รัฐบาล “ถังแตก-ไม่แตก”? “เงินคงคลัง” ไม่ใช่ปัญหา เตือนปมใหญ่งบฯ ขาดดุล(ยาว)

กลายเป็นประเด็นฮ็อตขึ้นมาทันที หลัง “เดชรัตน์ สุขกำเนิด” นักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก “Decharut Sukkumnoed” ในเชิงตั้งคำถามต่อการบริหารประเทศของรัฐบาล คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ว่าหลังจาก คสช. เข้ามาบริหารประเทศ ระดับเงินคงคลัง ณ เดือนกันยายน 2557 ยังอยู่ที่ 495,747 ล้านบาท แต่ผ่านไป 2 ปีกว่า เงินคงคลังลดเหลือ 74,900 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559

“รัฐบาลยังไม่ถังแตกครับ แค่มีเงินคงคลังลดลงไป 420,840 ล้านบาทเท่านั้นเอง ยังไม่นับรวมว่าระหว่างเดือนกันยายน 2557 จนถึงธันวาคม 2559 รัฐบาล คสช. ได้กู้ยืมเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีก 744,187 ล้านบาท นึกไม่ออกเลยจริงๆ ว่า ถ้าได้รับโอกาสบริหารประเทศไปอีก 15 ปี ฐานะการคลังของประเทศจะเป็นอย่างไร”

โพสต์ดังกล่าวของ “เดชรัตน์” เกิดขึ้นหลังจากที่มีข่าวคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กรมสรรพสามิตปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินและเก็บภาษีน้ำมันหล่อลื่น ซึ่งจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มรวมแล้วกว่า 8,000 ล้านบาทต่อปี

ก็มีเสียงอื้ออึง ทั้งจากสื่อสังคมออนไลน์ และสื่อหลัก ในทำนองว่า รัฐบาล “บิ๊กตู่” กำลัง “ถังแตก”

ซ้ำเมื่อไปดูระดับเงินคงคลัง ณ สิ้นธันวาคม 2559 ก็ลดลงมาก เหลือแค่กว่า 7.49 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

ประเด็นเงินคงคลังที่ลดลงของ “เดชรัตน์” ถือว่า “จุดติด” เพราะนอกจากลุกลามอย่างกว้างขวางในโลกโซเชียล เนื่องจากเพจดังต่างๆ หยิบไปเล่นแล้ว ก็ยังมีสื่อกระแสหลักนำไปเล่นเป็นข่าวใหญ่โตด้วย

ร้อนถึง “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รมว.คลัง ต้องเปิดแถลงข่าวด่วนเพื่อชี้แจงเรื่องดังกล่าวในช่วงเที่ยงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยขุนคลังชี้แจงถึงเรื่องการขึ้นภาษีน้ำมันเครื่องบินว่าเป็นการดำเนินการเพื่อความเป็นธรรม ไม่ใช่เกิดจากรัฐบาลถังแตก และรัฐบาลก็ยังมีแผนเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลเพื่อเป็นการดูแลสุขภาพของประชาชน โดยอยู่ระหว่างให้ผู้ประกอบการปรับตัวเป็นเวลา 2 ปี

สำหรับเรื่องระดับเงินคงคลังของรัฐ นายอภิศักดิ์อธิบายว่า การบริหารเงินคงคลังของรัฐ ก็เหมือนกับที่บริษัททั่วไปต้องมีการบริหาร “เงินสดคงเหลือ” ในบัญชี (Cash on hand) ไว้ให้น้อยที่สุด เพราะต้อง “เสียดอกเบี้ย” จากการกู้เงินมา

พร้อมอธิบายว่า เงินคงคลังนั้นมีที่มาจาก 2 แหล่ง คือ 1) รายรับจากภาษี ซึ่งที่ผ่านมา รายรับรัฐบาลก็ไม่ได้ขาด แถมบางช่วงเก็บรายได้เกินเป้าหมายด้วยซ้ำ และ 2) เงินกู้ ที่ต้องพิจารณาว่าช่วงไหนจะกู้หรือไม่กู้ โดยพิจารณากู้ตามความจำเป็นต้องใช้เงินเป็นหลัก

นโยบายที่ตนได้สั่งการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในปีงบประมาณนี้ก็คือ กระทรวงการคลังจะไม่กู้มาเก็บไว้ในรูปเงินคงคลัง และฝากไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยไม่มีดอกเบี้ย ขณะที่เงินที่กู้มาจะต้องเสียดอกเบี้ย เพื่อเป็นการ “ประหยัด” งบประมาณภาครัฐ

“ผมได้คุยกับกรมบัญชีกลางและสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ก็เห็นว่า ในอดีตเงินคงคลังเราสูงเกินไป บางครั้งขึ้นไปถึง 4-5 แสนล้านบาท ซึ่งก็มีภาระดอกเบี้ย จึงคุยกันว่ามีความเป็นไปได้ไหมที่จะพยายามลดเงินคงคลังให้เหลือเท่าที่จำเป็นต้องใช้ ไม่ใช่ไปกู้มาเยอะแยะ แล้วเก็บไว้ โดยเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559 ที่เหลืออยู่กว่า 7 หมื่นล้านบาท ตรงนี้ผมชมเชยเขา เพราะเขาไม่เก็บเงินไว้เยอะ ทำให้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย” นายอภิศักดิ์กล่าว

 

