E-DUANG : รูปการ การสังสรรค์ การเมือง ผ่านกระบวน FLASH MOB

การนำเอารูปการเคลื่อนไหวในแบบ FLASH MOB มาเป็นอาวุธคือ ลักษณะรุกเร็ว ถอยเร็วทางการเมือง

นั่นก็คือ เลือกเจาะเข้าไปใน”จุดอ่อน”อันดำรงอยู่ใน”จุดแข็ง”

นั่นก็คือ อาศัย “ช่องว่าง” อันเป็น “รอยโหว่”ภายในพื้นที่อันใหญ่โตของเมืองหลวง

“เจาะ”เข้าไปแล้วสำแดง”ศักยภาพ”ให้ปรากฏ

เลือกรูปแบบที่มิได้เป็นการยึดครองพื้นที่อย่างยืดเยื้อและยาวนานโดยใช้ลักษณะความเป็น FLASH MOB มาเป็นเครื่องมือ

มาอย่างรวดเร็ว จากไปอย่างรวดเร็ว

ไม่จำเป็นต้องจัดตั้ง “เวที” ไม่จำเป็นต้องตระเตรียม “เครื่องเสียง” อย่างอลังการ

ประสานระหว่าง”สังสรรค์” กับ “การชุมนุม”

 

เด่นชัดอย่างยิ่งว่า รูปแบบและโครงสร้างของ FLASH MOB ท้าทายต่อกฎระเบียบที่มีอยู่อย่างเห็นได้ชัด

จำได้หรือไม่ว่าก่อนหน้านี้ “อำนาจรัฐ”มีอะไรอยู่ในมือ

ลองย้อนไปยังสถานการณ์ภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภา คม 2557

มีประกาศ คำสั่งคสช. มีคำสั่งหัวหน้าคสช.ตามมาตรา 44

แต่เมื่อผ่านเดือนเมษายน 2560 ก็มีรัฐธรรมนูญ นั่นหมายถึงสิทธิและเสรีภาพเริ่มได้รับการประกันโดยพื้นฐาน

แม้จะมีพรบ.การชุมนุมในที่สาธารณะ 2558

แต่พรบ.นี้ก็ต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพอันได้รับการรับรองผ่านหมวดว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ยิ่งเมื่อผ่านการเลือกตั้งอำ นาจตามมาตรา 44 ก็หมดไป

รูปการเคลื่อนไหวในแบบ FLASH MOB จึงปรากฏ

 

ถามว่านอกเหนือจากการเคลื่อนไหวที่เห็น ณ สกายวอล์ก ปทุมวัน ซึ่งใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงแล้ว ยังมีการเคลื่อนไหวอื่นๆดำรงอยู่หรือไม่

คำตอบสัมผัสได้จากบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล

ไม่ว่าชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อน ไม่ว่าชาวบ้านที่มีปัญหา หนี้สิน ไม่ว่าชาวประมงล้วนอยู่ครบถ้วน

เรียกร้องต้องการการช่วยเหลือ ปรารถนาจะพบนายกรัฐมนตรี

ชาวบ้านเหล่านั้นล้วนอาศัยความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการต่อสู้เรียกร้องจากที่รัฐธรรมนูญบัญญัติเอาไว้

นี่เป็นการชุมนุม มิได้เป็นการสังสรรค์ในทางการเมือง