มุกดา สุวรรณชาติ : ทำไมออกมาประท้วง… ไม่ไปต่อสู้ในสภา ทำไมรัฐประหาร… ทำไมเผาตนเอง

มุกดา สุวรรณชาติ

ความแตกแยกในหมู่ประชาชน คือช่องโหว่ของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย ที่ทำให้เกิดการแทรกจากอำนาจนอกระบบ และอำนาจเหนือระบบ คนจำนวนมากพากันเพิกเฉยต่อหลักการประชาธิปไตย แต่ร้องเชียร์เมื่อตนเองได้ประโยชน์ หรือฝ่ายตนเองได้เปรียบ แม้สิ่งนั้นจะขัดต่อหลักการปกครอง หลักความยุติธรรม หรือศีลธรรม

ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการปกครองในระบอบอำมาตยาธิปไตย ก็จะเรียกร้องให้ทุกคนอยู่นิ่งๆ ให้เกิดความสงบ เพื่อที่ตนเองจะได้ประโยชน์จากการกดขี่ เอาเปรียบ และคดโกงตลอดไป

ดังนั้น เมื่อมีคนทนไม่ไหว ออกมาโวย ออกมาประท้วง ก็จะอ้างความสงบเรียบร้อย ให้ไปใช้กระบวนการทางศาล ให้ไปต่อสู้ในสภา

วันนี้จึงมีคำถามถามกลับมา 100 คำถาม

1. ทำไมต้องรัฐประหารยึดอำนาจรัฐ ทำไมไม่สมัครเลือกตั้ง เพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล

การใช้กำลังอาวุธทำการรัฐประหารเป็นเรื่องที่ทั่วโลกไม่ยอมรับ แต่ในประเทศเราเกิดขึ้นหลายครั้งทั้งที่ทำการสำเร็จและไม่สำเร็จ และก็มีโอกาสเกิดขึ้นอีก ทั้งที่ทุกคนรู้ว่าเมื่อเกิดแล้วก็ทำให้ความน่าเชื่อถือของประเทศลดลง เกิดการไม่ยอมรับจากทั่วโลก ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ เราทำเวลาหล่นหายไป 10 ปี

2. ทำไมอำนาจจากการรัฐประหารกลายเป็นความถูกต้อง สามารถเปลี่ยนกฎเกณฑ์ และกฎหมายได้? ทำไมประชาชนต้องทำตามกฎหมายที่พวกรัฐประหารร่างขึ้นมา

ทำไมทั้งองค์กรนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ต่างยอมรับอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน?

เพราะคณะรัฐประหารล้มรัฐบาล ยุบสภาผู้แทนฯ ฉีกรัฐธรรมนูญ ตั้งตนเองเป็นรัฐบาล ตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติเอง

ตัวอย่างผลที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือกัน เช่น

คดีบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด จำกัด บริษัทดังกล่าวนี้ นำเข้าบุหรี่แล้วสำแดงเท็จ อัยการสูงสุดได้มีคำสั่งชี้ขาดให้ฟ้องบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส โดยให้ยื่นฟ้องต่อศาล

ต่อมามีการยึดอำนาจโดย คสช. ได้มีการเคลื่อนไหวจากฝ่ายรัฐบาลในขณะนั้นเพื่อแทรกแซงการดำเนินคดีของพนักงานอัยการ

แต่สุดท้ายพนักงานอัยการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก็ไม่ยินยอม เพราะยึดกฎหมายไทยเป็นหลัก จึงฟ้องให้ปรับรวมเป็นค่าบุหรี่และค่าอากรทั้งสิ้น 25,163,666,311.43 บาท

ซึ่งเงินจำนวนนี้จะนำมาเป็นฐานคูณด้วย 4 ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ซึ่งจะเป็นเงินค่าภาษี ค่าอากร ค่าปรับ รวมจำนวน 100,654,665,245.72 บาท ตีว่า 1 แสนล้าน

แต่มีกระบวนการวิ่งเต้นช่วยเหลือบริษัทฟิลลิป มอร์ริส โดยนำเอา พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2496 มาตรา 27 เข้าที่ประชุม สนช.เพื่อแก้ไขให้บริษัทฟิลลิป มอร์ริส เสียภาษีตามที่ศาลอาญามีคำพิพากษา แทนที่จะเรียกเก็บภาษีได้หลายหมื่นล้าน

