ต่างประเทศ : “ชิลี” ลุกฮือ ผลพวงความเหลื่อมล้ำที่ถ่างกว้าง

ยอดผู้เสียชีวิตจากการประท้วงในประเทศชิลี มีมากถึง 15 รายแล้ว และอาจเพิ่มสูงมากขึ้นไปได้อีกหากรัฐบาลยังไม่สามารถหาหนทางยุติการประท้วงที่กลายเป็นวิกฤตการณ์ของประเทศในเวลานี้ได้

การลุกฮือที่เริ่มต้นจากความไม่พอใจที่รัฐบาลประกาศปรับราคาค่าโดยสารรถไฟใต้ดินขึ้น 4 เปอร์เซ็นต์ จากราคาราว 34 บาท ขึ้นไปเป็น 35 บาท มีผลเมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา

จากการประท้วงอย่างสงบโดยกลุ่มนักศึกษาในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมากลับกลายเป็นก่อจลาจลทำลายล้างทรัพย์สินและสาธารณูปโภคกระจายไปในหลายเมืองทั่วประเทศ สะท้อนความไม่พอใจกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนและคนรวยที่ถ่างกว้างมากขึ้นในประเทศภูมิภาคอเมริกาใต้แห่งนี้

ท่าทีของประธานาธิบดีเซบาสเตียน ปิเนรา กลับยิ่งเหมือนกับเป็นการราดน้ำมันลงในกองไฟ

ปิเนราประกาศว่าประเทศกำลัง “ทำสงครามกับศัตรูทรงอำนาจและปรานีด้วยไม่ได้ ศัตรูที่ไม่เคารพอะไรหรือใครๆ ศัตรูที่ต้องการใช้ความรุนแรงไร้ขีดจำกัดและก่ออาชญากรรม”

การประท้วงที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปีของประเทศมีศูนย์กลางอยู่ในกรุงซานติอาโก และขยายตัวไปในหลายเมืองทั่วประเทศ ส่งผลให้รัฐบาลนำโดยปิเนรา ผู้เข้าสู่อำนาจเมื่อเดือนมีนาคมปีก่อน ต้องส่งทหารลงพื้นที่สนับสนุนกำลังตำรวจเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ยุคนายพลออกุสโต ปิโนเชต์ อดีตผู้นำเผด็จการที่ครองอำนาจอยู่ในช่วงปี 1973-1990

ล่าสุดมีการส่งตำรวจทหารลงพื้นที่รวม 10,500 นาย และมีการจับกุมผู้ประท้วงแล้ว 1,400 คน

 

มิเชล บาเชเลต์ อดีตประธานาธิบดีหญิงแห่งชิลี ที่ปัจจุบันนั่งเป็นข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แสดงความกังวลกับปัญหาความรุนแรงในบ้านเกิดด้วย

โดยระบุว่า ตนกังวลใจอย่างยิ่งกับสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยบาเชเลต์เรียกร้องให้มีการสืบสวนกรณีมีผู้เสียชีวิตทุกรายอย่างเป็นอิสระ และแสดงความกังวลกับการใช้ความรุนแรงเกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่ความมั่นคง

ท่าทีของประธานาธิบดีชิลี ทำให้ความรุนแรงยกระดับมากยิ่งขึ้น มีการบุกปล้นสะดม วางเพลิง การรวมกลุ่มปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนรัฐบาลต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมไปถึงประกาศเคอร์ฟิวในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

แม้ประธานาธิบดีจะประกาศยกเลิกการขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟใต้ดินลงแล้ว ทว่า ความรุนแรงไม่ได้ยุติลง การปล้นสะดม วางเพลิง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถูกไฟครอก รวมไปถึงมีผู้ถูกยิงเสียชีวิตกลางถนน

การประท้วงส่งผลให้การคมนาคมขนส่งหยุดชะงัก ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมามีเครือข่ายรถไฟใต้ดินที่ใช้ได้เพียง 1 สายจากทั้งหมด 7 สาย เที่ยวบินที่สนามบินนานาชาติต้องถูกยกเลิก

หลายโรงเรียน และมหาวิทยาลัยยกเลิกการเรียนการสอน

 

