มนัส สัตยารักษ์ : คะนองปาก ยุคปากไว ของคนไทย

เมื่อ นายสุภัฒ สงวนดีกุล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจญี่ปุ่นจับกุมฐานลักทรัพย์ (ภาพเขียน) ของโรงแรมที่เมืองเกียวโต

ผมพลันนึกถึงครั้งที่ผม “จิ๊ก” ภาพเขียนของ แอนดี้ วอร์ฮอล (Andy Warhol) ศิลปินป๊อปอาร์ตจากแผงประชาสัมพันธ์ของโรงแรมแห่งหนึ่งในสวิตเซอร์แลนด์

โรงแรมชื่ออะไรก็ลืมเสียแล้ว จำได้แต่ว่าเป็นโรงแรมเล็กๆ ห้องที่ผมนอนก็เล็กมากขนาดประมาณ 3 คูณ 3 เมตรเท่านั้น แต่โรงแรมนี้อยู่ริมทะเลสาบ วิวสวยและอากาศดี

แม้จะเข้าใจถึงอานุภาพอันไร้ขอบเขตแห่ง “ความอยากได้” แต่ก็รู้สึกช็อกที่ข้าราชการระดับสูงไปสร้างความเสียหายร้ายแรงให้แก่ภาพลักษณ์ของประเทศจนไม่อาจให้อภัยได้ แม้ว่าเจ้าตัวจะสารภาพผิดและขอโทษคนไทยทั้งประเทศในวาระแรกแล้วก็ตาม

ความรู้สึกช็อกทำให้ผมพักการเริ่มต้นจะค้นหาเบื้องหลังหัวข้อเสวนาของ “องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น” ที่จัดเสวนาเรื่อง “ตำรวจไทย มีไว้ทำอะไร”

 

นักวิชาการคนหนึ่ง ตอบอย่างพล่อยๆ แบบคะนองปากว่า

“ผมยังไม่เห็นว่าตำรวจมีประโยชน์อะไรต่อสังคม ต่อประชาชนบ้าง ตำรวจจำนวน 2.1 แสนคน เรามีเอาไว้ทำไม คำถามนี้ผมตอบไม่ได้จริงๆ”

คำถามและคำตอบอย่างใช้อวัยวะเบื้องต่ำแทนสมอง มุ่งแค่เพียงจะเหยียดหยามและย่ำยีตำรวจโดยไม่ได้หวังผลในทางสร้างสรรค์ มันน่าจะมีเบื้องหลังมากมายและยืดยาว

ขอพักเอาไว้ก่อน คุยเรื่องคุณสุภัฒกันก่อนดีกว่า

ไม่เพียงแต่สะอึกไปกับข่าวข้าราชการระดับสูงของไทยไปทำให้ประเทศและประชาชนคนไทยขายหน้าเท่านั้น ผมยังอึ้งไปกับปรากฏการณ์และเสียงสะท้อนหลากหลายที่เต็มไปด้วยอารมณ์ในสื่อต่างๆ ด้วยอย่างมากมาย

เมื่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาออกมาแถลงข่าวรองอธิบดีในวันแรกตามหน้าที่ ยอมรับว่าข่าวดังกล่าวเป็นความจริง และนายสุภัฒรับสารภาพผิด ท่านอธิบดีชี้แจงว่ายังไม่ทราบรายละเอียด ขณะเดียวกันก็พูดถึงรองอธิบดีเป็นเชิงบวก พูดถึงผลการทำงานที่ผ่านมาและอุปนิสัยที่ดี

มีเสียงโต้กลับอย่างหงุดหงิดทันทีว่า ถ้าอธิบดีไม่รู้แล้วรีบแถลงข่าวทำไม

หลังจากนั้นปลัดกระทรวงพาณิชย์แถลงข่าวตามหน้าที่อีกเช่นกันว่า การกระทำของนายสุภัฒเป็นความผิดที่จะต้องตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย อัตราโทษมีหลายระดับ ตั้งแต่ว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ ไปจนถึงให้ออก ปลดออก และไล่ออก

มีเสียงดักคอว่าพยายามปกป้องข้าราชการกระทำความผิด

 

เมื่อสื่อไปสัมภาษณ์เพื่อนข้าราชการ ได้คำตอบว่าคุณสุภัฒนิสัยดีและติดดิน เท่านั้นแหละโดนวิพากษ์วิจารณ์ว่าเชียร์คนเลว

ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พูดถึงเรื่องระเบียบราชการ การตั้งกรรมการสอบสวนว่า “ปกติการลักทรัพย์ไม่ถือเป็นความผิดร้ายแรงทางวินัย เว้นแต่ทำให้ภาพลักษณ์ประเทศเสียหาย”

ประโยคที่ว่า “ไม่ถือเป็นความผิดร้ายแรง” ซึ่งแทรกอยู่ในหลายประโยคยาวๆ ถูกหยิบขึ้นมาถล่ม ดร.วิษณุ หลายครั้งและหลายที่จนรองนายกฯ หยุดพูดเรื่องนี้

นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการคนดัง ถึงกับกล่าวประชดว่า “แก้กฎหมายไปเลยครับ… วรรค 2 ของมาตรา 334 ว่า ถ้าผู้กระทำความผิดฐานลักทรัพย์เป็นข้าราชการ ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ”

เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศและกงสุลไทยซึ่งปกติก็ต้องทำหน้าที่ช่วยเหลือคนไทยที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนในต่างแดน แต่หนนี้ถูกประณามอย่างหนักจากสื่อออนไลน์ว่าเอาเวลาราชการไปวิ่งเต้นเจรจาและใช้เงินจากภาษีไปจ่ายค่าเสียหายช่วยคนลักทรัพย์และทำลายชื่อเสียงของคนไทย

ความเกลียดชังไม่ได้มีเฉพาะต่อตำรวจเท่านั้น แต่ทุกหน่วยงานราชการ

ทำหรือไม่ทำ พูดหรือไม่พูดก็ผิดไปหมด ทำให้นึกถึงประโยคยอดนิยมในวรรณกรรมจีน…

“บุญคุณกับความแค้นแยกกันมิออก” (ฮา)

 

ถ้าเราได้อ่านคำอธิบายข้อกฎหมาย “กรณีที่อัยการญี่ปุ่นสั่งไม่ฟ้องรองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา” ของ ดร.ธนกฤต วรนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เราจะเข้าใจ

เข้าใจดีว่าเหตุที่อัยการญี่ปุ่นสั่งไม่ฟ้องในครั้งนี้นั้น เป็นการใช้อำนาจตามหลักการ “ฟ้องคดีอาญาโดยดุลพินิจ” ดุลพินิจตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

อัยการญี่ปุ่น (เช่นเดียวกับอัยการฝรั่งเศสและอเมริกา) มีอิสระในการสั่งคดีและมีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องคดีบางคดีได้ แม้จะมีหลักฐานเพียงพอควรเชื่อได้ว่าผู้ต้องหากระทำความผิดจริงก็ตาม

ในกรณีนี้อัยการญี่ปุ่นอาจจะพิจารณาแล้วเห็นว่าการฟ้องคดีต่อศาลไม่มีความจำเป็น

คดีลักทรัพย์ตามกฎหมายญี่ปุ่นไม่ถือเป็นความผิดร้ายแรง และตามข่าวที่ปรากฏทางสื่อมวลชน อัยการญี่ปุ่นเห็นว่าไม่ได้สร้างความเสียหายแก่สังคม

จิตแพทย์กล่าวถึงกรณีรองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาอย่างระมัดระวังว่า ต้องมีการตรวจสอบถึงสาเหตุในการลักขโมยว่าเกิดจากภาวะสมองเสื่อมจากวัยสูงอายุหรือไม่ หรือเกิดจากภาวะการป่วยเป็นโรค “ชอบหยิบฉวยของ” (Kleptomania) ซึ่งมีสาเหตุมาจากสารในสมองทำงานผิดปกติ ทำให้มีพฤติกรรมชอบสะสม ขาดการรับรู้ผิดชอบชั่วดี

มีอาการ “อยากได้” เกิดขึ้นทันที หยิบไปแล้วจะหายทรมานใจ แล้วก็อาจจะนำมาคืน พฤติกรรมจากโรค “ชอบหยิบ” หรือ Klepto นี้แตกต่างกับผู้ที่ลักทรัพย์โดยมีการวางแผนล่วงหน้า หรือพวกที่ลักทรัพย์เป็นอาชีพหรือโดยสันดาน

จิตแพทย์กล่าวอย่างระมัดระวัง ไม่ใช่เพราะเกรงคุณสุภัฒจะต่อว่าที่ไปหาว่าเขาเป็นโรคจิต แต่แพทย์กลัวจะถูกบริภาษว่าช่วยชี้ช่องทางต่อสู้ให้คุณสุภัฒต่างหาก

เพราะเรากำลังอยู่ในยุค “ปากไว” บริภาษกันง่ายๆ และพล่อยๆ

 

มาถึงบรรทัดนี้ขอเล่าเบื้องหลังที่ผม “หยิบ” ภาพของ แอนดี้ วอร์ฮอล มาจากโรงแรมที่สวิตเซอร์แลนด์… มันเป็นภาพที่พิมพ์ในโปสเตอร์ชักชวนไปชมนิทรรศการซึ่งผ่านพ้นไปแล้ว ผมหยิบมาต่อหน้าคนของโรงแรมที่มองยิ้มๆ มาจากเคาน์เตอร์แคชเชียร์

ส่วนเบื้องหลังของการเสวนา “ตำรวจไทย มีไว้ทำอะไร” นั้น มีอดีตนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่เฟซมาเล่าให้ฟังว่า ครั้งที่มีนักวิชาการโจมตีตำรวจเรื่อง “ผลประโยชน์จากบ่อน” จนเป็นข่าวใหญ่โตนั้น ต่อมาได้รับการเคลียร์จากเจ้าของบ่อนโดยมี “ค่าปิดปาก” จนเงียบไป

ผมได้คำตอบจากคำถามในการเสวนาแล้ว คำตอบของผมคือ

“ผมก็ยังไม่เห็นว่านักวิชาการมีประโยชน์อะไรต่อสังคม แถมมีโทษเสียด้วยซ้ำ”

เป็นคำตอบที่คะนองปากและพล่อยพอกัน