แต่กลับเรียกเก็บได้เพียง 1,200 ล้าน

เพราะเมื่อแก้กฎหมายแล้วได้เพียงค่าปรับจากค่าอากรที่ค้างเท่านั้น

เงินหายไปไหน 90,000 ล้าน

การแก้กฎหมายเช่นนี้ ประเทศชาติไม่ได้รับผลประโยชน์แต่อย่างใด การเสียค่าปรับน้อยลง

ผลจากการแก้กฎหมาย มีแต่จะทำให้มีผู้สำแดงเท็จมากขึ้นในอนาคต เพราะถ้าไม่ถูกจับได้ ก็กำไรเยอะ ถ้าถูกจับได้ ก็เสียเพิ่มเท่าเดิม นี่คือการกระทำร่วมกันของหลายฝ่าย เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นโกงชาติ อันนี้ยิ่งกว่าแกล้งเสียค่าโง่

3. ทำไมตอนร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการคัดเลือกคนร่าง ทำไมมีแต่พวกตัวเอง

ปัจจุบันประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยใช่หรือไม่

ถ้าใช่ อํานาจอธิปไตยต้องเป็นของปวงชนชาวไทย เสียงประชาชนเป็นใหญ่ที่สุด

รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในระบอบประชาธิปไตยซึ่งจะใช้กับทุกคนที่อยู่ในประเทศ ดังนั้น กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือสภาร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ควรจะมาจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มาคิดมาร่างและให้คนทั้งประเทศยอมรับ แต่ควรจะมาจากประชาชนเป็นผู้คัดเลือก เพื่อไม่ให้อำนาจการออกกฎเป็นของคนกลุ่มเดียวกัน ใช่หรือไม่?

หลักสำคัญของรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตย คืออำนาจเป็นของประชาชน ไม่ใช่เป็นของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

รัฐธรรมนูญบับ 2560 มีเนื้อหาตามระบอบประชาธิปไตยได้กี่ส่วน?

ถ้าร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อให้คนกลุ่มหนึ่งมีอำนาจ มีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น จะหวังให้ทุกคนเคารพกฎหมายแบบนี้ได้อย่างไร

 

4.ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของประเทศ จะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนได้หรือไม่?

ทำไมต้องร่างรัฐธรรมนูญให้มี ส.ว.แต่งตั้ง 250 คนเลือกนายกฯ

ถ้าเลือกนายกฯ โดยอ้อมจากสภา ก็ควรให้ผู้แทนของประชาชนคือ ส.ส.เลือกใช่หรือไม่?

การปลดนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง ถ้าไม่เกิดจากการใช้อำนาจตุลาการ หรือการรัฐประหาร ใครหรือกลุ่มใดควรจะมีอำนาจนี้?

ที่ผ่านมามีกระบวนการทางการเมืองผ่านรัฐสภามีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ยุบสภาจึงจะมีการเลือกตั้งใหม่ บ้านเรากรณีที่นายกฯ ลาออก และเลือกใหม่ในสภาไม่ใช่เรื่องที่เกิดง่ายๆ

ประชาชนจะมีวิธีถอดถอนผู้มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้โดยตรงอย่างไร?

ในระบอบประชาธิปไตย อำนาจของประชาชนสูงสุด นอกจาก ส.ส.แล้ว ประชาชนควรมีสิทธิ์เลือกผู้ใช้อำนาจแทนประชาชนโดยตรงฝ่ายใดบ้าง?

สมาชิกวุฒิสภาเป็นฐานสำคัญของโครงสร้างหลักของระบอบประชาธิปไตย ควรจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนใช่หรือไม่

5. การใช้อำนาจตุลาการเข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องควรทำหรือไม่?

ในสภาพเป็นจริงแก้ไขความขัดแย้งได้หรือ? ทำไมยิ่งขยายความขัดแย้งให้มากขึ้น?

