“โมโตจีพี” บางคนมองเป็นอึ บางคนว่าเป็นทอง

ประเทศไทยกำลังมีความสนใจที่จะจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก หรือ” “โมโตจีพี”” ในปีหน้า หรืออาจจะไม่ใช่แค่สนใจ แต่กำลังเดินหน้าเสนอตัวเลยก็ว่าได้

คณะกรรมการกีฬาอาชีพได้มีการผลักดันให้ประเทศไทยขอจัดการแข่งขันโมโตจีพีอย่างเป็นทางการ โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณอยู่ที่ 400 ล้านบาท ซึ่งได้ทำเรื่องเตรียมเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งจะใช้เงินของรัฐบาล 100 ล้านบาท เป็นงบประมาณจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และส่วนที่เหลือจะใช้งบฯ จากภาคเอกชน

อย่างไรก็ตาม มีเสียงโต้แย้งจาก “เสธ.ยอด” “พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย” ประธานสหพันธ์สมาคมกีฬาชาติ (ฟอนซา) ที่ให้เหตุผลว่า การจะนำเงินจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติมาใช้ในการจัดครั้งนี้ผิดวัตถุประสงค์ของกองทุน ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อพัฒนากีฬาของประเทศไทย

และโมโตจีพี เป็นอีเวนต์กีฬา ไม่ใช่การพัฒนาแต่อย่างใด

ยิ่งไปกว่านั้น การจัดอีเวนต์กีฬาใหญ่ๆ ของไทยหลายครั้งก็ขาดทุน ล้มเหลวทั้งยอดรายได้และจำนวนผู้ชม

ซึ่ง เสธ.ยอดยกตัวอย่างการเป็นเจ้าภาพกีฬาเอเชี่ยนบีชเกมส์ ครั้งที่ 4 ที่ จ.ภูเก็ต เมื่อ 3 ปีที่แล้ว

“ถ้ามีการอนุมัติงบประมาณจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติให้จัดโมโตจีพี ฟอนซามีมติแล้วว่าจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อแสดงออกว่าไม่เห็นด้วย เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยล้มเหลวกับเรื่องรายได้และผู้ชมในการจัดแข่งขันรายการแบบนี้ เอเชี่ยนบีชเกมส์ลงทุนไป 200 ล้านบาท แต่กลับไม่ได้อะไรเลย จึงควรใช้งบประมาณในการพัฒนากีฬาจริงๆ จะดีกว่า”

เสธ.ยอดกล่าว

จากข้อโต้แย้งของฟอนซาที่ส่งเสียงออกมา ถือว่ารับฟังได้ เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้วเงินในกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติไม่สามารถนำมาสนับสนุนโมโตจีพีได้ และถ้าทำถือว่าผิดกฎหมาย ถึงแม้ว่าคีย์แมนกีฬาไทยหลายคนจะเห็นด้วย แต่ก็ไม่สามารถใช้งบฯ ตรงจุดนี้ได้

“พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร” รองนายกรัฐมนตรี ยินดีที่จะให้การสนับสนุนในการจัดแข่งขันรายการนี้ แต่เมื่อไม่สามารถใช้เงินจากกองทุนได้จึงขอให้สำนักงบประมาณกลั่นกรองเพื่อหาทางออกว่า จะใช้เงินจากส่วนไหนของรัฐบาลมาร่วมจัดโมโตจีพีแล้วไม่ผิดกฎหมายบ้าง

“ผมมองว่าเงินที่เราจะลงทุน 400 ล้าน ไม่ได้เป็นการเอาเงินไปให้ฝรั่งเฉยๆ แต่พวกเขาจะต้องมาจ้างงานคนไทยในพื้นที่นั้นๆ ในการเตรียมการเรื่องต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าจะสร้างงานและสร้างเงินให้กับคนบริเวณรอบสนามแข่งขันนั้นอย่างมากมาย” พล.อ.ธนะศักดิ์กล่าว

ประเทศไทยมีสนามที่มีความพร้อมในการรองรับโมโตจีพี หรือแม้แต่ระดับรถยนต์สูตรหนึ่งชิงแชมป์โลก “ฟอร์มูล่าวัน” คือ ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ อยู่แล้ว

 

“บิ๊กเน” “เนวิน ชิดชอบ” ประธานบริษัท ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต แสดงความคิดเห็นในเรื่องงบประมาณที่ติดขัดว่า การลงทุน 100 ล้านบาทของรัฐบาลเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของเงินทั้งหมด ซึ่งจะสามารถดึงเอาเม็ดเงินกลับเข้าประเทศได้กว่าหมื่นล้านบาท รวมทั้งสามารถสร้างแบรนด์ในเรื่องมอเตอร์สปอร์ตให้กับประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

“คนที่คัดค้านคือคนที่ไม่เคยดูโมโตจีพี ถึงแม้ว่าบุรีรัมย์จะไม่มีที่พักเพียงพอรับรองคนจำนวนมหาศาล แต่จังหวัดรอบๆ ก็ยังมี แสดงให้เห็นว่าประโยชน์ที่ได้เป็นวงกว้าง ได้ทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่บุรีรัมย์ แล้วยังส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยได้ด้วย หวังว่าสติปัญญาของบางคนจะเกิดขึ้นก่อนเดือนเมษายน” เนวินกล่าว

ที่ว่าต้องเป็นเดือนเมษายนเพราะเป็นเดดไลน์ของการเสนอตัวในการเป็นเจ้าภาพนั่นเอง!

