วิกฤติศตวรรษที่21 : มองโลกปี 2017 และหลังจากนั้น : รัฐที่ล้มเหลว

ฟองสบู่สินทรัพย์-เมื่อความมั่งคั่งเป็นพิษ

ในระยะหลายสิบปีมานี้ โลกเกิดภาวะฟองสบู่สินทรัพย์แตกหลายครั้ง

ครั้งหลังสุดปี 2008 เป็นฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐ ก่อความเสียหายรุนแรงกว่าที่ผ่านมา จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้ฟื้นตัวอย่างแข็งแรง

แสดงว่าฟองสบู่สินทรัพย์สามารถสร้างความอ่อนแอให้แก่เศรษฐกิจโลกรุนแรงและยาวนาน

หากพิจารณาสินทรัพย์ในโลกก็จะพบว่ามีอยู่มากมาย มากกว่าจีดีพีโลกหลายเท่า

มีผู้ประมวลสินทรัพย์ทางการเงินโลก (ไม่รวมสินทรัพย์ด้านอสังหาริมทรัพย์ ประมาณการปี 2014) มีมูลค่าทั้งสิ้น 294 ล้านล้านดอลลาร์

สินทรัพย์ทางการเงินของโลกแบ่งเป็น หนี้ที่ไม่ออกตราสารหนี้ 62 ล้านล้านดอลลาร์ ตราสารหนี้ 14 ล้านล้านดอลลาร์ พันธบัตรบรรษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน 31 ล้านล้านดอลลาร์ พันธบัตรสถาบันการเงิน 60 ล้านล้านดอลลาร์ หนี้สาธารณะ 58 ล้านล้านดอลลาร์ (ทั้งในหลักทรัพย์และพันธบัตร) มูลค่าหุ้นในตลาดโลก 69 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมากที่สุด (ดูบทความของ Sam Ro ชื่อ Here”s what the $294 trillion market of global financial assets looks like ใน businessinsider.com 11.02.2015)

สินทรัพย์มหาศาลนี้เกิดขึ้นพร้อมกับปรากฏการณ์ฟองสบู่ซึ่งมีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น ฟองสบู่เศรษฐกิจ ฟองสบู่เก็งกำไร ตลาดฟองสบู่ ฟองสบู่ราคา เป็นต้น ทั้งเกิดขึ้นบ่อยและต่อเนื่อง ได้ก่อรูปเป็นสถาบันฟองสบู่ขึ้น นักวิชาการบางคนเรียกว่าทุนนิยมกาสิโน ในปัจจุบันมีความกังวลเกี่ยวกับฟองสบู่หลายฟอง เช่น ฟองสบู่พันธบัตร ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ฟองสบู่หลักทรัพย์ เป็นต้น

ดังนั้น วิกฤติเศรษฐกิจจึงสามารถเกิดขึ้นในเวลาหนึ่งเวลาใดก็ได้ในท่ามกลางสินทรัพย์และความมั่งคั่งล้นโลก

ฟองสบู่สินทรัพย์เกิดขึ้นได้อย่างไรและมีผลอะไร

คําถามพื้นฐานทางทฤษฎีในระบบทุนนิยมด้านมหภาคมีไม่มาก ที่สำคัญ ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจภาคการผลิตที่เป็นจริงกับภาคการเงิน ว่าควรให้ความสำคัญด้านใด

นักเศรษฐศาสตร์คลาสสิคตั้งแต่ อดัม สมิธ ถึง จอห์น สจ๊วต มิลล์ เห็นว่าภาคการผลิตที่เป็นพื้นฐาน ไม่ควรให้บทบาทแก่ “ชนชั้นนักเก็บค่าเช่าดอกเบี้ย” ที่สืบทอดจากสังคมฟิวดัล ส่วน จอห์น เมย์นาร์ต เคนส์ และ ปีเตอร์ ชุมปีเตอร์ เห็นว่าภาคการเงินมีบทบาทนำ

อีกปัญหาหนึ่งคือรัฐควรจะเข้ามาแทรกแซงในตลาดหรือไม่ นักเศรษฐศาสตร์คลาสสิค นักเศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรีย เห็นว่าไม่ควร

