ธเนศ วงศ์ยานนาวา : “ความไม่หลากหลาย” ของความหลากหลายทางวัฒนธรรม

บทความพิเศษ ของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา : “ความไม่หลากหลาย” ของความหลากหลายทางวัฒนธรรม (จบ) ตีพิมพ์ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 -28 สิงหาคม 2551

การสร้างสายสัมพันธ์และการจัดระเบียบสรรพสิ่งโดยผ่านกลไกทางภาษาและกรอบคิดทางวิชาการ ที่เป็นทั้งศาสตร์/วิชาและวินัย (discipline) ในเวลาเดียวกันนั้น ในที่สุดแล้วก็ทำให้กระบวนการทางวิชาการเปลี่ยนสถานะวิถีชีวิตต่างๆ ของ “หลากหลายวัฒนธรรม” เหล่านั้นให้กลายเป็นเป็น “สื่อ” ที่ปรากฏออกมาในรูปของภาพยนตร์หรือหนังสือ เป็นต้น

โดยที่ทั้งหมดก็ไม่ได้ปรากฎให้เห็นอยู่อย่างหลากหลาย เพราะอย่างน้อยที่สุด ทุกอย่างก็ถูกดึงกลับไปสู่ “ราก” ดั้งเดิม

การหันกลับไปหา “ราก” ในดินแดนต่างๆ เหล่านี้ ก็มีจำนวนหนึ่งที่ดำเนินไปพร้อมกับความพยายามในการจะยืนยันว่า วัฒนธรรม (เช่น ขงจื้อ) ไปด้วยกันได้กับทุนนิยม เอเชียมีวิถีบูรพา หรือกระทั่ง พุทธศาสนาเข้ากันได้ดีกับระบอบเสรีประชาธิปไตย เป็นต้น

หรือไม่เช่นนั้น ก็จะยืนยันถึงคุณลักษณะพิเศษทางวัฒนธรรม อันเป็นการตอกย้ำถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม

แต่กระนั้นก็ดี ความพยายามจำนวนมากก็คือ การกลับคืนไปสู่ “ราก” ทางวัฒนธรรมตามกรอบของรัฐประชาชาติ

การกลับสู่ “ราก” เป็นหนทางของการสถาปนาอำนาจจาก “ภายใน” ออกไปสู่ “ภายนอก” มากกว่าที่จะเป็นเพียงแค่ “อำนาจจากภายนอก” ล้วนๆ หรือถ้าจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การทำให้เป็นท้องถิ่นนั้นก็เป็นพลังต่อรองที่ให้อำนาจกับท้องถิ่น เช่น พลังภายในของจีนกับกระบวนการทำให้มาร์กซิสกลายเป็นจีน ฯลฯ

กระบวนการกลับไปหา “ราก” จึงเป็นกระบวนการเสริมสร้างอำนาจของความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่ “ราก” ที่ว่านี้ ก็หลีกเลี่ยงคุณลักษณะทางวัฒนธรรมของความเป็นรัฐประชาชาติไปได้ยาก

ปัญหาเกิดขึ้นตามมาก็คือ อะไรคือราก? เพราะการดำรงอยู่ภายในประเทศบ้านเกิดไม่จำเป็นที่จะต้องทำให้เขา/เธอเหล่านั้นแสวงหาคำตอบว่า “ราก” ของตัวเองนั้นอยู่ที่ไหน การดำรงอยู่ภายในเงื่อนไขทางวัฒนธรรมทำให้เขา/เธอเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องสงสัยหรือวิพากษ์ (critical) ต่อ “ความเป็นราก” เพราะเป็นสิ่งที่เขา/เธอคุ้นเคยอยู่แล้ว

เขา/เธอไม่จำเป็นที่จะต้องบอกว่า “รากของเขา/เธอเป็นอะไร?” เพราะอย่างน้อยๆ ที่สุดก็ไม่มีใครถามว่า “คุณมาจากประเทศไหน?” ตราบใดก็ตามที่เขา/เธอดำรงอยู่ในประเทศนั้นๆ เขา/เธอย่อมไม่ใช่คนแปลกหน้า ตราบใดก็ตามที่ภาษาแม่ของเขา/เธอเป็นภาษาของรัฐประชาชาตินั้นๆ

