เพ็ญสุภา สุขคตะ : ทำไมคนยองเมืองลำพูน จึงไม่เรียกตัวเองว่า “ไทลื้อ”

เพ็ญสุภา สุขคตะ

มีผู้ทักท้วงกันบ่อยครั้งว่า ทำไมคนที่มีเชื้อสายชาวไทลื้อจากเมืองยองในพม่า เมื่อมาตั้งรกรากในเมืองลำพูนนานเกือบ 220 ปี จึงชอบเรียกขานตัวเองว่า “คนยอง” ทั้งๆ ที่คำว่า “ยอง” ไม่ใช่ชื่อชาติพันธุ์หนึ่งที่แยกตัวมาจากชาติพันธุ์หลักคือ “ลื้อ” หรือ “ไทลื้อ” แต่อย่างใด

อีกทั้งนักมานุษยวิทยาหรือแวดวงวิชาการก็ไม่เคยยอมรับให้มีการเรียกขานชาติพันธุ์ “ยอง” หรือ “ไทยอง” อย่างเป็นทางการ

เนื่องมาจากคำว่า “ยอง” เป็นแค่ชื่อเมืองเมืองหนึ่ง ในตำนานมีชื่อเรียกเป็นภาษาบาลีว่า “มหิยังคนคร” ตั้งอยู่ไม่ไกลจากเมือง “เขมรัฐ” หรือ “เชียงตุง”

ปัจจุบันยองมีสถานะเป็นเพียงอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงตุง รัฐฉาน สหภาพเมียนมาด้วยซ้ำ

 

“ยอง ขึน ลื้อ คือชาติพันธุ์หนึ่งเดียว?”

ขอย้อนกลับไปสู่ปี 2545 อาจารย์แสวง มาละแซม นักวิชาการท้องถิ่นผู้เชี่ยวชาญด้านยองศึกษา ได้ชวนดิฉัน (ครั้งกระนั้นยังเป็นภัณฑารักษ์ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย) เปิดประเด็นเรื่อง “ยอง ขึน ลื้อ คือชาติพันธุ์หนึ่งเดียว?”

เราเปิดเวทีเสวนากลางแจ้งท่ามกลางชาวยองป่าซางกว่า 300 ชีวิต ที่วัดพระพุทธบาทตากผ้า อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน โดยเชิญวิทยากร “ทองแถม นาถจำนง” มาร่วมงานด้วยอีกคน ถือว่าเป็นการเปิดมิติใหม่ให้คนลำพูนตระหนักรับรู้ (ท่ามกลางความงุนงง) เป็นครั้งแรกว่า

ตกลงแล้ว “ไทยอง” หรือ “ยอง” นั้น ไม่ใช่ชื่อเรียกของกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่ชาวยองคือ “คนไทลื้อที่อพยพมาจากเมืองยอง” แล้วมาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูนต่างหาก

อาจารย์แสวงอธิบายคำว่า “คนยอง” มีชื่อเรียกเต็มๆ ว่า “คนเมืองยอง” (ออกสำเนียงพื้นถิ่นว่า “ฅุ้นเมิงยอง”) ย่อไปย่อมากลายเป็น “คนยอง” และกลายเป็น “ยอง” เฉยๆ ทำให้คนยุคหลังเข้าใจว่า “ยอง” เป็นอีกชาติพันธุ์หนึ่ง ซึ่งแตกต่างไปจากชาติพันธุ์ลื้อ

แท้จริงแล้วไม่ใช่เช่นนั้น แต่การที่คนยองเมืองลำพูนจะเรียกตัวเองว่า “คนเมืองยอง” หรือ “คนยอง” โดยตัดคำว่า “ลื้อ” ทิ้งไปนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องผิด

อาจารย์แสวงอธิบายต่อไปว่า ชาวไทลื้อที่อาศัยอยู่ลุ่มน้ำลื้อ แถวเมืองเชียงรุ่ง ปัจจุบันอยู่ในจีน เรียกขานตัวเองว่า “ลื้อ” หรือ “ไทลื้อ” ถือเป็นกลุ่มชนดั้งเดิมสุด

