มหากาพย์จำนำข้าว ยึดทรัพย์ “บุญทรง” 2 หมื่นล้าน ทำไมเรื่องยังไปไม่ถึงไหน?

กลายเป็นหนังเรื่องยาวหลังจากที่ศาลปกครองมีคำสั่งให้ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พร้อมพวก 5 คน “ชดเชย” ค่าเสียหายคดีทุจริตการขายข้าวรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) ให้กับประเทศจีนจำนวน 4 สัญญา ปริมาณข้าว 6.2 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 20,000 ล้านบาท

โดยศาลได้สั่งให้ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นคิดเป็นจำนวนเงิน 1,770 ล้านบาท

นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ 2,300 ล้านบาท

สำหรับ พ.ต.ท.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และ นายอัครพงศ์ ทีปวัชระ (ช่วยเกลี้ยง) ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น นายอัฐฐิติพงศ์ ในฐานะอดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ ต้องชดใช้ค่าเสียหายคนละ 4,000 ล้านบาท

 

ทว่า หลังจากที่ศาลปกครองมีคำสั่งข้างต้น การลงนามในหนังสือคำสั่งทางปกครองและหนังสือแจ้งเตือนการชดใช้ค่าเสียหาย ตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ที่จะต้องถูกส่งไปยังผู้ถูกฟ้องทั้ง 6 คน กลับต้องใช้ระยะเวลาในการ “เซ็น” หนังสือหมดไปมากกว่า 4 เดือน

เป็น 4 เดือนของการ “เกี่ยง” กันไปมาระหว่าง นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับ น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้น

จนสุดท้ายมาลงเอยกันที่นางอภิรดีต้องลงนามในหนังสือคำสั่งฉบับดังกล่าว (เดือนกันยายน) ในฐานะผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

แต่มิวายยังอุตส่าห์มอบอำนาจต่อไปให้กับ น.ส.ชุติมา ลงนามในฐานะที่ได้รับมอบอำนาจจากนางอภิรดี อีกต่อหนึ่ง

กลายเป็นการมอบอำนาจกันไปมาถึง 3 ต่อ สะท้อนให้เห็นว่า แท้จริงแล้วไม่มีใครอยากลงนามในหนังสือฉบับดังกล่าว

แน่นอนว่า นายบุญทรงและพวก ย่อมไม่ยอมรับคำสั่งทางปกครองและเลือกที่จะต่อสู้ด้วยการยื่นร้องต่อศาลปกครอง ขอให้ยกเลิกคำสั่งบังคับทางปกครองกรณีชดใช้ค่าเสียหายทุจริตข้าว G to G และขอให้ทุเลาการบังคับคดีนี้

 

กระทั่งเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศาลปกครองได้มีคำสั่ง “ยกคำร้อง” ไม่ทุเลาการบังคับคดีตามคำร้องของ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์

ส่งผลให้ “เผือกร้อน” ที่ไม่มีใครเต็มใจในคำสั่งทางปกครองต้อง “ย้อนกลับ” มาที่กรมการค้าต่างประเทศ และกรมบังคับคดีอีก ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการดำเนินบังคับคดีเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการขายข้าวระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) กับทั้ง 6 คน ทั้งๆ ที่กระบวนการบังคับคดีควรจะต้องดำเนินการแบบคู่ขนานกันไปกับการยื่นขอทุเลาของฝ่ายนายบุญทรง แต่ทว่าที่ผ่านมาการบังคับคดียังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เลย หรืออาจเรียกได้ว่า ยังไม่เข้าสู่กระบวนการบังคับคดีแม้เวลาจะผ่านมาร่วม 5 เดือนเข้าไปแล้ว

กลายมาเป็นคำถามที่ว่า “ทำไมการดำเนินการบังคับคดีนี้จึงถูกดำเนินการไปอย่างล่าช้า”

มีการตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เป็นเพราะความขัดแย้งระหว่างกรมการค้าต่างประเทศ กับกรมบังคับคดี ใช่หรือไม่

หรือเป็นเรื่องที่ทั้ง 2 หน่วยงานไม่อยากทำ และความล่าช้าดังกล่าวจะมีผลต่อระยะเวลาในการบังคับคดีอย่างไร

 

กลายเป็นสาเหตุให้ นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และ น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี ต้องออกมาแถลงข่าวร่วมกันอย่างเร่งด่วนเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อชี้แจงถึงแนวทางการเรียกค่าเสียหายในคดีทุจริตการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) จากนายบุญทรงและพวก

น.ส.รื่นวดี อธิบดีกรมบังคับคดี ชี้แจงว่า กรมบังคับคดีมีฐานะเป็นเพียง “ผู้ช่วย” กรมการค้าต่างประเทศเท่านั้น และทางกรมได้มีคำสั่งเลขที่ 547 แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 56/2559 ซึ่งมีรองอธิบดีกรมบังคับคดีที่ดูแลสายงานคดีทางแพ่ง เป็นประธาน มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2559

