เทศมองไทย : นักท่องเที่ยวยุโรป สัญญาณอันตรายท่องเที่ยวไทย

ไรนี ฮัมดี้ แห่ง “สคิฟต์ เอเชีย” สื่อเพื่อการท่องเที่ยวในเครือสคิฟต์ของสหรัฐอเมริกา เขียนถึงปัญหานักท่องเที่ยวจากภาคพื้นยุโรปที่เดินทางเข้าประเทศไทยไว้ 2 ตอนต่อเนื่องกัน ทั้งในวันที่ 13 พฤศจิกายน และ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ทั้งหมดนั้นสืบเนื่องจากการลดลงอย่างชัดเจนของนักท่องเที่ยวจากภาคพื้นยุโรป ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเมินเอาไว้ว่าจะลดลงในปีนี้เหลือเพียง 590,000 คน จากระดับ 594,000 คนในปี 2018 โดยที่ ธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด ททท. ประเมินเอาไว้ว่ายังเป็น “ตัวเลขที่น่าพอใจ” หากคำนึงถึงสภาวะ “สงครามการค้า”, เบร็กซิท และการแข็งค่าของเงินบาท ที่เป็นปัจจัยลบหลักๆ ในเวลานี้

แต่ฮัมดี้บอกว่า นี่คือสัญญาณ “อันตราย” สำหรับการท่องเที่ยวไทย เป็นสัญญาณที่ “ร้ายแรง” และ “น่าเศร้า” สำหรับไทย ซึ่งกำลังตกอยู่ในสภาพ “มีนักท่องเที่ยวมากขึ้น” แต่ “รายได้จากการท่องเที่ยวกลับลดน้อยลง” อยู่ในเวลานี้

 

แน่นอน ไม่มีใครปฏิเสธว่าการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักทั้งหลายส่งผลสะเทือนต่อการท่องเที่ยวแน่ๆ แต่ฮัมดี้ไม่เพียงสะท้อนเรื่องนี้ออกมาอย่างเป็นรูปธรรมเท่านั้นว่ารุนแรงและน่าตกใจขนาดไหน ยังชี้ให้เห็นว่า นอกจากปัญหาที่เห็นได้ชัดเจนแก่ตาอย่างค่าเงินบาทแล้ว ยังมีปัญหา “ลึกๆ” ที่ไม่มีใครตระหนักเป็นปัจจัยสำคัญอยู่ด้วยอีกต่างหาก

ในข้อเขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน ฮัมดี้แสดงให้เห็นว่าปัญหาค่าเงินบาทนั้นร้ายแรงขนาดไหนสำหรับการท่องเที่ยวของไทย

อัตราแลกเปลี่ยนของเงินในเวลานี้ ทำให้ “ราคาของรีสอร์ตระดับ 5 ดาวบนเกาะสมุย, เกาะพะงันและเกาะเสม็ดขยับขึ้นถึงระดับราว 500 ดอลลาร์ต่อคืนรวมอาหารเช้า ระดับราคาดังกล่าวนี้สูงพอๆ กับรีสอร์ตระดับ 5 ดาวในประเทศอย่างกรีซ, อิตาลี และสเปน และยังแพงกว่าเมื่อเทียบกับค่าที่พักระดับเดียวกันในตุรกี หรืออียิปต์ ซึ่งอยู่ที่ 350 ดอลลาร์ต่อคืน”

แถมยังแพงกว่าค่าที่พักในรีสอร์ตย่านภูเขาในประเทศอย่างเยอรมนี, ออสเตรเลีย และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งต่อห้องต่อคืนอยู่ที่ 450 ดอลลาร์เท่านั้นเองในช่วงหน้าร้อน กรกฎาคมถึงสิงหาคม ซึ่งเป็น “ไฮซีซั่น” ท่องเที่ยวของชาวยุโรปทั้งหลาย

