รายงานพิเศษ / ถึงเวลาชำแหละ รธน.เจ้าปัญหา “พีระพันธุ์” หัวเรือคุม กรธ.ตามโผ วาง 3 แนวทางรื้อคัมภีร์แป๊ะ

ในประเทศ

ถึงเวลาชำแหละ รธน.เจ้าปัญหา

“พีระพันธุ์” หัวเรือคุม กรธ.ตามโผ

วาง 3 แนวทางรื้อคัมภีร์แป๊ะ

 

แม้พรรคฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย (พท.) จะพลิกเกมด้วยการเสนอชื่อนายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา ชิงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ก่อนที่การประชุมนัดแรกจะเริ่มต้นขึ้นเพียงไม่กี่นาที

แต่ด้วยเสียงของคณะ กมธ.ที่ซีกรัฐบาลที่มีจำนวนมากกว่า ผลจึงเป็นไปตามที่คาดหมายของทุกฝ่าย ไม่มีพลิกโผ

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ยื่นลาออกจากสมาชิก ทิ้งตำแหน่งผู้แทนราษฎร มารับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษา “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก่อนถูกส่งมาร่วม กมธ.ในโควต้าของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชนะได้เป็นประธานคุมเกมศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แบบม้วนเดียวจบ

แม้มติลับ 25 ต่อ 19 และงดออกเสียงอีก 4 เสียงที่แว่วกันว่าล้วนเป็นเสียงจาก กมธ.โควต้า ปชป.นั้น จะบ่งบอกถึงความไม่เป็นเอกภาพภายใน กมธ.ซีกรัฐบาลตั้งแต่แรก

แม้การประชุมนัดแรกจะมีเหตุทำให้นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. ผู้ทำหน้าที่ประธานชั่วคราว ต้องตัดสินใจดึงเบรก สั่งพักการประชุมเป็นเวลา 15 นาที จากการถกเถียงกันอย่างหนัก ในการวางผู้ทำหน้าที่ในตำแหน่งรองประธานคนที่ 1 ซึ่ง กมธ.ซีกรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างพยายามส่งคนจากซีกตัวเองนั่งในตำแหน่งนี้

แต่เมื่อไกล่เกลี่ยพูดคุยจบ การประชุมกลับมาพิจารณาต่อ ทุกอย่างก็เดินหน้าไปได้ด้วยความเรียบร้อยทุกตำแหน่ง

เป็นตำแหน่งรองประธาน กมธ.จำนวน 7 เก้าอี้

ไล่เรียงตั้งแต่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นรองประธาน กมธ.คนที่ 1 นายวัฒนา เมืองสุข กมธ.ในสัดส่วน พท.เป็นรองประธาน กมธ.คนที่ 2 นายชำนาญ จันทร์เรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) เป็นรองประธานคนที่ 3 นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช ปชป. เป็นรองประธาน กมธ.คนที่ 4 นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. เป็นรองประธาน กมธ.คนที่ 5 นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. กมธ.ในสัดส่วนพรรคเสรีรวมไทย เป็นรองประธานคนที่ 6 และนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) เป็นรองประธาน กมธ.คนที่ 7

ขณะที่นายทศพล เพ็งส้ม กมธ.ในสัดส่วน พปชร. เป็นเลขานุการ

เป็นตำแหน่งโฆษก กมธ. 5 ที่นั่ง 1.นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พท. 2.นายธนกร วังบุญคงชนะ กมธ.ในสัดส่วน พปชร. 3.นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ อนค. 4.นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ กมธ.ในสัดส่วน ปชป. และ 5.น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม. พปชร.

เป็นตำแหน่งที่ปรึกษา กมธ. 6 ที่นั่ง 1.นายโภคิน พลกุล กมธ.ในสัดส่วน พท. 2.นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ กมธ.ในสัดส่วน ครม. 3.พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กมธ.ในสัดส่วนของพรรคประชาชาติ 4.นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. 5.นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ และ 6.นายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร.

นี่ยังไม่นับรวมบรรดา “บิ๊กเนม” อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น นายชูศักดิ์ ศิรินิล นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นายชัยเกษม นิติสิริ จาก พท. นายปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการ อาทิ นายบัณฑิต จันทร์โรจนกิจ นายเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช จาก อนค. รวมไปถึงนายนิกร จำนง กมธ.จากพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) และนายเทพไท เสนพงศ์ กมธ.จาก ปชป. เป็นต้น

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า กมธ.ชุดนี้ตั้งขึ้นมาโดยมติเอกฉันท์ 445 เสียงของสภาผู้แทนราษฎร

เป็นมติเอกฉันท์ที่ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.ซีกฝ่ายค้าน หรือแม้กระทั่งฝ่ายรัฐบาล ต่างเห็นพ้อง สะท้อนออกมาว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ฉบับที่บังคับใช้อยู่ปัจจุบันนี้มีปัญหาอยู่จริง

แม้จะผ่านการทำประชามติ แต่ก็ยังมีปัญหาในเรื่องการยอมรับจากประชาชน

โดยเฉพาะ “ที่มา” ที่ผูกโยงอยู่กับเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

