จัตวา กลิ่นสุนทร : การแข่งขันของหนังสือพิมพ์ในยุครัฐบาลทหาร

เก็บของเก่า เล่าเรื่อง สำนักงาน “หนังสือพิมพ์” (สยามรัฐ) ริมถนนราชดำเนิน (7)

บ้านเมืองของเราถูกปกครองโดย “ทหาร” (ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง) ต่อไปเรื่อยๆ เมื่อ “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” (ถึงแก่กรรม) ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอำนาจโดยเฉพาะ “กองทัพ” ให้ขึ้นเป็น “นายกรัฐมนตรี” (คนที่ 16)

จำเป็นที่พรรคการเมืองในประเทศไทยส่วนใหญ่ย่อมต้องให้การสนับสนุนรัฐบาล เช่นเดียวกับพรรค “กิจสังคม” ซึ่งมีท่านอาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี (คนที่ 13) ยังยืนตระหง่าน เป็น “หัวหน้าพรรค” ได้ส่งเฉพาะสมาชิกระดับหัวแถวเข้าร่วมกับรัฐบาล “เปรม 1” ด้วย

ดูตามสภาพรัฐบาล “เปรม 1” ย่อมต้องเสถียรภาพมั่นคง จำนวนมือผู้แทนฯ ก็เป็นเสียงข้างมาก ทหารที่เรียกว่ากลุ่ม “ยังเติร์ก” ซึ่งคุมกำลังส่วนมากใหญ่ “กองทัพ” เป็นกำแพงเหล็กให้การสนับสนุน ไม่นับสถาบันอื่นๆ รวมทั้งกลุ่มทุนชั้นนำในประเทศ

รัฐบาลซึ่ง “นายกรัฐมนตรี” เป็น “ทหาร” ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่รูปแบบของรัฐบาลทำท่าคล้ายเป็น “ประชาธิปไตย” ซึ่งสมัครใจเรียกกันว่า “ประชาธิปไตย” แบบไทยๆ

 

เริ่มฝันกันไปไกลว่าประเทศนี้จะปลอดการ “ปฏิวัติ รัฐประหาร” เสียที พล.อ.เปรมท่านชิงชังการปฏิวัติ รัฐบาลน่าจะมีเสถียรภาพมั่นคงจากจำนวนมือในสภาที่สนับสนุน แต่ไม่ทันไรก็เกิดการ “ขัดแย้ง” กันขึ้นระหว่างพรรคร่วมรัฐรัฐบาล คือพรรค “กิจสังคม” กับพรรค “ชาติไทย”

พรรค “กิจสังคม” ถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาล แม้จะยังไม่แสดงท่าทีว่าจะคัดค้านอย่างเต็มสูบ แต่ในเวลาต่อมาก็เป็นฝ่ายค้าน ดังที่ทราบแล้วว่า เมื่อพรรคนี้เป็น “ฝ่ายค้าน” ย่อมมีศักยภาพค่อนข้างสูง

หัวหน้าพรรคซึ่งมีความรู้ความสามารถ เขี้ยวเล็บแหลมคม อ่านเกมการเมืองของประเทศที่เป็น “ประชาธิปไตย” แบบไทยๆ อย่างทะลุปรุโปร่ง รู้ตื้นลึกหนาบาง เข้าใจการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อยู่ในระดับหัวแถวของบ้านเมือง

และท่านมีเครื่องมืออย่างสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือพิมพ์สยามรัฐ เป็นเวทีสำหรับวิพากษ์วิจารณ์ ถึงโจมตีฟาดฟันสาดใส่ เมื่อเห็นว่ารัฐบาลจะแตกแถวออกนอกแนวทางของระบอบการปกครอง

 

หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” แรกเริ่มเดิมทีก่อตั้งรัฐบาล “เปรม 1” เราก็ทำท่าว่าคงจะหงอยเหงาทำงานกันไม่เต็มไม้เต็มมือ

แต่เมื่อพรรค “กิจสังคม” ถอยออกมายืนฟากฝ่ายค้าน พร้อมทั้งอาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ประกาศว่าจะเลิกอุ้ม (ป๋า) พล.อ.เปรม– “ผม (ปล่อย) ทิ้ง พล.อ.เปรมลงจากเอวแล้ว–”

นอกจากทำงานอยู่ฟากฝ่ายค้านตามถนัดแล้ว “สยามรัฐ” ทั้ง 2 ฉบับพยายามจัดการปรับปรุงหลายสิ่งหลายอย่างทั้งรูปแบบ และทีมงานให้ทำงานอย่างสดชื่นแจ่มใส ซึ่งหมายถึงความอยู่รอดอย่างพอเพียงของคนหนังสือพิมพ์ พยายามเสริมความแข็งแกร่ง เร่งหารายได้จากการโฆษณาเข้ามาเลี้ยงดูช่วยเหลือรายได้จากการขายแต่หนังสือพิมพ์