ตัวอย่างการนำมวลชนออกมาเคลื่อนไหวประท้วงเพื่อให้เกิดการล้มรัฐบาลในปี 2549, 2551, 2552, 2553, 2556, 2557 ทำไมบางรัฐบาลปราบจนมีคนตายมากมาย ฟ้องใครก็ไม่ได้ บางรัฐบาลไม่ปราบ

ปี 2551 ทำไมศาลบอกว่าชุมนุมในทำเนียบรัฐบาลต่อได้ การชุมนุมปี 2556-2557 ศาลก็มีคำสั่ง 9 ข้อ ห้ามใช้อำนาจรัฐขัดขวางการชุมนุม

ในอนาคต การชุมนุมแบบปิดสถานที่ราชการ ยึดที่สำคัญหรือขัดขวางการเลือกตั้ง ยังจะทำได้หรือไม่?

ถ้าอำนาจตุลาการสามารถเข้าแทรกแซงแก้ไขปัญหาทางการเมืองได้ อำนาจของศาลที่เกี่ยวข้อง เช่น ศาลรัฐธรรมนูญควรจะมีที่มาอย่างไร

ใครจะเป็นผู้คัดเลือกตุลาการกลุ่มนี้ ถ้าใช้ ส.ว.คัดเลือก ส.ว.ก็มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ก็เป็นพวกเดียวกันหมด

และควรมีโครงสร้างที่ถ่วงดุลอำนาจทางการเมืองอย่างไร?

6. การทำงานขององค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. หรือ กกต. การตัดสินคดีต่างๆ ยังทำความสงสัยให้ชาวบ้านกรรมการองค์กรอิสระต่างๆ ควรจะเป็นอิสระจากพรรคการเมือง จากอำนาจฝ่ายบริหาร จากอำนาจสภา จากอำนาจตุลาการ ดังนั้น กรรมการองค์กรอิสระควรให้ประชาชนเลือกโดยตรงใช่หรือไม่

ถ้าไม่ปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม ปัญหาความไม่ยุติธรรมจะเกิดซ้ำซาก คนบางกลุ่มจะไม่กลัวความผิด เพราะไม่มีการตรวจสอบ

บางรายทำผิดก็ไม่ต้องถูกลงโทษ

แต่คนบางกลุ่มต้องถูกลงโทษ จากความคิดเห็น หรือคำวิจารณ์ ปัญหาแบบนี้จะสะสมมากขึ้นและกลายเป็นวิกฤต ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามทฤษฎี แรงกด-แรงต้าน

ประชาชนจะตรวจสอบการทำงานทั้งกระบวนการยุติธรรมอย่างไร? จะวิพากษ์วิจารณ์ หรือท้วงติงอย่างไร? หรือถ้ามีความเห็นแย้งจะเป็นความผิด

7. อำนาจการยุบพรรคการเมือง ตัดสิทธิ์นักการเมืองไม่ให้ลงเลือกตั้ง ควรมีหรือไม่ ถ้ามี ใครควรเป็นผู้ตัดสินใจ

ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองเป็นองค์กรพื้นฐานที่จะรวบรวมแนวคิดอุดมการณ์และความต้องการต่างๆ ของประชาชนให้เป็นกลุ่มก้อนเพื่อจะเป็นช่องทางในการแก้ปัญหาความขัดแย้งและผลประโยชน์ที่ไม่เหมือนกันของประชาชน

ดังนั้น พรรคการเมืองทั่วโลก จึงเป็นตัวแทนของประชาชนกลุ่มต่างๆ เข้าไปต่อสู้ทางความคิดด้วยเหตุผลในสภา และให้เสียงข้างมากตัดสินว่าควรทำอย่างไร

การมีพรรคการเมืองจึงมีสมาชิกของแต่ละพรรคจำนวนไม่น้อย อาจเป็นหลักพันหลักหมื่นหรือถึงหลักล้าน แต่ผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกก็เป็นผู้สนับสนุนพรรคการเมืองนั้นๆ ในการเลือกตั้ง อีกเป็นแสนเป็นล้าน นั่นหมายความว่าพวกเขาเห็นด้วยกับแนวทางและอุดมการณ์ทางการเมือง หรือเห็นด้วยกับโครงการที่พรรคการเมืองนำเสนอ

การยุบองค์กรทางการเมืองเช่นพรรคการเมืองคือการทำลายระบอบประชาธิปไตยพื้นฐาน คือความต้องการบั่นทอนระบอบประชาธิปไตยให้ล้มลง หรือเดินต่อไปข้างหน้าไม่ได้ นั่นเป็นการสนับสนุนระบบเผด็จการให้เข้ามาแทนที่

