เศรษฐกิจ / คลังผุดกองทุน SSF ดึงคนไทยออมเงิน แก้ปมสังคมสูงวัย ‘แก่และจน’ หลังเกษียณไม่พอกินได้จริงหรือ

เศรษฐกิจ

 

คลังผุดกองทุน SSF ดึงคนไทยออมเงิน

แก้ปมสังคมสูงวัย ‘แก่และจน’

หลังเกษียณไม่พอกินได้จริงหรือ

 

คนไทยมีเงินออมน้อย! เป็นผลสำรวจที่เผยแพร่กันมานาน และเป็นปัญหาที่รัฐบาลหลายยุคพยายามแก้ไข

ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้กระทรวงการคลังตั้งกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund : SSF) โดยจะนำมาตรการภาษีมากระตุ้นให้คนไทยออมเงินในลักษณะเดียวกับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund : LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF)

กองทุน SSF จะเริ่มในปี 2563 แทนกองทุน LTF ที่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีในปี 2562 เป็นปีสุดท้าย

ทั้งนี้ ผู้เสียภาษีรูปแบบบุคคลธรรมดาในระบบกว่า 11 ล้านคน สามารถนำเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนของกองทุน SSF ลดหย่อนภาษีถึง 30% ของเงินได้พึงประเมิน จากเดิม กองทุน LTF และกองทุน RMF กำหนดไว้ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน

โดยครั้งนี้ ครม.ใจดีปรับสัดส่วนลดหย่อนของกองทุน RMF ให้เพิ่มขึ้นเป็น 30% ของเงินได้พึงประเมินด้วยเช่นกัน

มีข้อแม้ว่าการซื้อกองทุน SSF ลดหย่อนมีเพดานซื้อสูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาท ส่วนกองทุน RMF ไม่ได้กำหนด แต่เมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ คือ กองทุน SSF กองทุน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วต้องไม่เกิน 5 แสนบาทในแต่ละปีภาษี

เท่ากับว่าในปี 2563 กระทรวงการคลังให้ซื้อกองทุนเพื่อการเกษียณลดหย่อนภาษีได้สูงสุดปีละ 5 แสนบาท จากเดิมกองทุน LTF และ กองทุน RMF สามารถนำมาลดหย่อนภาษีสูงสุดถึง 1 ล้านบาท

แม้เพดานลดหย่อนน้อยลง แต่สอดคล้องกับสถิติการลดหย่อนภาษีของผู้เสียภาษีส่วนใหญ่จะซื้อกองทุนเกษียณเพื่อลดหย่อนปีละ 2-3 แสนบาทต่อคน

การลดเพดานลดหย่อนและเพิ่มสัดส่วน 30% ของรายได้พึงประเมิน เพื่อกระตุ้นให้กลุ่มคนรายได้น้อยและรายได้ปานกลางออมเงินให้มากขึ้น

 

สิ่งที่กระทรวงการคลังอยากเห็นคือ การออมระยะยาวของประชาชนกลุ่มรายได้ต่ำและปานกลางเพิ่มขึ้น หากมีการซื้อกองทุน RMF และกองทุน SSF เต็มเพดานที่กำหนด ผู้ที่มีรายได้เดือนละ 1.5 หมื่นบาท จะมีเงินออมระยะยาวเพิ่มขึ้นจากเดิมปีละ 1.08 แสนบาท เงินได้เดือนละ 5 หมื่นบาท เพิ่มขึ้นปีละ 3.6 แสนบาท และเงินได้เดือนละ 1 แสนบาท เพิ่มขึ้นปีละ 5 แสนบาท

กลุ่มคนรายได้น้อยและรายได้ปานกลางสามารถออมเงินเพื่อลดหย่อนภาษีเพิ่มขึ้นเท่าตัว แต่กลุ่มรายได้สูงเกินกว่า 1 ล้านบาทต่อปี จะออมเงินเพื่อลดหย่อนภาษีน้อยลงครึ่งหนึ่ง

ก่อนหน้านี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีข้อแนะนำออกมาว่าหากจะดำรงชีวิตหลังเกษียณอย่างพอมีพอกินตลอด 20 ปีหลังเกษียณ ต้องมีเงินเก็บอย่างน้อย 4 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอใช้จ่ายวันละกว่า 500 บาท หรือเดือนละ 16,000 บาท เป็นการคำนวณจากผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อคน (GNP per capita) ของคนไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า

ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่มีรายได้ไม่ถึงระดับที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ แนะนำไว้

 

ทั้งนี้ รายงานผลสำรวจทักษะทางการเงินของไทยปี 2559 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ดำเนินการร่วมสำรวจกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าคนไทย 34.6% ไม่มีเงินออม ส่วนการวางแผนเก็บออมเพื่อเกษียณของคนไทย พบว่า 85.8% อาจมีความเสี่ยงเงินไม่พอใช้ดำรงชีพยามชรา โดยตัวเลขวงเงินเพื่อการเกษียณผ่านกองทุนต่างๆ มีมูลค่าร่วมกัน 3.5 ล้านล้านบาท จากผู้ออม 20.2 ล้านคน เมื่อเทียบกับประชากรวัยแรงงานจำนวน 38.7 ล้านคน สะท้อนให้เห็นว่ายังมีผู้ที่ไม่ได้เตรียมความพร้อมเพื่อการเกษียณมากถึง 18.5 ล้านคน