กติกาสูงสุดในการปกครองประเทศที่ควรจะดีไซน์มาเพื่อทุกคนอย่างเท่าเทียม กลับดีไซน์มาเพื่อการสืบทอดอำนาจของ คสช. ไม่ให้การรัฐประหารในวันนั้นต้อง “เสียของ” แบบที่ผู้นำทหารรุ่นพี่เคยทำพลาดเอาไว้ในปี 2549

ออกแบบระบบเลือกตั้งสูตร “ไทยแลนด์โอนลี่” พร้อมวางกลไกสุดล้าหลัง โดยอ้างเหตุผลเรื่องการเปลี่ยนผ่านให้ ส.ว.มาร่วมโหวตเลือกนายกฯ ในช่วง 5 ปีแรกหลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้

กระทั่งวันเลือกตั้ง 24 มีนาคมเป็นต้นมา ได้เกิดเป็นผลกระทบทางการเมือง อย่างที่นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.ผู้อาวุโสจาก ปชป. เรียกว่า “เป็นปรากฏการณ์แห่งความยุ่งยากมากเรื่องที่สุด” โดยมีระบบเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” เป็นต้นเหตุ

เพราะไม่เพียงได้สูตรที่ซับซ้อนที่สุดในการคิดคะแนนเลือกตั้งให้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อแล้ว ยังสร้างผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล แม้จะเกิดการรวมตัวของพรรคการเมืองที่มากที่สุดถึง 19 พรรคแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเป็นรัฐบาลที่มีเสียงปริ่มน้ำอยู่ดี

และที่สำคัญ ด้วยความที่ต้องดีไซน์มาเพื่อรองรับการอยู่ยาวของ คสช. รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงกำหนดวิธีการแก้ไขไว้ยากมากที่สุด นอกจากต้องใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 แล้ว ถ้าแก้ไขเรื่องสำคัญต้องไปออกเสียงประชามติ ล็อกประตูไว้หลายชั้น จนอาจแก้ไม่ได้เลย

“ถ้าเป็นสนุ้กเกอร์ก็เหมือนถูกวางสนุ้กกันไว้ไม่ให้แก้ ทั้งๆ ที่ประชาชนและพรรคการเมืองอยากแก้ไข หากลุกลามเป็นวิกฤต อาจถูกคณะรัฐประหารรื้อทิ้ง แล้วเขียนขึ้นใหม่อีก” นายปิยบุตร กมธ.จาก อนค.ระบุ

ขณะที่นายนิกร จำนง กมธ.จาก ชทพ. ก็ระบุเช่นเดียวกันว่า สาระที่สำคัญที่สุดอยู่ที่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพราะต้องหาทางเปิดประตูให้ได้ก่อน ถ้าเปิดประตูไม่ได้ เรื่องอื่นๆ ที่เป็นปัญหาที่หยิบยกมาพูดกันจะไม่สามารถแก้ไขได้เลย

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้เปรียบเหมือนตู้เซฟ ต้องมีกุญแจ 2 ดอก ดอกแรกรหัส 500 ดอกที่สองรหัส 84 ในการเปิด แม้วันนี้จะมีดอกแรก คือ ส.ส. 500 คนที่ดูเป็นดอกที่ใหญ่กว่าก็จริงในฐานะที่มาจากประชาชน แต่หากยังขาดดอกที่สองคือ ส.ว. 84 คน ยังไงก็ไขตู้เซฟตู้นี้ไม่ได้ ดังนั้น ในฐานะที่ต่างฝ่ายต่างเป็นมาสเตอร์คีย์ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเจรจากับ ส.ว.ในฐานะผู้ที่เฝ้าตู้เซฟให้เข้ามาร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยอาจต้องมีเหตุผลว่า เมื่อเปิดตู้เซฟได้ จะไปหยิบจับ หรือจัดของในตู้เซฟเท่าที่จำเป็นเพื่อให้มันดีขึ้นเท่านั้น”

นี่จึงเป็น “งานหิน” ของ กมธ.ในช่วงระยะเวลา 120 วันที่มีอยู่

เป็น 120 วันที่ กมธ.วางกรอบในการศึกษาไว้เบื้องต้น 3 แนวทาง

แนวทางแรก ชงการตั้ง ส.ส.ร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ

แนวทางที่สอง ชงแก้ไขเฉพาะมาตรา 256 เพื่อปลดล็อก และเปิดประตูให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น

แนวทางที่สาม ชงการแก้ไขในรายมาตรา เน้นเฉพาะมาตราที่เป็นปัญหาในทางปฏิบัติ ที่ฝ่ายการเมืองกำลังประสบอยู่ในขณะนี้

ถือเป็น 3 แนวทางที่จะพิสูจน์ให้เห็นความจริงใจของพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลที่มีต่อมติเอกฉันท์ของสภาผู้แทนราษฎร

พิสูจน์ว่า นโยบายเร่งด่วนข้อที่ 12 ที่แถลงต่อรัฐสภา จะคืบหน้าไปแค่ไหน…