“ความสงบราบคาบ” กลับไม่ได้เกิดขึ้นจริง ?

สงบ “ไม่ราบคาบ”

ช่วงที่ผ่านมาการเมืองเข้าสู่การปะทะกันอย่างแหลมคมอีกครั้งหนึ่ง

แม้ไม่มีการปะทะกันด้วยกำลัง หรือวัดกันด้วยเสียงโหวตในสภา แต่การตอบโต้กันด้วยวาจาสะท้อนถึงทัศนะที่ขัดแย้งที่น่ากังวลว่าการประนีประนอมทางความคิดเป็นไปได้ยาก หรือเป็นไปไม่ได้

ที่ชวนให้วิตกไปกว่านั้นคือ ความชัดเจนของทัศนะที่แตกต่างซึ่งแสดงออกกันมาเป็นสัญญาณของความแตกแยกที่พร้อมจะแตกหัก

ฝ่ายหนึ่งถ่ายทอดความเชื่อของตัวเองออกไปในทางที่ประเทศมีปัญหาเรื่องความมั่นคง ไปไกลถึงเห็นว่าอยู่ในภาวะสงคราม โดยข้าศึกคือนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนที่มีกรอบความคิดรับใช้อุดมการณ์ต่างชาติ เข้ามาทำลายรากฐานความเป็นชาติ

กลายเป็นศัตรูของประเทศที่ยอมไม่มามีบทบาทในการเมืองของประเทศไม่ได้

ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งชี้ให้เห็นความเป็นชาติที่ละเลยการให้ความสำคัญกับประชาชน เป็นการเมืองที่วางรากฐานไว้ให้อภิสิทธิ์ชนครอบงำความเป็นชาติ และกดข่มประชาชนไว้ให้เป็นแค่ผู้ต้องจำนนกับอำนาจ

ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลที่แข็งกร้าว พร้อมจะเผชิญหน้า

ฝ่ายหนึ่งส่งสัญญาณให้รู้ถึงความจำเป็นต้องขจัดอีกฝ่าย เพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศ

ขณะที่อีกฝ่ายเรียกร้องให้ประชาชนรู้เท่าทันการครอบงำ ที่มีเบื้องหลังเป็นผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม บางชนชั้น

ต่างฝ่ายต่างนำความอัดอั้นที่กรุ่นอยู่ในอกในใจ ให้ได้ระบายออกมาทางสื่อ

ก่อเกิดกระแสสนับสนุนฝ่ายตัวพวกตัว ปะทะกันด้วยถ้อยคำร้อนแรงในโลกของสื่อ ทุกคนเข้าถึงทั้งการส่งและการรับอย่างกว้างขวางและง่ายดาย

นี่เป็นสัญญาณอันตรายเพราะหมายถึงการอยู่ร่วมกันอย่างยอมรับความแตกต่างอันหมายถึง “ความสุขสงบ” เป็นไปได้ยากแล้ว ทว่า การอยู่ร่วมกันแบบที่อีกฝ่ายจำนนต่ออีกฝ่ายซึ่งเชื่อกันว่าเป็นหนทางที่จะทำให้เกิด “ความสงบราบคาบ” กลับไม่ได้เกิดขึ้นจริง

ผลสำรวจล่าสุดของ “นิด้าโพล” เรื่อง “การทำงานของรัฐบาลและฝ่ายค้าน”

ในคำถาม “ท่านคิดว่าฝ่ายใดทำงานตามบทบาทหน้าที่ได้ดีกว่ากัน” คำตอบร้อยละ 29.38 บอกฝ่ายค้านทำหน้าที่ได้ดีกว่าฝ่ายรัฐบาล, ร้อยละ 25.56 เห็นว่าทำหน้าที่ได้ดีพอๆ กัน, ร้อยละ 25.08 บอกทำหน้าที่ได้แย่พอๆ กัน, ร้อยละ 17.83 เห็นว่าฝ่ายรัฐบาลทำได้ดีกว่า, มีร้อยละ 2.10 ที่ไม่ตอบ หรือตอบว่าไม่สนใจ

คำตอบของประชาชนดังกล่าวสะท้อนว่า แม้ที่ผ่านมาฝ่ายหนึ่งจะใช้อำนาจเต็มที่ในทุกด้าน เพื่อให้ครอบงำความคิด ชี้นำ และบังคับด้วยกลไกอำนาจที่มีอยู่ทุกด้านให้ประชาชนมีความเชื่อไปในทางที่ขีดให้เดินแบบ “ดีไซน์ไว้เพื่อพวกเรา”

แต่คนไทยในสังคมยุคใหม่ การครอบงำเช่นนั้น ไม่ก่อให้เกิดผลในทางที่วางเป้าหมายไว้

มีประชาชนจำนวนหนึ่ง อย่างน้อยใกล้เคียงกับกลุ่มที่เป็นไปตามอย่างที่หวัง

ความเชื่อไม่ได้ถูกลากจูงไปตามความพยายามอย่างยาวนานพอสมควรนั้น ซ้ำร้ายกว่านั้นคือ ความคิดในทางตรงกันข้ามเกิดขึ้นสูงยิ่ง

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องต้องตระหนัก

เกิดคำถามว่า ความเชื่อที่ว่า “สามารถใช้อำนาจจัดการให้เป็นไปอย่างที่หวังได้” เป็นความเชื่อที่ผิดพลาดหรือไม่

และหากใช้อำนาจต่อไปโดยไม่เชื่อว่า “เกิดความผิดพลาดในการครอบงำบังคับขึ้น”

ผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร

และนี่คือ “ความน่าวิตก”