ฮัมดี้ได้ข้อมูลที่ว่านั้นมาจากดีทแฮล์ม ทราเวล กรุ๊ป หนึ่งในธุรกิจท่องเที่ยวอินบาวด์ที่ใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดของไทย ที่ชี้ให้เห็นเพิ่มเติมว่า ค่าที่พักระดับ 4 ดาวในโรงแรมชายหาดทั้งหลายของไทย ซึ่งตกราว 350 ดอลลาร์ เทียบแล้วก็ลงเอยในอีหรอบเดียวกัน คือพอๆ กับในกรีซ, อิตาลี, สเปน และแพงกว่า 200 ดอลลาร์ในตุรกี, อียิปต์ กับ 300 ดอลลาร์ในเยอรมนี, ออสเตรีย, สวิตเซอร์แลนด์

 

สเตฟาน โรเมอร์ ซีอีโอของดีทแฮล์ม กรุ๊ป บอกว่า ราคาของการมาพักผ่อนในไทยเปรียบเทียบในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นถึง 30 เปอร์เซ็นต์ในสกุลเงินดอลลาร์ และ 40 เปอร์เซ็นต์ถ้าอยู่ในรูปของเงินยูโร ซึ่ง “สูงเกินไปแน่ๆ” และกลัวว่าจะส่งผลกระทบทั้งในระยะกลางและระยะยาว (6 ถึง 18 เดือน) ต่อตลาดท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจของไทย

ที่น่าสนใจมากขึ้นก็คือ ฮัมดี้บอกว่า มีผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเห็นว่าปัจจัยเรื่องค่าเงินเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหา ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ส่งผลอย่างสำคัญอยู่ด้วย อย่างเช่น เดวิด คีแวน ผู้อำนวยการของชิค โลเคชั่น ยูเค ซึ่งบอกว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวยุโรปเริ่มเมินไทยและอีกหลายประเทศในย่านนี้ก็คือสภาพ “โอเวอร์เดเวลลอปเมนต์” ที่ทำให้แหล่งท่องเที่ยวไทยซึ่งเคยแปลกใหม่ในสายตาของนักท่องเที่ยวยุโรป พัฒนาไปเป็นสภาพเมืองหรูหรา ทันสมัยแบบไม่บันยะบันยัง ไม่มีการวางแผนไม่ว่าจะเป็นระยะสั้นหรือระยะยาว จนกลายเป็นสภาพที่พวกเขา “คุ้นเคยอย่างยิ่ง” อยู่ก่อนแล้ว ไม่จำเป็นต้องมาเที่ยวอีก

หรือในกรณีของรูธ แลนโดลท์ ผู้จัดการ เอเชีย365 ที่มีสำนักงานอยู่ในซูริก ที่ระบุว่าแหล่งท่องเที่ยวปรับเปลี่ยนสัดส่วนของนักท่องเที่ยวที่ต้องการรับรองให้โน้มเอียงไปในทางด้านเอเชียโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีนสูงมาก จนเกิดการเปลี่ยแปลงบรรยากาศในโรงแรมและแหล่งท่องเที่ยวไปมากจนถึงจุดที่ “ลูกค้าจำนวนหนึ่งบอกกับเราว่าพวกเขาจะไม่กลับมาอีกแล้ว”

 

ปัญหาอยู่ที่ข้อเท็จจริงซึ่งฮัมดี้ยกมาแสดงไว้ชัดเจนว่า ครึ่งปีของปีนี้ นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไป 5.65 ล้านคน ใช้เงินในไทยไป 10,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 311,000 ล้านบาท คิดเป็น 1,770 ดอลลาร์ต่อคน

แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น นักท่องเที่ยวยุโรปเดินทางเข้าไทย 3.61 ล้านคน แต่จับจ่ายใช้สอยในไทยมากถึง 8,500 ล้านดอลลาร์ หรือ 259,000 ล้านบาท คิดเป็น 2,358 ดอลลาร์ต่อคน

คำถามก็คือ การท่องเที่ยวของเรากำลังก้าวเดินผิดทางอยู่หรือไม่เท่านั้นเองครับ