E-DUANG : “ท่องเที่ยว” ปะทะ “อุตสาหกรรม”ที่”ภาคใต้”

การชุมนุมต่อต้านโรงไฟฟ้า“ถ่านหิน”บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา

ดำเนินไปเหมือนกับเป็น “สัญญาณ”

1 เป็นสัญญาณแห่งการเตือนให้ตระหนักถึงทิศทางการพัฒนาในพื้นที่ “ภาคใต้”ว่าสมควรจะเป็นไปอย่างไร

เป็นอย่างที่ “คสช.”และ”รัฐบาล”ต้องการหรือไม่

ขณะเดียวกัน 1 เป็นสัญญาณบ่งบอกการหวนเข้าสู่”ท้องถนน”อีกวาระหนึ่งของบรรดา “คนหน้าเดิม”

หน้าเดิมตั้งแต่ “พันธมิตร”

ต่อเนื่องมายังบรรดาหน้าเดิมที่เข้าร่วมเป่านกหวีดในมาตร การ “ชัดดาวน์” กรุงเทพมหานคร

ทวงถามในเรื่อง “จะทำตามสัญญา”

ทั้งหมดนี้ดำเนินไปเพื่อยืนยันว่า “หอก” เริ่มสะท้อนลักษณะ “สนองคืน” แล้วอย่างช้าๆ

สัญญาณ” นี้จึง “สำคัญ”

 

แท้จริงแล้วการคัดค้านต่อต้านโรงงานไฟฟ้า”ถ่านหิน”อันปะทุขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2560

คือ ความต่อเนื่อง

เป็นความต่อเนื่องจากสถานการณ์”แทนทาลัม”ในยุค พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์

เป็นความต่อเนื่องจากกรณี”ท่อส่งก๊าซ”จากเมียนมา

เป็นความต่อเนื่องจากการชุมนุมอย่างยืดเยื้อยาวนานของชุม ชนบ่อนอก หินกรูด ประจวบคีรีขันธ์

“สัญญาณ” นี้ต้องการยืนยันอะไร

ยืนยันว่าพื้นที่อันเป็น “ด้ามขวาน” ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ระเรื่อยไปจนถึงสตูล ปัตตานี เป็นพื้นที่แห่งธรรมชาติ เป็นพื้นที่แห่งสิ่งแวดล้อม

ยึดโยงอยู่กับธุรกิจ”การท่องเที่ยว” มิได้เป็นพื้นที่เพื่อการพัฒนา “อุตสาหกรรมหนัก”

สอดคล้องกับ “ภูมิทัศน์” อันเปลี่ยนไปของ “ภาคใต้”

 

ในอดีต “ภาคใต้” อาจโดดเด่นด้วยอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เป็นแหล่งสร้างรายได้มหาศาล

แต่ “เหมืองแร่” ได้กลายเป็น “ความหลัง”ไปแล้ว

ภัยจากน้ำท่วมที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำซาก ส่วนใหญ่มาจากการขุดหาแร่ธาตุ ทำลายภูเขา ทำลายป่า

ระยะหลัง “จุดขาย”ของภาคใต้จึงเป็น “ท่องเที่ยว”

ท่องเที่ยวในที่นี้นอกจากมรดกทาง”วัฒนธรรม”อันเก่าแก่แล้วย่อมขึ้นอยู่กับ “ธรรมชาติ”อันสวยสด งามตา

เหตุการณ์จาก”กรณีแทนทาลัม”น่าจะเด่นชัด

เหตุการณ์จากการชุมนุมต่อต้านโรงไฟฟ้า”ถ่านหิน”ที่บ่อนอก หินกรูด ยิ่งตอกย้ำ

“ด้ามขวาน”จึงเป็นดินแดนอันมีท่องเที่ยวเป็น”จุดขาย”

ขณะที่การพัฒนาอุตสาหกรรมจากพื้นที่”ภาคตะวันออก”ของประเทศก็ยังเป็น “ฝันร้าย”

นี่คือ “ภูมิทัศน์”อันเปลี่ยนไปแล้วของ”ภาคใต้”