รายงานพิเศษ /สำรวจ รอยร้าว รัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ แม้ 3 ป. แน่นปึ้ก กองทัพพร้อมรับศึก อภิปราย-ถล่มงบฯ ทหาร กับปฏิบัติการ ‘จม’ เรือดำน้ำ และแสนยานุภาพกองทัพ

รายงานพิเศษ

สำรวจ รอยร้าว รัฐบาล ‘บิ๊กตู่’

แม้ 3 ป. แน่นปึ้ก

กองทัพพร้อมรับศึก

อภิปราย-ถล่มงบฯ ทหาร

กับปฏิบัติการ ‘จม’ เรือดำน้ำ

และแสนยานุภาพกองทัพ

แม้ในบรรดาพี่น้อง 3 ป. “ป้อม-ป๊อก-ประยุทธ์” จะรักใคร่แนบแน่น ถึงขั้นที่บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กอดโอบพี่ป้อมและพี่ป๊อกโชว์ หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเสร็จสิ้นเมื่อสัปดาห์ก่อนก็ตาม
แต่ก็ใช่ว่าในหมู่พรรคร่วมรัฐบาลจะแนบแน่นเช่นพี่น้อง 3 ป. เสาหลักของรัฐบาล
คาดกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องการให้คณะรัฐมนตรีเห็น และมั่นใจในความเป็นหนึ่งเดียวของแกนนำรัฐบาล ความเป็นพี่น้องที่ไม่มีวันแตกแยกขัดแย้ง และไม่มีวันเปลี่ยนแปลง
แต่ทว่ายังมีความรู้สึกค้างคาใจของเสี่ยหนู อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข. และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กับสื่อค่ายใหญ่ ยังคงเคลียร์ไม่ลง
เพราะคาดกันว่า นายอนุทินยังแคลงใจว่า เบื้องหลังการที่สื่อเครือใหญ่โจมตีนายศักดิ์สยามและพรรคนั้น มี ส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐที่เกี่ยวข้องกับสื่อเครือนี้ เกี่ยวข้องหรือไม่
โดยดูได้จากการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวของนายอนุทิน ที่มีการส่งสัญญาณออกมาเป็นระยะอย่างชัดเจน รวมถึงข้อความในการตอบคอมเมนต์ด้วยตัวเอง
รวมทั้งความกังขาสงสัยว่า มีคนสำคัญในรัฐบาล ที่ไม่ได้คุมกระทรวงคมนาคม เกี่ยวข้องหรือไม่ จึงทำให้ยังคงเป็นเรื่องคาใจ

ยิ่งเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์สั่งการให้ปรับการทำงานของทีมเศรษฐกิจ ก็ยิ่งทำให้กระแสข่าวการปรับ ครม. ปรับทีมเศรษฐกิจ สะพัด แม้ว่ารัฐบาลนี้จะเพิ่งทำงานมา 4 เดือนก็ตาม
เพราะแม้จะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากมาย แต่ก็ยังไม่ดีขึ้น ร่วมด้วยเศรษฐกิจโลก
จนมีการจับจ้องไปที่ท่าทีของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ แต่ทว่าไม่ได้คุมเศรษฐกิจคนเดียวทั้งหมด เช่นในยุครัฐบาล คสช.
จนทำให้มีการมองกันว่า ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ชุดนี้ อาจไม่รวมเป็นหนึ่งเพราะให้รองนายกฯ ที่มาจากแต่ละพรรคการเมืองที่คุมกระทรวงนั้นๆ ตามที่มีคนของพรรคเป็นรัฐมนตรีอยู่เอง จึงทำให้ไม่รวมศูนย์
มีทั้งนายอนุทิน และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ
แต่บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และเสาหลักสำคัญของรัฐบาล ปฏิเสธว่า ทีมเศรษฐกิจไม่ได้มีปัญหาอะไรกัน ทำงานประสานกันอย่างดี และที่ผ่านมามีการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจทุกสัปดาห์
แต่ทว่า พล.อ.ประวิตรไม่ได้ปฏิเสธกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี แต่บอกให้นักข่าวไปถาม พล.อ.ประยุทธ์เอง
แน่นอนว่า ตามสไตล์ของ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น จะไม่ยอมรับเรื่องการปรับ ครม. อีกทั้งรัฐบาลเพิ่งทำงานได้แค่ไม่กี่เดือน
ทว่าหลัง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ผ่านสภาในต้นปีหน้าแล้วนั้น ก็ไม่มีอะไรแน่นอน

