คนของโลก : “เอ็มมานูเอล มาครง” อัจฉริยะหน้าใหม่ผู้ท้าชิงเก้าอี้ ปธน.ฝรั่งเศส

นักการเมืองดาวรุ่ง เอ็มมานูเอล มาครง พุ่งแรงขึ้นมาจากการเป็นวาณิชธนากรสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจ

แต่อัจฉริยะนักปฏิรูปผู้นี้ต้องเผชิญกับการเข็นครกขึ้นภูเขา หากเขาต้องการที่จะกลายเป็นประธานาธิบดีที่อายุน้อยที่สุดเท่าที่เคยมีมาของฝรั่งเศส

ในช่วงเวลา 2 ปีที่ดำรงตำแหน่งในรัฐบาลของประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ โอลลองด์ มาครงวัย 39 ปี ปะทะกับฝ่ายสังคมนิยมตามแบบแผนดั้งเดิมด้วยการตั้งคำถามถึงการทำงาน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ที่เป็นหนึ่งในหลักการอันเป็นหัวใจสำคัญของฝ่ายซ้ายฝรั่งเศส

นโยบายเป็นมิตรกับธุรกิจของเขาสร้างความขุ่นเคืองให้เพื่อนร่วมงานและนักเคลื่อนไหวที่เป็นฝ่ายซ้ายจำนวนมาก

โดยในระหว่างการออกงานครั้งหนึ่งเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว มาครงถูกสมาชิกของสหภาพแรงงานกลุ่มหนึ่งขว้างปาไข่เข้าใส่

แต่การโจมตีชายผู้นี้ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกเหยียดหยามว่าเป็นนักการเมือง “สตาร์ตอัพ” ไม่สามารถที่จะหยุดยั้งความทะเยอทะยานของเขาได้

“หากยึดความเห็นพ้องยินยอมพร้อมใจเป็นหลักเกณฑ์มาตรฐาน ประเทศนี้ก็คงไม่มีวันจะทำอะไรได้สำเร็จ” นายมาครงกล่าวไว้เมื่อ 2 ปีก่อนหน้านี้

ปณิธานที่พร้อมจะท้าทายแบบแผนดั้งเดิม โดยระบุว่าเขาไม่ใช่ทั้งซ้ายหรือว่าขวา ยังขยายขอบเขตออกมาถึงชีวิตส่วนตัวของเขาด้วย

เมื่อตอนที่อายุ 16 ปี เขาตกหลุมรัก บริจิตต์ โทรนเญอซ์ ครูโรงเรียนมัธยมปลาย แม่ม่ายลูกติด 3 คนที่อายุมากกว่าเขากว่า 20 ปี และเขาแต่งงานกับเธอในปี 2007

เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว มาครงลาออกจากรัฐบาลเพื่อมาเตรียมตัวลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยตัดขาดจากโอลลองด์ที่ถือเป็นครูทางการเมืองของเขา ซึ่งตอนนั้นโอลลองด์ยังไม่ได้ตัดสินใจอย่างชัดเจนว่าจะไม่ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อเป็นสมัยที่ 2 แม้ว่าคะแนนนิยมจะตกต่ำดำดิ่งก็ตาม

มาครงเกิดในเมืองอาเมียงทางตอนเหนือของฝรั่งเศส จบการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาปรัชญา โดยทำวิทยานิพนธ์เรื่อง นิกโคโล มาเคียเวลลี เจ้าของทฤษฎีธรรมชาติการเมืองชาวอิตาลี และ จอร์จ วิลเฮล์ม ฟรีดริช เฮเกิล นักปรัชญาชาวเยอรมัน

จากนั้นเขาเดินตามเส้นทางของนักการเมืองชั้นนำของฝรั่งเศส โดยเข้าศึกษาต่อในสถาบันการปกครองชั้นสูงแห่งชาติฝรั่งเศส (อีเอ็นเอ) ซึ่งที่นี่มาครงได้เรียนภาษาเยอรมันและกลายเป็นนักเปียโนมือรางวัล

หลังจากทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีอยู่ช่วงสั้นๆ มาครงเข้าทำงานกับกลุ่มธนาคารรอธไชลด์ในปี 2008 เขาไต่เต้าอย่างรวดเร็วและได้เป็นนายหน้าในการเจรจาบรรลุข้อตกลงทางธุรกิจระหว่างเนสท์เล่กับบริษัทยาไฟเซอร์ ที่ทำให้เขาได้ค่าคอมมิสชั่นหลายล้านยูโร

AFP / PATRICK KOVARIK

ในปี 2011 เขาเป็นที่ปรึกษาในการหาเสียงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีให้โอลลองด์ และในปีต่อมาได้รับเลือกให้เข้าเป็นคณะทำงานของโอลลองด์ด้วย ก่อนที่จะได้เลื่อนขั้นเป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจในอีก 2 ปีต่อมาในฐานะคนที่แทบไม่เคยมีชื่อเสียงปรากฏในแวดวงการเมืองมาก่อนหน้านี้เลย ท่ามกลางความประหลาดใจของคนจำนวนมาก

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มาครงเดินทางไปทั่วประเทศพร้อมกับขบวนการเคลื่อนไหว “ออง มาร์ช” ของเขา เพื่อสร้างแรงเหวี่ยงทางการเมืองก่อนที่จะขัดเกลานโยบาย ผลสำรวจเมื่อปลายปีที่แล้วระบุว่า ชาวฝรั่งเศส 49 เปอร์เซ็นต์มีทัศนคติในทางบวกต่อมาครง

ขณะที่ผลสำรวจคะแนนนิยมล่าสุดระบุว่า มาครงจะได้คะแนนมากพอที่จะเข้าสู่การเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบตัดสินในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ โดยมีความเป็นไปได้สูงมากว่าเขาต้องเผชิญหน้ากับ มารีน เลอเปน นักการเมืองขวาจัดผู้นำพรรคแนวร่วมแห่งชาติ หรือเนชั่นแนล ฟรอนต์

กลุ่มผู้สนับสนุนมองว่า มาครงเป็นหน้าใหม่ที่จำเป็นอย่างมากในการหาเสียงเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยเงาทาบทับจากสถานการณ์ในชาติพันธมิตรของฝรั่งเศส ทั้งการตัดสินใจออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ของสหราชอาณาจักร หรือเบร็กซิท และชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของ โดนัลด์ ทรัมป์

ตรงกันข้ามกับเลอแปงที่ต้องการให้อียูปฏิรูปใหม่และให้ฝรั่งเศสออกจากยูโรโซน มาครงบอกว่าฝรั่งเศสเป็นเสาหลักสำคัญของกลุ่มและต้องเป็นเช่นนี้ต่อไป