แมลงวันในไร่ส้ม/ ข่าวร้ายจาก “มหามิตร” สหรัฐตัดจีเอสพีไทย ข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ ?!

แมลงวันในไร่ส้ม

ข่าวร้ายจาก “มหามิตร”

สหรัฐตัดจีเอสพีไทย

ข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ ?!

 

เป็นข่าวใหญ่อีกเรื่อง เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งตัดจีเอสพีหรือสิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าจากไทยที่ส่งเข้าสหรัฐ

มีการประเมินว่า สินค้าที่อยู่ในข่าวถูกตัดสิทธิมี 573 รายการ มูลค่า 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือ 3.9 หมื่นล้านบาท

คำสั่งตัดจีเอสพีออกมาเมื่อ 25 ตุลาคม และมีผลในอีก 6 เดือน หรือ 25 เมษายน 2563

ประเด็นที่สงสัยกันมากที่สุดได้แก่ สาเหตุของคำสั่งตัดจีเอสพี ซึ่งสหรัฐระบุว่าเกิดจากไทยไม่ปฏิบัติต่อแรงงานตามมาตรฐานสากล

ขณะที่หลายฝ่ายสงสัยว่า เป็นเพราะการแบน 3 สารพิษที่สหรัฐทักท้วง หรือเป็นการเตือนที่ไทยไปใกล้ชิดจีนมาก

เมื่อตรวจสอบลึกลงไปในเหตุผลเรื่องสิทธิแรงงาน ก็มีประเด็นน่าสนใจ

วันที่ 28 ตุลาคม กระทรวงแรงงาน โดยนายสมบูรณ์ ตรัยศิลานันท์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เผยว่าที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้ประสานงานกับสหรัฐมาตลอด มีการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกัน ก่อนสหรัฐตัดจีเอสพีในครั้งนี้ ไทยขอวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เพื่อชี้แจง แต่ไม่มีการตอบกลับ จนมีการประกาศตัดจีเอสพีไทยออกมา

ยืนยันว่ากรณีนี้มีการคุยกับเจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐแล้วว่า มีประเด็นไหนที่ยังเป็นข้อกังวลใจอยู่หรือไม่ พอถึงรอบที่ต้องรายงานก็จะรายงานว่าไทยได้ทำอะไรเพิ่มเติมไปบ้าง มีแผนการทำงานอยู่แล้ว

กรณีที่สหรัฐเรียกร้องให้ไทยรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ไทยรับรองไปแล้ว 19 ฉบับ พิธีสารอีก 1 ฉบับ ในแง่การปฏิบัติให้สอดคล้องกับอนุสัญญาถือว่าไทยปฏิบัติได้มาก เช่น ซี 188 อนุสัญญาเกี่ยวกับประมงทะเล ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่รับรองอนุสัญญาฉบับนี้

กล่าวหาว่าไทยปฏิบัติไม่สอดคล้องกับอนุสัญญา หรือไม่สอดคล้องกับสากล จึงเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงเกินไป เพราะได้ปฏิบัติเยอะแล้ว

นายสมบูรณ์ยังกล่าวถึงกรณีที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน พูดว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะให้สิทธิแรงงานต่างด้าวเหนือคนไทย อาจจะพูดทำนองเหมือนกับว่าคนต่างด้าวก็ควรที่จะมีสิทธิเท่าเทียมกับแรงงานไทย ซึ่งข้อเท็จจริงเราให้สิทธิคนต่างด้าวเท่าเทียมกับคนไทยอยู่แล้ว และอนุสัญญาฉบับที่ 98 ที่ไทยกำลังเตรียมที่จะรับรองนั้นก็ไม่ได้ทำให้ต่างด้าวมีสิทธิเหนือคนไทย

ในเรื่องสิทธิแรงงานต่างด้าว มีการขยายความต่อมาว่า หมายถึงข้อเสนอจากสหรัฐให้ไทยไฟเขียวแรงงานต่างด้าว ในการรวมตัวตั้งสหภาพแรงงานได้

 

ข้อมูลจากสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานระบุว่าสมาพันธ์สหภาพแรงงานสหรัฐ (AFL-CIO) ได้มีคำร้องคัดค้านการให้สิทธิจีเอสพีไทยต่อสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐมาตั้งแต่ปี 2556 โดยอ้างว่ามีการละเมิดสิทธิแรงงานในหลายประเด็น

วันที่ 16 ตุลาคม 2558 สมาพันธ์สหภาพแรงงานสหรัฐได้ยื่นขอถอดถอนไทยออกจากบัญชีประเทศที่ได้จีเอสพี โดยอ้างเหตุผลเดิมว่ามีการละเมิดสิทธิแรงงานหลายประเด็น

อาทิ เสรีภาพในการสมาคมและเจรจาต่อรอง การนัดหยุดงานและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การปฏิบัติต่อคนต่างด้าวและการใช้แรงงานบังคับ

