หลังเลนส์ในดงลึก : “นักล่า”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

ผมเขียนถึงหมาป่าบ่อย

เหตุผลหนึ่งคือ พวกมันมีอาชีพที่ค่อนข้าง “มีกรรม”

ไม่ต่างจากเสือ ซึ่งถูก “หาว่า” โหดเหี้ยม ดุร้าย อันตราย ไม่น่าวางใจ

สิ่งหนึ่งอันทำให้โดนกล่าวหาเช่นนี้คือความเคร่งครัดในหน้าที่

แน่นอนว่าเมื่อพวกมันทำงาน ย่อมมีชีวิตดับสิ้น บรรยากาศการทำงานมีแต่ความสูญเสีย

หน้าที่การดูแล ควบคุมปริมาณสัตว์กินพืชให้มีจำนวนเหมาะสม คือความหมายของการทำงาน

ในป่ามีสัตว์ป่า “หลักๆ” อยู่สองชนิด

คือ พวกกินพืช และพวกกินเนื้อ

พวกกินเนื้อ ซึ่งมีเขี้ยวเล็บ รวมทั้งทักษะซึ่งได้รับการออกแบบมาอย่างเหมาะสม นี่แหละถูกเชื่อว่าดุร้าย

ไม่ว่าจะเพราะเรื่องเล่า ตำนาน นิยายผจญภัย หรือแค่เชื่อต่อๆ กันมา

แต่ความเชื่อเช่นนี้ก็ทำให้สัตว์ป่าหลายชนิดสูญพันธุ์

และมีหลายชนิดอยู่ในสภาพใกล้สูญพันธุ์

 

ผมรู้สึกกับหมาป่าอย่างเห็นใจ ด้วยความรู้สึกแบบคนคนหนึ่ง

ทุกครั้งถ้ามีการพูดถึงนักล่า ใครๆ ก็นึกถึงเสือ

หากจัดลำดับนักล่าทรงประสิทธิภาพ รวมทั้งศักดิ์ศรีน่าเกรงขาม

ในอันดับหนึ่งคือ เสือ เหล่าหมาป่าจะมีศักดิ์ศรีเป็นรองเสมอ ทั้งๆ ที่ว่ากันตามจริง หมาป่าทำงานควบคุมปริมาณสัตว์กินพืชได้ผลกว่ามาก

“สัตว์อย่างเก้งหรือกวาง ถ้าหมาไนเจอละก็รอดยาก” คนในป่ารู้ดี

วิธีการ “หมาหมู่” ที่หมาไนใช้ได้ผล

อาศัยอยู่ร่วมกันกว่าสิบตัว ล่าแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน พบเห็นหรือได้กลิ่นเหยื่อ จะวิ่งไล่จนเหยื่อเหนื่อย แยกลูกออกจากแม่หรือฝูง กระโดดกัดทุกที่บนร่างกาย เข้าล้อมทำให้เหยื่อสับสน เหยื่อล้มลง ลูกนัยน์ตาและเครื่องในจะถูกกระชากออกไปเป็นอันดับแรก

มองผ่านๆ การล่าของหมาไน คล้ายจะโหดเหี้ยม

มองช้าๆ มองผ่านหัวใจ นี่คือการฆ่าอย่างรวดเร็ว โดยไม่ให้เหยื่อต้องทรมาน

 

ในฝูงนักล่า มีกฎระเบียบของการอยู่ร่วมกัน

ลูกนัยน์ตาเป็นสิ่งพิเศษ ดังนั้น ส่วนนี้จึงต้องเป็นของหัวหน้าฝูง ซึ่งมักเป็นผู้นำการล่า เครื่องใน หัวหน้าก็มีสิทธิ์กินก่อนเช่นกัน และขณะทั้งฝูงกำลังรุมกินเหยื่อ จะมีหมาไนตัวสองตัวออกไปห่างๆ ทำหน้าที่เป็นยามระวังไพร

ยามจะเข้ามากินได้ก็เวลาตัวอื่นๆ อิ่มแล้ว

หมาป่าอย่างหมาไนแตกต่างจากหมาที่อาศัยอยู่ในเมือง หมาบ้าน มีเต้านมสิบเต้า แต่หมาไนตัวเมียมีสิบสองเต้า พวกมันจึงมีลูกมาก ลูกเล็กๆ จะอยู่ในโพรง หลายครั้งที่เหยื่อจะถูกต้อนมาใกล้ๆ โพรงเพื่อลูกเล็กๆ จะได้ออกมากินด้วย

