จุดเริ่มต้น การร้องเพลงชาติในการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศ ที่ถือปฏิบัติสืบมาทั่วโลก

พิศณุ นิลกลัด
LEIPZIG, GERMANY - FEBRUARY 6 : Team Germany at the 2016 Germany vs. Switzerland Fed Cup Tie

เหตุการณ์ร้องเพลงชาติเยอรมนีผิด เอาเนื้อร้อง เวอร์ชั่นสมัยนาซีมาร้องในการแข่งขันเทนนิสประเภททีมหญิง Fed Cup รอบแรก ที่ฮาวาย เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตที่ทำให้ทีมนักเทนนิสหญิงเยอรมันไม่พอใจ บอกว่าเป็นความผิดพลาดที่เกินจะให้อภัย เพราะคนเยอรมันปัจจุบันอับอายนาซี เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์แห่งความโหดร้าย

แม้สหพันธ์เทนนิสสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันจะออกมาขอโทษ แต่คาดว่า ทีมนักเทนนิสหญิงเยอรมันคงแค้นไม่หาย

เพราะหลังจาก วิล คิมบอล นักร้องโอเปร่าชาวอเมริกัน ร้องเพลงชาติเยอรมนี เวอร์ชั่นสมัยนาซีจบลง นักเทนนิสหญิงทีมเยอรมันโกรธจัด บางคนถึงกับน้ำตาไหล ซึ่งไม่แน่ใจว่าส่งผลต่อสภาพจิตใจขณะแข่งขันหรือไม่ เพราะทีมนักเทนนิสหญิงเยอรมันแพ้ทีมนักเทนนิสหญิงอเมริกัน 3 แมตช์รวด ตกรอบ Fed Cup เรียบร้อยแล้ว

การแข่งขันเทนนิสหญิง Fed Cup เป็นการแข่งขันเทนนิสทีมหญิงชิงแชมป์โลก ซึ่งตามธรรมเนียมจะมีการร้องเพลงชาติของทั้งสองทีม ต่างจากการแข่งขันเทนนิสรายการอื่นๆ ที่แข่งในนามส่วนตัวของนักเทนนิส ไม่มีการบรรเลงเพลงชาติ

เพลงชาติเยอรมนี เวอร์ชั่นสมัยนาซี ที่ วิล คิมบอล ร้องนั้น มีทำนองเดียวกับเพลงชาติเยอรมนี เวอร์ชั่นปัจจุบันที่แฟนฟุตบอลชาวไทยคุ้นหูในการแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติ

เนื้อร้องท่อนแรกเพลงชาติเยอรมนี เวอร์ชั่นนาซี มีว่า “Deutschland, Deutschland uber alles, uber alles in der Welt,” แปลว่า “เยอรมนี, เยอรมนี เหนือทุกสิ่ง, เหนือทุกสิ่งในโลก”

เป็นประโยคชวนเชื่อที่ฮิตเลอร์ใช้ล้างสมองคนเยอรมัน และนำมาเป็นเนื้อเพลงท่อนแรกของเพลงชาติเยอรมนีตั้งแต่ปี 1922 จนถึงปี 1945 ซึ่งเป็นปีสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

เพลงชาติเยอรมนี เวอร์ชั่นนาซี ถูกห้ามใช้โดยเป็นคำสั่งของฝ่ายสัมพันธมิตรที่ชนะสงคราม

 

จากประวัติศาสตร์ที่มีการจดบันทึกไว้ การแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศหรือระดับนานาชาติ ที่มีการร้องเพลงชาติมีขึ้นในปี 1905 ในการแข่งขันรักบี้ระหว่างทีมชาติเวลส์ กับทีมออล แบล็กส์ ของประเทศนิวซีแลนด์ ที่ตามธรรมเนียมปฏิบัติของทีมจะเต้น ฮาก้า (Haka) ซึ่งในอดีตเป็นการเต้นของนักรบชนเผ่าเมารี ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองของนิวซีแลนด์ ก่อนนักรบจะออกสงคราม เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ

โดยก่อนการแข่งขันรักบี้จะเริ่ม นักรักบี้ทีมออล แบล็กส์ ทั้งทีมจะหันหน้าเข้าหาทีมคู่แข่ง แล้วร้องเพลง และเต้นขึงขัง แลบลิ้นปลิ้นตา ข่มขวัญคู่ต่อสู้ เป็นการเล่นสงครามจิตวิทยาข่มขวัญ โดยทีมคู่แข่งยืนมองตาปริบๆ

แต่ในวันนั้น ทีมชาติเวลส์ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันก็เกิดความคิดเฉียบแหลม โต้กลับด้วยการร้องเพลงชาติเวลส์ ทันทีที่ทีมออล แบล็กส์เต้นฮาก้า เสร็จ

การร้องเพลงเริ่มต้นจากนักรักบี้ในทีมเวลส์ จากนั้นผู้ชมชาวเวลส์ในสนามกว่า 40,000 คนก็ร่วมกันร้องเพลงชาติเวลส์ กึกก้องอัฒจันทร์ จากบันทึกการแข่งขันครั้งนั้นเมื่อ 112 ปีก่อน บรรยายว่า การร่วมร้องเพลงชาติของแฟนรักบี้ชาวเวลส์หลายหมื่นคน

