วิสัยทัศน์ “พล.ต.ท.ชนสิษฏ์ วัฒนวรางกูร” บนเก้าอี้ ผบช.ภ.3-พื้นที่ต้องไม่มีอิทธิพล

วิสัยทัศน์ “พล.ต.ท.ชนสิษฏ์ วัฒนวรางกูร” บนเก้าอี้ ผบช.ภ.3-พื้นที่ต้องไม่มีอิทธิพล สถานีตำรวจคือจุดแตกหักกรมปทุมวัน

กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 (บช.ภ.3) กำกับดูแลพื้นที่ 8 จังหวัดอีสานตอนล่าง มี จ.ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ยโสธร สุรินทร์ ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี จัดเป็นพื้นที่สำคัญทั้งแหล่งเกษตรกรรม และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่ง

ขณะเดียวกันพบเป็นเส้นทางสายหลักที่ขบวนการยาเสพติดใช้เป็นทางผ่านในการลำเลียงด้วย

“โล่เงิน” สัมภาษณ์พิเศษ พล.ต.ท.ชนสิษฏ์ วัฒนวรางกูร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 (ผบช.ภ.3) เจ้าของรหัสเรียกขาน “สุระ 1” ถึงวิสัยทัศน์ และนโยบายการทำงาน

 

พล.ต.ท.ชนสิษฏ์ เผยว่า บทบาทการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจมักจะเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของประชาชน เพราะตำรวจคือ ผู้ช่วยเหลือ ที่พึ่งพา เมื่อประชาชนมีเหตุทุกข์ภัย

แต่ขณะเดียวกันลักษณะงานของตำรวจ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิเสรีภาพการดำเนินชีวิตของประชาชน เพราะเป็นผู้ดูแลบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคม

จึงไม่แปลกหากคนในสังคมไม่ชอบใจการทำงานของตำรวจ เพราะส่วนหนึ่งไม่พึงพอใจการถูกบังคับ เช่น กลุ่มผู้กระทำผิดกฎหมาย เป็นต้น

แต่เราจำเป็นต้องยอมรับความจริงที่ว่า สังคมจะปั่นป่วน วุ่นวาย หากเราปล่อยให้คนในสังคมสร้างกฎเกณฑ์กติกาไร้บรรทัดฐาน และไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ในฐานะผู้บังคับบัญชาให้ความสำคัญกับการพัฒนาตำรวจที่เป็นสากล

ที่สำคัญเจ้าหน้าที่ตำรวจจะปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างตำรวจกับประชาชนในการรักษาความสงบสุขของสังคม เพราะประชาชนคือตำรวจคนแรกในชุมชน

ส่วนการป้องกันชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน พล.ต.ท.ชนสิษฏ์ กล่าวว่า ตำรวจเป็นความคาดหวังของสังคม เขาคาดหวังว่าตำรวจจะสามารถป้องกันไม่ให้มีอาชญากรรม เมื่อมีอาชญากรรมเกิดขึ้นตำรวจต้องจับกุมคนร้ายได้ หรือทรัพย์สินถูกโจรกรรมไปคาดหวังว่าจะนำกลับมาคืนให้ได้ บางคนสมหวัง บางคนผิดหวัง ดังนั้น เราต้องไม่ทำให้ประชาชนผิดหวัง คำพูดนี้พูดง่ายแต่จะทำได้อย่างไรนี่คือปัญหา เป็นสิ่งที่เน้นย้ำมาโดยตลอดว่า ตำรวจมีหน้าที่ป้องกันมิให้อาชญากรรมเกิดขึ้น

