดยถังไท่จงลงบนหลักศิลา ทั้งเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองชัยชนะที่จีนมีเหนือเซีว์ยเอี๋ยนทวอ และเป็นที่ระลึกถึงอย่างยาวนานต่อไป

 

โกกูรยอ หรือเกาหลี ที่แม้ในปลายราชวงศ์สุยได้สร้างความพินาศให้แก่จีน และเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้สุยล่มสลายแล้วก็ตาม แต่นั่นก็ใช่ว่าโกกูรยอจะไม่สูญเสียไปด้วยไม่ แท้จริงแล้วการศึกในครั้งนั้นได้ทำให้โกกูรยอแทบจะพิการเลยทีเดียว

แต่ด้วยเหตุบังเอิญที่ภายหลังสุยล่มสลายลงแล้วจีนเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านไปสู่ราชวงศ์ถัง โกกูรยอจึงมีเวลาฟื้นฟูตนเองขึ้นมาใหม่ และเมื่อถังตั้งราชวงศ์ขึ้นมา โกกูรยอก็ใช้นโยบายที่เป็นมิตรกับจีน และยอมที่จะส่งบรรณาการให้จีนนับแต่ ค.ศ.619

สามปีหลังจากนั้นทั้งสองฝ่ายได้ทำข้อตกลงที่จะมีการแลกเปลี่ยนนักโทษกัน โดยเป็นนักโทษที่ต่างถูกจับตั้งแต่เมื่อครั้งที่ทำศึกกันในสมัยสุย

แต่กระนั้น ในอีกด้านหนึ่งโกกูรยอก็มีความรอบคอบพอที่จะปกป้องตนโดยไม่ประมาท ความรอบคอบนี้ทำให้โกกูเรียวสร้างป้อมปราการใหญ่ที่แข็งแรงตลอดแนวแม่น้ำเหลียวตลอดทศวรรษ 620 เพื่อตั้งรับการรุกรานของจีนที่อาจจะมีขึ้นได้

แต่การไม่ตั้งอยู่ในความประมาทของโกกูรยอกลับส่งผลไปอีกด้าน เมื่อจีนเห็นว่าการสร้างค่ายคูประตูหอรบนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวทางการทหาร ที่อาจกระทบต่อความมั่นคงของจีน แต่ในระหว่างนั้นเองก็ได้เกิดการรัฐประหารแย่งชิงอำนาจภายในโกกูรยอขึ้น โดยฝ่ายที่ยึดอำนาจได้และตั้งตนเป็นกษัตริย์องค์ใหม่มีนโยบายที่จะไม่ขึ้นต่อจีน

แต่ถึงกระนั้น ถังไท่จงก็มิได้เคลื่อนไหวในเชิงตอบโต้อย่างทันทีทันใด เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะเวลานั้นถังไท่จงกำลังเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของจีนอยู่ จึงยังไม่มีความพร้อมมากนัก

จนปลาย ค.ศ.643 ซิลลา (Silla) ซึ่งเป็น 1 ใน 3 รัฐของเกาหลีเวลานั้น และเป็นรัฐที่ยอมขึ้นต่อจีนก็ได้รายงานไปยังราชสำนักจีนว่า โกกูเรียวกำลังร่วมมือกับอีก 1 ใน 3 รัฐของเกาหลีซึ่งคือแพ็กเจ (Baekje) จะยกทัพเข้าตีแนวหน้าและตัดเส้นทางที่จะไปจีนเพื่อถวายบรรณาการของซิลลา

ซ้ำยังได้จับกุมคุมขังคณะทูตจีนอีกด้วย

 

ถึงตอนนี้ถังไท่จงจึงทรงตัดสินใจที่จะนำทัพเข้าตีโกกูรยอด้วยพระองค์เอง แต่ความคิดนี้ได้รับการคัดค้านจากมหาอำมาตย์เกือบทั้งหมด ส่วนที่สนับสนุนนั้นมีเพียงผู้เดียวโดยให้เหตุผลแต่เพียงว่า หากไม่รุกเข้าตีตอนนี้แล้วจะเสียใจในภายหลัง

แม้จะมีเพียงหนึ่งเสียงที่สนับสนุน ถังไท่จงก็ยังทรงตัดสินใจที่จะดำเนินตามแผนเข้าตีโกกูรยอ

การเตรียมทัพครั้งใหญ่จึงเริ่มขึ้นใน ค.ศ.644 กองกำลังส่วนใหญ่ถูกส่งไปตั้งประจำการที่ชายแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือ เฉพาะเรือที่ใช้บรรทุกเสบียงก็มากถึง 400 ลำ โดยก่อนการบุกโจมตีนั้น ถังไท่จงทรงเรียกอดีตมหาอำมาตย์คนหนึ่งในสมัยสุย และเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการทำศึกกับโกกูรยอมาก่อนมาสอบถามข้อมูล

มหาอำมาตย์ผู้นี้ได้เตือนพระองค์ถึงความยากที่จะเอาชนะโกกูเรียวด้วยรายละเอียดต่างๆ แต่ถึงที่สุดแล้วถังไท่จงก็ยังทรงมั่นใจว่าพระองค์จะชนะในศึกนี้

จีนบุกเข้าตีโกกูรยอใน ค.ศ.645 โดยมีทั้งทัพบกและทัพเรือ เฉพาะทัพเรือที่มีกำลังพลราว 43,000 นายในเรือรบ 500 ลำนั้น จะปฏิบัติการตีเมืองเปียงยางโดยตรง