การอยู่ร่วมเป็นฝูง มีระเบียบวินัยดี จึงมีประสิทธิภาพและไม่กลัวอะไรนัก

“หมาไนมันเบ่ง ถือว่าพวกมาก อวดเบ่งไม่กลัวแม้กระทั่งเสือดาว บางทีเข้ามาแย่งเหยื่อจากเสือ ไล่ให้เสือหนีขึ้นไปนั่งหมดท่าอยู่บนต้นไม้”

นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ผู้ริเริ่มและผลักดันให้มีการคุ้มครองสัตว์ป่า และแหล่งอาศัย บันทึกไว้

ผมเห็นเสือดาวหลบหมาไนและหมูป่าขึ้นไปอยู่บนต้นไม้อย่างหมดท่าหลายครั้ง

ในประเทศไทยมีหมาป่าสองชนิด

คือหมาไน และหมาจิ้งจอก

นิสัยและการดำรงชีวิตของพวกมันต่างกัน

หมาไน ใช้วิธีหมาหมู่ ทำงานกลางวัน พักผ่อนกลางคืน

หมาจิ้งจอกทำงานลำพัง กลางวันพัก ทำงานกลางคืน ทำงานลำพัง หมาจิ้งจอกจึงต้องใช้วิธีค่อนข้างซับซ้อน และพยายามมาก ต้องซุ่มสะกดรอย รอเวลาให้เหยื่อเผลอ

เช่น สะกดรอยไก่ป่า ตั้งแต่เย็น ดูว่าไก่ขึ้นนอนที่ไหน เฝ้ารอจนรุ่งเช้า ไก่ถลาลงมาก็เข้าโจมตี

วิธีการซับซ้อน ทำงานกลางคืน

ทำให้ชื่อเสียงหมาจิ้งจอกเล่าขานกันต่อๆ มาว่า เจ้าเล่ห์ โหดร้าย ลึกลับ อันตราย

อยู่ลำพังนั้นไม่ง่าย ไม่ว่าจะเป็นนักล่า หรือเหยื่อ

หมาจิ้งจอกต้องใช้ความอดทน ในช่วงเวลาสภาพอากาศร้อนๆ หมาจิ้งจอกมักทำงานอยู่แถวป่าเต็งรังที่ทิ้งใบหมด เพื่อลดการใช้น้ำ หรือหลังไฟไหม้ หมาจิ้งจอกจะมาซุ่มดักกระต่ายป่าที่ออกมากินหญ้าระบัด

ความเชื่อบางครั้งก็ต่างกับความจริง เชื่อตามๆ กัน และตัดสินอะไรโดยไม่รู้จักสิ่งนั้น หรือเรื่องราวต่างๆ โดยไม่รู้ข้อเท็จจริง

ดูคล้ายจะเป็นสิ่งที่เรากระทำเสมอ ครั้งแรกที่ผมพบกับหมาไน พวกมันเข้ามากินซากควายป่าที่เสือโคร่งฆ่าไว้

หลังจากกิน พวกมันเข้ามาด้อมๆ มองๆ ใกล้ซุ้มบังไพร ผมยังคิดหนีขึ้นต้นไม้ เพราะได้ยินชื่อเสียงความโหดเหี้ยมของหมาไนมาเยอะ

แต่หมาไนฝูงนั้นก็ไม่ได้แสดงท่าทีคุกคาม

เพียงแค่สงสัย เข้ามาดูและจากไป หมาจิ้งจอกตัวหนึ่งนั่งๆ ยืนๆ อยู่ใกล้นกยูงตัวหนึ่ง ที่ไม่แสดงท่าหวาดกลัว ไม่มีบรรยากาศการฆ่า

หมาจิ้งจอกเดินจากไปแบบเหงาๆ

นกยูงหนุ่ม หมุนตัวรำแพนอย่างไม่ใส่ใจ

 

หมาไนและหมาจิ้งจอก รวมถึงเสือ และสัตว์กินเนื้อตัวอื่นๆ

พวกมันคือนักล่า ที่มีคุณสมบัติพิเศษที่ธรรมชาติได้มอบไว้ให้

ไม่ใช่เพียงความกล้า พวกมันมีความเด็ดขาด เคร่งครัดต่อหน้าที่ คล่องตัว มีไหวพริบ เล่ห์เหลี่ยม

เหล่านี้ทำให้นักล่าไม่น่าไว้วางใจ

 

วันเวลาในป่า ทำให้ผมมีโอกาสดี มีความรู้ มีบทเรียนให้เรียนรู้อย่างไม่จบสิ้น

เฉพาะเรื่องราวของนักล่า

ผมรู้ว่า คุณสมบัติเจ้าเล่ห์ โหดร้าย อันตราย ไม่น่าไว้วางใจ

ดูเหมือนจะไม่ใช่นักล่าที่อยู่ในป่า

คุณสมบัตินี้ดูเหมือนจะเป็นของ “นักล่า” ซึ่งอยู่ในเมือง