อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ชีวิตาในโลกใหม่ (13) เทศะแห่งอาณานิคมและกาละของผู้ปกครอง

เมื่อผ่านไปราวร้อยกว่าปี

การเดินทางมายังโลกใหม่ก็หาได้เปลี่ยนไปสู่สภาพอันน่ารื่นรมย์กว่ายุคแรกมากนัก

เรือไม้ที่ข้ามมหาสมุทรได้รับการปรับปรุง แต่ยังมีความผิดพลาดในการก่อสร้างอยู่เสมอ

เรือที่เคยออกแบบไว้ใหญ่โตอาจสร้างสำเร็จเป็นเรือลำเล็กหรือเรือที่ออกแบบไว้ให้มีขนาดกะทัดรัดอาจสำเร็จเป็นเรือลำใหญ่ก็เป็นได้

เมื่อออกทะเล เรือหลายลำล้วนฝากความหวังไว้กับโชคชะตา อาการโคลงเคลงไม่มั่นคงมีอยู่ตลอดเวลา

แม้ว่าการโจมตีจากโจรสลัดจะเป็นเรื่องที่น่ากลัว แต่การที่เรือแลดูพร้อมจะแตกพังได้ทุกเมื่อนั่นเป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับเหล่านักเดินทางมากกว่า

อีกทั้งใต้ท้องเรือนั้นยังขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวกนานา ที่พักของผู้โดยสารเปียกชื้นและโสโครก เต็มไปด้วยหนูและแมลง

ส่วนชั้นดาดฟ้าที่คาดว่าจะได้พบผู้คนนอนอาบแดดอย่างเพลิดเพลินกลับเต็มไปด้วยสัตว์เลี้ยงที่ผู้โดยสารแต่ละคนนำมา อาทิ ฝูงแกะ หมู ไก่ ที่พวกเขาจะสังหารมันแทนอาหารในระหว่างการเดินทาง ไม่นับถังไวน์ ถังน้ำมันมะกอก

ความเพลิดเพลินต่างๆ บนเรือมีน้อยเต็มที แม้จะมีกิจกรรมสวดมนต์หรือร้องเพลงร่วมกันแต่ก็ไม่บ่อยนัก มีการเล่นไพ่ ลูกเต๋า ฆ่าเวลา และอาจมีแถมด้วยการชนไก่

กิจกรรมที่เหลือนอกจากนี้มีเพียงการอ่านหนังสือ หรือไม่ก็จ้องมองทะเลไปตลอดเวลา

ความสำเร็จของการพิมพ์โดย โจฮันส์ กูเตนเบิร์ก ในศตวรรษก่อนทำให้หนังสือกลายเป็นความสุขที่หาซื้อได้สำหรับคนทั่วไป

หนังสือที่ผู้แสวงหาโลกใหม่นำติดตัวไปนั้นมีตั้งแต่หนังสือด้านศาสนา หนังสือประวัติศาสตร์ยุคก่อน บทกวีและโศลกที่เป็นที่รู้จักกันดี และนวนิยายเริงรมย์ที่เล่าถึงเรื่องราวของเหล่าอัศวิน

รายชื่อหนังสือที่ปรากฏบนเรือลำหนึ่งมีตั้งแต่ชีวประวัติของกษัตริย์ชาลมาญและจักรพรรดิซีซาร์ นวนิยายของนักเขียนอิตาเลียนนาม โลโดวิโก้ อริออสโต้-Lodovico Ariosto ที่ชื่อ ออลันโด้ ฟูริออสโซ่-Orlando Furioso ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาสเปนแล้ว

อีกทั้งยังมีนวนิยายของนักเขียนสเปนนาม อลอนโซ่ เดอ เออชิล่า-Alonso de Ercilla ที่ชื่อว่า ลา อาลาวกาน่า-La Araucana ทั้งสองภาค