ต่อมาชาวลื้อได้กระจายตัวไปครอบครองดินแดนตามลุ่มแม่น้ำต่างๆ เช่น ลุ่มน้ำยอง ซึ่งในความเป็นจริงก็ควรจะเรียกว่า “คนลื้อเมืองยอง” เช่นเดียวกับการที่คนลื้อไปอาศัยอยู่แถวเชียงตุง ใกล้แม่น้ำขึน (ยุคหลังเรียกเพี้ยนเป็นเขิน) ขึน หมายถึงขืน เพราะแม่น้ำไหลจากใต้ขึ้นเหนือ คนที่นี่ควรจะเรียกตัวเองว่า “คนลื้อเมืองขึน” ด้วยมิใช่หรือ แต่ไฉนกลับเรียกตัวเองว่า “คนเมืองขึน”

เหตุผลสำคัญที่คนไทลื้อเมืองยองและคนไทลื้อเมืองขึนไม่เรียกตัวเองว่า “ลื้อ” มีอยู่สองประการ

ประการแรก กรณีเมืองยอง คนไทลื้อที่มาอยู่เมืองยองตั้งแต่ยุคเจ้าสุนันต๊ะช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 นั้น ไม่ได้เป็นการ “ยกพลเข้าเมืองแล้วออกลูกออกหลานเป็นคนไทลื้อเมืองยองแบบบริสุทธิ์ร้อยเปอร์เซ็นต์”

ทว่าเป็นคนไทลื้อกลุ่มเล็กๆ ที่เมื่อยึดเมืองยองได้ พวกเขาต้องผสมกลมกลืนวัฒนธรรมให้เข้ากับชาวพื้นถิ่นดั้งเดิมที่เป็นชาวลัวะ ซึ่งในตำนานเรียก มทิฬะ

จึงใส่สมการได้ว่า “ชาวยอง = ลื้อ + ลัวะ”

ไม่ต่างจากนครหริภุญไชยเมื่อพันกว่าปีที่ผ่านมายุคพระนางจามเทวี ประชากรในลำพูนก็ไม่ใช่มอญบริสุทธิ์แต่เป็น มอญละโว้ + ลัวะพื้นเมือง + เม็งพื้นเมือง + คนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่ตำนานเรียกว่า “มนุษย์ในรอยเท้าสัตว์” ดังนั้น ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตของมอญลำพูนในอดีตย่อมแตกต่างไปจากศูนย์กลางทวารวดีแบบภาคกลาง

กรณีเมืองขึน คนไทลื้อที่เคลื่อนตัวเข้ามาอยู่ในเชียงตุงแถบลุ่มน้ำขึน จำต้องผสมกลมกลืนวิถีชีวิตให้เข้ากับประชากรอีกสองกลุ่มคือชาวไทใหญ่ และชาวลัวะดั้งเดิม (ตำนานเรียกอาฬวี) อีกด้วย ดังนั้น ชาวขึนเชียงตุงก็มิอาจยอมรับว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของชาติพันธุ์ไทลื้อได้อย่างเต็มปากเต็มคำ แม้ในทางวิชาการก็ไม่ได้แยกกลุ่ม “ไทขึน” ออกมาเป็นอีกหนึ่งชาติพันธุ์ต่างหาก แต่ควบรวมให้เป็นกลุ่มย่อยของไทลื้อ

ประการที่สอง สมมติว่าทั้งคนยอง คนขึน ในพม่าจะยอมรับว่าบรรพบุรุษของพวกตนส่วนหนึ่งมีสายเลือดมาจากไทลื้อ แต่ในการดำรงชีวิตจริง จำเป็นแค่ไหนที่จะต้องมาประกาศตนอ้างอิงถึงที่มาของบรรพบุรุษ ว่าพวกตนเป็น “ลื้อเมืองยอง” “ลื้อเมืองขึน” เนื่องจากคนในอดีตไม่ได้มีสำนึกด้านชาติพันธุ์อย่างรุนแรงแบบปัจจุบัน

ไม่ว่าจะเป็นชาวลื้อ ไทใหญ่ ไทน้อย มอญ พม่า เมื่อไปอยู่ที่ไหน พวกเขาแทบไม่มีความจำเป็นต้องมาประกาศตนว่าเป็นชนกลุ่มใด บอกแค่ชื่อเมืองที่ผู้คนอาศัยอยู่ให้รู้ว่าคนบ้านใดก็พอ

