วิเคราะห์ | ฝ่ายค้านแพ้ซ้ำ รัฐบาลฮึกเหิม เดิมพันสูง หวังโดมิโนจากนครปฐม ถึงขอนแก่น ลามไปสู่กำแพงเพชร สมุทรปราการ

ผลการเลือกตั้ง ส.ส.เขต 7 ขอนแก่น แทนตำแหน่งที่ว่าง นายสมศักดิ์ คุณเงิน ผู้สมัคร ส.ส.หมายเลข 2 จากพรรคพลังประชารัฐ ได้ 40,252 คะแนน ส่วนนายธนิก มาสีพิทักษ์ ผู้สมัคร ส.ส.หมายเลข 1 จากพรรคเพื่อไทย ได้ 38,010 คะแนน จำนวนผู้มาใช้สิทธิทั้งสิ้น 81,063 คน จากผู้มีสิทธิทั้งหมด 132,063 คน คิดเป็นร้อยละ 61.38

ผลคะแนนที่ออกมานั้นมีนัยสำคัญทางการเมืองต่อพรรคพลังประชารัฐการชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ก็จะได้ที่นั่ง ส.ส.เพิ่ม 1 คนไปแก้ปัญหาเสียงปริ่มน้ำในสภาผู้แทนราษฎร

เช่นเดียวกันมันมีนัยยะสำคัญกับฝ่ายค้านอย่างยิ่ง เพราะย้อนกลับไปหากนับรวมการเลือกตั้งซ่อมครั้งก่อน จัดขึ้นที่จังหวัดนครปฐมเขต 5 การพ่ายแพ้ครั้งนี้จึงเป็นการพ่ายแพ้ติดต่อกันของพรรคฝ่ายค้านถึง 2 ครั้ง

คำถามสำคัญว่า นี่จะเป็นปรากฏการณ์โดมิโน รัฐบาลกวาดเรียบศึกเลือกตั้งซ่อมหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่ายังเหลือกำแพงเพชรและสมุทรปราการอีก 2 จังหวัด

หากพิจารณาดูถึงปัจจัยในการชนะการเลือกตั้งใหญ่เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่จริงก็ให้ภาพสะท้อนในเชิงกลไกสังคม ต่อการทำความเข้าใจศึกเลือกตั้งซ่อมทั้ง 2 แห่งที่ผ่านมาไม่น้อย

นั่นคือภาพปะทะกันของกรอบการต่อสู้ที่ซ้ำซ้อนกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นมิติเชิงอุดมการณ์ หรือมิติกลไกอำนาจรัฐเครือข่ายอิทธิพลท้องถิ่น จะเลือกเชื่อมิติใดมิติหนึ่งอย่างเดียวเป็นไปไม่ได้

เมื่อครั้งเลือกตั้งซ่อม จ.นครปฐม เขต 5 หากย้อนดูคำกล่าวของแกนนำพรรคอนาคตใหม่ในฐานะพรรคฝ่ายค้านหนึ่งเดียว และเป็นเจ้าของพื้นที่เดิมก็เชื่อมั่นในเกมแห่งอุดมการณ์มั่นใจว่าศึกแห่งจุดยืนจะเป็นตัวตัดสินสำคัญ เลือกตั้งซ่อมคือเดิมพันระหว่างเอากับไม่เอาประยุทธ์ เป็นเสมือนการทำประชามติกลายๆ ว่าเอาหรือไม่เอารัฐบาล

แต่โลกแห่งความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่

มิติเชิงอำนาจ เกมแห่งผลประโยชน์ ที่ทำงานอย่างสลับซับซ้อน ผ่านกลไกเครือข่ายทั้งแบบเก่า และกลไกแบบใหม่ ทำให้ผลการเลือกตั้งซ่อมนครปฐมก็ไม่ได้เซอร์ไพรส์คอการเมืองเท่าไหร่ จากปฏิบัติการที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของฝั่งรัฐบาล และการต่อสู้ที่มุ่งเน้นเชิงอุดมการณ์ของฝ่ายค้าน แม้ทั้งสองฝ่ายจะได้คะแนนเป็นกอบเป็นกำ แต่ก็สู้คนที่เตรียมตัวมาในโลกแห่งความเป็นจริงอย่างเพียบพร้อมไม่ได้

ศึกครั้งนั้น เผดิมชัย สะสมทรัพย์ ผู้สมัครจากพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ชนะคู่แข่งขันจากพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) โดยมีคะแนนทิ้งห่างเกือบหมื่นคะแนน เขี่ยเจ้าของพื้นที่เดิม สู้สุดตัวเพื่อปักธงว่าข้าคือเจ้าของพื้นที่ตัวจริง