โดยธรรมชาติแล้วการเมืองที่ไม่ได้รับการต้อนรับจากประชาชนก็จะล้มลงและสูญสลายไปเอง หรือกลายเป็นเพียงพรรคเล็กๆ ที่มีบทบาททางการเมืองน้อยมาก

การให้บุคคลเพียงไม่กี่คนมาเป็นกรรมการตัดสินยุบพรรคการเมืองที่มีคนสนับสนุนเป็นแสนเป็นล้านจึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

โดยเฉพาะการตั้งกฎเกณฑ์ต่างๆ มาควบคุมพรรคการเมือง อย่างละเอียดยิบ เมื่อทำผิดก็กำหนดบทลงโทษไว้ให้ยุบพรรคตัดสิทธิ์กรรมการพรรคเพื่อไม่ให้มีบทบาททางการเมืองนี่คือการล้มระบอบประชาธิปไตยชัดๆ

โดยเฉพาะที่เขียนกฎเกณฑ์นี้เขียนลงในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายการเลือกตั้งหรือกฎหมายพรรคการเมือง ก็ไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชนแต่มาจากการแต่งตั้งของผู้ที่ทำการรัฐประหารยึดอำนาจ

ดังนั้น การเขียนกฎเกณฑ์เหล่านี้จึงสามารถวางกับดักให้ผู้ปฏิบัติผิดพลาดได้ง่ายๆ และก็ทำการตัดสิทธิ์นักการเมืองหรือยุบพรรคการเมืองนั้น

ยิ่งถ้าผู้ที่ตัดสินมาจากการแต่งตั้งของฝ่ายยึดอำนาจก็ยิ่งสามารถกระทำการตัดสินหรือ ยุบพรรคการเมืองที่เป็นคู่แข่งได้ง่ายๆ

ตัวอย่างกฎหมายที่ทำให้เกิดปัญหา เช่น กฎหมายการถือครองหุ้นสื่อสารมวลชน

กรณีนี้ทำให้คล้ายเป็นเรื่องร้ายแรงทั้งๆ ที่แทบไม่มีผลอะไรเลย เพราะบางคนไม่ได้มีส่วนในการทํางาน หรือมีอิทธิพลในสื่อนั้น

อีกทั้งในปัจจุบัน ไม่ว่าใครก็สามารถเสนอความคิดเห็นออกสู่สาธารณะผ่านการสื่อสารในระบบ Social Media คนที่มีตำแหน่งหน้าที่ในระดับสูง แม้ไม่ถือหุ้นสื่อสามารถให้สัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็น ที่มีอิทธิพลในการชักจูง ให้คนเห็นคล้อยตามขึ้นอยู่กับเหตุผล

หรือกฎหมายเกี่ยวกับการแสดงบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งมีโอกาสพลาด ทั้งนักการเมืองและข้าราชการระดับสูง อาจทำพลาดได้ จึงควรจะกำหนดให้ชัดเจนว่าการแสดงทรัพย์สิน ที่ถือว่าเป็นความผิดในระดับมากน้อยเท่าใด คนธรรมดาทุกวันนี้บางทีเปิดบัญชีธนาคารไว้หลายแห่ง 5 ปี 7 ปีลืมไปแล้ว

กรณีตัดสินลงโทษนายกฯ สมัคร สุนทรเวช ที่สอนทำกับข้าวออกโทรทัศน์ หลังจากโดนปลดจากตำแหน่งผู้คนทั่วไปก็เข้าใจได้ว่าการมีกฎเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ ยังต้องพึ่งการตีความของตุลาการ ดังนั้น การจะรอดจากการลงโทษหรือไม่ ไม่เพียงแต่ทำถูกหรือผิดกฎหมาย ยังขึ้นอยู่กับการใช้ดุลพินิจซึ่งอาจจะเป็นการทำตามข้อเท็จจริงหรือดัดแปลงเป็นการทำลายก็ได้

8. จะให้รัฐบาลแก้ปัญหาปากท้อง ต้องทำอย่างไร?

ตอนนี้เรามีคนจนตามที่ลงทะเบียนเกือบ 15 ล้าน ถ้าเศรษฐกิจเป็นแบบนี้ จะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การพยุงราคาพืชเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา ข้าวโพด ปาล์ม ฯลฯ ยังจะทำต่อได้หรือไม่ แบบนี้ไม่ถือว่าขาดทุน รัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบใช่ไหม?