การออมดังกล่าวสวนทางกับแนวโน้มผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในปี 2568 ไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ จะมีผู้สูงอายุเกิน 60 ปีเกิน 20% ของจำนวนประชากร ต้องใช้งบประมาณสูงถึง 3.62 แสนล้านบาทในการดูแล และเพิ่มเป็น 4.78 แสนล้านบาทในปี 2578 เมื่อจำนวนผู้สูงอายุมีระดับสูงสุด 30.8% ของจำนวนประชากร คิดเป็น 20.3 ล้านคน ซึ่งเพิ่มสูงจากปีงบประมาณ 2560 ที่รัฐจัดสรร 2.46 แสนล้านบาท ดูแลผู้สูงอายุ 11.7 ล้านคน คิดเป็น 17.12% ของจำนวนประชากร

ข้อมูลจากกรมสรรพากร พบว่ามีคนใช้สิทธิในการคืนภาษีจาก LTF ปีละ 4 แสนราย คิดเป็นเงินภาษีที่ขอคืน 1 หมื่นล้านบาท และใช้สิทธิ RMF ประมาณ 2 แสนราย คิดเป็นเงินภาษีที่ขอคืน 6 พันล้านบาท

กระทรวงการคลังประเมินว่าการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุน SSF และปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับกองทุน RMF จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณปีละ 1.4 หมื่นล้านบาท น้อยกว่าที่เคยให้สิทธิลดหย่อนก่อนหน้านี้

เปรียบเทียบกองทุน SSF กับ LTF แน่นอน แค่เงื่อนไขการถือครองกองทุน SSF ถึง 10 ปีนับจากที่ซื้อ หรือ 12 ปีปฏิทิน ขณะที่กองทุน LTF ถือครอง 7 ปีปฏิทิน ทำให้คนที่ซื้อต้องคิดหนัก เพราะน้อยคนนักที่จะลงทุนยาวๆ

แต่ถ้านำไปเปรียบเทียบกับกองทุน RMF กำหนดให้ถืออย่างน้อย 5 ปี มีอายุ 55 ปีจึงจะขายได้ คงทำให้กลุ่มวัยทำงานอายุ 20-30 ปี กลับหันมามอง และศึกษากันใหม่ว่าจะคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่

 

ความเห็นจากนักวิชาการด้านกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีเงินได้ ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอแทกซ์ อินคอร์เปอร์เรชั่น จำกัด (iTax) ไม่อยากให้มองว่ากองทุน SSF มาแทน LTF เพราะความน่าสนใจจะน้อยลง

อยากให้มองว่าเป็น mini RMF ที่ซื้อง่ายกว่าและถือครองสั้นกว่า อีกทั้งไม่ต้องลงทุนทุกปี น่าจะทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่เข้ามาซื้อมากขึ้น จากที่ไม่ค่อยสนใจกองทุน RMF

ส่วนกลุ่มจะได้รับผลกระทบมากในปี 2563 คือผู้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเต็ม 1 ล้านบาท ซึ่งต้องมีรายได้ต่อปีมากกว่า 3.3 ล้านบาท หรือมีรายได้ต่อเดือนมากกว่า 2.77 แสนบาท

แม้จะเป็นกลุ่มคนจำนวนไม่มาก แต่มีกำลังซื้อสูง เมื่อเงินกลุ่มนี้หายไปย่อมกระทบภาพรวมของทุนพอสมควร จึงประเมินไม่ยากว่าเงินลงทุนจากกองทุน SSF คงไม่เท่ากับกองทุน LTF

 

ไม่แปลกที่ภาคเอกชนซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับกองทุนเกษียณส่วนใหญ่แสดงความผิดหวังกับกองทุน SSF ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) บอกชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการเอาวงเงินลดหย่อนรวมกันและกำหนดเพดาน 5 แสนบาท จากเดิมให้ถึง 1 ล้านบาท เพราะทำให้คนรายได้ปานกลางมีศักยภาพการออมสูงจะออมน้อยลง กระทบเงินออมทั้งระบบไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร

นอกจากนี้ การไม่บังคับให้กองทุน SSF ลงทุนในหุ้น มีแนวโน้มที่คนส่วนใหญ่จะเลือกลงทุนในกองทุนประเภทเสี่ยงต่ำ จะทำให้ผลตอบแทนต่ำ อาจทำให้รายได้หลังเกษียณไม่เพียงพอ

ด้านวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บัวหลวง ให้ความเห็นว่า กลุ่มชนชั้นล่างมีรายได้ไม่มากพอที่จะนำมาออม ขณะที่เด็กจบใหม่เพิ่งทำงานยังมีรายได้น้อยและมีหนี้เยอะ สิ่งที่น่ากังวลคือ เมื่อไม่มี LTF จะทำให้การออมระยะยาวหดตัวหรือไม่

ส่วนประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด ระบุว่า หากเทียบกองทุน SSF กับ LTF ต้องบอกว่าไม่ได้ดีเท่าเดิม แต่ก็ดีกว่าไม่มี คาดว่าในปี 2563 เม็ดเงินจากกองทุนใหม่ไหลเข้าตลาดทุนจะน้อยลงกว่าเดิมเหลือเพียง 2-3 หมื่นล้านบาท

จากปกติ 6 หมื่นล้านบาท

 

ฟังความเห็นจากนักวิชาการ เอกชน และความตั้งใจของกระทรวงการคลัง ยังต้องลุ้นว่าจากนี้ไปสถานการณ์การออมของคนไทยจะเป็นอย่างไร กองทุน SSF จะช่วยทำให้เงินออมของคนไทยเพิ่มขึ้นจนสามารถรับมือกับสังคมผู้สูงอายุมากน้อยแค่ไหน

แต่เท่าที่ประเมิน ยังน่าห่วงว่าในอนาคตงบประมาณของรัฐอาจไม่เพียงพอ

และกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว

            ที่คนรุ่นลูกรุ่นหลานต้องมานั่งแก้ไขกันต่อไปหรือไม่