แม้ พล.อ.ประวิตรจะยืนยันว่าไม่มีความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลและในรัฐบาลก็ตาม แต่ก็แย้มๆ ว่า “เดี๋ยวเขาก็คุยกันได้”
เพราะมีนักการเมืองรุ่นเดอะหลายคน พยายามเจรจาหย่าศึกระหว่างนายอนุทิน และสื่อค่ายใหญ่ ที่ฟ้องร้องกันก็ตาม แต่ก็ยังไม่คลี่คลาย
เพราะเมื่อครั้งไปประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่กาญจนบุรีล่าสุดนายอนุทินก็แยกวงไม่ได้กลับกรุงเทพฯ พร้อมคณะ แต่ลงพื้นที่ไปดูการท่องเที่ยวกาญจนบุรี และน้ำตกไทรโยค ในฐานะที่คุมด้านการท่องเที่ยว
จนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเกิดรอยร้าวในใจ
แต่ พล.อ.ประวิตรยืนยันว่าไม่มีอะไรในกอไผ่
ท่ามกลางการจับตามองว่า พล.อ.ประยุทธ์จะลงมาหย่าศึกนี้เองหรือไม่ ก่อนที่จะบานปลายกลายเป็นรอยร้าวในรัฐบาล
เพราะเวลานี้รัฐบาลต้องเตรียมรับมือการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล
แม้ว่าอาจจะเลื่อนออกไป หากมีการตีความว่า 1 ปี ยื่นอภิปรายได้ 1 ครั้งนั้น ให้นับตามปีปฏิทิน หรือปีแห่งสมัยประชุมสภา ที่ครบกำหนดพฤษภาคม 2563 ก็ตาม
แต่นายกฯ สั่งการให้ทุกกระทรวงเตรียมข้อมูล พร้อมชี้แจง

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์

โดยเฉพาะกระทรวงกลาโหม และกองทัพ ที่ตกเป็นเป้าหมายทางการเมืองอย่างหนัก เพราะ รมว.กลาโหมเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย
ไม่นับรวมความรู้สึกที่ว่า คสช.ยังอยู่ เพราะพี่น้อง 3 ป. “ป้อม-ป๊อก-ประยุทธ์” ยังคงเป็นแกนหลักของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ชุดนี้ ที่แม้จะมาจากการเลือกตั้งก็ตาม
โดยที่กองทัพยังถูกมองว่าเป็นฐานอำนาจ เป็นเขี้ยวเล็บ เป็นมือไม้ของรัฐบาลนี้
โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ควบ รมว.กลาโหม เองด้วย คุมทหารเบ็ดเสร็จ
พล.อ.ประยุทธ์จึงสั่งการให้ทุกเหล่าทัพ พร้อมสำหรับการถูกตรวจสอบ และชี้แจง โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ
กองทัพ ถูกโจมตีทางการเมือง ในเรื่องงบประมาณกลาโหม โครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ
รวมถึงเกมนอกสภา การปลุกกระแสให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่
ยิ่งในยุคที่รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำเช่นนี้ แม้จะมีกระแสข่าว ส.ส.ฝากเลี้ยงไว้ที่พรรคฝ่ายค้าน หรือ ส.ส.งูเห่าก็ตาม
แต่กองทัพก็ต้องพร้อมในการชี้แจง โดยให้เน้นที่การสร้างความเข้าใจกับประชาชนเป็นสำคัญ