ยกเว้นบางกรณีที่จำเป็นต้องอ้างอิงถึงบรรพบุรุษ ด้วยสำนึกคนพลัดถิ่นที่ยังโหยหากัน เช่น ไทโยน (ไทยวน) คูบัวราชบุรี และไทยวนเสาไห้ สระบุรี ในขณะที่คนไทยวนที่เชียงใหม่ เชียงแสน ลำปาง ก็ไม่เคยประกาศตนว่าเป็นชาติพันธุ์ไทยวน

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่คนยองในลำพูนจะเรียกตัวเองว่า “คนเมืองยอง” เฉยๆ โดยตัดคำว่า “ลื้อ” ซึ่งเป็นคำที่สะท้อนชาติพันธุ์ออกไป

ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลเกิดขึ้นเนื่องมาจาก นักชาติพันธุ์วรรณา เขากำหนดให้เรียกคนยองคนขึนว่าเป็นชาว “ลื้อ” หรือ “ไทลื้อ” เหมือนกันหมด สำเนียงภาษา อาหาร การแต่งกาย ประเพณีวิชีวิตของชาวไทลื้อเมืองต่างๆ อาจผิดเพี้ยนกันไปบ้างนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้น แต่ก็ยังมีลักษณะร่วมของความเป็นลื้อ

ซึ่งมีความแตกต่างไปจากกลุ่ม “ไท” อื่นๆ อย่างมากมาย เมื่อเทียบกับกลุ่มของ “ไทโยนในล้านนา” “ไทใหญ่” (เงี้ยว) ในพม่า หรือ “ไทน้อยในลาว”

นั่นคือคำอธิบายเมื่อ พ.ศ.2545

 

“ไท” ในอีกความหมาย : คน/บ้าน
ไม่ใช่ชาติพันธุ์

ผ่านไป 15 ปี คำถามเดิมๆ ก็หวนย้อนกลับมาสะกิดสะเกาให้ต้องค้นหาคำตอบอีกครั้ง เมื่อดิฉันได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรงานเสวนาเรื่อง “ชาติพันธุ์ไทลื้อและไทยอง อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน” เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560

ครั้งนี้เป็นการตั้งคำถามใหม่ โดยถามว่า

“ทำไม นักวิชาการจึงกำหนดให้เรียก ไทโยน ไทลื้อ ไทใหญ่ ได้ แต่ทำไมไม่ให้เรียก ไทยอง ไทขึน? สรุปแล้ว ต้องเรียก ไทลื้อเมืองยองหรือเช่นไร ถ้าเช่นนั้นก็แสดงว่า คนลำพูนใช้คำว่า “ไทยอง” กันแบบผิดๆ เรื่อยมากระนั้นหรือ”

ผู้ตอบคำถามในเวทีครั้งนี้คืออาจารย์ภูเดช แสนสา นักวิชาการรุ่นใหม่ด้านประวัติศาสตร์ล้านนา เป็นวิทยากรที่ได้รับเชิญพร้อมกันกับดิฉัน

เขาได้อธิบายว่า

สรุป ณ วันนี้ เราสามารถใช้คำว่า “ไทยอง” ได้ โดยไม่ต้องตะขิดตะขวงใจ เพราะคำว่า “ไท” ไม่ได้มีความหมายแค่เพียงชื่อของชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งเท่านั้นแล้ว (ตามที่เราเคยทราบว่า “ไท” -ไม่มี ย.ยักษ์ ก็ดี หรือ “ไทย” -มี ย.ยักษ์ ก็ดี ล้วนเป็นชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ที่แปลความหมายของคำว่า ไท ได้ว่า อิสระ)

เนื่องจาก “ไท” ในอีกความหมายหนึ่ง ยังแปลได้ว่า “คน” หรือ “บ้าน” ชาวไทเชื้อสายต่างๆ ในสิบสองปันนา และรัฐฉาน ล้วนเพรียกขานตัวเองโดยมีคำว่า “ไท” นำหน้าเสมอ เช่น ไทลวง ไทปุ ไทสาด ไทสิงห์ หมายถึง เป็นการระบุคนที่อยู่ในเมืองนั้นๆ หรือมาจากเมืองนั้นๆ คือเมืองลวง เมืองปุ เมืองสาด เมืองสิงห์

ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า ไทต่างๆ ที่เรียกกันมากมายนี้จะเป็นชาติพันธุ์ไทยิบย่อย แตกหน่อออกกอกันไปจากไทลื้อ ทว่า “ไท” ที่นำหน้าชื่อเมืองคือการระบุถึงถิ่นฐานบ้านเดิมของตัวเองเท่านั้น

สรุปแล้ว ณ วันนี้ เราสามารถเรียกคำว่า “ไทยอง” แยกจาก “ไทลื้อ” ได้อย่างชอบธรรม ด้วยเหตุผลที่ อาจารย์ภูเดชได้กล่าวมาแล้ว แต่เราต้องเข้าใจให้ตรงกันด้วยว่า หาใช่เรียกเพราะ “ยอง” คือชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่งนั้นไม่

อาจารย์ภูเดชยังช่วยวิเคราะห์ถึงมูลเหตุปัจจัยที่ทำให้ “คนยองในลำพูน” มีความกระหยิ่มภาคภูมิใจ ที่จะขนานนามประชากรตัวเองว่าเป็น “คนยอง” “คนเมืองยอง” หรือ “ไทยอง” โดยไม่ยอมประกาศตัวเองว่าเป็น “ไทลื้อเมืองยอง” ว่า

สาเหตุเนื่องมาจาก ในอดีตเมื่อ พ.ศ.2348 ตอนที่พระเจ้ากาวิละอพยพคนยองกลุ่มใหญ่มาตั้งถิ่นในเมืองลำพูนนั้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำกวง หรือบ้านเวียงยองนั้น ชาวยองได้รับอิสระให้ตั้งเวียงปกครองดูแลกันเอง จนในเอกสารต่างๆ ระบุว่า “เวียงยอง” หรือ “เมืองยอง” มีสถานะเป็นเมืองสำคัญอันดับสองรองจากเมืองลำพูน (ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำกวง ในเขตคูเมืองหอยสังข์ ที่มีพระธาตุหริภุญไชยเป็นศูนย์กลาง)

สิ่งเหล่านี้ยิ่งเป็นเครื่องช่วยตอกย้ำให้ชาวยองในลำพูน มีความรู้สึกว่ากลุ่มก้อนของพวกตนมี “ลักษณะพิเศษ” หรือมีความเป็นเอกเทศ ที่แตกต่างไปจากชาวลื้อ ที่แม้จะเป็นชื่อเจ้าของชาติพันธุ์ก็ตาม

หลังจากนั้นแล้ว พระเจ้ากาวิละและพระอนุชาบุญมาเมือง ยังได้ขึ้นไปเกณฑ์ชาวไทลื้อจากเมืองต่างๆ ในรัฐฉานและสิบสองปันนา เข้ามาเป็นประชากรในล้านนาอีกหลายกลุ่ม ให้กระจายตัวอยู่รอบนอกเมืองเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง

หนึ่งในกลุ่มไทลื้อเมืองต่างๆ นี้พบว่ามีไทลื้อจากเมืองยองถูกเกณฑ์ลงมาด้วย แต่พวกเขาถูกกำหนดให้ตั้งถิ่นฐานแถบอำเภอแม่ทะ ลำปาง ปรากฏว่าคนยองกลุ่มนี้กลับไม่เรียกตัวเองว่า “คนยอง” เหมือนกับ “คนยองลำพูน” แต่พอใจที่จะเรียกตัวเองว่าเป็นคนไทลื้อจากเมืองยอง เหมือนคนไทลื้อจากเมืองอื่นๆ

สิ่งนี้สะท้อนว่า “คำเรียกชื่อตัวเอง” เกิดขึ้นจาก “จิตสำนึกร่วมของกลุ่มชน” ที่พอใจจะนิยามตัวตนว่าเป็นชาวอะไรมากกว่า

หากเราอยู่ท่ามกลางคนยองเมืองลำพูน เราก็พอจะเข้าใจเหตุและผลทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมา และยอมรับว่านี่คือเสรีภาพของประชาชนตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญว่า “ประชากรทุกคนมีสิทธิ์ขั้นพื้นฐานเท่าเทียมกัน ในด้านการแสดงออกซึ่งเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนา ประเพณีวิถีชีวิตของตนเอง”