การศึกดำเนินไปด้วยความยากลำบาก ครั้นเวลาผ่านไปสองเดือนกับความพยายามยึดเมืองที่ไร้ผล ทัพจีนที่หมายจะตีชิงเมืองให้ได้ก็ต้องถอนทัพกลับด้วยความจำใจ

และภายใต้ฤดูหนาวที่หนาวเหน็บในปีนั้น

ทหารจีนได้เสียชีวิตจากพายุหิมะไปหลายพันนายระหว่างถอนกำลัง

 

การบุกครั้งนี้จึงจบลงด้วยความพินาศย่อยยับของจีน แต่ผลเช่นนี้ยังคงมิอาจหยุดความตั้งใจของถังไท่จงไปได้ โดยในปลาย ค.ศ.647 ทรงมีคำสั่งให้ราษฎรทางซื่อชวนและอีกบางมณฑลทางใต้ให้ต่อเรือรบจำนวนมาก

การเกณฑ์แรงงานแต่ยังคงเก็บภาษีเพื่อใช้สร้างทัพเรือครั้งนี้ได้เป็นแรงกระตุ้นอย่างดีที่ทำให้เกิดกบฏขึ้นในแถบนั้นใน ค.ศ.648 แต่ก็ในปีเดียวกันนี้ถังไท่จงก็ยังทรงประกาศว่าจะบุกเข้าตีโกกูเรียวให้สำเร็จในปีหน้า

พระองค์ไม่ทรงฟังแม้แต่คำเตือนของฝังเสีว์ยนหลิงผู้เป็นสหายและคนใกล้ชิด ทั้งๆ ที่เตือนในขณะนอนรอความตายมาเยือนอยู่บนเตียง ครั้น ค.ศ.649 ล่วงมาถึงจริงก็กลับเป็นปีที่ถังไท่จงสิ้นพระชนม์เสียแล้ว

กล่าวกันว่า แม้ในยามใกล้สิ้นพระชนม์นั้น ถังไท่จงยังคงเด็ดเดี่ยวในอันที่จะสู้รบกับศัตรูที่น่าชิงชังนี้ให้ได้ พระองค์ทรงพึมพำด้วยความขมขื่นแม้ในยามที่ลมหายใจสุดท้ายจะมาเยือน

 

หลังยุคถังไท่จงไปแล้ว เกาหลียังคงมีรัฐซิลลาเป็นพันธมิตรกับจีน รัฐนี้ได้รับเอาระบบการเขียนและธรรมเนียมการปกครองแบบจีนมาใช้ จากนั้นก็ยึดรัฐแบกเจแล้วใช้เป็นฐานที่มั่นในการทำศึกกับโกกูเรียว

จนใน ค.ศ.666 เมื่อกษัตริย์ของโกกูรยอสิ้นพระชนม์ รัฐนี้ก็เกิดความไม่ลงรอยกันภายในจนนำมาซึ่งความอ่อนแอ จากเหตุนี้ ใน ค.ศ.668 จีนก็สามารถบุกเข้ายึดครองโกกูรยอได้สำเร็จ และนำตัวนักโทษ 200,000 นายของตนกลับสู่บ้านเกิด จนถึงทศวรรษ 670 ที่ซิลลาได้บรรลุซึ่งการทำตนให้เป็นจีนแล้วนั้น เกาหลีส่วนใหญ่ก็ถูกทำให้เป็นจีนไปด้วย

ถึงตอนนี้ถังก็หันไปเผชิญหน้ากับภัยคุกคามที่มาจากอีกฟากหนึ่งซึ่งคือทิเบตต่อไป

 

ญี่ปุ่น สำหรับญี่ปุ่นนั้น ดูจะเป็นประเทศเดียวที่ไม่มีความขัดแย้งกับจีนจนถึงกับต้องใช้กำลังดังประเทศหรือชนชาติอื่น ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เป็นเกาะและอยู่ห่างไกลจากจีนหลายร้อยกิโลเมตร จนทำให้ไม่มีผลประโยชน์ระหว่างกันจนนำไปสู่ความขัดแย้ง

โดยใน ค.ศ.630 ญี่ปุ่นได้ส่งคณะผู้แทนมายังจีนเพื่อรับเอาแบบแผนทางวัฒนธรรมและการเมืองมาใช้กับตน ครั้นถึง ค.ศ.649 ญี่ปุ่นก็ปฏิรูปครั้งใหญ่ด้วยการรวมศูนย์อำนาจที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแบบแผนทางกฎหมาย การทหาร การถือครองที่ดิน และภาษี

ล้วนนำจากถังมาใช้ทั้งสิ้น

ไม่เพียงเท่านั้น ระบบการเขียนที่เป็นทางการ และแบบแผนงานวรรณกรรมก็ถูกญี่ปุ่นนำมาปรับให้สอดคล้องและเหมาะกับอักษรญี่ปุ่นเช่นกัน ยิ่งราชสำนักญี่ปุ่นด้วยแล้ว วัฒนธรรมชั้นสูงของจีนไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย บทกวี และดนตรี ก็ยังถูกถือเป็นต้นแบบอีกด้วย

ถึงตอนนั้นศาสนาพุทธก็มีอิทธิพลต่อปัญญาชนญี่ปุ่น แผ่นดินจีนสมัยถังกลายเป็นจุดหมายปลายทางของผู้ศรัทธาชาวญี่ปุ่นนับพันคน ที่ต่างก็เดินทางไปเพื่อศึกษาและคัดลอกคัมภีร์ทางศาสนาแล้วนำกลับไปญี่ปุ่น

จนเป็นภาพที่ชินตาในเมืองใหญ่ของจีนเวลานั้น