ส่วนเคนส์และชุมปีเตอร์เห็นว่าควร มีนักเศรษฐศาสตร์สหรัฐที่เด่นคนหนึ่ง ได้แก่ มิลตัน ฟรีดแมน (1912-2006)

มีทัศนะทั้งด้านให้ความสำคัญแก่ภาคการเงิน กล่าวว่า “(ในโลกเศรษฐกิจ) ไม่มีอะไรได้มาเปล่าๆ” ภาคการเงินก็ต้องลงทุนลงแรงเหมือนกัน กับทั้งไม่เห็นว่ารัฐควรเข้ามาแทรกแซงตลาด เป็นการเสริมพลังทฤษฎีเสรีนิยมใหม่ ให้การเงินมีความสำคัญครอบงำเศรษฐกิจและรัฐบาล

ซูซาน สเตรนจ์ (1923-1998) เป็นนักเศรษฐศาสตร์สตรีชาวสหรัฐที่โดดเด่นมากอีกผู้หนึ่ง เธอสนใจศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทางเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะการต่อสู้ระหว่างรัฐกับตลาด

งานเขียนสำคัญ ได้แก่ “ทุนนิยมกาสิโน” (เผยแพร่ปี 1986 เขียนและก่อรูปทฤษฎีระหว่างทศวรรษ 1970) “รัฐและตลาด” (1988) “การถอยร่นของรัฐ” (1996) “เงินวิกลจริต : เมื่อตลาดใหญ่กว่ารัฐบาล” (1998 เป็นการปรับปรุงจาก “ทุนนิยมกาสิโน” เมื่อเงินมีพฤติกรรมคล้ายคนวิกลจริต ทำนายไม่ได้มากขึ้น)

ซูซาน สเตรนจ์ รับเอาความคิดทั้งจากเสรีนิยม สัจจนิยม และลัทธิมาร์กซ์ มาผสมกันใหม่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์และคำถามใจกลางว่า “ใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์” เธอมีความเห็นว่าการไหลและการควบคุมสินเชื่อเป็นใจกลางของระบบทุนนิยม ซึ่งต้องการการควบคุม กำกับดูแลจากรัฐ เป็นความสัมพันธ์ที่เอื้อประโยชน์กันระหว่างระบบการเมืองของรัฐและระบบเศรษฐกิจของตลาด แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้เป็นเช่นนั้น

เมื่อถึงทศวรรษ 1970 เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ตลาดการเงินโลกเติบใหญ่มีเอกสิทธิ์หรืออภิสิทธิ์ขึ้นเหนือรัฐในท่ามกลางการปฏิวัติทางเทคโนโลยีและกระบวนโลกาภิวัตน์ จนกระทั่งก่อให้เกิดความล้มเหลวใหญ่สามประการของตะวันตก ได้แก่

“ก) ความล้มเหลวในการจัดการและควบคุมระบบการเงิน ข) ความล้มหลวในการปฏิบัติเพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อม และ ค) ความล้มเหลวในการรักษาสมดุลทางเศรษฐกิจ-สังคมระหว่างคนรวยกันคนจน” ซึ่งทำให้ระบบทุนนิยม ดาวเคราะห์โลก และประชาสังคมโลก รวมทั้งระดับชาติล้มเหลวตามไปด้วย (ดูบทความของ Susan K. Sell ชื่อ Ahead of her time? Reflection on Susan Strange”s contributions to contemporary political economy ใน Princeton.edu มกราคม 2014) เมื่อเกิดวิกฤติการเงินครั้งใหญ่ปี 2008 จึงเกิดความสนใจศึกษาทัศนะ คำเตือน และข้อเสนอของเธอมากขึ้น แต่ดูเหมือนก็ยังปฏิบัติไปเหมือนเดิม

