อภิญญา ตะวันออก : จากสะตึงสังแก ถึงจิตร ภูมิศักดิ์ และตำนานนครวัด

อภิญญา ตะวันออก

เวลาที่อ่านอะไรเกี่ยวกับพระตะบอง ฉันมักจะคิดถึงจิตร ภูมิศักดิ์เสมอ คิดว่าจิตรอยู่ที่ไหนของเมืองพระตะบองกันแน่ในช่วงวัยเด็กที่เขาเคยติดตามบิดา-ข้าราชการประจำมณฑลบูรพาและได้ศึกษาชั่วระยะหนึ่งที่นี่

เขตคามพระตะบองสมัยจิตรในวัยเด็กนั้น ถ้าจะค้นหาอะไรในปัจจุบัน คงไม่มีอะไรมากแล้วที่บอกถึงถิ่นฐาน มีแต่เส้นแบ่งระหว่างไทย-ฝรั่งเศสที่ต่างถือเอกสิทธิ์เป็นเจ้าของพรมแดน นั่นคือแม่น้ำ/สะตึงสังแก ซึ่งผ่าใจกลางเมืองพระตะบองและแบ่งเมืองนี้ออกเป็นเขตตะวันตกและตะวันออก

สะตึงสังแกเป็นเหมือนทุกอย่างในความเป็นพระตะบองมาแต่อดีต นอกจากจะเป็นเหมือนเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงชาวพระตะบองมาเนิ่นนานแล้ว ในแง่วัฒนธรรมก็มีอิทธิพลต่อกวีนักเขียนเขมรคนหนึ่ง ซึ่งอาจจะกล่าวว่า “ยุค” กับจิตร ภูมิศักดิ์ด้วย

แต่ขอกล่าวเกี่ยวกับจิตรก่อน ถึงแม่น้ำเส้นนี้ ซึ่งนับว่าระอุทั้งสองฝั่งฟาก โดยฝั่งตะวันออกซึ่งขณะนั้นฝรั่งเศสยังปกครอง ได้มี “อิสรชน” และผู้ต้องคดีพากันหลบหนีมายังสะตึงสังแก-ตะวันตกฝั่งไทย ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว การเข้ามาของเขมรอิสระกลุ่มไหน หรือแม้แต่ชาวเขมรที่ขึ้นกับไทย ก็ใช่ว่าจะเป็นไปอย่างเรียบร้อย

ตรงข้าม มณฑลบูรพาฝั่งสะตึงสังแกของไทยนั้น เป็นเขตที่คนเขมรบางกลุ่มนี้ไม่สยบยอมและพร้อมจะก่อการกบฏ หากว่าการอาศัย “ฉนวนกาซ่าพระตะบอง” แห่งนี้จะเป็นไปเพื่อการเมือง 2 ฝ่าย กล่าวคือ เพื่อปลดแอกฝรั่งเศส ซึ่งนัยทีฝ่ายรัฐไทยเองก็แอบให้การช่วยเหลือ

พระตะบองจึงเป็นเมืองที่มีแต่ความตึงเครียดที่เต็มไปด้วยผู้ที่พร้อมจะก่อการกบฏในที่ต่างๆ จนแม้แต่จิตรเองซึ่งยังเด็กก็ยังสัมผัสถึง โดยในบ่ายวันหนึ่งขณะไปโรงเรียนและกระสุนผู้ไม่ทราบฝ่ายนัดหนึ่งยิงเฉียดร่างของจิตรไป

เหตุการณ์นี้ทำให้จิตรรู้สึกถึงความตายที่มาเยือน ขณะเดียวกันเขาก็รู้สึกเห็นอกเห็นใจกลุ่มเขมรอิสระกลุ่มนั้นที่ต้องการปลดแอกประเทศ แง่งามความคิดของเด็กชายคนนั้น ผู้ซึ่งต่อมากลายเป็นนักคิดคนสำคัญของไทย

และนั่นคือพระตะบองที่น่าจดจำในภาคของจิตร ภูมิศักดิ์

 

อนึ่ง ในหมู่นักคิดหรืออิสรชนชาวพระตะบองสมัยมณฑลบูรพานี้ ที่พอจะจดจำได้คนหนึ่งคือนายเอียว เกลอ ผู้ร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์นครวัด และต่อมายังเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปไตย ทว่าถูกสังหารในยุคที่ประมุขพรรคฝ่ายรัฐบาลคือนโรดม สีหนุ

การสูญเสียเอียว เกลอครั้งนั้น นอกจากจะเป็นที่อาลัยต่อชาวอิสรชน (มีความหมายรวมถึงนักการเมือง) เขมรแล้ว ยังทำให้ยุคสังคมเรียดยืนยาวต่อมาอีกกว่าทศวรรษ แต่ในช่วงนั้นเองพระตะบองก็มีตัวแทนที่น่าภาคภูมิใจอีกคนขึ้นมาแทน