นวนิยายเรื่องนี้กล่าวถึงการยอมจำนนของพวกชนพื้นเมืองอินเดียนต่อพวกสเปน

ภาคสองของนวนิยายเรื่องนี้เขียนเสร็จในปี 1578 หลังจากภาคแรกถึงเก้าปีและได้รับการตีพิมพ์ในปี 1590 ด้วยซ้ำ กระนั้นมันก็เป็นนวนิยายที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ชาวสเปนโดยเฉพาะในชาวสเปนที่มุ่งหาโลกใหม่

สำหรับหนังสือศาสนานั้นมีทั้ง Flos Sanctorum (ตำนานนักบุญ) ของ อัลฟอนโซ่ เด วิลเลกาส-Alfonso de Villegas หรืองานชื่อ Introduccion al simbolo de la fe (ความเรียงแนะนำสัญลักษณ์ทางศาสนา) ของบาทหลวง หลุยส์ เด กรานาด้า-Luis de Granada

หนังสือเล่มนี้ใช้สัญลักษณ์ที่ได้มาจากตำราสัญลักษณ์โบราณที่เขียนเป็นภาษาฮิบรูโดยชาวยิวและทำให้เมื่อมันได้รับการจัดพิมพ์อย่างแพร่หลาย มันจึงได้รับความนิยมจากผู้นับถือศาสนายิวด้วย

กระนั้น หนังสือเหล่านี้รวมถึงกิจกรรมนานาก็หาได้บรรเทาอาการน่าเบื่อหน่ายจากการเดินทางข้ามทวีปลงได้โดยเฉพาะเมื่อคิดว่าการเดินทางที่ว่านี้กินเวลาตั้งแต่สองเดือนครึ่งเป็นอย่างเร็วไปจนถึงสามเดือนครึ่งเป็นอย่างช้า

เรือทั้งหลายจะใช้เส้นทางที่ไม่แตกต่างจากสมัยของโคลัมบัสในการมุ่งตะวันตกเช่นนี้ โดยจะออกจากเมืองท่าคาดิซ-Cadiz ลงใต้เลาะไปตามทวีปแอฟริกา

พักเรือที่เกาะคานารี่ ที่นั่นเรือจะใช้เวลาสามสี่วันสำหรับการซ่อมแซมชิ้นส่วนที่สึกหรอและมุ่งหน้าต่อไปทางทิศตะวันตกจนเจอเส้นขนานที่สิบหก

และหลังจากพักที่เกาะเล็กๆ ที่ เดซิเรด-Desirade เพื่อเติมเสบียง

เรือจะมุ่งหน้าเต็มกำลังไปทางทิศตะวันตกก่อนจะถึงเมืองท่า ซาน ฮวน เด อูลัว-San Juan de Ulua อันเป็นเมืองท่าสำคัญของแคว้นเวลาสครูซในโลกใหม่

 

เหล่าคอนควิสทาร์ดอร์-Conquistadors หรือผู้บุกเบิกโลกใหม่ที่เดินทางมาถึงทุกคนจะได้แจกคู่มือในการจับจองกรรมสิทธิ์ดินแดนที่พวกเขาออกไปสำรวจ

คู่มือที่ว่านี้เป็นการรวบรวมกฎหมายที่ออกเป็นครั้งแรกในปี 1563 ที่สเปนเพื่อจัดการบริหารดินแดนโลกใหม่ภายใต้ชื่อ “กฎเกณฑ์สำหรับผู้ต้องการตั้งรกราก” (Ordinances for Founders)

โดยกฎเกณฑ์เหล่านี้ประมวลขึ้นจากปัญหาหรือข้อพิพาทหรือเรื่องราวที่นำไปสู่ปัญหาในช่วงที่ผ่านมาที่เกิดขึ้นในดินแดนโลกใหม่

อาทิ อาณาเขตของการจับจอง บริเวณที่สามารถขอจัดตั้งเป็นเมืองได้ ระบบยุติธรรมและการร้องเรียน การใช้แรงงานคนพื้นเมือง รวมถึงเรื่องปลีกย่อยเกี่ยวกับพื้นที่ต่างๆ อีกจำนวนมาก