“เราต้องปฏิบัติหน้าที่เชิงรุก ใช้มาตรการปกป้องคุ้มครองสวัสดิการให้แก่ประชาชนก่อนที่เหตุร้ายจะเกิดขึ้น ป้องกันไม่ให้บุคคลหรือองค์กรอื่นใดละเมิดกฎหมาย ประการต่อมา การป้องกันความเสียหาย หรือความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นกับชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน บางกรณีตำรวจอาจต้องเข้าไปช่วยแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ และสุดท้าย การปราบปราม เป็นหน้าที่ของตำรวจ เมื่อมีเหตุร้ายแรง หรืออาชญากรรมเกิดขึ้น ต้องติดตามจับกุมคนร้าย บรรเทาความเดือดร้อนเสียหาย หรือผลร้ายที่เกิดขึ้น ถ้าสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว จะสร้างความเชื่อมั่นศรัทธา อบอุ่นใจให้กับประชาชนที่มีต่อการทำงานของตำรวจมากขึ้น

“การทำงานของตำรวจจะสำเร็จได้ และเป็นที่พึงพอใจ หรือเป็นไปตามความคาดหวังของประชาชนได้ ตำรวจและประชาชนต้องสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ผมเชื่อว่าตัวชี้วัดขีดความสามารถของตำรวจขึ้นอยู่กับการได้รับการยอมรับจากประชาชน หรือความพึงพอใจของประชาชน” ผบช.ภ.3 เผย

 

เมื่อถามถึงการปราบปรามกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่อีสานตอนล่าง พล.ต.ท.ชนสิษฏ์ กล่าวว่า

“ไม่กังวล ในพื้นที่ต้องไม่มีผู้มีอิทธิพล ได้มอบนโยบายในการปราบปรามไว้ชัดเจนว่า จะต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ไม่ไว้หน้า หรือจงใจละเว้นใครที่เป็นพรรคพวก คนรู้จักทั้งสิ้น ทำให้ทุกอย่างเดินไปในแนวทางที่ถูกต้อง เพื่อให้สังคมดีขึ้นจริงๆ จะไม่ใช้นโยบายนี้จัดการกับกลุ่มตรงข้ามเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทุกคนในบ้านเมืองนี้ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน หากใครก็ตามอยู่เหนือกฎหมายแล้ว กฎหมายจะเกิดความศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างไร ประชาชนตาดำๆ จะได้รับความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกัน ขอฝากถึงแก๊งผู้มีอิทธิพลที่เป็นตัวการหรือแกนนำ เลิกพฤติการณ์ที่ผิดกฎหมาย หรืออยู่เหนือกฎหมาย ในพื้นที่ของผม ต้องไม่มีใครมีอิทธิพล”

นอกจากนี้ ผบช.ภ.3 ยังกล่าวถึงมาตรการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และยาเสพติดว่า ได้เน้นย้ำการปฏิบัติแก่หน่วยงานในสังกัดให้เร่งปราบปราม ใช้การข่าวมาช่วย โดยอาศัยเป้าหมายหลักในเชิงป้องกัน 4 ปัจจัย คือ การป้องกันบริเวณแนวชายแดน การป้องกันเส้นทางลักลอบเข้าพื้นที่ชั้นใน การป้องกันสถานบริการและสถานประกอบการกลุ่มเสี่ยง และการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ให้เข้าไปมีส่วนร่วม

หากมีการจับกุมผู้กระทำผิดจะต้องสอบสวนขยายผลไปให้ถึงเครือข่ายรายใหญ่ให้ได้ และต้องควบคุมดูแลไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำผิดเสียเอง และถ้าพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ จะดำเนินการทั้งทางอาญาและทางวินัย อย่างเฉียบขาด

 

ผบช.ภ.3 กล่าวถึงในส่วนสถานีตำรวจ ว่า สั่งการทุกสถานีตำรวจดำเนินการตามแนวทางการยกระดับการบริการประชาชน ตามนโยบายของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพและการปฏิบัติงานของตำรวจ ตำรวจจะต้องตรวจตรา ตระเวนพบชาวบ้านให้มากที่สุด ต้องยิ้มแย้มแจ่มใส กิริยาวาจาสุภาพอ่อนโยน ไม่ข่มเหงประชาชน แสดงออกถึงความกระตือรือร้น สายตรวจต้องเข้าถึงพื้นที่ในจุดที่เข้าไม่ค่อยถึงหรือมีคดีบ่อยครั้ง ปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่