เขาคือเจ้า “กวีเอกพระตะบอง” กงค์ บุนเฌือน ผู้ที่ยึดงานประพันธ์นวนิยายและบทเพลงในการเลี้ยงชีพ

กงค์ บุนเฌือน เกิด พ.ศ.2482 (หลังจิตร 9 ปี) มีผลงานโดดเด่นด้านบทกวี (2503-2513) ทว่าผลงานโด่งดังกลับเป็นงานประพันธ์บทเพลง ในจำนวนนี้เกี่ยวกับแม่น้ำสังแก และนวนิยายซึ่งนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์หลายเรื่อง อีกในช่วงต้นก่อนยึดอาชีพนักประพันธ์นั้น เขายังรับจ้างเขียนรูปใบปิดภาพยนตร์ตามโรงหนัง กระทั่งมีโอกาสแต่งนิยายเป็นตอนๆ ลงหนังสือพิมพ์ แต่มีนิยายเรื่องหนึ่งที่เขาแต่งและโด่งดังเป็นพลุแตก คือเรื่อง “วิมานนรก”

กงค์ บุนเฌือน แต่งนิยายเรื่องนี้จากเรื่องจริงที่มาจากพฤติกรรมนักการเมืองยุคสังคมเรียด (2506) และเป็นบุคคลในวังเขมรินทร์

ผลก็คือ กงค์ บุนเฌือน ถูกจับติดคุก 6 เดือน

แต่นั่นไม่ได้ทำให้นักเขียนพระตะบองรายนี้เข็ดหลาบ ราวปี พ.ศ.2513 กงค์ บุนเฌือน ก็ติดคุกอีกครั้ง แต่คราวนี้เป็นการเขียนวิพากษ์ระบอบลอน นอล โดยเป็นงานบทกวี

น่าสนใจว่า ทั้งนวนิยายและบทกวีของกงค์ บุนเฌือน ดูจะไม่มีกลิ่นอายในแบบสัจนิยมฝ่ายซ้ายเช่นนักเขียนเขมรบางคนที่ต้องโทษ ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์และควบคุมความประพฤติดังที่เกิดกับฆุน สรุน แต่กงค์ บุนเฌือน ระยะนั้นเขียนนิยายขายอยู่ในวงการภาพยนตร์ที่ตนร่วมอำนวยการสร้าง ทำให้ชีวิตแตกต่างไปจากนักเขียนยุคเดียวกัน

การไม่สยบยอมต่อความอยุติธรรมจนติดคุกทั้ง 2 ครั้งนี้ ทำให้กงค์ บุนเฌือน รอดพ้นความตายสมัยเขมรแดง โดยกลุ่มกรรมาภิบาลที่ชอบงานบทกวี และจากปมเหตุต่อต้านระบอบศักดินาของสีหนุและเสรีนิยมของลอน นอล ทว่าเมื่อสิ้นสุดยุคเขมรแดง ชีวิตงานเขียนของเขากลับไม่ประสบความสำเร็จใดๆ

กระทั่งนวนิยายเรื่องใหม่ในสมัยสมเด็จฮุน เซน ที่ดัดแปลงมาจากชีวิตนักแสดงซึ่งถูกทำร้ายด้วยน้ำกรด งานเขียนชิ้นนี้มีผลให้กงค์ บุนเฌือน ต้องระเห็จจากกัมพูชา (2543) จนลี้ภัยไปนอร์เวย์และเสียชีวิตที่นั่น

 

แต่นี่ไม่ใช่ประเด็นเลยที่นำจิตร ภูมิศักดิ์ และกงค์ บุนเฌือน มาวางบนระนาบเดียวกัน

โดยพบว่า จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งเป็นเอกวิทูทางภาษาศาสตร์แล้ว เขายังแต่งนวนิยายไว้เรื่องหนึ่งซึ่งไม่ใช่แนวประโลมโลกย์ แต่เป็นเชิงท่องเที่ยว-ประวัติศาสตร์ที่มีขอมยุคกลางเป็นแกนเรื่อง

ถูกแล้ว ฉันหมายถึง “ตำนานนครวัด” (2498) ที่มีน้ำหนักไปทางวิพากษ์ระบอบศักดินาสมัยกลางของกัมพูชาอย่างเต็มไปด้วยอรรถรสและไม่เคยถูกเขียนขึ้นมาก่อนในนิยายทำนองนี้