สำหรับผลของฟองสบู่สินทรัพย์ต่อเศรษฐกิจ-สังคมที่สำคัญมีสองประการ ได้แก่

ก) เกิดความเหลื่อมล้ำ ความมั่งคั่งยิ่งมาก ความเป็นธรรมยิ่งลดลง ในเดือนมกราคม 2017 องค์การบรรเทาทุกข์ออกซ์แฟมได้แถลงข่าวที่ทำให้ทั้งโลกตกตะลึงว่า เศรษฐีรวยที่สุดแปดคนมีสินทรัพย์เท่ากับคนยากจนที่สุด 3.6 พันล้านคน หรือเท่ากับประชากรครึ่งโลก สะท้อนถึงความผิดปกติทางโครงสร้างเศรษฐกิจ-สังคมโลกอย่างยิ่ง ก่อให้เกิดความขุ่นเคือง การหุนหันพลันแล่น ความไม่ไว้วางใจ ความสิ้นหวังและความแตกแยกที่ยากจะประสานได้

ข) กับดักความเติบโตจากความมั่งคั่งเป็นพิษ เกิดการชะลอตัวของความเติบโต ให้กำเนิดลัทธิประชานิยมเชิงชาตินิยมทางเศรษฐกิจ ลัทธิกีดกันทางการค้า ลัทธิพาณิชยนิยม การเล่นเกมภูมิรัฐศาสตร์แบบผู้ชนะได้หมด

นำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจที่เป็นอันตรายยิ่ง

การเติบโตที่อ่อนแอ

บทสรุปจากสภาข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐ

ทุกสี่ปีนับแต่ 1997 สภาข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐได้ออกเอกสารว่าด้วยแนวโน้มโลกในอีก 20 ปีข้างหน้า เพื่อประกอบเป็นแนวทางกำหนดนโยบายของรัฐบาลและความเข้าใจของสาธารณชน

ฉบับท้ายออกสมัยประธานาธิบดีโอบามา ชื่อ “แนวโน้มโลก 2030”

ฉบับใหม่เป็นฉบับที่หกที่ออกรับประธานาธิบดีทรัมป์ ควรชื่อ “แนวโน้มโลก 2035” แต่กลับตั้งชื่อว่า “แนวโน้มโลก : ความย้อนแย้งของความก้าวหน้า” ต้องการจะก่อกระแสการอภิปรายเกี่ยวกับอนาคตของโลกสำหรับผู้สนใจ มากกว่าที่จะคาดคะเนแนวโน้มอย่างที่เคยปฏิบัติ

ตามเอกสารนี้แนวโน้มและความสัมพันธ์ใหญ่ที่กำหนดภูมิทัศน์โลกจนถึงปี 2035 มีหลายประการและมีรายละเอียดมาก ในที่นี้จะกล่าวโดยเน้นประเด็นการเติบโตที่อ่อนแอ เพราะว่าการเติบโตเป็นหัวใจของระบบทุนเสรี ถ้าหากการเติบโตอ่อนกำลังแล้ว ทุกอย่างก็อ่อนล้าตามไปด้วย ดังนี้

ก) การเติบโตที่อ่อนแอในช่วงห้าปีข้างหน้า เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะที่มีขนาดใหญ่ยังต้องเพียรพยายามต่อสู้ให้เศรษฐกิจเติบโตเหมือนเดิมในท่ามกลางกำลังแรงงานหดตัว ประสิทธิภาพการผลิตได้ผลน้อยลง การพอกพูนของหนี้สินรัฐบาล ความต้องการต่ำ และความสงสัยในกระบวนโลกาภิวัตน์ จีนพยายามเปลี่ยนจากเศรษฐกิจส่งออกและการลงทุนเป็นเศรษฐกิจเน้นการบริโภค ก่อแรงกดดันทางการเมืองโลก การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกในอัตราต่ำจะเป็นอุปสรรคต่อการลดความยากจนในประเทศกำลังพัฒนา

ข) กระแสการกีดกันและแยกตัว การเชื่อมต่อโลกในกระบวนโลกาภิวัตน์ท่ามกลางอัตราการเติบโตต่ำ จะเร่งความตึงเครียดทั้งภายในและระหว่างสังคม ลัทธิประชานิยมจะเพิ่มขึ้นทั้งในฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย ซึ่งคุกคามต่อลัทธิเสรี (ลัทธิโลกาภิวัตน์) เกิดผู้นำจำนวนหนึ่งใช้ลัทธิชาตินิยมเพื่อการควบคุมปกครอง อิทธิพลทางศาสนาจะส่งผลสูงขึ้น