“หัวหน้าสถานีต้องเป็นตัวอย่างที่ดี อยู่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ และไปดำเนินการในโรงพัก ต้องจัดการ สลายอคติเดิม ที่ประชาชนบางส่วนมองว่า สถานีตำรวจเป็นสถานที่ไม่น่าใช้บริการ ยกเว้นหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ และมองเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นพวกวางอำนาจ ไม่สุภาพ แสวงหาแต่ผลประโยชน์ ไม่ค่อยบริการประชาชน หรือมีการจับกุมผู้กระทำความผิดบนพื้นฐานความไม่เท่าเทียมกัน เช่น คนมีฐานะ มีเส้นสายจะไม่ถูกจับกุม สถานีตำรวจทั้ง 236 สถานีใน บช.ภ.3 ต้องให้บริการประชาชนรวดเร็ว มีการบริการเสร็จสิ้น ณ จุดเดียว (One Stop Service) เป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด จัดพื้นที่อย่างเป็นสัดส่วน สะดวกต่อการบริการประชาชน และที่สำคัญประชาชนต้องได้รับการอำนวยความยุติธรรมทางอาญาจากตำรวจ ด้วยความเสมอภาค เป็นธรรม ถูกต้องตามหลักยุติธรรม

“หัวหน้าสถานีทุกนายจะต้องพัฒนาสถานีตำรวจและสร้างจิตสำนึกในการให้บริการแก่ประชาชนให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา รวมถึงควบคุมความประพฤติของข้าราชการตำรวจ ต้องไม่มีการเรียกรับผลประโยชน์ทุกประเภท เพื่อให้สถานีตำรวจเป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง”

ผบช.ภ.3 ระบุ

 

ครั้นถามถึงกรณีถูกจับตาว่าชอบย้ายตำรวจระดับหัวหน้าสถานี ทั้งในพื้นที่ บช.ภ.6 ขณะดำรงตำแหน่ง ผบช.ภ.6 และในพื้นที่ บช.ภ.3

พล.ต.ท.ชนสิษฏ์ เผยว่า ก่อนเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง ผบช. ได้ประชุมมอบนโยบาย ชี้แจง ทำความเข้าใจและกำหนดเป้าหมายทำงานให้แก่หัวหน้าสถานีตำรวจไปดำเนินการขับเคลื่อน เมื่อมีการปฏิบัติหน้าที่ไประยะหนึ่ง ต้องประเมินผลการปฏิบัติ

และเมื่อประเมินผลแล้วพบว่ามีกรณีบกพร่องต่อหน้าที่ ไม่สนองนโยบาย หรือปล่อยปละละเลย ต้องสืบสวนข้อเท็จจริงตามระเบียบและสั่งให้ไป “ช่วยราชการ” หรือ “ปฏิบัติราชการ” เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ และเพื่อให้การสืบสวนข้อเท็จจริงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ต้องยอมรับว่า สถานีตำรวจคือจุดแตกหักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เน้นกำชับมาโดยตลอดเกี่ยวกับการรายงานเหตุคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญและเหตุที่ต้องรายงานเร่งด่วน หัวหน้าสถานีทุกนายต้องให้ความสำคัญ และเป็นผู้รายงานเหตุเบื้องต้นทันที ทั้งทางโทรศัพท์และโทรสาร ไปยังผู้บังคับบัญชาระดับสูงของหน่วย

การสั่งการดังกล่าวมีเจตนาให้หัวหน้าสถานีตำรวจอยู่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ตลอดเวลา เพื่อควบคุม กำกับ ดูแล การปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชา ผบช. เองสามารถสั่งการ แก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที

“การทำงานของผมให้ความสำคัญกับหัวหน้าสถานีตำรวจ เพราะผมเชื่อว่า หัวหน้าสถานีตำรวจเปรียบเสมือนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและประสานงานต่างๆ ที่จะนำไปสู่การปฏิรูปสถานีตำรวจ เพื่อให้สถานีตำรวจเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง”

ผบช.ภ.3 กล่าวทิ้งท้าย