นั่นคือบทเรียนแรกของอนาคตใหม่ ทั้งๆ ที่หวังว่าการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.นครปฐม จะกลายเป็น “โดมิโน” ที่อาจเปลี่ยนแปลง “รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ” ถึงขนาดใช้แคมเปญรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งซ่อมว่า “ทนลุงไม่ไหว กาอนาคตใหม่”

และแน่นอน เป็นความฉลาดของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ที่แสดงความดีใจแบบเงียบๆ ไม่ออกนอกหน้า โยนทุกอย่างว่าเป็นเรื่องของประชาชน

ต่อมาเป็นการเลือกตั้งซ่อมเขต 7 ขอนแก่น ซึ่งพื้นที่เดิมเป็นของพรรคเพื่อไทย หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพของนายนวัธ เตาะเจริญสุข สิ้นสุดลงเนื่องจากนายนวัธถูกศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษาประหารชีวิตในคดีจ้างวานฆ่าปลัด อบจ.ขอนแก่น ผลการเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐเอาชนะผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยไป 2,242 คะแนน

ฝั่งเพื่อไทยวิเคราะห์ความผิดพลาดว่าพลังประชารัฐได้เปรียบจากการเป็นรัฐบาล แต่ก็ยอมรับว่าเป็นไปตามคาด เพราะนายสมศักดิ์ผู้สมัครพลังประชารัฐเป็นชาว อ.หนองเรือ ส่วนนายธนิกผู้สมัครพรรคเพื่อไทยเป็นชาว อ.มัญจาคีรี นายสมศักดิ์ชนะที่ อ.หนองเรือ นายธนิกก็ชนะที่ อ.มัญจาคีรี แต่ไม่มากพอเท่าที่นายสมศักดิ์ชนะ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะชนะมากกว่านี้

แต่ในมิติเชิงกลไกอำนาจรัฐและเครือข่ายอิทธิพลในท้องที่ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่เพื่อไทยตระหนักถึงเรื่องนี้ดี

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ถึงกับออกปากว่า ทางพรรคร้องเรียนมาตลอดว่าการใช้กลไกกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเข้าไปควบคุมหน่วยเลือกตั้ง อาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของประชาชน กังวลว่าบุคคลเหล่านี้จะใช้ความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ชี้นำการเลือกตั้ง แต่ข้อร้องเรียนของพรรคก็ไม่ได้รับการตอบสนอง

ทั้งยังมีกรณีการอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งแกนนำเพื่อไทยก็ยอมรับว่าเรื่องนี้พูดยากว่าผิดหรือไม่ เพราะมันเป็นงบประมาณที่ต้องจัดสรรให้ประชาชนอยู่แล้ว ก็ตั้งข้อสังเกตว่ามันอาจจะช่วยสร้างการจูงใจทางอ้อมหรือไม่ เพราะช่วงเวลามันใกล้เคียงกับวันเลือกตั้ง

ในมุมวิชาการ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ รักษาการ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า เห็นว่าผู้สมัครของพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทยมีความแข็งแกร่งในเชิงพื้นที่ไม่แพ้กันเพราะลงพื้นที่มานาน แต่ฝั่งพลังประชารัฐทำพื้นที่มานานกว่า กว้างขวางกว่า และได้รับการยอมรับมากกว่าในเชิงตัวบุคคล

ส่วนเพื่อไทยฐานเสียงแน่นแค่อำเภอเดียว โดยหากย้อนดูผลการเลือกตั้งเขตนี้เมื่อ 24 มีนาคม เพื่อไทยก็ชนะพลังประชารัฐเพียง 3,000 คะแนน ในจำนวนนี้ราว 2,000 คะแนนมาจากการลงคะแนนนอกเขต แต่คราวนี้ไม่มีนอกเขตแล้ว

ในเชิงยุทธศาสตร์ แม้เพื่อไทยกับอนาคตใหม่จะหลีกทางให้กัน เพื่อไทยก็ขาดแรงหนุนจากอนาคตใหม่ ในการเลือกตั้งขอนแก่นต้องยอมรับว่าทำให้ขาดกำลังจากคนรุ่นใหม่

กรณีนี้เช่นเดียวกับที่นครปฐม ที่เพื่อไทยเองก็ไม่ได้หนุนอนาคตใหม่ด้วยการเมืองเครือข่ายกลไกเชิงพื้นที่ ปล่อยให้อนาคตใหม่ลุยเดี่ยวสู้รบชูธงอุดมการณ์อย่างเดียว