และนั่นย่อมหมายรวมไปถึงแนวคิดที่ว่า

“หากประชากรกลุ่มใดพอใจจะเพรียกขานตัวเองด้วยคำนิยามใด ก็ย่อมเป็นสิทธิ์ของประชากรกลุ่มนั้นด้วยเช่นกัน ป่วยการที่จะเอาทฤษฎีด้านมานุษยวิทยาเชิงลึกที่นักวิชาการเพิ่งศึกษาแบ่งกลุ่มกันไม่เกิน 50 ปีมานี้ ไปบังคับกะเกณฑ์ให้ประชากรที่เขาคุ้นเคยกับการเรียกชื่อตัวเองมานานกว่า 200 ปี ต้องเปลี่ยนคำเรียกตาม แม้ข้อเสนอของนักวิชาการจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง”

 

สำนึกความเป็นยองนั้นยิ่งใหญ่
แต่มิใช่รังเกียจความเป็นลื้อ

คุณปราณี ตันธนโชติ นักวิชาการด้านมานุษยวิทยา จากบริษัทซินครอนกรุ๊ป ผู้เคยรับทำแผนแม่บทลำพูนสู่มรดกโลก และแผนแม่บทเมืองเก่าลำพูน มีความเห็นต่อกรณีที่คนยองลำพูน ไม่สมัครใจจะเรียกตัวเองว่า “คนลื้อเมืองยอง” หรือ “ไทลื้อ” ว่า

“แนวคิดในการควบรวมกลุ่มคนต่างๆ ที่มีภาษา วัฒนธรรม ประเพณีวิถีชีวิตโดยรวมเหมือนกันหรือละม้ายคล้ายคลึงกันอย่างมาก ให้มารวมอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันนั้น ก็เพื่อความสะดวกในการศึกษาของโลกปัจจุบันเท่านั้น เพราะหากแตกกลุ่มแยกย่อยมากเกินไปก็จะยิ่งทำให้เกิดการกระจายทฤษฎีแบบยิบย่อย

ทั้งนี้ นักวิชาการเองก็ไม่ได้ขีดเส้นตายตัว หากประชากรกลุ่มใดประสงค์จะแยกตัวออกมาเป็นอีกชาติพันธุ์ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ หากประชากรกลุ่มนั้นมีเหตุผลเพียงพอ ที่จะชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างของตัวตนจากชาติพันธุ์หลัก เช่น กลุ่มคนยอง หากมองว่าพวกตนไม่เหมือนลื้อ ไม่ใช่ลื้อ นักวิชาการก็ยินดีรับฟังความเห็น”

ปัญหา ณ วันนี้ก็คือ เมื่อคนยองลำพูนได้อพยพกระจายตัวออกไปในช่วงเกิดทุพภิกขภัยที่อำเภอป่าซางหลายระลอก บ้างไปอยู่เมืองฝาง เชียงใหม่ บ้างไปอยู่แม่จัน เชียงราย พวกเขาต้องไปปะทะสังสรรค์กับคนไทลื้อกลุ่มอื่นๆ ในล้านนา

แต่คนยองจากลำพูนกลับรู้สึกว่า พวกตนเป็นคนยองไม่ใช่ลื้อ (ทั้งๆ ที่หากกล่าวให้ถูกต้องแล้วต้องเป็น “ไทลื้อจากเมืองยอง” เหมือนไทลื้อเมืองอื่น) เรื่องนี้อาจทำให้ไทลื้อกลุ่มอื่นๆ รู้สึกน้อยอกน้อยใจไปบ้างก็เป็นได้

จงโปรดทราบโดยทั่วกันว่า ชาวยองทั้งหมดมิได้มีเจตนาจะแยกกลุ่ม ปฏิเสธไทลื้อกลุ่มอื่น คิดว่าตนสูงส่งกว่า จึงรังเกียจความเป็นลื้อ หรือมองว่าไทลื้อกลุ่มอื่นๆ ต่ำต้อยกว่ายองแต่อย่างใด เพราะไม่มีเหตุผลใดที่คนยองจะต้องรังเกียจชาติพันธุ์เดิมของตน

เพียงแต่การประกาศตนเป็นคนยองนี้ เกิดจากจิตสำนึกร่วมที่บรรพบุรุษปลูกฝังให้พวกเขาไม่ลืมรากเหง้าเมืองยองมหิยังคนครที่ปู่ย่าตาทวดเคยอพยพมาเรือนหมื่นเท่านั้น