มีคนบอกว่า วัดความจริงใจของรัฐบาลได้จากราคา…หวย…เพราะด้วยอำนาจที่มีอยู่สามารถทำให้ขายไม่เกินราคา แต่ทำไมสลากกินแบ่ง ถึงมีราคาใบละ 100 บาท ส่วนหวยใต้ดิน รัฐนำขึ้นมาบนดินก็จะได้ทั้งเงินทั้งกล่อง ทำไมไม่ทำ?

ทำไมข้าวเปลือกกิโลละ 6-7 บาท แต่ข้าวสารกิโลละ 25 บาท (ถ้าข้าวสารหอมมะลิกิโลละ 45 บาท)

ทำไมเรียนจบปริญญาตรีแล้วไม่มีงานทำ ฯลฯ

ถ้าคนเดือดร้อนและแสดงออก หรือประท้วง จะถูกจับหรือไม่?

 

คําถามที่ว่า ทำไมพรรคอนาคตใหม่ไม่ไปต่อสู้ในสภาเท่านั้น

อาจตอบได้ว่า วันนี้การต่อสู้ในสภาไม่เพียงพอแล้วเรื่องแบบนี้ ต้องเปิดโปงและต่อสู้ยืนยันหลักการที่ถูกต้องต่อสังคมทั้งสังคมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวผลักดันให้ความถูกต้องกลับคืนมา

การแสดงความคิดเห็นเรียกร้องความเป็นธรรมเป็นสิทธิตามเสรีภาพเบื้องต้นในระบอบประชาธิปไตย มีแต่คนชั่วคนโกงเท่านั้นที่พยายามจะปิดบังความผิดและปกป้องผลประโยชน์ที่ตัวเองได้มาโดยมิชอบ

ทีมวิเคราะห์ประเมินการเคลื่อนไหวของพรรคอนาคตใหม่ ว่า น่าจะบุกลึกเข้าไปถึงรากของปัญหาที่เป็นสาเหตุทำให้สังคมไทยเสื่อมลง ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ เรื่องแบบนี้ถ้าไม่แก้ไขที่ต้นเหตุก็จะเหมือนโรคร้ายที่เป็นภัยต่อร่างกายสามารถลุกลามขยายได้เสมอ นักการเมืองอาจยังไม่กล้า แต่เมื่อมีคนกล้ากลุ่มหนึ่งเปิดโปงที่มาของปัญหาให้สังคมรับรู้ เชื่อว่าผู้ที่รักความยุติธรรมต้องการเห็นความถูกต้องคงจะร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ดีขึ้น

มิฉะนั้นเราก็จะต้องจมกันอยู่อย่างนี้ ยังไม่มีวันได้ผลและเกิด

 

ถ้าจะให้ประเมินสถานะของพรรคอนาคตใหม่ก็คงต้องตอบว่าอยู่ในสถานะที่เป็นอันตรายมาก เพราะเข้าไปขุดคุ้ยผลประโยชน์ และการทุจริตที่ฝังรากอยู่เป็นเวลานาน ในกระบวนการเหล่านี้มีคนร่วมจำนวนมากหลายฝ่าย จึงไปกระทบคนเหล่านั้น และพวกเขาก็คงจะต้องหาทางกำจัดพรรคอนาคตใหม่

ถ้าประชาชนไม่ช่วยกัน พรรคอนาคตใหม่ก็จะเป็นอีกพรรคหนึ่งที่ถูกกำจัดออกให้พ้นทาง และการโกงกินทุจริตก็จะดำเนินต่อไป

พรรคอนาคตใหม่ที่สู้ทุกเวที กำลังเผาตัวเอง

ใช่แล้ว… เพื่อให้เกิดแสงสว่าง จนมองเห็นปัญหา พรรคก็ต้องกลายเป็นเล่มเทียนอีกเล่มหนึ่ง

ก่อนเทียนเล่มนี้จะเผาไหม้หมด ต้องรีบเอาเทียนอื่นๆ มาต่อไฟให้สว่างมากขึ้น จะได้เห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ในเงามืด และช่วยกันขจัดปัญหาให้หมดไปเสียที