ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 กรกฎาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | มุมมุสลิม |
เผยแพร่ |
ไม่มีอะไรเทียบได้กับคำว่า “สงครามศักดิ์สิทธิ์” ในแบบฉบับของภาษาอาหรับ
มีคำสำหรับสงครามคือคำว่าหัรบ์ (harb) และอีกหลายคำในการกระทำที่แตกต่างกันของสงคราม ยังมีคำสำหรับความหมายว่าศักดิ์สิทธิ์ คือ มุก็อดดัส (Muqaddas) อยู่ด้วย
อย่างไรก็ตาม คำเหล่านี้ไม่คุ้นเคยในการใช้ตามแบบฉบับและปรากฏอยู่บ่อยในบริบทของชาวยิวและชาวคริสต์มากกว่าจะยึดติดอยู่กับความหมายของอิสลาม
การเชื่อมเอาคำคุณศัพท์ “ศักดิ์สิทธิ์” กับคำนาม “สงคราม” ไม่ปรากฏอยู่ในตำราต้นฉบับของอิสลาม
และที่ใช้กันในภาษาอาหรับสมัยใหม่นั้นเป็นปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่การแปลคำว่า “สงครามศักดิ์สิทธิ์” ในบางมาตรการเป็นการทำให้ผิดรูปผิดร่างไป
คําว่า ญิฮาด มาจากภาษาอาหรับ ซึ่งหมายถึง “ดิ้นรนหรือพยายาม” เป็นคำที่ใช้อยู่บ่อยครั้งในตำราดั้งเดิม ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่าต่อสู้ ในที่นี้จึงรวมทั้ง “การต่อสู้” ที่ถูกอ้างถึงในวลีของอัล-กุรอานอยู่เสมอว่าเป็นการ “ต่อสู้ในหนทางของพระเจ้า” และหลายครั้งได้รับการตีความว่าหมายถึงการต่อสู้ทางศีลธรรมและทางอาวุธ
ในตอนปลายของศตวรรษที่ 20 และ 21 คำว่าญิฮาดถูกนำมาใช้โดยขบวนการผู้ต่อต้าน ผู้ปลดปล่อยและผู้ก่อการร้ายเหมือนๆ กันเพื่อหาความชอบธรรมให้แก่ภารกิจและแรงผลักดันของพวกเขา คำว่าญิฮาด จึงหมายถึงความรุนแรงที่แสดงโดยชาวมุสลิมเพื่อต่อต้านรัฐบาลที่ใช้อำนาจสิทธิขาดและโลกที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมตะวันตก และค่านิยมในเรื่องเสื้อผ้า ดนตรี โทรทัศน์ และภาพยนตร์
ท่านศาสดามุฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) ได้ย้ำในเรื่อง “ญิฮาดใหญ่” (Greater Jihad) ซึ่งรวมไปถึงการขัดเกลาจิตใจ ส่วนญิฮาดเล็ก (Lesser Jihad) เป็นแรงบันดาลทางด้านจิตวิญญาณ ซึ่งครั้งหนึ่งทำให้กองทัพมุสลิมเข้าพิชิตอาณาจักร
และสามารถปกป้องสถานศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขาได้
นักวิชาการมุสลิมได้แบ่งญิฮาดออกเป็น 3 ประการคือ 1.ญิฮาดต่อกิเลสตัณหาของตัวเอง 2.ญิฮาดต่อสิ่งชั่วร้ายภายนอก 3.ญิฮาดต่อศัตรูที่มองเห็นได้
ส่วนพวกซูฟี (รหัสยนัยหรือประสบการณ์ทางจิต) ได้แบ่งญิฮาดออกเป็น 1.ญิฮาดเล็ก คือการต่อสู้กับศัตรู และ 2.ญิฮาดใหญ่ คือการทำตามคำบัญชาของพระเจ้า การทำความดี ฯลฯ ดังเช่นที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) กล่าวว่า การไปทำฮัจญ์ก็คือการญิฮาดที่สูงสุดอย่างหนึ่ง
ท่านไม่ได้หมายถึงว่าการไปทำฮัจญ์อันเป็นหลักปฏิบัติอย่างหนึ่งของชาวมุสลิมก็คือการไปต่อสู้กับผู้ใดและเมื่อท่านกลับมาจากการต่อสู้กับศัตรูท่านก็จะกล่าวว่า เรากลับจากญิฮาดเล็กมาสู่ญิฮาดใหญ่ ซึ่งหมายถึงกลับมาจากการต่อสู้กับศัตรู (ในหนทางของพระเจ้า) มาสู่การเอาชนะกิเลสตัณหาในตัวเราเองหรือการทำความดี ฯลฯ และญิฮาดนั้นทำได้ 3 อย่างคือด้วยหัวใจ (ทางความศรัทธาและทางความคิด) ด้วยลิ้น (ทางวาจา) และด้วยมือ (ทางการกระทำ)
และเหตุไฉนพวกเจ้าจึงไม่ต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์
เพื่อบรรดาผู้อ่อนแอที่ได้รับการปฏิบัติที่เลวทราม (และถูกกดขี่) เล่า?