ค) การปกครองยากลำบากขึ้น สาธารณชนเรียกร้องให้รัฐบาลสร้างความมั่นคงและความไพบูลย์ แต่รายได้ที่น้อยเนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ ความไม่ไว้วางใจในรัฐบาล การแตกขั้วในสังคม และการเกิดปัญหาใหม่อย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลทำอะไรไม่ได้มาก เทคโนโลยียิ่งเพิ่มผู้แสดงทางการเมือง โดยเฉพาะเอ็นจีโอและภาคประชาชน

ง) ภัยจากความเสี่ยงสูงขึ้น เนื่องจากผลประโยชน์ที่ไปคนละทางของมหาอำนาจ การขยายตัวของการคุกคามของลัทธิก่อการร้าย ความไม่มั่นคงในรัฐอ่อนแอ ดำรงต่อไป การขยายตัวของเทคโนโลยีที่สร้างอาวุธร้ายแรงการทำลายสูง การมีระเบิดและขีปนาวุธที่แม่น โลกไซเบอร์และระบบหุ่นยนต์ที่สามารถทำลายโครงสร้างพื้นฐานในระยะไกล

นอกจากนี้ ภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศยิ่งรุนแรงส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน

ที่สำคัญคือ แนวโน้มเหล่านี้จะทำงานร่วมกัน เร่งฝีก้าวและความเสี่ยง ทำให้รัฐบาลและบรรษัทรับมือได้ยากขึ้น

ทั้งหมดทำให้ในระยะใกล้ความตึงครียดจะสูงขึ้น

การมองโลกของสภาข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐต่างกับครั้งก่อนที่สำคัญ ในเอกสารฉบับก่อนมองโลกที่เป็นหนึ่งเดียวในกระบวนโลกาภิวัตน์ แล้วคาดการณ์แนวโน้มเป็นต่างๆ ว่าฐานะและบทบาทสหรัฐจะเป็นอย่างไร

แต่ในฉบับนี้ คาดเหตุการณ์โลกระยะไกล (ความจริงเกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน) เป็นสามเหตุการณ์ (ระดับ) ได้แก่ ฉากเหตุการณ์ “เกาะ” พิจารณาพลวัตและความเปลี่ยนแปลงภายในระดับชาติเพื่อสร้างระเบียบการเมืองใหม่

ฉากเหตุการณ์ “วงโคจร” เน้นความสัมพันธ์ของมหาอำนาจที่สร้างศูนย์อำนาจของตนในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งรวมถึงกลุ่มระดับต่ำกว่ารัฐด้วย

และฉากเหตุการณ์ “ประชาคมโลก” เป็นการปรองดอง การ “ยื่นหมูยื่นแมว” เพื่อแก้ปัญหาโลกบางอย่าง เช่น การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศและเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบสูง ในทั้งสามเหตุการณ์ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างคาดหมายได้ยาก

(ดูเอกสารของ National Intelligence Council ชื่อ Global Trends : Paradox of Progress ใน dni.gov มกราคม 2017)

รัฐที่ล้มเหลว

รัฐที่ล้มเหลวที่เพิ่มมากขึ้นและแม้สหรัฐเองก็ไม่ปลอดภัยเป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่สะท้อนโครงสร้างอำนาจโลกที่อ่อนแอ

จิม สซัต์ต หัวหน้านักข่าวสายความมั่นคงแห่งชาติของซีเอ็นเอ็น ได้ติดตามข่าวสารเรื่อง รัฐล้มเหลวและกำลังล้มเหลว มาเป็นเวลา 15 ปี นับแต่เหตุวินาศกรรม 9/11 พบรัฐชาติจำนวนมากที่มีความไม่มั่นคงอย่างยิ่ง เช่น อิรัก อัฟกานิสถาน อียิปต์ โซมาเลีย ซิมบับเว และเวเนซุเอลา เป็นต้น

