สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ภาคีเชียงใหม่ฯ สะท้อนคิด (2)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

รายการ กพฐ.สัญจร 2 เริ่มด้วยเวทีชิมก่อนช้อป รับฟังแนวคิด ความก้าวหน้า ผลการดำเนินงานของภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา ก่อนศึกษาดูงานการศึกษาพิเศษในเขตนวัตกรรมการศึกษาเชียงใหม่

การศึกษาพิเศษเพื่อคนพิเศษเป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรมการศึกษา หรือไม่ก็แล้วแต่ นักการศึกษาล้านนาพูดตรงกันว่า พวกเขาทำกันมาก่อนแล้ว ทำมานานแล้ว ทำด้วยใจเพื่อคนพิเศษจริงๆ

เพียงแต่วาดหวังว่าเขตนวัตกรรมการศึกษาที่เกิดขึ้นจะเป็นตัวช่วยทำให้งานราบรื่นก้าวหน้ายิ่งขึ้น

หลังนายสุมน มอนไข่ ผอ.โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่ ผู้แทน ผอ.สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ. กล่าวต้อนรับทุกคน และเชิญกรรมการภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา นายเจริญ วงษ์ษายะ นายฉัตรชัย เรืองมณี และนายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ขึ้นเวทีเล่าสู่กันฟังแบบเป็นกันเอง

 

ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษามี ดร.อรรณพ พงษ์วาท อดีตคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธาน มีนายไพรัช ใหม่ชมพู รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่เป็นเลขาธิการ กรรมการมาจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาชน พระสงฆ์และภูมิปัญญชุมชน วัตถุประสงค์ก็เพื่อปฏิรูปการศึกษาของเชียงใหม่

“ที่ผ่านมาเฮาพบว่า ปัญหาการศึกษาหมักหมมมานานเช่นเดียวกับทุกที่ ทุกจังหวัด รับรู้แล้วว่ามีปัญหา ถามว่าแล้วแก้ได้ไหม ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ภาคีกำเนิดขึ้นขณะที่มี สพฐ. มี กพฐ. มีกระทรวง เราไปล้ำหน้าเขาไหม เราเข้ามารวมกันด้วยความเป็นจิตอาสา”

“คนเชียงใหม่ 2 ล้านคน นักเรียน 4 แสนคนมีปัญหาหลายเรื่องทุโภชนา กลุ่มชาติพันธุ์ เด็กเร่ร่อน การศึกษาในระบบอย่างเดียวเป็นไปไม่ได้ คนกลุ่มต่างๆ จึงก่อตัวกัน ท่านไพรัชเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง เห็นความจำเป็นต้องร่วมกัน 99 องค์กร 26 ผู้ทรงคุณวุฒิ เอาปัญหาที่ตกผลึก เรื่องเด็ก เรื่องไอซีที เรื่องการมีงานทำ บริหารจัดการเพื่อบรรลุ Eduction For All All for education ให้ได้”

“ภาคีเป็นองค์กรแนวราบ มีแต่สำนักเลขาฯ ประชุมหมุนเวียนไปตามที่ต่างๆ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่บ้าง มหาวิทยาลัยพายัพบ้าง ทำแผนยุทธศาสตร์ 4 ปี เริ่มขับเคลื่อนตั้งแต่ 4 มกราคม ปี 2562 กำลังจะทำแผนใหม่ ภายใต้หลัก 1.ใช้พื้นที่เชียงใหม่เป็นฐาน 2.ทุกคนมีส่วนร่วม 3.เน้นการศึกษาตลอดชีวิต 4.กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการตนเอง มีเป้าหมาย 3 เรื่อง 1.พลเมืองเชียงใหม่รักษ์วัฒนธรรม 2.รักษาวัฒนธรรมภายใต้โลกที่เปลี่ยนแปลง รู้เท่าทัน Digital literacy 3.แสวงสัมมาชีพเพื่อการมีงานทำตั้งแต่เรียน ขับเคลื่อนผสมผสาน งบประมาณดำเนินงานจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด 3 กลุ่มองค์กรภาคี สสค. สสส. มูลนิธิสดศรีสฤษดิ์วงศ์”

“งานที่เราทำ โครงการกองทุนสิบบาท กองบุญคนเชียงใหม่าไม่ทิ้งกัน มูลนิธิสดศรีฯ เอาไปเสนอในที่ประชุมการศึกษาที่ญี่ปุ่น สุราษฎร์ธานีเอาไปดำเนินการ นอกจากนี้ มีมูลนธิครูบาศรีวิชัย เกิดจากบารมีล้วนๆ จึงมีแต่เพิ่มขึ้น จัดหลักสูตรโรงเรียนผู้ปกครอง หลักสูตรรักษ์เชียงใหม่”

