การโหม่งบอลกับปัญหาสมองเสื่อม!?!

เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันมายาวนานในวงการฟุตบอลว่า การกระทบกระเทือนหรือกระแทกที่บริเวณศีรษะอย่างสม่ำเสมอนั้นอาจส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บที่สมองในอนาคต

แต่กระนั้นก็ยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่ไม่มีหลักฐานทางวิชาการใดๆ มารองรับ

กระทั่งล่าสุด นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน และมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ของสหราชอาณาจักร ได้ร่วมกันวิจัยในประเด็นดังกล่าวอย่างจริงๆ จังๆ เป็นครั้งแรก

และตีพิมพ์ผลการศึกษาผ่านทางวารสารการแพทย์ด้านระบบประสาท “แอคตา นิวโรพาโธโลจิกา” เมื่อเร็วๆ นี้

ผลวิจัยพบว่า นักฟุตบอลอาชีพที่โหม่งลูกบ่อยๆ ระหว่างแข่งขัน โดยเฉพาะลูกบอลที่มีน้ำหนักมาก มีโอกาสที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมเมื่อแก่ตัวลงมากกว่าคนทั่วๆ ไป

อย่างไรก็ตาม คนที่เล่นฟุตบอลเป็นงานอดิเรก หรือไม่ได้เตะจริงจัง ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวแต่อย่างใด

 

ก่อนจะมาถึงบทสรุปดังกล่าวนั้น ผู้วิจัยได้วิเคราะห์ระบบประสาทและสมองของอดีตนักฟุตบอลอาชีพ 5 ราย และนักฟุตบอลสมัครเล่นที่เล่นฟุตบอลอย่างสม่ำเสมออีก 1 รายภายหลังจากทั้งหมดเสียชีวิตไปแล้ว โดยเฉลี่ยแล้วทั้ง 6 คนเล่นฟุตบอลมานาน 26 ปี และทุกคนต่างมีอาการสมองเสื่อมเมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 60 ปีทั้งสิ้น

ผลการชันสูตรศพพบว่ามี 4 รายที่สมองมีอาการบอบช้ำจากอาการที่เรียกว่า “Chronic traumatic encephalopathy” หรือ “CTE” ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับอาการสมองเสื่อม ความทรงจำขาดหาย และอาการซึมเศร้า พบในกีฬาปะทะประเภท อย่างอเมริกันฟุตบอล, รักบี้ฟุตบอล, มวยสากล, ฮอกกี้น้ำแข็ง, มวยปล้ำอาชีพ, ฟุตบอล และอีกหลายกีฬา

“ศาสตราจารย์ฮิว มอร์ริส” แห่งมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน เผยว่า ผลการชันสูตรศพอดีตนักฟุตบอล 4 รายที่มีอาการ CTE พบว่าสภาพสมองของกลุ่มตัวอย่างเหล่านี้มีความเปลี่ยนแปลงคล้ายๆ กับสมองของอดีตนักมวยอาชีพซึ่งได้รับการกระทบกระเทือนที่สมองอย่างต่อเนื่อง

แสดงให้เห็นว่าอาการเหล่านี้น่าจะนำไปสู่การเกิดของโรคสมองเสื่อมได้

 

ใครที่ชมภาพยนตร์เรื่อง “Concussion” นำแสดงโดย “วิล สมิธ” เมื่อปีที่แล้วน่าจะพอคุ้นเคยกับศัพท์คำนี้ไม่มากก็น้อย โดย Concussion กล่าวถึง “ดร.เบนเน็ต โอมาลู” นักประสาทพยาธิวิทยาชาวอเมริกันเชื้อสายไนจีเรียซึ่งศึกษาการเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาของ “ไมก์ เว็บสเตอร์” อดีตนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลดีกรีแชมป์ซูเปอร์โบว์ล 4 สมัย ซึ่งเสียชีวิตในปี 2002 ขณะอายุได้ 50 ปี

ดร.โอมาลูพบว่าเว็บสเตอร์มีอาการสมองช้ำหรือ CTE เพราะได้รับการกระทบกระเทือน (concussion) บ่อยครั้งสมัยเป็นนักกีฬา จนนำไปสู่การถกเถียงเรื่องมาตรการความปลอดภัยในลีกอเมริกันฟุตบอลเอ็นเอฟแอลเพื่อป้องกันปัญหาโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ที่จะตามมาในภายหลัง

