แนวทาง Prop Tech ในยุคของการเปลี่ยนแปลงมโหฬารพันลึก

ในยุคของการเปลี่ยนแปลงมโหฬารพันลึกและรวดเร็วเช่นทุกวันนี้ อสังหาริมทรัพย์เองก็คงหนีไม่พ้นการเปลี่ยนแปลงไปได้

10 กว่าปีมานี้ธุรกิจอสังหาฯ เปลี่ยนแปลงกระบวนการก่อสร้าง จากระบบก่ออิฐฉาบปูนด้วยแรงงานคนมาเป็นการก่อสร้างแบบหล่อชิ้นส่วนมาจากโรงงานแล้วนำมาประกอบในสถานที่ก่อสร้างหรือที่เรียกว่าพรีคาสต์

แรงขับดันการเปลี่ยนแปลงนี้ ได้แก่ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานก่อสร้างอย่างหนัก ผลพลอยได้จากการก่อสร้างแบบพรีคาสต์ คือ ความเร็วในการก่อสร้างที่ทำให้รอบหมุนการลงทุนหมุนได้เร็วขึ้น ได้รับผลต่อแทนต่อการลงทุนสูงขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงใหม่เพิ่งก่อตัวขึ้นและเข้ามาถึงธุรกิจอสังหาฯ แล้ว คือการนำเอาเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้ในกระบวนการบริหาร การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การขายและการตลาด การบริการหลังการขาย ฯลฯ ของธุรกิจ

สำหรับธุรกิจอสังหาฯ เรียกว่า Prop Tech

 

หลายปีมานี้แรกเริ่มทีเดียว ธุรกิจอสังหาฯ ใช้เทคโนโลยีดิจิตอลในเรื่องกระบวนการสื่อสารการตลาดก่อน

แต่มาถึงปี 2560 บริษัทอสังหาฯ ชั้นนำหลายรายได้ให้ความสนใจกับเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ บางส่วนสนใจซื้อมาใช้ บางส่วนไปร่วมลงทุน จนกระทั่งการประกาศปรับกระบวนการบริหารงานกระบวนการทำงานเข้าสู่ยุคดิจิตอลทั้งบริษัท

ล่าสุดได้มีการประกาศตัวแสดงจุดยืนทางธุรกิจเกี่ยวกับ Prop Tech กันอย่างครึกโครม ตื่นตาตื่นใจยิ่งกว่าธุรกิจอื่นๆ

วิเคราะห์แนวทางการเข้าสู่ Prop Tech ของบริษัทอสังหาฯ ชั้นนำแล้ว จะเห็น 3 ระดับจุดยืนด้วยกัน

แบบที่ 1 บมจ.อนันดาดีเวลลอปเม้นท์ โดยซีอีโอ ชานนท์ เรืองกฤตยา ประกาศตัวเป็นบริษัท Technology company แบบเต็มๆ จะเป็นผู้สร้างนวัตกรรม ลงทุนนวัตกรรม และซื้อนวัตกรรม เป็นผู้นำเทคโนโลยีการอยู่อาศัยและเมือง ก่อสร้างและตกแต่งสถานที่ทำงานของบริษัทใหม่ ระบบการทำงานใหม่ให้กลายเป็น Ananda Campus

แบบที่ 2 บมจ.แสนสิริ โดยซีอีโอ เศรษฐา ทวีสิน ประกาศจับมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ ตั้ง “สิริ เวนเจอร์” ขึ้นมาเป็นบริษัทที่จะลงทุนกับบรรดาสตาร์ตอัพนักพัฒนาแอพพลิเคชั่น Prop Tech ผู้บริหารแสนสิริ เห็นว่าการลงทุนใน Prop Tech เป็นหนทางการลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีเป็น S curve ใหม่ของบริษัท ขณะเดียวกันก็ได้เทคโนโลยีมาใช้ในการสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่อยู่อาศัยของแสนสิริให้ดียิ่งขึ้น

แบบที่ 3 บมจ.เอสซี.แอสเซ็ท โดยซีอีโอ ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มอสังหาฯ ไทยที่ได้ไปลงทุนกับกลุ่มสตาร์ตอัพเกี่ยวกับ Prop Tech ทั้งต่างประเทศและในประเทศ ได้แสดงจุดยืนว่า บริษัทยังจะเป็นบริษัทที่ทำงานทางด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยเป็นหลัก แต่จะใช้เทคโนโลยีดิจิตอลหรือ Prop Tech ในการค้นหาความต้องการของผู้อยู่อาศัยให้แม่นยำและรวดเร็ว เพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ตอบสนองความต้องการ

และจะใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตของผู้บริโภค

 

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทอสังหาฯ ที่ยังไม่ได้ประกาศตัวเกี่ยวกับ Prop Tech แต่ได้ลงทุนทางด้านเทคโนโลยีหรือลงทุนกับกลุ่มสตาร์ตอัพไปแล้วหลายราย และมีแนวทางหรือการมอบอีกหลายแบบ

และคงไม่จำเป็นต้องชี้ว่าแนวทางไหนดีกว่าแนวทางไหน เพราะหนทางอีกยาวไกล อาจถูกทั้งหมด อาจถูกมากกว่าหรือน้อยกว่า ก็เป็นได้

ที่สำคัญกว่าอื่นใด ผู้ที่พยายามปรับตัวให้เข้ากับอนาคตอย่างไรเสียก็มีโอกาสรอด โอกาสเติบโต

ตรงข้ามถ้าหยุดอยู่กับที่ กระทั่งถอยหลังเข้าคลอง โอกาสรอดจะไม่มีเลยจริงๆ