คนของโลก : ลอร่า โคดรูตา โคเวซี อัยการโรมาเนียผู้ยืนหยัดในหลักนิติธรรม

ลอร่า โคดรูตา โคเวซี อดีตประธานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริต (ดีเอ็นเอ) ของโรมาเนีย ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าสำนักงานอัยการสหภาพยุโรป (เอปโป) ทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตการใช้งบประมาณของอียู รวมไปถึงอาชญากรรมทางการเงินในด้านต่างๆ มีสำนักงานใหญ่ในลักเซมเบิร์ก โดยโคเวซีเตรียมเริ่มงานในปีหน้านี้

การได้รับเกียรติแต่งตั้งดำรงตำแหน่งสำคัญในระดับภูมิภาคน่าจะสร้างความภูมิใจให้กับประเทศโรมาเนีย ทว่ากลับเกิดเสียงคัดค้านจากรัฐบาลโรมาเนีย โดยเฉพาะวิกตอริกา แดนซิลา นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งโรมาเนีย ที่แสดงความคัดค้านการแต่งตั้งโคเวซีอย่างเปิดเผย

เมื่อย้อนไปดูผลงานของโคเวซีในช่วงระหว่างดำรงตำแหน่งประธานดีเอ็นเอเป็นเวลา 5 ปี โคเวซีมีผลงานอันโดดเด่นที่เป็นเหตุผลให้สหภาพยุโรปเลือกโคเวซีให้ดำรงตำแหน่งสำคัญเช่นนี้

โคเวซีดำเนินคดีและตั้งข้อหากับสมาชิกคณะรัฐมนตรีโรมาเนียจำนวนทั้งสิ้น 14 คน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโรมาเนีย 53 คน รวมไปถึงสมาชิกสภายุโรปอีก 1 คน เป็นการดำเนินคดีอย่างตรงไปตรงมาและเป็นที่ยอมรับจากประชาชน

แต่นั่นกลับทำให้รัฐบาลพรรคสังคมประชาธิปไตย โรมาเนีย ปลดเธอออกจากตำแหน่งเมื่อปี 2018 เป็นการกระทำที่ถูกมองว่ามีแรงจูงใจทางการเมือง

โคเวซีระบุว่า การแต่งตั้งเธอขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานอัยการยุโรปนั้นเป็นเหมือนการลงมติแสดงให้เห็นถึงความไว้วางใจที่อียูมีให้กับอัยการและผู้พิพากษาทุกคนในประเทศโรมาเนีย

“เป็นสิ่งที่น่ายินดีของชาวโรมาเนียทุกคนที่สนับสนุนหลักนิติธรรมและคุณค่าของยุโรปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา” โคเวซีระบุ

 

โคเวซี วัย 46 ปี ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งอัยการสูงสุดโรมาเนียที่มีอายุน้อยที่สุดเมื่อปี 2006 อยู่ในตำแหน่งเป็นเวลา 6 ปี ก่อนที่ในปี 2013 จะก้าวไปดำรงตำแหน่งประธานดีเอ็นเอเป็นเวลา 5 ปี และเวลานี้ก้าวไปสู่หน่วยงานอัยการระดับภูมิภาคยุโรปอย่างเอปโป ที่จะทำงานร่วมกับศาลยุติธรรมสหภาพยุโรป (อีซีเจ) และศาลตรวจสอบบัญชีสหภาพยุโรป (อีซีเอ) ตรวจสอบการทุจริตงบประมาณสหภาพยุโรป และอาจขยายงานไปสู่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายด้วยในอนาคต

รายงานเปิดเผยก่อนหน้านี้ พบว่าสหภาพยุโรปต้องสูญเสียเงินจำนวนมากถึง 9,000 ล้านยูโร จากการทุจริตเงินงบประมาณในช่วงปี 2002 ถึง 2017 ในจำนวนนี้มีเพียง 2,600 ล้านยูโรเท่านั้นที่สามารถเรียกคืนมาได้

ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 22 ชาติจากทั้งหมด 28 ชาติลงนามเข้าร่วมในเอปโป หน่วยงานแรกที่จะช่วยให้อัยการทำงานอย่างเป็นหนึ่งเดียวเพื่อสืบสวนกรณีทุจริตงบประมาณดังกล่าว

ในจำนวน 22 ชาติ แม้โรมาเนียจะร่วมลงนามอยู่ด้วย แต่รัฐบาลโรมาเนียพยายามทุกวิถีทางที่จะหยุดยั้งไม่ให้โคเวซีได้ตำแหน่งดังกล่าวอย่างเปิดเผย

แดนซิลา นายกรัฐมมนตรีโรมาเนีย ถึงขั้นสั่งให้เอกอัครราชทูตโรมาเนียประจำสหภาพยุโรป ยกมือคัดค้านการแต่งตั้งโคเวซีให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว

แม้แต่ประธานาธิบดีโรมาเนีย ทราเอียน บาเซสคู ผู้ที่สนับสนุนแต่งตั้งโคเวซีดำรงตำแหน่งประธานดีเอ็นเอ ยังออกมาวิพากษ์วิจารณ์โคเวซีว่า เป็นผู้ “ทำร้ายระบบยุติธรรมของโรมาเนีย” ความเห็นที่มีขึ้นหลังจากโคเวซีเปิดให้มีการสืบสวนน้องชายประธานาธิบดี ที่สุดท้ายต้องติดคุกในคดีทุจริต

โคเวซีกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านการทุจริตในประเทศโรมาเนีย รูปของโคเวซี รวมถึงชื่อย่อ “แอลซีเค” ถูกนำไปผลิตเสื้อยืดสำหรับผู้ประท้วงต่อต้านการทุจริตในประเทศ ความโด่งดังส่งผลให้หลายคนเรียกร้องให้เธอลงเล่นการเมืองอย่างจริงจัง

แต่โคเวซีปฏิเสธอย่างหนักแน่นมาโดยตลอด

 

“ไม่! ไม่! ไม่! ขอพูดให้ชัดนะ ฉันต้องการทำงานในระบบยุติธรรมต่อไป” โคเวซีระบุ

การแต่งตั้งโคเวซีสู่งานระดับภูมิภาค อาจเหมือนเป็นความสูญเสียของโรมาเนีย เมื่อดีเอ็นเอไม่มีผลงานที่กลายเป็นพาดหัวข่าวแบบในช่วงเวลาที่โคเวซีทำงานอยู่อีกแล้ว ซึ่งโคเวซีเองก็ระบุว่า เป็นช่วงเวลาท้าทายของอัยการที่จะต้องกวาดล้างการเมืองให้สะอาด

ผลงานของโคเวซี ส่งผลให้เกิดความพยายามข่มขู่คุกคามเธอด้วยเช่นกัน โดยเมื่อปี 2016 อดีตสายลับมอสซาดที่ทำงานให้บริษัทสัญญาจ้างรักษาความปลอดภัย “แบล็กคิวบ์” ถูกจับกุมฐานจารกรรมการสื่อสารของคนใกล้ชิดโคเวซี

“หากคุณกลัวหรือลังเลที่จะเป็นอัยการ คุณก็ควรต้องเปลี่ยนงานแล้วละ” โคเวซีระบุ

และว่า “คนที่ทำความผิดนั้นไม่ใช่คนน่าคบนักหรอก ดังนั้น คุณต้องเตรียมรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้น”

“ไม่ว่าจะมีแรงกดดันอะไรก็ตาม ฉันจะทำงานของฉัน” โคเวซีระบุ