“เด็กรู้ว่าสะพานพุทธยอดฟ้าที่กรุงเทพฯ ยาวเท่าไหร่ แต่ไม่รู้ว่าสะพานนวรัตน์เชียงใหม่ยาวเท่าไหร่ น่าคิดไหม ภาคีพยายามทำงานโดยสร้างเครือข่ายระดับอำเภอ ตำบล โดยให้บทบาทโรงเรียนในระบบ”

 

คุณชัชชวาลย์ ผู้ก่อตั้งโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา 2540 เล่าว่า การดำเนินงานมุ่งเน้น

1. สร้างหลักสูตรเพื่อการเรียนรู้ภูมิปัญญา

2. การเรียนรู้ไปประกอบอาชีพ อาชีวะท้องถิ่น

3. สร้างครูภูมิปัญญารุ่นใหม่ สล่าล้านนาที่สะท้อนอัตลักษณ์เชียงใหม่ ที่ผ่านมาสภาการศึกษาแห่งชาติประกาศทุกปีแต่ไม่ได้ทำอะไรต่อ

การศึกษาทางเลือก ตามมาตรา 12 พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 มาตรา 18(3) สถานศึกษาแบบศูนย์การเรียน สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย ยังไม่อยู่ในสาระบบบของ สพฐ. สิทธิตามมาตรา 13 มาตรา 14 โฮมสคูล กฎกระทรวง 6 ฉบับ การจัดตั้งศูนย์การเรียน ล่าช้าเพราะสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามีภาระดูแลโรงเรียนในระบบมาก ไม่มีข้อมูลสถานศึกษา ศูนย์การเรียน ไม่มีรหัสตัวเด็ก ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ 50-60 แห่ง เรียน รด.ไม่ได้ สรรพากรไม่รับรู้ จึงต้องมีกลไกที่เข้าใจศูนย์การเรียน

เชียงใหม่มีเขตพื้นที่การศึกษา 6 เขต บางเขตเข้าใจ บางเขตไม่เข้าใจ สิทธิประโยชน์ควรเท่ากับโรงเรียนตามมาตรา 18(1) (2)

 

ก่อนจบเขาอดสะท้อนคิดถึงแนวทางจัดการโรงเรียนขนาดเล็กไม่ได้ ว่า โรงเรียนขนาดเล็กมีบริบทแตกต่างจากขนาดใหญ่ เด็กมาจากครอบครัวเปราะบาง ต้องอยู่ใกล้ชิดผู้ปกครอง ชุมชนคนที่รักและเข้าใจเขา ได้เรียนรู้ชุมชน ศาสนา วัฒนธรรม รากเหง้าตัวเอง แต่ความช่วยเหลือผันแปรตามเงินอุดหนุนรายหัว ทำให้โรงเรียนใหญ่ก็ใหญ่เพิ่มเกิน เล็กก็ยิ่งเล็กลง ควบรวมแล้วคุณภาพการศึกษาดีขึ้นจริงหรือไม่ ยังไม่ชัดเจน แต่ละที่บริบทไม่เหมือนกัน เด็กมีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ปรับใช้หลักสูตรยืดหยุ่น เป็นโรงเรียนของชุมชน จัดการศึกษาได้หลายแบบ ในระบบ นอกระบบ อัธยาศัยและทางเลือก ตัวอย่างการฝึกสอนโรงเรียนขนาดเล็กไม่สามารถรับนักศึกษาฝึกสอนเพราะไม่มีสภาพเป็นโรงเรียน

ประธาน กพฐ.ชี้แจงว่ามีผลวิจัยธนาคารโลก 2562 โรงเรียนที่ควบรวมได้ทำให้คุณภาพดีกว่าเดิม ส่วนโรงเรียนที่ไม่ควรควบรวมก็อยู่อย่างนั้น ยกตัวอย่างที่จังหวัดสตูล มีเด็ก 5 คนก็ต้องให้อยู่ เพราะหากยุบเด็กไม่มีที่เรียน เด็กด้อยโอกาสควรไปทางอาชีวศึกษาให้มาก จะได้พึ่งพาตนเอง เรียนทวิศึกษา ในแง่เศรษฐกิจต่อไปไม่เป็นภาระกับใคร การฝึกงาน เด็ก ปวช.ควรเปลี่ยนช่วงเวลา เป็นปี 3 เทอมสอง ฝึกเสร็จเด็กจบพอดี

ได้ทำงานต่อเลย

 

เวที กพฐ.พบภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา จบลงด้วยความเข้าใจบทบาท แนวคิด ความมุ่งมั่นของแต่ละฝ่ายที่พยายามทำให้การศึกษาเกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนให้มากที่สุด

ก่อนเปิดเวทีรับฟังนักบริหารการศึกษาพิเศษจาก 3 โรงเรียนในเชียงใหม่ เล่าถึงทิศทางการจัดการศึกษาเพื่อคนพิเศษ หนัก เหนื่อย อย่างไรต่างไม่ย่อท้อเพราะใจยังสู้

เพื่อให้นักเรียนทุกคนมีชีวิตที่ดีกว่า อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขเช่นเดียวกับนักเรียนปกติทั่วไป