ต่างประเทศอินโดจีน : เมื่อกัมพูชากำลังเผชิญสังคมสูงวัย

เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กระทรวงข้าราชการพลเรือนกัมพูชาออกประกาศกำหนดการเกษียณอายุสำหรับข้าราชการทั้งหมดเสียใหม่

จากเดิมที่เคยเกษียณแตกต่างกันออกไประหว่าง 55 ปีจนถึง 60 ปี ขึ้นอยู่กับตำแหน่งงานของแต่ละบุคคล กำหนดใหม่ให้กลายเป็น 60 ปีเหมือนกันทั้งหมด มีผลตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป

ผลก็คือ ทำให้ข้าราชการเกือบ 2,000 คนที่เดิมต้องเกษียณในปีนี้ ต้องทำงานต่อไปอีกระยะหนึ่งจึงสามารถรับบำเหน็จบำนาญได้ตามที่กำหนดไว้ต่อไป

ที่น่าสนใจก็คือ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้น สภาเวียดนามก็ผ่านกฎหมายว่าด้วยการเกษียณอายุของเวียดนามฉบับใหม่ออกมาบังคับใช้

ขยายกำหนดเกษียณอายุออกไปเป็น 60 ปีสำหรับผู้หญิง และ 62 ปีสำหรับผู้ชาย แต่ในรายละเอียดดูซับซ้อนกว่ากำหนดเกณฑ์ “มาตรฐาน” ของกัมพูชาอยู่ไม่น้อย

ทั้งนี้เพราะเวียดนามกำหนดให้การเพิ่มนี้เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป กล่าวคือ ในส่วนของผู้ชาย นับตั้งแต่ปี 2021 เรื่อยไป เกณฑ์เกษียณจะเพิ่มขึ้นปีละ 3 เดือนเรื่อยไปจนถึงระดับ 62 ปี ในปี 2028

ส่วนของผู้หญิงซึ่งแต่เดิมกำหนดให้เกษียณอายุตั้งแต่ 55 ปี จะเพิ่มขึ้นปีละ 4 เดือนนับตั้งแต่ปี 2021 พอถึงปี 2035 ผู้หญิงเวียดนามก็จะเกษียณก็ต่อเมื่ออายุครบ 60 ปีเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ระบบของเวียดนามก็ยังเปิดช่องยืดหยุ่นเอาไว้ให้แรงงานไม่ว่าชายหรือหญิงสามารถเกษียณก่อนหรือหลังก็ได้ โดยให้ยึดถือเอา “ธรรมชาติ” ของงานเป็นหลัก

เช่น ในกรณีที่เป็นงานในสภาวะแวดล้อมที่เสี่ยงอันตราย หรือจำเป็นต้องยก ต้องแบกของหนัก ก็อาจปลดระวางได้เร็ว เกษียณได้ก่อนเกณฑ์ดังกล่าว ในขณะที่แรงงานในภาคเอกชนหรือแรงงานที่มีทักษะสูงก็อาจเกษียณช้ากว่าที่กำหนดได้

การปรับเปลี่ยนกำหนดการเกษียณอายุอย่างค่อยเป็นค่อยไปนี้ คำนึงถึงความราบรื่น ไม่ให้เกิดการสะดุดหรือปั่นป่วนขึ้นในตลาดแรงงาน และรักษาเสถียรภาพทางสังคมกับการเมืองไว้เป็นสำคัญ

 

ทางกระทรวงข้าราชการพลเรือนกัมพูชาให้เหตุผลในการปรับเปลี่ยนเกณฑ์เกษียณอายุเอาไว้ว่าเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่เกิดปัญหาลักลั่นเหมือนที่ผ่านมา

ใครที่เกษียณก่อนพฤศจิกายนปีนี้ก็ถือว่าแล้วกันไป แต่ใครที่เกษียณในเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป แล้วไปรับบำเหน็จบำนาญมาแล้ว ต้องนำไปคืนเพื่อทำงานต่อจนครบเกณฑ์ใหม่

แต่ทางการเวียดนามแจกแจงเหตุผลของการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอาไว้ละเอียดทีเดียว ระบุว่า เกณฑ์ใหม่นี้กำหนดให้สอดคล้องกับสุขภาวะและช่วงชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้นของแรงงานในเวียดนามเอง

เวียดนามในเวลานี้มีประชากรอยู่ประมาณ 96.2 ล้านคน มีสัดส่วนของผู้สูงวัยอยู่ที่ 11.7 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมด

สหประชาชาติคาดหวังว่าสัดส่วนของผู้สูงอายุเกินกว่า 65 ปีขึ้นไปในเวียดนามจะเพิ่มขึ้นเป็น 12.9 เปอร์เซ็นต์ในปี 2030 และเพิ่มเป็น 23 เปอร์เซ็นต์ในปี 2050

 

สํานักงานความมั่นคงทางสังคมของเวียดนามเคยแถลงเตือนออกมาก่อนหน้านี้ว่า การเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยจะก่อให้เกิดปัญหาต่อประเทศชาติในหลายๆ ด้าน

ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ กองทุนประกันสังคมของประเทศ ซึ่งหากไม่มีการปรับแก้ใดๆ ก็จะตกอยู่ในภาวะ “ยากลำบาก” ภายในปี 2020

และจะถึงขั้นล้มละลายไม่มีเงินจ่ายให้กับผู้เอาประกันภายในปี 2037 ถ้าหากยังไม่มีการปรับแก้เกณฑ์เกษียณเสียใหม่

การแก้ปัญหา ยืดเวลาการเกษียณอายุออกไปนับเป็นวิธีหนึ่ง สำหรับใช้ “ซื้อเวลา” แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปพลางก่อน แต่ไม่ช้าไม่นานก็จำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขให้ครบถ้วนทั้งกระบวนการอยู่ดี

เป้าหมายสำคัญก็คือ ทำอย่างไรให้คนเวียดนามอยู่ดีกินดี มีเงินใช้ อยู่ในสภาพ “รวยก่อนเกษียณ” ให้ได้

เพื่อให้ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศพึ่งพารัฐสวัสดิการให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้นั่นเอง