แต่การดำรงอยู่ในประเทศก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา เพราะความพยายามในการนำเสนอความคิดและกรอบการวิเคราะห์ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในกรอบของ “ความคิดนำเข้า” แม้ว่าความพยายามในการแสวงหาด้วยกรอบของ “ความเป็นตะวันออกหรือเอเชีย” เอง ก็ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงความเป็น “ตะวันตก” ไปได้

เพราะกรอบคิดของเอเชียและตะวันออก ก็ไม่ได้ถือกำเกิดขึ้นจาก “ตะวันออก” เอง แต่เป็นกรอบคิด “ตะวันตก” เพราะอย่างน้อยๆ ที่สุด แม้กระทั่งการเรียกขานว่า “เอเชีย” ก็เป็นสิ่งที่มาจากอารยธรรมกรีกโบราณ (ที่ไม่สามารถจะแบ่งแยกความเป็นตะวันออกและตะวันตกออกจากกันได้อย่างง่ายๆ)

ทั้งนี้ Asia ก็เป็นชื่อนำเข้าที่นำมาจาก นาง Asia ซึ่งเป็นเมียของ Prometheus เทพในปกรณัมของกรีกโบราณ

อย่างไรก็ดี การยืนยันในความคิดของตะวันตกในหมู่คนเอเชียหรือตะวันออกเอง ก็กลับแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่มนุษย์สามารถจะเคลื่อนตัวไปมา มากกว่าที่จะมี “ราก” และเคลื่อนที่ไม่ได้ แต่ถ้าจะพิจารณาเรื่องการมี “ราก” แล้ว ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะต้องเลือกระหว่าง “ครอบครัว” หรือ “รัฐประชาชาติ”

ถ้าจะกล่าวอย่างง่ายๆ ว่าระหว่าง “ค่านิยมที่สากล” กับ “ค่านิยมที่มีความเฉพาะ” อันไหนจะเป็นสิ่งที่ต้องมาก่อน?

จากคำตอบของ Albert Camus ที่กล่าวว่า ระหว่างความยุติธรรมกับแม่ เขาจะเลือกแม่ก่อน แม้ว่าจริยธรรมทางการเมืองจะเป็นสิ่งที่จรรโลงและส่งเสริมให้มนุษย์ในรัฐประชาชาติได้ให้ความสำคัญกับสิ่งสากลที่สูงส่งกว่า หรือจะแม้จะผ่านการปลูกฝังให้มีสำนึกว่าประโยชน์ส่วนร่วมย่อมมาก่อนส่วนตัวก็ตาม

โดยที่แม่เองก็มีความเป็นลักษณะเฉพาะยิ่งเมื่อเป็นแม่จริงๆ เชิงชีววิทยา ไม่ใช่แค่เป็นเพียงกรอบทางความคิดหรือเพียงแค่เป็นคำนามคำหนึ่ง แต่นั่นก็ใช่ว่าจะเป็นคำตอบที่น่าอภิรมย์นักสำหรับรัฐประชาชาติ

ทั้งนี้ภายใต้กรอบคิดของรัฐประชาชาติที่มักจะยึดหลักส่วนรวมแล้วนั้น ถ้าทุกคนภายใต้รัฐประชาชาติเลือกแม่ ก็แสดงให้เห็นถึงการไม่เลือกหลักความเป็นสากลของความยุติธรรม เพราะอย่างน้อยที่สุดหลักความยุติธรรมก็ถูกกำหนดขึ้นโดยกฎหมายของรัฐ นอกจากนั้นการไม่เลือกความยุติธรรมก็ยังแสดงให้เห็นถึงการขาดสำนึกของความเป็นส่วนรวมหรืออะไรที่ยิ่งใหญ่กว่าครอบครัว เช่น การฆ่าพี่น้องของผู้นำในอดีตเพื่อความเป็นปึกแผ่นของแผ่นดิน เป็นต้น

การเลือกแม่ทางชีววิทยา จึงขัดแย้งกับความต้องการของรัฐประชาชาติ ที่ไม่ต้องการให้มวลสมาชิกในรัฐประชาชาตินั้นๆ เห็นว่า “แม่ทางชีววิทยา” ที่มีลักษณะเฉพาะอยู่เหนือกว่า “แผ่นดินแม่” (motherland) หรืออยู่เหนือกว่ารัฐประชาชาติ

 

ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น ดูจะเป็นปัญหาคลาสสิคของมนุษย์ในสังคมและการเมือง แต่สำหรับ Arif Dirlik นักประวัติศาสตร์ชาวตุรกีผู้โด่งดังจากการศึกษาประวัติศาสตร์จีนที่เคยทำมาหากินอยู่ในสหรัฐอเมริกาแล้ว

ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่การต่อต้านการกลับไปสู่ความเป็นรัฐประชาชาติ แต่ Dirik เห็นว่า ผู้ที่ดำรงชีวิตอยู่ในโลกาภิวัตน์จะต้องเข้าใจสถานะทางชนชั้นของตัวเองในระบบทุนนิยมโลก ไม่เพียงแต่เท่านั้น ยังต้องคำนึงถึงความเป็นเพศอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือหญิง

ทั้งนี้ การให้ความสำคัญกับเพศ ย่อมเพิ่มความหลากหลายมากกว่าที่จะจำกัดอยู่เพียงแค่ความหลากหลายทางวัฒนธรรมล้วนๆ

โดยเมื่อพิจารณาจากบทบาททางชนชั้นของมนุษย์ผู้มีความรู้แล้ว ก็ทำให้ความหลากหลายทางชนชั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรม ในขณะเดียวกัน ภายใต้ความหลากหลายนี้ ก็ทำให้ปัญญาชนเองไม่สามารถที่จะดำรงตำแหน่งที่ “สากล” ภายใต้นามของ “ศีลธรรมอันดีงาม” ได้

ครั้นเมื่อพิจารณาสถานะทางชนชั้นที่เชื่อมต่อกับโครงสร้างอำนาจ ก็ยิ่งแสดงให้ว่า สายสัมพันธ์ของนักวิชาการสายมนุษย์ศาสตร์มีความเชื่อมโยงกับโครงสร้างอำนาจรัฐน้อยกว่านักวิชาการสายสังคมศาสตร์ สายกฎหมาย หรือกระทั่งในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการนำไปปฏิบัติ

การไม่วิเคราะห์หรือปฏิเสธที่จะพิจารณาสถานะของปัญญาชนกับโครงสร้างอำนาจและชนชั้นตามกรอบแบบ “หลังมาร์กซิส” (post-Marxist) ที่มักจะละทิ้งกรอบคิดที่ใช้ชนชั้นเป็นแกนในการวิเคราะห์นั้น

ทำให้ความคิดเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม กลายเป็นเพียงแค่การตอบสนองความต้องการและรสนิยมแบบชนชั้นกลาง (ปัญญาชน) ที่ไม่สามารถท้าทายโครงสร้างอำนาจของผู้ครองอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นทั้งในส่วนของเศรษฐกิจหรือวัฒนธรรมได้

แต่ถึงกระนั้นก็ดีทุกสิ่งทุกอย่างสามารถที่จะอยู่กันได้อย่างสมานฉันท์ เพราะอย่างน้อยๆ ที่สุดโครงสร้างทางชนชั้นยังคงอยู่ในสภาพเดิม

ทั้งนี้ก็อาจจะกล่าวได้ว่า ความหลากหลายจะมีเสน่ห์ก็ต่อเมื่อเป็นของน่ารักและโรแมนติค เช่น อาหารพื้นถิ่นเพลงพื้นเมือง หรือชีวิตของชนเผ่าในดินแดนห่างไกล ฯลฯ แต่ครั้นเมื่อความหลากหลายทางอาหารหรือเพลงได้เปลี่ยนมาเป็นมนุษย์ที่หลากหลาย (โดยที่ยังไม่จำเป็นที่จะต้องพิจารณาว่า ในคนๆ เดียวกันนั้นมีความหลากหลายแบบที่มากยิ่งไปกว่า Dr. Jekyll & Mr. Hyde หรือไม่)

เพราะแม้ว่าจะยังไม่ใช่มนุษย์แบบประเภท Multiple Disorder Personality ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีความน่ารักอีกต่อไป

อาหารจีนอาจจะน่ารักมากกว่าคนจีนในประเทศไทย หรือกระทั่งคนจีนที่แซงคิวเราในประเทศจีนเอง ฝรั่งผิวขาวชนชั้นสูงย่อมน่ารักกว่าฝรั่งผิวขาวชนชั้นต่ำ ฯลฯ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม จะเป็นสิ่งที่คงความงดงามอยู่ได้ ตราบใดก็ตามที่วัฒนธรรมเหล่านั้นเป็น “สิ่งของ” (thing) หรือความคิดที่อยู่ไกลๆ แต่ย่อมไม่ใช่เกิดจากมนุษย์ที่ต้องมานอนร่วมเตียงเดียวกันไปตลอดชีวิตเป็นแน่