แล้วก็แพ้การเลือกตั้งทั้ง 2 พื้นที่

ฝ่ายรัฐบาลชนะติดต่อกันถึง 2 รอบ ยิ่งสร้างความฮึกเหิม โฆษกพลังประชารัฐถึงกับบอกว่าเป็นเพราะกระแส พล.อ.ประยุทธ์ และผลงานรัฐบาล ทำให้คนเลือกพลังประชารัฐจนชนะ

ที่น่าสนใจคือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ มือดีลคนสำคัญของพรรค ถึงกับออกปากว่ารู้อยู่แล้วว่าจะชนะแต่ไม่อยากพูดออกไปก่อน

“เท่าที่ไปปราศรัยได้สัมผัสกับชาวบ้าน รู้ว่าพลังประชารัฐจะชนะ การจะไปพูดก่อนมันไม่ดี แต่สุดท้ายผลก็ปรากฏออกมาชัดเจน” ร.อ.ธรรมนัสกล่าว

ขณะนี้แกนนำของพรรคพลังประชารัฐหลายคนตั้งเป้าแล้วว่าจะต้องคว้าชัยชนะให้ได้อีก 2 เสียง เพื่อขจัดปัญหาเสียงปริ่มน้ำให้เด็ดขาด ทั้งที่กำแพงเพชรและที่สมุทรปราการ

จะสำเร็จเหมือนการเลือกตั้งซ่อม 2 ครั้งที่ผ่านมาหรือไม่คงต้องจับตา

ในส่วนฝ่ายค้าน งานหนัก นักวิชาการอย่าง รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ความพ่ายแพ้ติดกันของฝ่ายค้านโดยขอให้เพื่อไทยยอมรับว่านี่ไม่ใช่การโกง แต่ฝ่ายรัฐบาลชนะเพราะนโยบายประชานิยม แผนยุทธศาสตร์ พปชร.ที่ตั้งเป้าเข้าไปแทนที่ฐานประชานิยมของเพื่อไทยในภาคเหนือ-อีสานอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะเรื่องบัตรคนจน ทั้งยังเห็นว่าพรรคเพื่อไทยมีแนวโน้มจะถูกยึดพื้นที่ฐานเสียงมากขึ้นไปเรื่อยๆ

ขณะที่สมยศ พฤกษาเกษมสุข ประธานกลุ่ม 24 มิถุนาฯ มาแรง วิจารณ์ว่านี่คือความเสื่อมถอยและเป็นจุดจบของพรรคเพื่อไทย ก็มีแต่นักเลือกตั้ง นักการเมืองไร้ศักยภาพขาดความมุ่งมั่นจริงใจในการต่อสู้ เหินห่างชาวบ้าน กินบุญเก่า ไม่มีอะไรดีกว่าเดิม

อันที่จริงหากพิจารณาบริบทการเมืองปัจจุบัน เดิมพันฝั่ง พปชร.สูงกว่าเพื่อไทยมาก ทั้งหมดเป็นไปตามยุทธศาสตร์ให้ประยุทธ์อยู่ยาวดังคำกล่าวพี่ใหญ่แห่งพรรคพลังประชารัฐ ที่เพิ่งลั่นวาจาว่าประยุทธ์ต้องอยู่ยาว

“พปชร.ไม่ได้มีแผนการที่จะให้ใครมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน พล.อ.ประยุทธ์ จะมีแต่ พล.อ.ประยุทธ์เท่านั้นที่จะเป็นจนจบ และเมื่อจบแล้วใครจะมาเป็นต่อนั้น ผมก็ไม่รู้ ต้องไปถามพรรค ซึ่งเบื้องต้นที่ผมเล็งเอาไว้ ก็อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่จนถึง 4 ปี” พล.อ.ประวิตรกล่าว

ศึกเลือกตั้งซ่อมครั้งต่อไปจึงน่าจับตา พลังประชารัฐในฐานะเจ้าของพื้นที่เดิม แล้วในบริบทการเมืองระดับชาติที่ต้องการเสียงมาแก้อาการปริ่มน้ำ จะใช้กลไกและวิธีการแบบเดิมหรือไม่ ในการรักษาเสียงทั้งสองเสียงไว้ ซึ่งขณะนี้แกนนำพรรคได้ประกาศแล้วว่าจะต้องรักษาไว้ให้ได้

ส่วนพรรคฝ่ายค้านถ้าคิดจะอยู่ไปเรื่อยๆ ก็คงไม่ต้องเดิมพันอะไร แต่แค่ในพรรคเพื่อไทยก็น่าจะวุ่นไม่จบ ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ยิ่งทำให้ ส.ส.อีสานที่ไม่พอใจบทบาทประธานยุทธศาสตร์พรรคอยู่แล้ว น่าจะยิ่งไม่พอใจหนักกว่าเดิมหลังจากนี้