อาหารเสริมอีกอย่างซึ่งกองจัดการพยายามมุ่งเน้นหาเข้าบริษัท สยามรัฐ จำกัด คือ “ผลงานประพันธ์” หรือ “ข้อเขียน” ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น เรื่องยาว บทความ

แม้กระทั่งการจากคอลัมน์การตอบปัญหาประจำวันของอาจารย์คึกฤทธิ์ ซึ่งได้ถูกใครต่อใครขอไปจัดพิมพ์เผยแพร่หารายได้เป็นการกุศล หรือหลงเข้าพกเข้าห่อของผู้ขอเสียเอง บางทีถูกขายลิขสิทธิ์กระจัดกระจายหายไป

กองจัดการได้นำบทประพันธ์เหล่านี้มาจัดพิมพ์ขึ้นใหม่เพื่อจำหน่าย ซึ่งก็เท่ากับเป็นการหยิบฉวยความคิดตัดหน้ากองบรรณาธิการ ซึ่งตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะนำผลงานของท่านมาจัดพิมพ์เพื่อหารายได้เป็นสินทรัพย์ของบริษัท

เมื่อพวกเราพยายามจะนำเอา “บริษัท สยามรัฐ จำกัด” เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ พร้อมตั้งเป้าต่อไปจะเกิด “สำนักพิมพ์” อันทันสมัย ซึ่งมิได้เพียงแต่พิมพ์ผลงานของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เท่านั้น (จะทำธุรกิจสิ่งพิมพ์) เพื่อเสนอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ความคิดเงียบๆ นี้เป็นที่รู้ๆ กันในระดับผู้บริหาร พนักงานกลุ่มหนึ่งที่ต้องการให้หนังสือพิมพ์สยามรัฐเดินหน้าต่อไป โดยไม่ต้องเอาแต่พึ่งพาทรัพย์สินส่วนตัวของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เท่านั้น เนื่องจากมีความรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ ในตอนสิ้นปีทุกๆ ปี เมื่อมีการพิจารณาเพิ่มรายได้ให้พนักงาน

กระทั่งบางครั้งพนักงานต้องการได้รับรางวัลพิเศษกันบ้าง ที่สำคัญที่สุดต้องการทำงานในบริษัทที่ดีมีอนาคต

แต่ความคิดนี้ได้ถูกนำเอาไปดำเนินการเสียก่อน

 

เชื่อว่านโยบายดังกล่าว บริษัทที่ดำเนินการเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งต้องพยายามดิ้นรนเพื่อพัฒนาองค์กรจะได้มีกำลังเพื่อเพิ่มพูนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมงาน ช่วยกันสร้างสื่อสิ่งพิมพ์ในแนวทางอุดมการณ์ให้มั่นคงเพื่อรับใช้สังคม คงต้องคิดและตั้งเป้าหมายด้วยกันทั้งนั้น อย่าง “กลุ่มมติชน” ทั้งระบบได้กลายเป็น “บริษัทมหาชน” ในอีกประมาณ 10 ปีต่อมา–

สภาพเศรษฐกิจของบ้านเมืองในช่วงเวลาเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา มิได้มีขนาดใหญ่โตอย่างปัจจุบัน จำนวนประชากรยังไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่าทุกวันนี้ บริษัทห้างร้านดูเหมือนจะเป็นที่รู้ๆ กันอยู่ว่าไม่ใหญ่โต ทำธุรกิจหลากหลายกว้างขวางเหมือนอย่างเวลาต่อๆ มา เพราะฉะนั้น การขายพื้นที่โฆษณาจึงค่อนข้างยาก

หนังสือพิมพ์รายวัน ซึ่งรู้จักกันเป็นอย่างดีจนกระทั่งทุกวันนี้ ซึ่งก็ต้องถึงเวลาเปลี่ยนแปลงร่วงโรยไปบ้างตามสภาพความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี สื่อดิจิตอล ออนไลน์ การโฆษณาสื่อสารในอินสตาแกรม และ ฯลฯ

แต่ช่วงเวลาที่กล่าวถึง เขาสามารถอยู่ได้ด้วยยอดจำหน่ายที่สูงลิ่ว พร้อมกวาดเอาโฆษณาจากบริษัทเท่าที่มีอยู่ในตลาดไปรวมตัวกันในสื่อขนาดใหญ่เกือบทั้งหมด

 

คงไม่ลืมกันว่า หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐรายวัน” เกิดขึ้นด้วยเจตนารมณ์อะไร? เพื่อเทิดทูนชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และต่อสู้กับ “เผด็จการทหาร” พร้อมพัฒนา “ประชาธิปไตย”