จากคำอธิบายของขุนคลังเป็นการยืนยันว่าตัวเลขเงินคงคลังที่ลดลงนั้นเป็นความ “ตั้งใจ” ของรัฐบาล ในการบริหารเงินคงคลังให้มีประสิทธิภาพ และไม่เป็นภาระต้นทุนของรัฐบาล

นอกจากนี้ “อภิศักดิ์” อธิบายอีกว่า ระดับเงินคงคลังที่ลดต่ำในช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นปัญหาต่อการดูแลเศรษฐกิจมหภาคระยะต่อไป เพราะหากเกิดความจำเป็นต้องใช้เงิน ยังสามารถกู้ได้อีกกว่า 3 แสนล้านบาท ภายใต้วงเงินกู้ชดเชยขาดดุลงบประมาณปี 2560 ที่ตั้งไว้ที่ 3.9 แสนล้านบาท ซึ่งในไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2560 เพิ่งมีการกู้ไปแค่ราว 1 แสนล้านบาท

ส่วนระดับเงินคงคลังที่เหมาะสมเท่าไหร่นั้น ขุนคลังระบุว่า จากการศึกษาของกรมบัญชีกลาง ระดับเงินคงคลังที่เหมาะสม เห็นว่าควรจะอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท ถึง 1 แสนล้านบาท

ซึ่งอยู่บนหลักการดำรงเงินคงคลังไว้รองรับการเบิกจ่ายประมาณ 2 สัปดาห์

 

ขณะเดียวกันก็มีเสียงจาก “บรรยง พงษ์พานิช” ที่เพิ่งแยกทางกับการเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด และกรรมการอีกหลายคณะของรัฐบาลชุดนี้ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “Banyong Pongpanich” ถึงประเด็นเงินคงคลังนี้ด้วยว่า เงินคงคลังก็เปรียบเหมือนดุลบัญชีเดินสะพัด เป็นการบริหารเงินสด ไม่ได้มีความหมายมากมายอะไร ไม่ได้บอกฐานะการเงินการคลังของรัฐบาล ซึ่งตนเองเห็นด้วยกับ รมว.คลัง ที่ว่า เงินคงคลังมีแค่พอเพียง บริหารให้มีประสิทธิภาพจะลดต้นทุนได้

“บรรยง” บอกด้วยว่า สิ่งที่สำคัญกว่าเงินคงคลังคือ ระดับหนี้สาธารณะ งบประมาณ (ขาดดุลหรือเกินดุล) การเบิกจ่ายงบประมาณ การเก็บรายได้ของรัฐ ซึ่งทุกอย่างควรเทียบกับขนาดของ GDP เมื่อ GDP โตขึ้นทั้งจากความเติบโตและจากอัตราเงินเฟ้อ ตัวเลขโตขึ้นก็ไม่เป็นไร

อย่างไรก็ตาม บรรยงระบุว่า การขาดดุลงบประมาณก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายในภาวะอย่างนี้ แต่ต้องระวังอย่าให้ต่อเนื่องยาวนานจนเกิดวิกฤตหนี้สาธารณะ ต้องมีแผนว่าเมื่อไหร่จะกลับมาสมดุลหรือเกินดุล

“ที่สำคัญที่สุดต้องตามดูว่า ใช้เงินไปทำอะไร เป็นสิ่งที่ควรทำ ทำอย่างมีประสิทธิภาพไหม มีรั่วไหลทุจริตไหม”

“ที่เป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่นี่ ผมคิดว่าเถียงกันไม่ตรงประเด็น มีคนยกเรื่องนี้มา ที่ถูกก็ควรชี้แจงให้เข้าใจแค่นั้นก็จบ”

บรรยงสรุป

 

แม้ว่าตัวเลข “เงินคงคลัง” ที่มีการจุดประเด็นร้อนไปทั่วบ้านทั่วเมือง ข้อเท็จจริงคือ “ปริมาณเงินสด” ในมือของรัฐช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ไม่ได้สะท้อนถึงความมั่งคั่งหรือฐานะของประเทศ

อย่างไรก็ดี รัฐบาลในฐานะผู้บริหารประเทศต้องทำความเข้าใจและอธิบายข้อเท็จจริงให้สังคมเข้าใจ อย่างน้อยก็เพื่อที่จะไม่เสียเครดิตประเทศ

และต้องยอมรับว่า รัฐบาลปัจจุบันมีภาระเพิ่มขึ้นจากการตั้งงบประมาณขาดดุล (เพิ่มขึ้น) ต่อเนื่อง จากปี 2557 ขาดดุล 2.5 แสนล้านบาท มาถึงปี 2560 ตั้งงบประมาณขาดดุลเพิ่มเป็น 5.52 แสนล้านบาท เพื่อนำเงิน (กู้) มาใช้อัดสารพัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็หมายถึงการสร้างหนี้ให้กับประเทศนั่นเอง

ดังนั้น สิ่งสำคัญของรัฐบาลในฐานะผู้บริหารประเทศก็อย่างที่ “บรรยง” เขียนไว้ว่า ต้องดูว่าใช้เงินไปทำอะไร เป็นสิ่งที่ควรทำหรือไม่ และทำอย่างมีประสิทธิภาพหรือมีทุจริตไหม

เพราะนี่คือประเด็นสำคัญที่ทำให้การอัดงบประมาณลงไปแล้ว แต่ไม่ “ออกดอก-ออกผล” ตามที่วาดหวังไว้

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนก็คือสร้างหนี้เพิ่มให้กับประเทศ