เพื่อชายหญิงและเด็กๆ ผู้ร้องว่า “โอ้พระเจ้า!
ขอได้โปรดช่วยพวกเราให้พ้นจากเมืองนี้ ซึ่งผู้คนเป็นผู้กดขี่
และขอได้ทรงตั้งผู้หนึ่งจากพระองค์
ผู้ซึ่งจะคุ้มครองพวกเราได้
และขอได้ทรงตั้งผู้หนึ่งจากพระองค์
ผู้ซึ่งจะช่วยเหลือพวกเราได้ด้วยเถิด! (อัล-กุรอาน 4 : 75)
และอีกโองการหนึ่งคือ
และจงต่อสู้พวกเขาต่อไป
จนกว่าจะไม่มีความวุ่นวาย หรือความกดขี่อยู่ต่อไป
จนกว่าจะมีความยุติธรรมและความศรัทธาในพระเจ้า (อัล-กุรอาน 2 : 193)
เราจะเห็นได้ว่าจุดมุ่งหมายของการต่อสู้นั้นก็คือความยุติธรรมนั่นเอง เพราะฉะนั้น อาจสรุปได้ว่าญิฮาดหมายถึงการยืนหยัดต่อต้านการกดขี่ การใช้อำนาจเผด็จการ และความอยุติธรรม (ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม) และเป็นการต่อสู้เพื่อผู้ที่ถูกกดขี่ (ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม) หรือในแง่มุมที่กว้างขึ้น ญิฮาดก็คือความพยายามหรือการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ซึ่งไม่จำเป็นต้องกระทำด้วยความรุนแรง
มุญาฮิดีน
คําว่า มุญาฮิดีน เป็นคำภาษาอาหรับ มีรากศัพท์มาจาก ญะฮะดะฮ์ ซึ่งแปลว่าความพยายาม การต่อสู้ งานหนัก เหน็ดเหนื่อย แผลงเป็นมุญาฮิด แปลว่า ผู้ต่อสู้ ผู้ต่อสู้เพื่ออิสรภาพหรือนักรบ ส่วน มุญาฮิดีน เป็นคำพหูพจน์ของมุญาฮิด คือผู้ต่อสู้หรือนักรบหลายคน คำว่าญะฮะดะฮ์นี้ ยังแผลงเป็นคำที่สำคัญอีกคำหนึ่งคือคำว่าญิฮาด ดังนั้น คำว่ามุญาฮิดีน จึงเกี่ยวข้องกับคำว่าญิฮาด ญิฮาดเป็นการกระทำมุญาฮิด (หรือมุญาฮิดีน) คือผู้กระทำ
ทำอะไรหรือ? แนวคิดของญิฮาดนั้นมีหลายมิติ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น มิติหนึ่งคือการต่อสู้กับตัณหาราคะในตัวเองเพื่อให้เป็นคนดีและบริสุทธิ์ตามหลักการของอิสลาม
นี่คือการญิฮาดภายใน
นอกจากนั้น ยังมีอีกมิติหนึ่งคือการต่อสู้ภายนอก ต่อสู้เพื่อ (1) ปกป้องศาสนา (อิสลาม) (2) เพื่อทำลายล้างความชั่วร้ายที่มีอยู่ในชุมชนมุสลิมให้หายไป
สิ่งชั่วร้ายนี้อาจมาในรูปแบบใดๆ ก็ได้ เช่น การล่อลวงให้ประชาชนมุสลิมหลงผิด หรือในรูปของผู้กดขี่บังคับประชาชน ผู้ปกครองที่อธรรมหรือการเข้าครอบครองของคนต่างชาติซึ่งเป็นอันตรายแก่ชุมชนมุสลิม ชาวมุสลิมจะต้องต่อสู้กับผู้กดขี่และการกดขี่เพื่อให้บังเกิดสันติสุขและความยุติธรรมดีงามขึ้นในสังคม ดังปรากฏในอัล-กุรอาน ว่า
จงต่อสู้ในหนทางแห่งพระผู้เป็นเจ้า
ต่อบรรดาผู้ที่ต่อสู้พวกเจ้า
แต่จงอย่าล่วงล้ำขีดจำกัด
“เพราะพระเจ้าไม่ทรงโปรดผู้ล่วงละเมิด” (อัล-กุรอาน 2 : 109) หมายเหตุ “ในหนทางแห่งพระเจ้า” หมายถึงโดยความเป็นธรรม
