เทศมองไทย : แล้งเข็ญ-ท่วมลำเค็ญ ปัญหาแห่งลุ่มน้ำโขง

เมืองไทยปีนี้คืบคลานผ่านจากภาวะวิกฤตอย่างหนึ่งเข้าสู่ภาวะวิกฤตอีกอย่างหนึ่งอย่างรวดเร็วเหลือหลาย จากภาวะแล้งจัด ชนิดที่เกษตรกรขมวดคิ้วนิ่วหน้า วิตกกังวลกันจนซึมเศร้า กลายเป็นภาวะท่วมเฉียบพลันและรุนแรง ที่ทำให้จนกระทั่งถึงขณะนี้ พี่น้องในหลายๆ พื้นที่ โดยเฉพาะที่อุบลราชธานี ยังคงอยู่ในสภาพตกระกำลำบาก

เป็นความเดือดร้อนที่ “สุดโต่ง” ในด้านหนึ่ง ต่อเนื่องด้วยความเดือดร้อนลำเค็ญที่สุดปลายอีกด้านหนึ่ง

จะเรียกว่าเป็นไปตามสภาวะธรรมชาติได้อย่างไรกัน?

 

สกายลาร์ ลินด์เซย์ แห่งอาเซียนทูเดย์ บันทึกเรื่องราวทำนองนี้เอาไว้เช่นเดียวกันเมื่อ 8 ตุลาคมนี้ แสดงให้เห็นว่า ไทยไม่ได้เป็นประเทศเดียวเท่านั้นในละแวกนี้ที่เผชิญปัญหานี้

ผู้คนราว 70 ล้านคนที่เรียกขานพื้นที่บริเวณลุ่มลำน้ำโขงว่าเป็น “มาตุภูมิ” เจอแบบเดียวกันในปีแห่งความยากลำบากนี้ คือ แล้งเข็ญนานต่อเนื่องกันหลายเดือน ก่อนที่จะเผชิญกับอุทกภัยครั้งใหญ่ที่คร่าชีวิตไปหลายชีวิต

เมื่อถึงบทแล้ง น้ำในลำโขงแห้งหายลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ ส่งผลให้แหล่งประมงน้ำจืดที่ “ใหญ่ที่สุดในโลก” อย่างโตนเลสาบเสียสมดุลตามไปด้วย สะเทือนถึงชุมชนชาวประมงและเกษตรกรรมริมฝั่งทั้งหลาย

เมื่อถึงคราหน้าฝน ฝนฟ้าก็ตกกระหน่ำหนักหนาสาหัส ก่อให้เกิดภาวะน้ำท่วมชนิดที่ทำให้ผู้คนอย่างน้อย 100,000 คนต้องพลัดที่พลัดถิ่นเป็นการชั่วคราว นับเฉพาะในลาวเพียงประเทศเดียว

ลินด์เซย์บอกว่า นี่คืออิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ที่เรียกขานกันให้เข้าใจง่ายๆ ตามประสาชาวบ้านว่าภาวะโลกร้อน

นักวิชาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเรียกภูมิอากาศในลักษณะนี้ไว้ว่าภาวะสุดโต่งของภูมิอากาศ ที่ยิ่งนานวันยิ่งออกฤทธิ์ร้ายแรงให้เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว

ลินด์เซย์บอกเอาไว้ว่า แผ่นดินใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือภูมิภาคที่ “เปราะบาง” ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุดในโลก

 

“โกลบอล ไคลเมต ริสก์ อินเด็กซ์” ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงระดับของความเสี่ยงที่แต่ละพื้นที่ของโลกมีต่อสภาวะโลกร้อน จัดให้เวียดนามกับพม่าให้อยู่ใน 10 อันดับแรกของประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดของโลก

ส่วนประเทศอย่างไทยกับกัมพูชา อยู่ใน 20 อันดับแรกของประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดในบรรดาประเทศทั้งหลายในโลก

ทั้งหมดนั้นเป็นประเทศลุ่มน้ำโขง ยกเว้นเพียงพม่าหรือเมียนมา ประเทศเดียวเท่านั้น

นักวิชาการบอกว่า บรรดาเขื่อนทั้งหลายที่สร้างกันขึ้นมาสารพัดเขื่อนทั้งในประเทศลุ่มน้ำโขงตอนบนอย่างจีนและในประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างอย่างลาว กัมพูชา ทำให้ภาวะสุดโต่งจากภูมิอากาศส่งผล “หนักหนาสาหัสมากขึ้น”

ย้อนกลับไปไม่ช้าไม่นาน ลำน้ำโขงจะมีน้ำตลอดทั้งปี หน้าแล้งน้ำอาจข้นเป็นขุ่นโคลน แต่ก็ยังเป็นลำน้ำ เมื่อถึงหน้าฝนน้ำหลากท้นฝั่ง นำพาเลนตะกอนกระจัดกระจายไปเป็นอาหารให้กับพืชพันธุ์ในพื้นที่ลุ่มที่น้ำท่วมถึงทุกแห่งหนโดยเฉพาะบริเวณท้ายน้ำ

คณะกรรมการลุ่มน้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) เคยประเมินเอาไว้ว่าความอุดมสมบูรณ์ต่อพืชพันธุ์ และการกระจายตัวของพันธุ์ปลาน้ำจืดที่มากับสายน้ำโขงนั้น มีมูลค่าต่อชุมชนลุ่มน้ำโขง ไม่น้อยกว่า 8,000 ล้านถึง 10,000 ล้านดอลลาร์ทุกปี

มูลค่าเหล่านี้จะลดลงไปเรื่อยๆ แล้ว เพราะเขื่อนทั้งหลายสกัดกั้นตะกอนเหล่านี้ไว้แทบทั้งหมด

 

คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) เตือนไว้เมื่อเมษายนปีนี้ว่า ภาวะแล้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเลวร้ายลง และส่งผลกระทบต่อประชากรส่วนใหญ่ในภูมิภาค ในสถานการณ์สมมุติหนึ่ง เอสแคประบุว่า 96 เปอร์เซ็นต์ของอาเซียนจะได้รับผลกระทบจากภาวะแล้งจัดระหว่างปีนี้จนถึงปี 2100 กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุดคือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เมื่อภาวะเหลื่อมล้ำทางรายได้ทวีสูงขึ้น

ตัวอย่างเช่น โตนเลสาบ ชุมชนประมงที่นั่นเป็นแหล่งประมงที่หล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมประมงน้ำจืดมูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์ด้วยปลา 500,000 ตัน ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะแล้งในปีนี้

เขื่อนที่สร้างขึ้นกั้นลำน้ำสาขาของลำน้ำโขง มีส่วนสำคัญทำให้ภาวะแล้งส่งผลหนักมากขึ้นถึงระดับนี้ เช่นเดียวกับที่เป็นปัจจัยก่อให้เกิดอุทกภัยเมื่อถึงหน้าน้ำ จำเป็นต้องระบายน้ำออกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ “เขื่อนแตก” ขึ้นมาอีก

เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา เขื่อนน้ำเทิน 2 ของลาวเริ่มระบายน้ำออก ทำให้หมู่บ้านท้ายเขื่อน 12 หมู่บ้าน “จมน้ำ”

ยิ่งแล้งนานขึ้น น้ำน้อยลงมากขึ้น โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำก็จะผลิตไฟฟ้าได้น้อยลง โรงไฟฟ้าพลังถ่านหินที่จำเป็นต้องใช้น้ำหล่อเย็น ก็ต้องผลิตกระแสไฟฟ้าน้อยลง

นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ถึงได้จัดให้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 ของการลงทุนทำธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้