อีกทั้งใน พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ที่กลาโหมได้รับการจัดสรรงบประมาณ 2.3 แสนล้านบาท ที่ถูกวิจารณ์ว่าสูงลิ่ว แม้ทางกลาโหมจะชี้แจงว่า คิดเป็น 7.29% ของงบประมาณทั้งประเทศ ซึ่งภาพรวมต่ำกว่าที่เคยได้รับการจัดสรร 5 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยที่ 7.5% ก็ตาม
เป้าหมายใหญ่อยู่ที่โครงการต่อเรือดำน้ำ ลำที่ 2 จากจีน ของกองทัพเรือ แม้ว่า ครม.ในยุครัฐบาล คสช.จะอนุมัติให้จัดซื้อ 3 ลำ งบฯ 3.6 หมื่นล้าน และให้ทยอยจัดซื้อผูกพันใน 11 ปีก็ตาม
แต่ก็ยังมีความพยายามอยากจะ “จม” เรือดำน้ำจีน S 26 T ลำที่ 2
ทั้งโดยฝ่ายค้าน ฝ่ายต่อต้านทหาร และคลื่นใต้น้ำในกองทัพเรือเอง
จีนกำลังต่อเรือดำน้ำลำแรกให้ ทร.ไทย โดยจะเสร็จปี 2566
หาก พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 นี้ผ่านสภาในวาระ 2 ในราวเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2563 ก็จะสามารถต่อเรือดำน้ำลำที่ 2 ได้เลย เพื่อให้ ทร.ได้เรือดำน้ำเข้าประจำการในปี 2557-2568
แต่ก็เกิดกระแสต่อต้านเรือดำน้ำใน ทร.เอง ร่วมด้วยความพยายามของตัวแทนต่างๆ จนทำให้เกิดกระแสข่าวลือการชะลอโครงการต่อเรือดำน้ำจีนลำที่ 2 โดยอ้างว่า ทร.ไม่มีงบประมาณ 1.2 หมื่นล้านในการผูกพันงบฯ แล้ว
แต่ก็กลับปล่อยกระแสให้ความหวังพวกเรือผิวน้ำ ว่า ทร.จะต่อเรือฟริเกตแทน ทั้งเรือฟริเกตสมรรถนะสูง ลำที่ 2 จากเกาหลีใต้ หลังจากที่ได้ต่อเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช งบฯ เกือบ 1.5 หมื่นล้านบาท มาแล้ว 1 ลำ
บางกระแสก็โฟกัสไปที่การต่อเรือฟริเกตกับ ทร.รัสเซีย หลังจากที่ ทร.ไทยและรัสเซียลงนามความร่วมมือทางการทหาร และมีโครงการศึกษาการต่อเรือฟริเกตร่วมกัน
หลังจากที่ต่อมา ทร.ไทย เริ่มใช้อาวุธและระบบต่างๆ ของรัสเซีย ติดตั้งบนเรือตรวจการณ์ ต. 997-998 ล่าสุด
แต่ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร. ยืนยันว่า ทร.ได้เสนอโครงการต่อเรือดำน้ำลำที่ 2 จากจีน ใน พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ตามเดิม ไม่มีชะลอ ไม่มีเปลี่ยน
“แต่ก็อยู่ที่สภาว่าจะพิจารณาให้ ทร. เราได้เดินหน้าต่อหรือไม่” ผบ.ทร.ระบุ
ดังนั้น ทร.จึงเดินหน้าในการสร้างความเข้าใจในยุทธศาสตร์ และการมีเรือดำน้ำอีกครั้ง เพื่อกรุยทางสำหรับเรือดำน้ำจีนลำที่ 2

แม้ว่าคลื่นลมใน ทร.จะพัดแรง ระดับ sea state 5 จากปรากฏการณ์การปล่อยข่าวโจมตี ผบ.ทร. อย่างหนักหน่วง และต่อเนื่องเช่นไรก็ตาม แต่ พล.ร.อ.ลือชัยยังคงท่องคาถา “ทำเพื่อกองทัพเรือ” เดินหน้าต่อ
ความแข็งแกร่ง อดทน ฟันฝ่า อุปสรรคคลื่นลม ทำให้อดีต ผบ.ทร.หลายคนที่มาร่วมงานวันกองทัพเรือ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ให้กำลังใจ พล.ร.อ.ลือชัย ทั้งด้วยคำพูด และการตบไหล่ แสดงความเข้าใจเห็นใจ
โดยเฉพาะครูน้อย พล.ร.อ.สุวัชชัย เกษมศุข อดีต ผบ.ทร.กระดูกเหล็ก ที่ขอจับมือบิ๊กลือ แสดงความเห็นใจและให้กำลังใจเลยทีเดียว
แม้ พล.ร.อ.ลือชัยจะเป็นคนพูดตรงๆ แบบขวานผ่าซาก พูดจริงทำจริง อาจทำให้อดีต ผบ.ทร. และบิ๊ก ทร.หลายคนไม่เข้าใจ ไม่พอใจก็ตาม แต่ในที่สุด ส่วนใหญ่ก็เข้าใจในความเป็นบิ๊กลือ
ท่ามกลางการจับตามองว่า ในช่วงการพิจารณางบประมาณในสภา วาระ 2 นั้น จะเกิดคลื่นลมอีกหรือไม่
หลังจากที่รู้ตัว “มือดี” คนใน ที่มีส่วนในการปล่อยข่าวบิดเบือน และให้ข้อมูลแก่สื่อและในโซเชียลแล้ว

