22 กุมภาฯ “โกมล คีมทอง” บัณฑิตจุฬาฯ อุทิศชีวิตเป็นครู ถูกยิงเสียชีวิต

โกมล คีมทอง

22 กุมภาพันธ์ 2514 – บัณฑิตจากจุฬาฯ คนหนึ่งชื่อ “โกมล คีมทอง” และอีกคนชื่อ “รัตนา สกุลไทย” ทั้งสองตัดสินใจอุทิศชีวิตเป็นครูสอนหนังสือแก่เด็กในถิ่นทุรกันดารที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภายใต้คำปณิธานว่า “จะขอเป็นครูตราบชั่วชีวิต” ต่อมาทั้งสองถูกยิงเสียชีวิตในเดือนกุมภาพันธ์ 2514

พวกเขาทั้งสองได้กลายเป็นแบบอย่างของ “บัณฑิตผู้เสียสละ” ที่ยอมอุทิศตนจนวาระสุดท้ายของชีวิต

การเสียชีวิตของบัณฑิตอย่าง “โกมล คีมทอง” ไม่ได้เป็นเพียงตัวอย่างแก่บรรดาคนหนุ่มสาวจุฬาฯ ที่คิดถึงกิจกรรมแนวใหม่ หากแต่ยังเป็นแบบอย่างแก่นักศึกษาในอีกหลายมหาวิทยาลัย แม้ชาวจุฬาฯ รุ่นหลังๆ อาจจะไม่คุ้นเคยกับชื่อนี้แล้ว แต่อย่างน้อยอนุสรณ์ที่ยังดำรงอยู่เป็นตัวแทนของอุดมคติในยุคสมัยดังกล่าวก็คือ “มูลนิธิโกมลคีมทอง”

และการเสียชีวิตของพี่จุฬาฯ ทั้งสองทำให้หลายคนเริ่มคิดถึงกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่สังคมมากกว่าการใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยความสนุกของชีวิตหนุ่มสาวมหาวิทยาลัยในแบบฉบับของยุค “สายลมแสงแดด”

ที่มาจากบทความของ สุรชาติ บำรุงสุข : 40 ปีแห่งการล้อมปราบ (7) โซตัสปะทะประชาธิปไตย!