สาเหตุแห่งความล้มเหลวต่างกันไป มีทั้งสืบเนื่องจากสงคราม การล่มสลาย จนถึงประชาชนลุกขึ้นสู้ก่อการปฏิวัติ

แต่มีลักษณะร่วม ได้แก่ ความกลัว ความแตกแยก ความรุนแรง และการสิ้นหวัง

เขาได้สัมภาษณ์ผู้อำนวยการงานข่าวกรองแห่งชาติที่แสดงความกังวลในความเสี่ยงต่อภาวะเป็นรัฐล้มเหลวของสหรัฐ โดยการข่าวกรองได้กำหนดเครื่องชี้วัดรัฐล้มเหลวไว้หลายประการ มีอยู่ประการหนึ่งที่ส่งผลอย่างแรง ได้แก่ การสูญเสียความเชื่อถือเชื่อมั่นในสถาบันของสหรัฐ ได้แก่ “สถาบันกฎหมาย การปกครองของกฎหมาย โวหารในการหาเสียงก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร”

จิมได้สรุปว่า “สังคมที่ไร้เสถียรภาพที่สุดก็คือสังคมที่ผู้คนเกือบทั้งหมดเห็นว่าระบบไม่ทำงาน หรือทำงานเพียงเพื่อคนส่วนน้อย” (ดูบทความของ Jim Sciutto ชื่อ Is American at risk of following the path of failing nation-states? ใน cnn.com 13.09.2016)

นอกจากนี้ หน่วยข่าวกรองนิตยสารดิอีโคโนมิสต์ได้ลดลำดับประชาธิปไตยในสหรัฐจาก “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” สู่ “ประชาธิปไตยมีตำหนิ” ตามรายงาน “ดัชนีประชาธิปไตย 2016” รายงานนี้ออกเผยแพร่หลังจากที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีแล้ว

คณะนักวิเคราะห์กล่าวว่า สหรัฐไม่ได้ถูกลดระดับเพราะทรัมป์ และว่า การที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งอย่างผิดคาดนั้น เป็นผลจากสาเหตุซึ่งได้ทำให้หน่วยงานนี้ลดระดับสหรัฐ

“ประชาธิปไตยสมบูรณ์” ตามการวัดของหน่วยงานนี้ เป็นประเทศที่ยอมรับนับถือเสรีภาพทางการเมือง และอิสรภาพของพลเมืองขั้นพื้นฐาน มีวัฒนธรรมการเมืองที่สนับสนุนประชาธิปไตย รัฐบาลมีผลงานน่าพอใจ สื่อมีความเสรีและหลากหลาย ระบบตุลาการเป็นอิสระและบังคับใช้คำตัดสิน มีระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพ และได้รับคะแนนตั้งแต่ 8.00 ขึ้นไป

ประเทศประชาธิปไตยมีตำหนิ มีการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม ยอมรับอิสรภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง แต่การปกครองมีปัญหา และการมีส่วนร่วมทางการเมืองต่ำ

คะแนนของสหรัฐลดลงจาก 8.05 ในปี 2015 เหลือ 7.98 ในปี 2016 กลายเป็นประเทศประชาธิปไตยมีตำหนิไป เนื่องจากเกิดความเสื่อมถอยในความเชื่อมั่นของสถาบันการปกรอง ความเชื่อถือของประชาชนสหรัฐต่อรัฐบาลได้เสื่อมถอยลงตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1950 หลังจากนั้นค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น และทรุดลงตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2000 ความเหลื่อมล้ำพุ่งสูงขึ้น นักการเมืองแบบประชานิยมได้ฉวยโอกาสนี้ขึ้นสู่อำนาจ

ประเทศอื่นที่จัดอยู่ในขั้นประชาธิปไตยมีตำหนิได้แก่ ญี่ปุ่น อิตาลี ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ อิสราเอล อินเดีย และชิลี เป็นต้น

(ดูบทความของ Elena Holodny ชื่อ The US has been downgraded to a “flawed democracy” ใน businessinsider.com 25.01.2017)

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึง การมองโลกจากความขัดแย้งใหญ่สามประการ