 

สําหรับโมโตจีพี ฤดูกาล 2017 แข่งขันทั้งสิ้น 18 สนาม กระจายในยุโรปถึง 12 สนาม เอเชีย 3 สนาม คือ กาตาร์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย นอกจากนั้นก็ไปที่ออสเตรเลีย อาร์เจนตินา สหรัฐอเมริกา อย่างละ 1 สนาม

มาเลเซียนั้นจัดการแข่งขันมาตั้งแต่ปี 1991 แล้ว และเพิ่งต่อสัญญาออกไปอีก 5 ปี ระหว่างปี 2017-2021 ซึ่งมาเลเซียเลือกที่จะตัดการจัดเอฟวันที่เซปัง เซอร์กิตออกไป แต่ยังคงโมโตจีพีเอาไว้ ด้วยเหตุผลที่ “ไครี่ จามาลุดดิน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเยาวชนและกีฬาของแดนเสือเหลืองบอกไว้ว่า เอฟวันลงทุนแพงเกินไป และได้รายได้กลับมาน้อยกว่าที่ควรจะเป็น โมโตจีพีลงทุนน้อยกว่า แต่ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อินโดนีเซียก็เตรียมเสนอตัวขอเป็นเจ้าภาพแล้วด้วย

มีการมองไปถึงขั้นว่าถ้าโมโตจีพีมาแข่งขันที่ไทย ซึ่งน่าจะเป็นการเพิ่มโปรแกรมแข่งขันจากเดิม 18 รายการในปีนี้ เป็น 19 รายการในปีหน้า จะทำให้มี 4 สนามในโซนเอเชีย/แปซิฟิกแข่งขันติดต่อกันในช่วงท้ายๆ ของฤดูกาล เพราะตลอดเดือนตุลาคมจะแข่งขันกันในโซนนี้

โปรแกรมแข่งขันของปีนี้ 15 ตุลาคม “โมตุล กรังด์ปรีซ์ เจแปน” ที่ญี่ปุ่น 22 ตุลาคม “ออสเตรเลียน มอเตอร์ไซเคิล กรังด์ปรีซ์ ที่ออสเตรเลีย” และ 29 ตุลาคม “เชลล์ มาเลเซียน มอเตอร์ไซเคิล กรังด์ปรีซ์” ที่มาเลเซีย และจะมีการแทรกรายการที่ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิตเข้าไปในช่วงนี้

ความคุ้มค่าของการจัดโมโตจีพีถือว่าเป็นความหอมหวาน ออสเตรเลียน มอเตอร์ไซเคิล กรังด์ปรีซ์ ที่จัดขึ้นที่ฟิลลิป ไอส์แลนด์ เพิ่งต่อสัญญาจัดแข่งขันออกไปถึง 10 ปี ยาวไปจนถึงปี 2027 เพราะปีที่แล้วมีแฟนความเร็วแห่แหนมาชมการแข่งขันกว่า 85,000 คน

สร้างรายได้หมุนเวียนในรัฐวิกตอเรียของออสเตรเลียถึง 48.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1,300 ล้านบาท ในเวลาเพียงไม่กี่วัน

 

การจะนำเงิน 100 ล้านบาทออกมาเพื่อเป็นการเซ็นสัญญาเพื่อถือครองลิขสิทธิ์โมโตจีพีสำหรับคนไทยนั้นอาจจะไม่ใช่เงินที่จ่ายไม่ได้ เพราะเมื่อดูความคุ้มค่าและกระแสของการแข่งขันรายการนี้แล้วถือว่าน่าลอง เพราะน่าจะตอบแทนเจ้าภาพอย่างคุ้มค่า หลายชาติทะเยอทะยานกันขอจัด และบางประเทศมีสนามแข่งขันที่ได้มาตรฐานของสหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ (เอฟไอเอ) อยู่หลายแห่ง ยังต้องแย่งชิงกันเพื่อให้โมโตจีพีมาลงในสนามของตัวเองให้ได้

ยิ่งการมีสนามที่พร้อมจัดอยู่ที่บุรีรัมย์แล้ว การลงทุนในเรื่องของการสร้างสนามก็ไม่ต้องทำ การสร้างงานและหมุนเวียนเงินให้กับคนในพื้นที่ก็เป็นเหตุผลที่น่าจะสนับสนุน ถึงขั้นที่รองนายกฯ ธนะศักดิ์ออกปากว่า ถ้ารีบเซ็นสัญญาได้ก็อยากจะรีบทำ เพราะองค์กรระดับนี้ถ้าลองสนใจจะมาให้ไทยเป็นเจ้าภาพแล้วปฏิเสธไป คราวหลังไปง้อให้เขากลับมาก็คงเป็นไปไม่ได้แล้ว

ไทยพยายามเดินหน้าขอจัดเอฟวันมาก่อนหน้านี้ และติดปัญหาทั้งเรื่องสนามแข่งขัน (ที่วางไว้ที่ ถ.ราชดำเนิน) จนต้องวางแผนสร้างใหม่ รวมทั้งงบประมาณที่ใช้สูงกว่าโมโตจีพี 3-4 เท่า

และสุดท้ายก็กลายเป็นหมัน ปล่อยให้ฝันกลางวันลมๆ แล้งๆ

แต่นี่สิ่งที่จับต้องได้อยู่ใกล้มือแล้ว และดูเหมือนว่าจะได้มากกว่าเสียซะด้วย เนื่องจากมีตัวอย่างให้เห็นกันมาแล้ว ยังไงลองดูหน่อยไหม ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันสร้างสรรค์

ไม่ใช่เอาแต่ค้าน แล้วไม่ช่วยกันหาทางออก แบบนี้เขาเรียก มือไม่พายเอาเท้าราน้ำจ้า