คณะทำงานชุดนี้มีหน้าที่ที่จะ “ประสาน” กับกรมการค้าต่างประเทศในการยื่นคำขอตั้งสำนวนยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ทั้ง 6 รายหลังจากมีคำสั่งทางปกครองแล้ว แต่กลับกลายเป็นว่า กรมการค้าต่างประเทศยังไม่ยื่นตั้งเรื่องขอยึดทรัพย์ ทั้งที่เอกสารแบบฟอร์ม ซึ่งเป็นเอกสารออนไลน์ในเว็บไซต์ของกรมบังคับคดีอยู่แล้ว “เพียงแต่รอคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบเข้ามากรอก”

นอกจากนี้ น.ส.รื่นฤดียังได้อธิบายแนวทางดำเนินการยึด อายัด และขายทอดตลาด ว่า คดีนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มาตรา 57 ที่อนุญาตให้นำวิธีพิจารณาความแพ่ง (วิ.แพ่ง มาตรา 271) มาใช้โดยอนุโลม ซึ่งกระบวนการยึด อายัด และขายทอดตลาด จะต้องเริ่มจากโจทก์ (กรมการค้าต่างประเทศ) ยื่นตั้งเรื่องยึดอายัดทรัพย์ตามแบบฟอร์มของกรมบังคับคดี พร้อมทั้งส่งเอกสารเกี่ยวกับทรัพย์ที่จะยึด

ดังนั้น จึงเป็นขั้นตอนของฝ่ายโจทก์คือ กรมการค้าต่างประเทศจะต้องเป็นผู้ไปดำเนินการสืบทรัพย์ หมายถึง หาข้อมูลว่า นายบุญทรงพร้อมกับพวกมีทรัพย์สินรายการใดบ้าง ทรัพย์สินตั้งอยู่ที่ใด มูลค่าเท่าไร และต้องมีการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์นั้น เช่น โฉนดที่ดินต้องได้รับการรับรองจากสำนักงานที่ดิน หรือบัญชีธนาคารก็ต้องได้รับการรับรองจากสถาบันการเงิน เป็นต้น มาประกอบการพิจารณา

หลังจากได้ข้อมูลแล้ว เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีจะพิจารณาคำขอยึดทรัพย์ จากนั้นจะรายงานต่อศาลเพื่อขออนุญาตขายทรัพย์ ซึ่งจะเข้าไปสู่ขั้นตอนการขายทอดตลาด แต่หากรายการทรัพย์สินของนายบุญทรงพร้อมพวก ไม่เพียงพอต่อมูลค่าหนี้ที่ต้องชำระ ทางกรมบังคับคดีจะต้องรายงานต่อศาลว่า มูลค่าทรัพย์ไม่เพียงพอกับมูลค่าหนี้ เพื่อให้โจทก์พิจารณาว่า จะดำเนินการต่อไปอย่างไร

ทั้งนี้ การพิจารณาความแพ่งมีอายุความ 10 ปี

 

ด้าน นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ยืนยันว่า กรมไม่ได้มีความขัดแย้งในทางปฏิบัติกับกรมบังคับคดี แต่อยู่ระหว่างดำเนินการและรวบรวมเอกสารทั้งหมดในส่วนของการสืบทรัพย์ ซึ่งทางกรมการค้าต่างประเทศไม่มีประสบการณ์ทำงานลักษณะนี้มาก่อน

เหมือนจะเป็นคำอธิบายว่าทำไมต้องใช้เวลาหมดไปแล้วถึง 5 เดือน

อย่างไรก็ตาม กรมการค้าต่างประเทศเองก็ได้ตั้งคณะทำงานฝ่ายกฎหมายขึ้นมาดำเนินการเช่นกัน ปัญหาความล่าช้าที่เกิดขึ้นจึง “จำเป็นต้องมีความรอบคอบ” เพื่อให้เกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด เพื่อประโยชน์สูงสุดของรัฐ พร้อมทั้งระบุว่า กรมการค้าต่างประเทศจะดำเนินการจัดส่งเอกสารและตั้งเรื่องไปที่กรมบังคับคดีได้ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์

แต่จนแล้วจนรอดเมื่อถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ กรมการค้าต่างประเทศก็ยังไม่สามารถ “ตั้งเรื่องยึดทรัพย์” นายบุญทรงพร้อมพวกได้สำเร็จ โดยให้เหตุผลว่า ได้มีการประชุมกับกรมบังคับคดีไปในช่วงเช้าของวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เพื่อหารือถึงแนวทางการจัดเตรียมเอกสารเพิ่มเติม

และได้ส่งเอกสารทั้งหมดไปให้กับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นผู้ดำเนินการพิจารณาและยื่นตั้งเรื่องในลำดับต่อไป

 

เมื่อพิจารณาเส้นทางยาวนานและยืดเยื้อดังกล่าวอาจจะพอมองเห็นภาพว่า แท้จริงแล้วไม่มีใครอยากทำมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ขั้นตอนการลงนามในหนังสือคำสั่งทางปกครอง มาจนกระทั่งถึงการตั้งเรื่องขอยึดทรัพย์

นี่ยังไม่รวมถึงขั้นตอนการดำเนินการสืบทรัพย์ ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกนานเพียงใด

กลายเป็นมหากาพย์เรื่องยาวพอๆ กับการทุจริตขายข้าว G to G นั่นเอง