วันที่ 19 พฤษภาคม 2560 ผู้แทนการค้าสหรัฐพบกระทรวงแรงงานเรื่องการรักษาสิทธิจีเอสพี มีนายสิงหเดช ชูอำนาจ รองปลัดกระทรวงแรงงานในขณะนั้นเป็นตัวแทนฝ่ายไทย

สหรัฐต้องการให้ไทยดำเนินการ 7 ประการ อาทิ แก้ไขนิยามการกระทำที่ไม่เป็นธรรม ให้แรงงานข้ามชาติรวมตัวตั้งสหภาพ คุ้มครองแรงงานในระหว่างตั้งสหภาพ

หลังจากนั้นกระทรวงแรงงานมีการเจรจาเพื่อรักษาสิทธิจีเอสพีกับสหรัฐผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยไทยเสนอแนวทางการทำงาน มีการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายตาม ประเด็นเป้าหมาย 7 ประการของสหรัฐ

เดือนกันยายน 2560 สำนักงานพาณิชย์ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.เข้าชี้แจงด้วยวาจากับสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐและไทยยังได้สิทธิจีเอสพีต่อไป จนหมดอายุวันที่ 31 ธันวาคม 2560

และวันที่ 12 เมษายน 2561 สหรัฐประกาศให้ไทยได้สิทธิ โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 มกราคม 2561-31 ธันวาคม 2563

ยังมีการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ติดตามความคืบหน้าการคุ้มครองแรงงาน จนวันที่ 2 สิงหาคม 2561 ผู้อำนวยการสำนักงานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกและคณะเข้าพบกระทรวงแรงงาน ยืนยันว่าการให้สิทธิแรงงานต่างด้าวตั้งสหภาพ การบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองสิทธิในการแสดงออกหรือการพูดของลูกจ้าง เป็นประเด็นสำคัญต่อการรักษาสิทธิจีเอสพีของไทย

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 นายวิวัฒน์ ตังหงส์ รองปลัดกระทรวงแรงงานในขณะนั้น พร้อมด้วยนายนภดล คันธมาศ อัครราชทูตการพาณิชย์ ณ กรุงวอชิงตัน เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงต่อคณะอนุกรรมาธิการจีเอสพีของสหรัฐ

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 ผู้แทนการค้าสหรัฐและคณะได้เข้าหารือกับกระทรวงแรงงาน เพื่อติดตามผลด้านการคุ้มครองสิทธิแรงงาน และได้มีการประกาศตัดสิทธิไทยในที่สุด

 

หากพิจารณาจากข้อมูลของกระทรวงแรงงาน จะเห็นว่าแรงกดดันต่อประเทศไทยในการให้สิทธิแรงงานต่างด้าวน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญ

และรัฐบาลเองก็คงไม่ยอมทำตามแรงกดดันง่ายๆ เพราะแนวคิดเรื่องความมั่นคงที่เข้มข้น ขนาดแรงงานไทยเองยังประสบปัญหาในการตั้งสหภาพแรงงาน และการรวมตัวต่อรองทางด้านแรงงาน

ส่วนการแก้ไข นายกีรติ รัชโน ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่ากระทรวงพาณิชย์จะเร่งเจรจากับสหรัฐเพื่อขอคืนสิทธิโดยเร็วที่สุด คาดว่าจะหารือกับสหรัฐในระหว่างการประชุมอาเซียนซัมมิตที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยจะไม่ใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าแน่นอน

นายกีรติกล่าวอีกว่า การตัดสิทธิไม่ได้หมายความว่าไทยจะส่งออกสินค้าดังกล่าวไปสหรัฐไม่ได้อีก ไทยยังส่งออกได้เหมือนเดิม เพียงแต่ต้องเสียภาษีนำเข้าอัตราปกติ (MFN Rate) ร้อยละ 4.5 คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 1,800 ล้านบาท จากเดิมที่ไม่เสียภาษีเลย

สินค้าสำคัญที่ถูกระงับสิทธิ เช่น มอเตอร์ไซค์ แว่นสายตา เครื่องจักรกล อุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติกและสิ่งของพลาสติก อาหารปรุงแต่ง เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์ผลิตจากเหล็กหรือเหล็กกล้า ทองแดง เซรามิก เครื่องประดับ ฯลฯ

กลุ่มสินค้าที่ถูกเก็บอัตราภาษีสูงสุดคือ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและเครื่องครัวเซรามิก เก็บร้อยละ 26  ส่วนสินค้าที่ถูกเรียกต่ำสุดคือ เคมีภัณฑ์ ที่ร้อยละ 0.1

นั่นคือข้อมูลเบื้องต้นของการตัดจีเอสพี ซึ่งกระทบกระเทือนธุรกิจการค้าของไทยอย่างมาก

รัฐบาลไทยจะแก้เกม พลิกเกมของมหามิตรอย่างไร เป็นที่จับตามองจากสังคมอยู่