ว่ากันว่าความตื่นตัวดังกล่าวไม่วายโดนปฏิเสธหรือลดโทนความรุนแรงให้เบาบางลงโดยกลุ่มผู้บริหารเอ็นเอฟแอลที่ไม่อยากยอมรับความจริงและไม่ต้องการให้ภาพกีฬายอดฮิตของพวกเขาต้องอยู่คู่กับความอันตราย ก่อนจะค่อยๆ เสียงอ่อยลงจนเกิดมาตรการป้องกันมากมาย

รวมถึงการจ่ายเงินชดเชยให้อดีตนักกีฬาที่มีปัญหาสุขภาพจากการแข่งขัน ในช่วงหลายปีให้หลัง

 

วงการฟุตบอลเองก็มีกรณีตัวอย่างที่คล้ายคลึงกับ ไมก์ เว็บสเตอร์ คือ “เจฟฟ์ แอสเทิล” ตำนานแข้ง “เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน” ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นจอมโหม่งคนหนึ่งของวงการ ในยุคที่ลูกบอลยังทำจากหนังหนักๆ

หลังจากแอสเทิลเสียชีวิตด้วยวัย 59 ปี เมื่อปี 2002 ครอบครัวของเขาก็ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ “สมาคมฟุตบอลอังกฤษ (เอฟเอ)” และ “สมาคมนักฟุตบอลอาชีพอังกฤษ (พีเอฟเอ)” ศึกษาเรื่องผลกระทบของการโหม่งบอลต่ออาการสมองเสื่อมอย่างจริงจัง เพราะเชื่อว่าปัญหาอาการทางสมองที่แอสเทิลเผชิญในช่วงบั้นปลายมีสาเหตุมาจากเรื่องนี้

“ลาเรน” ภรรยาหม้ายของแอสเทิลกล่าวว่า สิ่งที่ครอบครัวต้องการคือการให้เอฟเอยอมรับและมีคำเตือนถึงผู้เล่นว่ากีฬาฟุตบอลมีอันตรายแฝง เหมือนที่ข้างกล่องบุหรี่จะมีข้อมูลผลเสียของการสูบบุหรี่ระบุไว้

พร้อมเรียกร้องให้ครอบครัวของนักเตะอาชีพบริจาคสมองของพวกเขาเพื่อการวิจัย เหมือนที่ครอบครัวนักอเมริกันฟุตบอลบริจาคสมองจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับการกระทบกระเทือนสมองในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม “ดร.เดวิด เรย์โนลด์ส” แห่งศูนย์วิจัยอัลไซเมอร์แห่งสหราชอาณาจักรชี้ว่า แม้จะเริ่มมีงานวิจัยมารองรับเกี่ยวกับผลกระทบของการโหม่งลูกฟุตบอลแล้ว แต่ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า กีฬาฟุตบอลส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว

เพราะอาการสมองเสื่อมนั้นมีสาเหตุค่อนข้างซับซ้อน และเกิดจากปัจจัยหลายอย่างรวมกัน ทั้งอายุ ไลฟ์สไตล์ และยีน

ผู้วิจัยจึงจำเป็นต้องศึกษาให้ลึกลงไปว่านักฟุตบอลเหล่านี้ใช้ชีวิตอย่างไร เป็นการกระตุ้นให้เกิดอาการเหล่านี้ตามมาหรือไม่

ขณะที่ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนและมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ก็ยอมรับว่า ผลวิจัยล่าสุดนี้ยังไม่รวมถึงความเป็นไปได้เรื่องการกระทบกระเทือนทางสมองตั้งแต่วัยเด็ก และยังเป็นแค่งานวิจัยแรกที่ต้องต่อยอดและขยายผลให้ตรงประเด็นและเพิ่มเติมกลุ่มตัวอย่างให้มากขึ้น

แต่อย่างน้อยนี่ก็ถือว่าเป็น “ก้าวแรก” ก้าวสำคัญเพื่อผลประโยชน์โดยส่วนรวมของคนรักกีฬาลูกหนังในอนาคต