ขณะที่บิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ที่เป็นเป้าแห่งการโจมตีทางการเมืองอยู่แล้ว ก็โดนเล็งที่โครงการจัดซื้อรถเกราะ Stryker จากสหรัฐอเมริกา ที่แม้จะเป็นทหารจัดซื้อตามโครงการความช่วยเหลือทางการทหาร (FMS) แต่ก็มีการใช้งบประมาณกลางบางส่วนในการจัดซื้อนอกเหนือจากงบประมาณของกองทัพบก
และโครงการทยอยจัดซื้อต่อเนื่อง เพื่อนำประจำการในกองพลทหารราบที่ 11 (พล.ร.11) ที่มีการปรับโครงสร้างใหม่ให้เป็นหน่วยรบของกองทัพภาคที่ 1 และเป็นกองพลยุทธศาสตร์ของกองทัพบก
แต่ พล.อ.อภิรัชต์ก็พร้อมชี้แจง โดยเฉพาะความพิเศษที่ ทบ.สหรัฐอเมริกา ขายให้ ทบ.ไทย เป็นชาติแรก
ในการชี้แจงป้องกันงบประมาณ ราวปลายมกราคม หรือกุมภาพันธ์ 2563 นั้น ผบ.เหล่าทัพจะไปชี้แจงกับคณะกรรมาธิการงบประมาณด้วยตนเอง
นอกเหนือจากเตรียมการชี้แจงงบประมาณ โดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์แล้ว กองทัพยังทำให้เห็นว่าการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ไม่ได้ใช้เพื่อการรบเท่านั้น แต่ในยามสงบ ใช้ในการช่วยเหลือประชาชนด้วย
ที่สำคัญ เป็นการเสริมศักยภาพของกองทัพ เพื่อให้เพื่อนบ้านเกรงใจ

งานสำคัญอีกประการคือ กองบัญชาการกองทัพไทยเตรียมจัดการสวนสนามทางบก สวนสนามยานยนต์ และสวนสนามทางอากาศ ของทั้งทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตำรวจ รวม 40 กองพัน
ในพิธีสวนสนาม ถวายพระเกียรติองค์จอมทัพไทย เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และถวายสัตย์ปฏิญาณ ในวันกองทัพไทย 18 มกราคม 2563
มีการนำอาวุธยุทโธปกรณ์มาสวนสนามยานยนต์ รถถัง รถเกราะ ทั้งตระกูล M60 A3 ของอเมริกา รถถัง Oplot รถเกราะ BTR ยูเครน และ VT -4 จากจีน และ รถเกราะ Stryker สหรัฐ
ไม่แค่นั้น กองทัพอากาศจัดหมู่บินสวนสนามทางอากาศ จำนวน 2 หมู่บิน โดยใช้เครื่องบินรบของ ทอ. ทั้ง F-16, F 5 TH , Gripen จัดเป็นหมู่บิน 9 เครื่อง เพื่อเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 และหมู่บิน 10 เครื่อง เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์จอมทัพไทย
โดยทำการบินสวนสนามทางอากาศ ด้วยการบินเกาะหมู่ เหนือพิธีสวนสนามทางบก และสวนสนามยานยนต์ ที่ศูนย์การทหารม้า ค่ายอดิศร จ.สระบุรี
อันเป็นการแสดงแสนยานุภาพของกองทัพไทย ในอีกทางหนึ่งด้วย
ท่ามกลางการถูกจับจ้องทางการเมือง…