แรกทีเดียวเป็นรูปแบบหนังสือพิมพ์ “กรอบบ่าย” ออกวางแผงประมาณ 10 โมงครึ่งถึง 11 โมงเช้าทุกวัน (เว้นวันอาทิตย์) ไม่สนใจการเสนอข่าวอย่างรวดเร็วทันทีทันใด นอกจาก “คอลัมน์” ต่างๆ บทความวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาล ทั้งโจมตีชี้แนะเมื่อเห็นว่าจะผิดเพี้ยนออกนอกลู่นอกทาง ทั้งหยิกแกมหยอกแบบเป็นยามเฝ้าระวัง ฯลฯ

ยกตัวอย่างเสมอๆ ว่า สมมุติว่าเกิดการ “รัฐประหาร” ขึ้นในตอนค่ำ วันรุ่งขึ้นตอนเช้าตรู่หนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ จะพาดหัวว่า “นายพลนั่น–นี่? นำกำลังทหารจาก–กองพล? เข้ายึดอำนาจรัฐบาล?” ส่วนหนังสือพิมพ์สยามรัฐ จะเสร็จออกวางแผงตอนสายๆ โดยการพาดหัวข่าวล้ำหน้าไปอีกนิดหน่อยว่า การยึดอำนาจ–รัฐประหารครั้งนี้ ใครเป็นคนวางแผนอยู่เบื้องหลัง–? ประมาณนั้น

แต่ในวันรุ่งขึ้น บทความความคิดเห็นของคอลัมนิสต์มืออาชีพ นักหนังสือพิมพ์อาวุโสซึ่งอ่านการเมืองการทหารทะลุถึงรากเหง้า รวมทั้งเจ้าสำนักอย่างอาจารย์คึกฤทธิ์จะวิเคราะห์เจาะลึกถึงเบื้องหลังที่มา–ที่ไป ไม่ว่าจะเป็นแหล่งเงินทุน–ปฏิวัติ ใครให้การสนับสนุน–แล้วใครจะได้เป็นใหญ่เป็นโต จะคิดการณ์อะไรกันต่อไป ชาติบ้านเมืองไปรอดหรือไม่ ? ประชาธิปไตยจะถูกดองต่อไปอีกกี่ปี???

หนังสือพิมพ์กรอบบ่ายย่อมต้องโรยราพ่ายแพ้ไปกับการเจริญเติบโตของขบวนการผลิตอันรวดเร็ว รวมทั้งการเพิ่มของหนังสือพิมพ์รายวันเป็นสองกรอบ

แปลว่าหนังสือพิมพ์ฉบับเช้าออกวางตลาดได้สักพัก ก็จะติดตามมาในฉบับวันรุ่งขึ้นโดยเปลี่ยนแปลงพาดหัวข่าว และอื่นๆ นิดหน่อยพร้อมลงวันที่ล่วงหน้า

แต่คนรุ่นปัจจุบันก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้ไปหมดแล้ว เพราะทุกคนเป็นผู้สื่อข่าว มีกล้องติดตัว และการรายงานข่าวอย่างรวดเร็วด้วย “โทรศัพท์มือถือ” เพียงเครื่องเดียว

 

รัฐบาลผสมของ พล.อ.เปรม บริหารประเทศท่ามกลางความปั่นป่วนเรื่อง “เศรษฐกิจ” ทั้ง “น้ำมัน” และ “น้ำตาล” ขาดแคลน ราคาจึงพุ่งสูงขึ้น รวมทั้งหาซื้อยาก พรรคกิจสังคมซึ่งรับผิดชอบเรื่องเศรษฐกิจจึงต้องถอนตัวออกไป

รัฐบาลเปรม 1 มีอายุประมาณ 1 ปี มีความจำเป็นต้องปรับ “คณะรัฐมนตรี” โดยมีคนนอกเข้าร่วมรัฐบาลอีกหลายท่าน โดยรัฐมนตรีสำคัญๆ ส่วนหนึ่งเป็น (เพื่อน) โควต้าของ (ป๋า) พล.อ.เปรม ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นประเด็น เป็นภาระกับรัฐบาล “เปรม 2”

ท่าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มีบุคลิกสงบนิ่ง ไม่ชอบการให้สัมภาษณ์ แต่จะพยายามบอกให้นักข่าวกลับบ้าน (เถอะลูก) เสมอๆ ยากจะล้วงลึกเจาะหาข่าวให้หลุดออกมาจากปากได้ง่ายๆ

หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” จึงต้องปรับเปลี่ยนการทำข่าว “ผู้สื่อข่าว”–เพื่อติดตามรัฐบาล “เปรม 2” และต้องคอยชำเลืองคอลัมน์ “ซอยสวนพลู” ของ “อาจารย์คึกฤทธิ์” ตลอดเวลา