ติดเครื่อง กก.ปรองดอง คลอด 4 กก.ย่อย จับตาออกทะเลหรือเข้าฝั่ง!

ในยุคที่ทหารยึดอำนาจมายาวนานกว่า 2 ปี 8 เดือน ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. มีการพูดถึงเรื่องความปรองดองในช่วงปี 2558 สมัยยุคที่ยังมีสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ในขณะนั้น มี นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธานกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง

แต่เรื่องความปรองดองในขณะนั้น กลับถูกตีตกไปพร้อมๆ กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

มิหนำซ้ำบรรดาเหล่าสมาชิก สปช. ทั้งหลายก็หมดสถานภาพตามรัฐธรรมนูญไปด้วย

กระทั่งในปัจจุบันรัฐบาลได้ผุดไอเดียปรองดองเข้ามาอีกครั้งหนึ่งในนาม “คณะกรรมการย่อยในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความปรองดอง” หรือ ป.ย.ป. ซึ่งโครงสร้างประกอบไปด้วย

1. คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน

2. คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยมี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร และ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน

3. คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน

และ 4. คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน

จะเห็นได้ว่าโครงสร้างของคณะกรรมการ ป.ย.ป. ทั้ง 4 คณะ มี “บิ๊กตู่” ควบคุมดูแลอยู่ทั้งหมด โดยการทำงานเป็นการแบ่งเค้กให้รองนายกฯ ด้านต่างๆ ได้ดำเนินงาน แต่ที่เป็นที่จับตามากที่สุดคงไม่พ้นคณะทำงานของ “บิ๊กป้อม” ที่จะต้องจัดคณะทำงานไปพูดคุยแนวทางสร้างความปรองดองกับกลุ่มต่างๆ

ทั้งนี้ “เรื่องการสร้างความมัคคีปรองดอง” ถูกทวงถามจากรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย และทุกครั้งที่มีการพูดถึงเรื่องความปรอดองก็มักจะมีการเชื่อมโยงไปถึงการอภัยโทษ หรือนิรโทษกรรม ด้วยเช่นกัน

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการในคณะทำงานของ “บิ๊กป้อม” จำนวนทั้งสิ้น 33 คน

โดยมีที่ปรึกษาและกรรมการ อย่างน้อย 8 คน ประกอบด้วย 1.ประธาน สนช. 2.ประธาน สปท. 3.ประธานคณะอนุกรรมการทุกคณะภายใต้คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง (ถ้ามี) 4.พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ 5.นายปณิธาน วัฒนายากร 6.นายสุจิต บุญบงการ 7.นายสุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์ และ 8.นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์

 

ยังมีกรรมการอื่นอีก 23 คน ประกอบด้วย 1.รองประธาน สนช. คนหนึ่ง 2.รองประธาน สปท. คนหนึ่ง 3.รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 4.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 5.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 6.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 7.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 8.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 9.ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ 10.เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ 11.เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 12.ผู้บัญชาการทหารสูงสุด 13.ผู้บัญชาการทหารบก 14.ผู้บัญชาการทหารเรือ 15.ผู้บัญชาการทหารอากาศ 16.ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 17.อัยการสูงสุด 18.เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม 19.เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า 20.ผู้แทน คสช. 21.ปลัดกระทรวงกลาโหม 22.ปลัดกระทรวงมหาดไทย

และ 23.ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม โดยปลัดกระทรวงกลาโหม จะเป็นทั้งกรรมการและเลขานุการ

เมื่อชั่งน้ำหนักดูคณะทำงานชุดนี้แล้ว จะพบว่าส่วนใหญ่เป็นคนของรัฐบาล ข้าราชการทางการเมือง และคนที่เคยทำงานให้กับรัฐบาลมาแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหารรุ่น 6 ของ “บิ๊กป้อม” และ นายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี หรือที่ปรึกษาของ “บิ๊กป้อม” นั่นเอง รวมถึง นายสุจิต บุญบงการ อดีตคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดที่มีนายบวรศักดิ์เป็นประธาน

แต่ที่ถูกจับตามากที่สุดเห็นจะเป็น “นายสุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์” ซึ่งเป็นตัวแทนภาคเอกชนจากเครือห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ถือเป็นบุคคลภายนอกคนเดียวที่ไม่เคยเข้ารับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ

อย่างไรก็ตาม นายสุทธิพันธ์ก็เคยรับราชการในฐานะอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เกษียณอายุราชการออกมาแล้ว

นอกจากนี้ จะพบว่า เคยมีการเสนอชื่อนายสุทธิพันธ์เป็นกรรมการบริหารและกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. พิจารณาเมื่อหลายปีก่อนก็ตาม

อย่างไรก็ดี นายสุทธิพันธ์ถือเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ และเศรษฐศาสตร์ภาคบริการ

เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของหน่วยงานราชการหลายแห่ง รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาของกระทรวงด้านเศรษฐกิจ มีผลงานวิจัยด้านการค้าระหว่างประเทศที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทั้งในและต่างประเทศจำนวนมาก

นอกจากนั้น นายสุทธิพันธ์ยังเคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการค้าระหว่างประเทศของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา ในปี 2551 และปี 2558

รวมทั้งยังเคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ ด้านเศรษฐศาสตร์ ในปี 2558 อีกด้วย

จึงเป็นที่น่าจับตาในส่วนของการเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มไม้เต็มมือในครั้งนี้ว่า แนวทางปรองดองจะแบเบอร์ออกมาในทิศทางใด

เพราะรัฐบาลต้องตระหนัก และไม่ลืมว่า สาเหตุที่แท้จริง ที่ควรจะปรองดองคืออะไร และควรเกิดจากอะไร ภาครัฐ ภาคเอกชน ใช่หรือไม่ที่ต้องเข้ามายุติเรื่องนี้

หรือแท้จริงแล้ว ปัจจัยที่ควรเข้าไปมีส่วนร่วมและยุติความขัดแย้งนี้มากที่สุดคือ คู่ขัดแย้งที่ก่อให้เกิดมูลเหตุจูงใจทางการเมือง

และสิ่งสำคัญคือ รัฐบาลต้องไม่ลืมประชาชนของประเทศด้วย