จิตต์สุภา ฉิน : แฮ็กสมอง ส่องความคิด

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

คุณผู้อ่านเคยเป็นไหมคะ เวลาเรายืนอยู่ต่อหน้าใครสักคน บางทีใจเราก็เผลอคิดอะไรแว้บขึ้นมาซึ่งก็เป็นความคิดที่ไม่ค่อยจะน่ารักสักเท่าไหร่

อย่างเช่น ทรงผมคนนี้ประหลาดจัง คนนี้เสียงแหลมแสบแก้วหูสุดๆ หรือ ฉันไม่ชอบคนนี้เลยแต่ฉันก็น่าจะต้องทักเขาอยู่ดีนะ ฯลฯ

แล้วทันทีที่คิดแบบนั้นปุ๊บ ก็จะตามมาด้วยความคิดว่า “โห นี่ถ้าเขารู้ว่าฉันคิดอะไรในใจเงียบๆ เมื่อกี้เนี่ย เขาจะต้องโกรธมากแน่ๆ หรืออาจจะเลิกคบฉันไปเลยก็ได้”

โชคดีที่มนุษย์เราไม่สามารถล่วงรู้ความคิดของกันและกันได้

ความสามารถในการอ่านใจเป็นพลังวิเศษที่มักจะถูกถ่ายทอดเอาไว้อยู่ในภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่อง

ที่ผ่านมามีความพยายามที่จะทำการทดลองเพื่อพิสูจน์ว่า “เทเลพาธี” หรือการถ่ายโอนความคิดจากคนคนหนึ่งไปสู่คนอีกคนหนึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้จริงหรือไม่

แต่ก็มักจะล้มเหลวทุกครั้งไป และยังไม่มีหลักฐานเพียงพอให้เชื่อว่าความสามารถนี้มีอยู่จริง

สุดท้ายก็ถูกชุมชนวิทยาศาสตร์มองว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์ลวงโลกเท่านั้น

 

มาจนถึงวันนี้ ความก้าวหน้าในประสาทเทคโนโลยี หรือการศึกษาเกี่ยวกับการทำงานของสมองมนุษย์ก็ทำให้เราสามารถอ่านหรือเปลี่ยนแปลงกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสมองได้

จนนำไปสู่ความกังวลว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เรามีความเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้นจนสามารถที่จะหยิบฉวยข้อมูลออกมาจากสมองของคนอื่นได้แล้ว สิทธิมนุษยชนของเราจะถูกล่วงละเมิดหรือไม่

บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งเริ่มหันมาให้ความสนใจกับการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีการอ่านสมอง ผลการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์จาก UCSF ที่สนับสนุนโดย Facebook เพิ่งจะยืนยันว่ามีความเป็นไปได้ที่เราจะใช้เทคโนโลยีคลื่นสมองในการถอดรหัสคำพูด

Neuralink ของ Elon Musk ก็กำลังเดินหน้าพัฒนาและทดสอบการฝังอุปกรณ์ที่จะสามารถอ่านความคิดของคนได้

ค่ายรถยนต์อย่าง Nissan ก็เปิดตัวเทคโนโลยี Brain-to-Vehicle หรือการให้รถยนต์ของเราแปลค่าสมองของผู้ขับว่าต้องการจะทำอะไรเป็นลำดับถัดไป

เช่น เลี้ยว เร่ง เบรก และเตรียมพร้อมให้รถยนต์สนองคำสั่งได้รวดเร็วขึ้น

โรงพยาบาลนำเทคโนโลยีนี้มาช่วยในการวินิจฉัยโรคและรักษาอาการบางอย่างของผู้ป่วย เช่นเดียวกับวงการเกมที่ใช้เครื่องมืออ่านคลื่นสมองมาช่วยให้ผู้เล่นสามารถเล่นเกมผ่านการนึกคิดได้

หลังจากนี้อีกไม่นานเราก็จะได้เห็นดีไวซ์ต่างๆ ที่เล่นกับคอนเซ็ปต์การอ่านสมองวางขายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 

ในบางกรณี เทคโนโลยีการอ่านสมองถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับคนทำงาน

อย่างเช่นสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า SmartCap อุปกรณ์สวมศีรษะที่ดูภายนอกคล้ายๆ กับหมวกเบสบอล แต่ข้างในมีการเดินสายสำหรับใช้อ่านคลื่นสมองหรือ EEG

ประโยชน์ของมันก็คือการคอยตรวจจับว่าผู้สวมใส่มีอาการเหนื่อยล้าแค่ไหน เพื่อช่วยระมัดระวังเรื่องความปลอดภัย ป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงาน และเพิ่มผลิตผลของแรงงาน