สร้างความฮึกเฮิมให้กับนักรักบี้ทีมเวลส์ ส่งผลให้ชนะทีมออล แบล็กส์

นับจากนั้น การร้องเพลงชาติในการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศหรือนานาชาติก็เป็นธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติสืบมาทั่วโลก

 

ในการแข่งขันฟุตบอลโลก ก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้น จะมีการเปิดเพลงชาติของทั้งสองทีมที่จะแข่งขัน ทางฟีฟ่าได้ออกกฎเกี่ยวกับเพลงชาติที่ทุกทีมต้องปฏิบัติตาม คือเพลงชาติต้องมีความยาวไม่เกิน 90 วินาที หากยาวเกินกว่านี้ ก็ต้องตัดต่อเพลงชาติให้จบภายใน 90 วินาที

กฎนี้สร้างความไม่พอใจให้กับประเทศที่เพลงชาติยาวเกิน 90 วินาที

หนึ่งในนั้นคือ ประเทศบราซิล

เพลงชาติบราซิล ชื่อเพลง อิโน เนเชียว บราซิลอิโร (Hino Nacional Brasileiro) ซึ่งมีความยาว 2 นาทีเศษๆ

คนทุกชาติรัก เทิดทูนเพลงชาติของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น การที่ต้องตัดทอนเพลงชาติให้สั้นลง สร้างความไม่พอใจให้กับแฟนฟุตบอลชาวบราซิลในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์ทวีปอเมริกาใต้ (Copa America) ปี 2011 ระหว่างทีมชาติบราซิลกับทีมชาติอาร์เจนตินา

ในวันนั้นมีแฟนๆ ชาวบราซิลมาชมการแข่งขันแน่นอัฒจันทร์ ซึ่งหลังจากเพลงชาติบราซิลถูกตัดให้สั้นเหลือ 90 วินาที แฟนๆ ชาวบราซิลก็ยังร่วมใจกันร้องเพลงชาติดังกระหึ่มโดยไม่มีดนตรีประกอบอีกเกือบ 1 นาที จนจบเพลง เป็นภาพที่ประทับใจแฟนๆ ฟุตบอลเป็นอย่างมาก

เนย์มาร์ ซึ่งลงแข่งวันนั้นถึงกับตื้นตันใจจนกลั้นน้ำตาไม่อยู่

 

ที่ประเทศฟิลลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศที่คนมีพรสวรรค์ด้านการร้องเพลงเป็นอย่างมาก ในปี 2010 รัฐบาลฟิลิปปินส์ออกกฎหมายปรับเงินผู้ที่ร้องเพลงชาติฟิลิปปินส์ ไม่ถูกจังหวะ

นักร้องคนไหนเปลี่ยนทำนอง ทำเป็นร้องช้า หรือเร็ว ใส่ลีลาเกินเลย จะถูกปรับ คิดเป็นเงินไทย 60,000 บาท และอาจถึงติดคุก 2 ปีเลยทีเดียว

สำหรับเพลงชาติที่นักร้องร้องบนเวทีมวยมีการใส่ลีลา เปลี่ยนทำนอง เล่นเสียงสูง เสียงต่ำ มากที่สุด คือเพลงชาติอเมริกา ชื่อเพลง เดอะ สตาร์ สแปงเกิ้ล แบนเนอร์ (The Star-Spangled Banner) แปลว่าธงที่มีดาวเป็นประกาย

เนื้อเพลงกล่าวถึงสงครามระหว่างอเมริกากับอังกฤษในปี 1812 ซึ่งแม้อเมริกาจะถูกโจมตีแต่ธงชาติอเมริกันก็ยังปลิวไสว ซึ่งนักร้องจะร้องเปลี่ยนทำนองอย่างไรก็ได้ ไม่มีกฎห้ามไว้ว่าต้องร้องทำนองแบบไหน ขอให้ร้องเนื้อเพลงถูกก็พอ

เพลงชาติอเมริกันร้องยาก มีเสียงสูง เสียงต่ำ แม้แต่นักร้องอาชีพยังร้องเสียงหลง

คริสติน่า อากีเรล่า ก็ร้องเพลงผิด แต่งเนื้อขึ้นเอง ในการแข่งขันอเมริกันซูเปอร์โบว์ล ปี 2011 ซึ่งก็ถูกคนต่อว่าร่วมสัปดาห์

ที่น่าแปลกใจก็คือ จากการทำโพลสำรวจเมื่อปี 2005 พบว่าผู้ใหญ่อเมริกันจำนวนมากไม่ทราบเนื้อร้องของเพลงชาติอเมริกา

ยิ่งวัยรุ่นแทบจะไม่ทราบกันเลยเพราะเด็กอเมริกันไม่ได้ร้องเพลงชาติตอนเช้าก่อนเข้าห้องเรียนเหมือนเด็กไทย

ส่วนใหญ่จะได้ยินเพลงชาติกันก็เมื่อมีการแข่งขันกีฬา

เด็กไทยที่เบื่อการยืนเคารพธงชาติกลางลาน หรือสนามหญ้าหน้าโรงเรียนก่อนเข้าห้องเรียนเพราะแดดร้อน…คงเห็นประโยชน์แล้ว