การเดินทางของ หลุยส์ เด คาร์วายัล-Luis de Carvajal ในปี 1580 เป็นเช่นนั้น เขาขึ้นฝั่ง ซาน ฮวน เด อูลัว และมุ่งหน้าไปบุกเบิกดินแดนใหม่ที่เม็กซิโก

ในช่วงเวลาเพียงห้าปี หลุยส์สามารถแผ้วถางถือครองที่ดินได้ถึงกว่าสองร้อยลีก (หนึ่งลีกมีระยะราวห้ากิโลเมตรครึ่ง)

เขาสามารถผูกมิตรกับพวกอินเดียนในแถบนั้นและกล่อมเกลาให้หลายคนเปลี่ยนศาสนา เขาคืบหน้าต่อไปจนถึงทางใต้ของฟลอริดาเลยทีเดียว

การบุกเบิกแผ้วถางเช่นนี้ทำให้หลุยส์ได้พบกับป่ากระบองเพชรที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วย โคคินีล-Cochineal อันเป็นแมลงโคคินีลที่พบเฉพาะในโลกใหม่และมีคุณสมบัติในการผลิตสีแดงซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากในวงการเสื้อผ้าและศิลปะในยุโรปในขณะนั้น

โคคินีลเป็นแมลงที่มีราคาแพงและการค้นพบนี้ทำให้หลุยส์มีฐานะมั่งคั่งขึ้นทันที

 

โคคินีลนั้นเป็นแมลงขนาดเล็ก ถ้าจับมันมาเรียงกันหกตัวจะได้ความยาวเท่าคลิปหนีบกระดาษอันหนึ่งเท่านั้น สีของโคคินีลนั้นมีตั้งแต่สีเทาดำจนถึงสีดำเหลือบแดง ในขณะที่แมลงโคคินีลส่วนใหญ่จะกินไม่เลือก โคคินีลกลับเป็นแมลงที่จุกจิก มันจะเลือกกินต้นกระบองเพชรชนิดที่มีใบกลมในสกุลโอปุนเทีย-Opuntia เท่านั้น

และต้นกระบองเพชรที่ว่านี้ไม่พบที่อื่นมาก่อนเลยเว้นแต่ในโลกใหม่เท่านั้น

โคคินีลตัวเมียนั้นไม่มีปีก ดังนั้น เมื่อมันพบต้นกระบองเพชรที่ต้องการก็จะใช้ปากแหลมของมันเจาะดูดน้ำหวานจากต้นกระบองเพชรและสร้างรังของมันที่นั่นโดยปล่อยใยสีขาวออกหุ้มตัวไว้

ในขณะที่โคคินีลตัวผู้ซึ่งมีปีกจะบินไปดูดน้ำหวานตามต้นกระบองเพชรต่างๆ เรื่อยไป

อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติได้สร้างความสมดุล โคคินีลตัวผู้นั้นมีอายุน้อยกว่าตัวเมียราวครึ่งหนึ่ง และเป็นส่วนที่พบได้ในอัตราส่วนที่น้อยกว่าตัวเมียมาก

การที่โคคินีลตัวเมียไม่เดินทางไปไหนทำให้มันตกเป็นเหยื่อของนก กิ้งก่า หนู หรือแม้กระทั่งฝูงมด ทำให้โคคินีลตัวเมียต้องผลิตกลไกป้องกันตัวเอง นั่นคือกรดคาร์มินิก-Carminic Acid ซึ่งจะทำให้รสชาติและกลิ่นจากตัวของมันไม่น่าสบอารมณ์ต่อผู้ล่าทั้งหลาย