หมวกจะสามารถเตือนคนที่ทำอาชีพคนขับรถได้ว่าตอนนี้สมองเกิดอาการง่วงและล้าแล้วหรือยัง

มีรายงานข่าวว่าบริษัททำเหมืองหลายแห่งในออสเตรเลียนำหมวกอ่านสมองนี้ไปใช้กับพนักงานของตัวเองแล้ว

เนื่องจากตัวตรวจจับเหล่านี้สามารถช่วยเตือนล่วงหน้าได้ว่าตอนนี้คนงานเหมืองได้รับพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ในระดับที่จะส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรงต่อสมองแล้วหรือไม่

แม้ว่าเทคโนโลยีการสแกนสมองสมัยใหม่จะยังไม่สามารถดึงความคิดออกมาจากหัวของคนได้เหมือนอย่างการ์ตูนโดราเอมอน ข้อจำกัดของมันก็คือ มันสามารถดึงสัญญาณมาเฉพาะจากพื้นผิวของกะโหลกศีรษะและเข้าไปลึกกว่านั้นไม่ได้

ดังนั้น ความคิดอะไรก็ตามที่อยู่ลึกๆ หรือความทรงจำต่างๆ ก็จะยังถูกเก็บรักษาเอาไว้อย่างแน่นหนา

เทคโนโลยีที่จะสามารถเข้าไปถอดรหัสความคิดและอารมณ์ของมนุษย์ได้แบบที่ไม่ต้องเจาะหรือเปิดอะไรออกมาก็น่าจะอยู่ห่างออกไปประมาณ 10-15 ปีข้างหน้า หรือไม่แน่…เราอาจจะไม่มีทางไปถึงจุดนั้นกันเลยก็ได้

ในตอนนี้สิ่งที่พอจะสามารถทำได้ก็คือการใช้เทคโนโลยีนี้เพื่ออ่านอารมณ์ว่าเป็นบวก ลบ หรือกลางๆ คนคนนั้นกำลังวิตกกังวลหรือไม่ กำลังจะชักหรือเปล่า

หรือเอาไว้จับความคิดง่ายๆ อย่างเช่น การคิดถึงรูปทรงบางรูป คำศัพท์ง่ายๆ บางคำ หรือชุดตัวเลขที่ไม่ซับซ้อน

ก่อนหน้านี้หลายปี นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐก็เคยทำการทดลองด้วยการให้อาสาสมัครนั่งดูคลิปภาพยนตร์ จากนั้นก็สแกนสมองของพวกเขาและนำภาพจากคลิปนั้นกลับมาปะติดปะต่อกันใหม่อีกครั้ง

 

แม้ว่าการเข้าไปล้วงทุกซอกทุกมุมของความคิดในหัวคนจะยังมาไม่ถึงเร็วๆ นี้ หรืออาจจะมาไม่ถึงเลยก็ได้ ก็ไม่ยากเกินจะคาดเดาว่ามันจะเก่งกาจขึ้นเรื่อยๆ และจะสามารถเผยข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมในสมองมนุษย์ได้มากและชัดขึ้น

จริงอยู่ที่การอ่านสมองจะช่วยทำให้มนุษย์เรามีปฏิสัมพันธ์กับอุปกรณ์ต่างๆ รอบตัวได้รวดเร็วมากขึ้น แต่เรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวก็เป็นอีกประเด็นที่ต้องขบคิด ข้อมูลในสมองของเราควรจะได้รับการปกป้องอย่างแน่นหนา ไม่ว่าสิ่งที่เรากำลังคิดนั้นเป็นลิขสิทธิ์สิ่งประดิษฐ์อันล้ำค่า หรือแค่ภาพการ์ตูน ตัวอักษร ตัวเลขสุ่มๆ ที่ไม่ได้มีมูลค่าทางการเงินอะไรก็ตาม

อันที่จริง แค่ความสามารถในการปั้นสีหน้าเพื่อหลอกให้คนเข้าใจว่าเรามีอารมณ์แบบหนึ่ง ทั้งๆ ที่จริงอารมณ์ของเราเป็นอีกแบบก็เป็นสมบัติล้ำค่าที่ไม่ควรมีใครมาพรากจากเราไปได้ด้วยการกระโดดข้ามมาอ่านอารมณ์ที่แท้จริงของเรา

แฮ็กเกอร์ที่เจาะเข้าคอมพิวเตอร์เราก็น่ากลัวแล้ว ต่อไปก็ยังต้องระวังแฮ็กเกอร์ที่จะเจาะเข้ามาขโมยความคิดในสมองเราด้วย

แม้จะเร็วไปหน่อยที่จะกังวลในตอนนี้

แต่สุภาษิตโบราณที่ว่า “กันไว้ดีกว่าแก้” ก็ยังใช้ได้อยู่เสมอ