แม้ประเทศชิลีจะเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาค แต่ก็นับเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงไม่แพ้กัน จากข้อมูล “ดัชนีจีนี” วัดความเหลื่อมล้ำของรายได้ จัดทำโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือโออีซีดี พบว่า ชิลีเป็นประเทศที่มีรายได้หลังหักภาษีเหลื่อมล้ำมากที่สุดในบรรดากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นสมาชิกโออีซีดี

ฮาเวียร์ ซาฮูเรีย อาจารย์ด้านการเมืองมหาวิทยาลัยควีนแมร์รี่ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระบุว่า ชิลีเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมากมาหลายปีแล้ว

โดยแม้ความเหลื่อมล้ำจะลดลงบ้าง ค่าแรงของประชาชนจะเพิ่มสูงขึ้น แต่มันก็ยังไม่เร็วพอ

ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจโดยเฉพาะในหมู่คนจนที่คิดว่าตนถูกทิ้งเอาไว้ข้างหลัง สวนทางกับเศรษฐกิจที่ขยายตัว

ผลสำรวจของรัฐบาลชิลีเองยังชี้ให้เห็นถึงช่องว่างของรายได้ระหว่างคนจนกับคนรวยในประเทศที่ลดต่ำลงเพียงเล็กน้อยในรอบ 10 ปี โดยผลสำรวจเมื่อปี 2006 พบว่ากลุ่มคนรวยที่คิดเป็นสัดส่วน 20 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ มีรายได้มากกว่าคนจนที่คิดเป็นสัดส่วน 20 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ 10 เท่า

ขณะที่ล่าสุดผลสำรวจในปี 2017 พบว่า ตัวเลขลดลงมาอยู่ที่ 8.9 เท่า ลดลงมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

 

เศรษฐกิจที่ขยายตัวของชิลี จนทำให้กรุงซานติอาโกกลายเป็นเมืองที่ถูกมองว่าเป็น “โอเอซิสของนักลงทุน” ก่อกำเนิดตึกระฟ้าที่สูงที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ ในย่านศูนย์กลางทางการเงินที่เรียกกันว่า “ซานฮัตตัน” ล้อไปกับแมนฮัตตันของสหรัฐอเมริกา

แต่ภายใต้ความรุ่งโรจน์เหล่านี้ถูกซ่อนเอาไว้ด้วยปัญหาค่าจ้างแรงงานที่ต่ำเตี้ย

ระบบเงินบำนาญที่ไม่มีประสิทธิภาพ

โรงพยาบาลคนไข้ล้น ค่ายารักษาโรคที่พุ่งขึ้นสูง

โรงเรียนที่แออัด รวมไปถึงเกิดชุมชนแออัดในย่านชานเมืองเป็นจำนวนมาก

ขณะที่เมืองอื่นๆ นอกเหนือไปจากเมืองหลวงนั้นไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ จากการเติบโตทางเศรษฐกิจเหล่านั้น

ชิลีประสบปัญหาเดียวกันกับประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศไม่เว้นแม้แต่สหรัฐอเมริกา ที่รัฐบาลจำเป็นจะต้องนำงบประมาณไปใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนส่วนใหญ่ที่ได้รับส่วนแบ่งจากการเติบโตของเศรษฐกิจเพียงน้อยนิด

เศรษฐีผู้มั่งคั่งชาวชิลีบางคนเริ่มจะตาสว่างและเห็นข้อเท็จจริงที่ว่า ชิลีนั้นไม่สามารถหนุนระบบเศรษฐกิจของประเทศเอาไว้ได้อย่างยั่งยืนโดยปราศจากสวัสดิการที่นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

อันโดรนิโก ลุกซิค เครก ประธานบริษัทควิเนนโก กลุ่มบริษัทการเงินอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ของชิลี ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ระบุว่า เขาพร้อมจะเสียภาษีเพิ่มขึ้น และว่า มันไม่มีหนทางอื่นแล้วที่จะกระจายรายได้ออกไปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในประเทศ

ซึ่งก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาลชิลีก็คงจะเห็นข้อเท็จจริงข้อนี้เช่นกัน