และจงต่อสู้พวกเขาต่อไป
จนกว่าจะหมดไปซึ่ง
ความวุ่นวายหรือความกดขี่
และจนกว่าจะมีความยุติธรรม
และความศรัทธาในพระเจ้า (อัล-กุรอาน 2 : 193)
ดังนั้น อีกมิติหนึ่งของญิฮาดก็คือการทำสงครามทางอาวุธกับศัตรูของอิสลาม เพื่อจะได้สร้างความยุติธรรมทางสังคมแบบอิสลามขึ้นมา และยังหมายความด้วยถึงการทำสงครามเพื่อเอาดินแดนที่ศัตรูฉกชิงไปกลับคืนมา เพื่อจะได้ทำให้ชะรีอะฮ์ (กฎหมายของพระเจ้า คือกฎหมายอิสลามนั่นเอง) ได้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดินนั้น
มุสลิมทุกคนที่มีความสามารถถูกสั่งมิให้อยู่นิ่งเฉย แต่จะต้องต่อสู้ เมื่อผู้รู้ศาสนาอิสลาม (อุลามาอ์) ลงมติให้ทำการญิฮาด มุสลิมทุกคนที่มีร่างกายแข็งแรงดีก็จะต้องทำการญิฮาด ผู้ที่เสียชีวิตในระหว่างการต่อสู้เช่นนี้ถือว่าเป็นชะฮาดัต (ผู้สละชีพเพื่อพระเจ้า) มีสถานภาพอันสูงส่ง เป็นผู้ไม่ตายและพวกเขาจะพ้นจากนรก ดังปรากฏอยู่ในหะดีษ (วจนะของท่านศาสดามุฮัมมัด ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) ว่า
“ไฟแห่งนรกจัดไม่สัมผัสขาของผู้ที่เปรอะเปื้อนด้วยฝุ่นละอองจากการต่อสู้ในหนทางแห่งพระเจ้า” และ “การตายจากการต่อสู้ในหนทางแห่งพระเจ้าจะลบล้างบาปทั้งหมดออกไปจากเขา เว้นแต่บาปจากการติดหนี้สิน” และ “หากเขาเสียชีวิตลงเขาจักถูกนำไปสู่สรวงสวรรค์”
ความเชื่อในแนวความคิดนี้ทำให้มุญาฮิดีนทุกคนกลายเป็นนักสู้ที่เข้มแข็งและไม่ครั่นคร้าม ความต้องการที่จะได้เป็นชะฮาดัตนั้นเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่มีอยู่เบื้องหลังมุญาฮิดีนทุกคน ทำให้พวกเขาสามารถต่อต้านชาติมหาอำนาจได้ หากการรบมิได้เป็นการเอาเปรียบกันจนเกินควร
มุญาฮิดีนของโลกมุสลิมนั้นมีมาตลอดระยะประมาณ 1,400 ปี นับตั้งแต่กำเนิดของศาสนาอิสลาม
ตัวอย่างเช่น ผู้ต่อสู้กับฝ่ายศัตรูของอิสลามในสมัยท่านศาสดามุฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) นักรบในสมัยสงครามครูเสดซึ่งต่อสู้กับผู้รุกรานในคริสต์ศตวรรษที่ 11-12 การต่อสู้ของมุสลิมอียิปต์กับทหารอังกฤษ เมื่อ ค.ศ.1919-1922 เพื่อขับไล่เจ้าอาณานิคมอังกฤษออกจากอียิปต์
การต่อสู้ของชาวปาทานมุสลิมในเมืองปิชะวาร์กับอังกฤษในปลายศตวรรษที่ 11 และต้นศตวรรษที่ 12 การขับไล่พวกอิตาลีออกจากลิเบียภายใต้ผู้นำอย่าง อุมัร มุคตาร์ (Umur Muktar) การต่อสู้ของชาวเลบานอนบนเทือกเขาเลบานอนเพื่อขับไล่ชาวยิวที่จะมายึดที่ราบสูงโกลัน (เญาลัน)
และการต่อสู้ของมุญาฮิดีนในอัฟกานิสถานเพื่อขับไล่อำนาจและอิทธิพลของสหภาพโซเวียต เป็นต้น