กรดคาร์มินิกนี้เองที่เป็นที่ค้นพบว่าให้สีแดงสดกับเสื้อผ้าอย่างไม่เคยมีมาก่อน

จับแมลงโคคินีลมาหนึ่งตัว ใช้เข็มจิ้มมัน ของเหลวที่ไหลจากตัวมันจะมีสีแดงสดที่พร้อมจะใช้ในการย้อมผ้าให้มีสีแดงและยังติดทนนานอีกด้วย

 

การค้นพบต้นกระบองเพชรที่เป็นแหล่งอาหารของโคคินีลเป็นดังการพบขุมทรัพย์ หลังการค้นพบนั้น ผู้บุกเบิกจะจัดตั้งไร่กระบองเพชรของตนเองขึ้นเพื่อเอื้อต่อการมาเกาะกินของโคคินีล

การเลี้ยงโคคินีลจนมีขนาดพอที่จะเก็บไปใช้งานได้จะอยู่ระหว่างสามถึงสี่เดือน ดังนั้น ในหนึ่งปีผู้บุกเบิกจะทำไร่แบบนี้ได้ถึงสามหรือสี่ครั้ง

ทว่า การเก็บตัวแมลงเป็นงานหนักมากๆ กว่าจะเก็บได้ครบถ้วนอาจกินเวลานับหนึ่งสัปดาห์หรือมากกว่านั้นทีเดียว

หลังเก็บตัวแมลงได้ เจ้าของไร่จะเอาตัวแมลงโคคินีลทั้งหมดเทลงบนเสื่อขนาดใหญ่และตากแดดจัดเป็นเวลาสี่ถึงห้าวัน หลังจากนั้นโคคินีลจะตายลงและลดน้ำหนักลงเหลือหนึ่งในสาม กรดคาร์มินิกในตัวโคคินีลจะเข้มข้นขึ้นจนเวลาย้อมจะให้สีแดงจัด

กระนั้นเนื่องจากโคคินีลเป็นแมลงขนาดเล็กทำให้ต้องใช้โคคินีลจำนวนมากในการย้อมผ้าหนึ่งครั้ง มีการคำนวณกันว่าในการย้อมผ้าหนักหนึ่งปอนด์ต้องใช้โคคินีลถึงเจ็ดหมื่นตัวเลยทีเดียว

ผ้าที่ย้อมด้วยโคคินีลให้สีแดงสดและเป็นที่ชื่นชอบของเหล่ากษัตริย์และชนชั้นสูงในยุโรปยามนั้น

ราคาของโคคินีลสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามความต้องการ

การปล้นของโจรสลัดอังกฤษครั้งใหญ่ต่อเรือสินค้าของสเปนครั้งหนึ่งนั้นเป็นไปเพื่อแมลงโคคินีลนี้เอง

และหากจะดูความนิยมเสื้อผ้าชุดแดงของเหล่าผู้มีฐานันดรศักดิ์ในยามนั้นให้ดูเสื้อผ้าที่พระนางแมรี่ ราชินีแห่งสก๊อตสวมใส่ในวันที่พระนางถูกประหารชีวิตด้วยการตัดคอ ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 1587 ในวันนั้นพระนางเดินขึ้นแท่นประหารด้วยเสื้อคลุมสีดำ

แต่เมื่อยืนอยู่บนลานประหาร พระนางได้ถอดเสื้อคลุมสีดำออกและภายใต้เสื้อคลุมนั้นเป็นชุดผ้าซาตินสีแดงสด อันก่อให้เกิดความตื่นตะลึงต่อผู้เฝ้าชมพิธีประหารครั้งนี้

นั่นเป็นเพราะสีแดงเป็นสีแห่งการยอมตายเพื่อศักด์ศรี เป็นสีอันสูงส่ง เป็นสีแห่งความกล้าหาญ

การแต่งกายของพระนางด้วยสีแดงเป็นสัญลักษณ์ที่แทนสิ่งต่างๆ เหล่านั้น

และชุดแต่งกายสีแดงของพระนางในวันนั้นย้อมด้วย-โคคินีล