แม้หลังจากนั้นอีก 2 ปีจะพบว่าจิตรเขียนมหากาพย์งานวิจัยอย่าง “โฉมหน้าศักดินาไทยในปัจจุบัน” ได้อย่างทรงพลัง (2500)

นอกเหนือจากอักขระเขมรโบราณในคำว่า “สยำกุก” บนปราสาทหินนครวัดในอดีตที่น่าตรึงใจนั่น “ตำนานนครวัด” ดูจะเป็นมรดกเขมรชิ้นงามที่พิสูจน์ถึงทักษะความรู้ทั้งประวัติศาสตร์และภาษาเขมรของจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งแม้จนทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครเทียบเคียงในผลงานที่ทรงคุณค่าของเขาได้

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เราอาจจะเห็นประปรายในอิทธิพลของลัทธิคาร์ล มาร์กซ์ ที่ปรากฏอยู่ในแปลบางจำนวนของจิตรอย่างกระจัดกระจาย แต่สำหรับ “ตำนานนครวัด” ซึ่งจิตรเขียนขึ้นเองนั้น กลับมีเนื้อหาวิพากษ์ระบอบศักดินาอย่างรุ่มร้อนและตรงประเด็น

โดยเกี่ยวกับเรื่องนี้ เชื่อหรือไม่ว่า มีบางอย่างอันเข้าพวกกับงานเขียนของชาวเขมรว่าด้วยการชำแหละระบอบทุนนิยม-ศักดินาโดยมีพื้นที่ของทะเลสาบใหญ่เป็นฉากหลัง หนังสือเล่มนี้คือวิทยานิพนธ์ “เศรษฐกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรมของกัมพูชา” ที่เขียนโดยเขียว สัมพัน (2502)

อย่าเพิ่งอ้าปากค้างตกใจ ที่ฉันเอาจิตร ภูมิศักดิ์ (89) ไปเทียบกับเขียว สัมพัน (88) ผู้นำเขมรแดงและเป็นนักโทษว่าด้วยคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ แต่ฉันหมายถึงจิตรและเขียว สัมพันเมื่อยังหนุ่ม ผู้ซึ่งลงมือเขียนงานที่น่าหลงใหลสำหรับใครก็ตามที่ได้อ่าน โดยแม้งานเขียว สัมพัน จะเป็นวิทยานิพนธ์แต่ก็ถูกแปลและตีพิมพ์ในหลายประเทศ

ทั้งชั้นเชิงโวหารภาษาและผลึกวิชาการ กอปรกับทฤษฎีปฏิวัติที่อยู่ในเนื้อหา อาจไม่ถึงกับมีชัดเจนในตำนานนครวัด แต่บทวิพากษ์ว่าด้วยสภาพ “ไพร่” ในสังคมยุคกลางเขมรของจิตรนั้น เมื่อเทียบกับชาวนาหรือ “ทาสติดที่ดิน” ในความหมายของเขียว สัมพันแล้ว ก็มีกลวิธีพรรณนาที่ไม่ต่างกันเลย

กล่าวคือ มีลักษณะของงานแนวสัจนิยมเดียวกัน

 

จากมุมมองงานเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์กัมพูชาของจิตร ภูมิศักดิ์นี้ นับว่าโชคดีเพียงใดที่เรายังมีโอกาสสัมผัสงานเขียนและอัจฉริยภาพความเป็นนักคิดปัญญาชนของจิตร ภูมิศักดิ์ ทั้งแขนงภาษาศาสตร์และชาติพันธุ์วิทยา

“ตำนานนครวัด” คือตัวอย่าง โดยมิพักว่า ภายใต้ความยิ่งใหญ่ในราชธานีขอมยุคกลางนั้น จิตรกลับลงมือรื้อศิลาทุกก้อนออกมาเป็นเรื่องเล่าที่ลื่นไหล ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมให้ข้อคิดถึงความจริงอีกด้านที่ซุกอยู่ใต้ซากหินเหล่านั้น ซึ่งพบทั้งแง่งามทางบันเทิง มานุษยวิทยาและความลุ่มลึกทางวิชาการอย่างแทบไม่น่าเชื่อว่าจิตรน่าจะมีความลื่นไหลในการเขียนเรื่องเขมร เมื่อเทียบกับงานเขียนแขนงอื่น และงานเหล่านี้ก็ยังรับใช้สังคมร่วมสมัยจวบจนปัจจุบัน

ต่างจากกัมพูชาวันนี้ที่พบว่า หลายทศวรรษมาแล้วที่กวีนิพนธ์ วรรณกรรมได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปมาก เช่นเดียวกับงานวิจัยสังคมวิทยาที่โดดเด่นมากในทศวรรษ”60

และเหลือเป็นกรณีศึกษาในความมี “ตัวตน” แต่ไม่น่าจดจำ